3 ป. ไปเลย ไปไหน ก็ไป | บทความในประเทศ

แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะตอบผู้สื่อข่าวที่พยายามสอบถามถึงข่าวการโยกย้ายพรรค

อันน่าจะหมายถึงการเปลี่ยนจากแคดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ ไปเป็นสมาชิกพรรคหรือแคนดิเดตพรรครวมไทยสร้างชาติ ว่า “อ๋อ ไม่ย้ายทั้งนั้นแหละ”

กระนั้น ตอนนี้ดูเหมือนหลายฝ่ายจะประเมินในทิศทางเดียวกัน

ว่าโอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์จะไปอยู่กับรวมไทยสร้างชาติสูงมาก

โดยประเมินจากท่าทีของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่กล่าวถึงเรื่องนี้อย่างมีนัยสำคัญ

สมควรตัดแปะข้างฝา

 

ทั้งนี้ เป็นการให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประวิตร เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ว่า เรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์เตรียมย้ายไปสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาตินั้น ไม่ได้พูดคุยกับนายกฯ เป็นเรื่องของนายกฯ ต้องไปถามนายกฯ

“การเมืองก็ว่าไป ผมและนายกฯ ก็อยู่ด้วยกันทุกวัน แต่ไม่เคยมีการพูดกันในเรื่องนี้”

เมื่อถามว่า 3 ป.จะไม่แยกออกจากกันใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรบอกว่า ไม่รู้ ไม่รู้ ไม่แยกหรอก จะไปแยกอย่างไร ก็สนิทกันมาตั้ง 50 ปีแล้ว

เมื่อถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ย้ายไปยังพรรครวมไทยสร้างชาติ จะขน ส.ส.พปชร.ไปด้วย

ปรากฏว่า พล.อ.ประวิตรกล่าวสวนทันทีว่า “โอ้ ไปเลย ไปไหนก็ไป ผมไม่ว่าอะไรใคร ใครอยากไปไหนไป เพราะเป็นเรื่องส่วนบุคคล ไม่ห้ามใครทั้งนั้น”

ใจที่บันดาลคำอย่าง “ไปเลย ไปไหนก็ไป” ให้หลุดออกมาจากปาก พล.อ.ประวิตร ซึ่งปกติจะไม่พยายามพูดอะไรผูกมัด โดยเลี่ยงไปใช้คำพูดที่ติดปาก คือ ไม่รู้ ไม่รู้ เสียมากกว่านั้น

ถูกประเมินว่า ไม่ธรรมดา น่าเป็นสิ่งที่สะท้อนความรู้สึกลึกๆ ภายในของ พล.อ.ประวิตร

ที่ด้านหนึ่ง นี่อาจถือเป็นโค้งสุดท้ายของเส้นทางการเมือง โดยเฉพาะก้าวสู่การเป็นนายกรัฐมนตรี จึงมีความเคลื่อนไหวอันคึกคักทั้งจาก พล.อ.ประวิตรเอง และคนรอบข้าง ที่จะผลักดันไปถึงจุดหมายนั้น

แต่กระนั้น ในพี่น้อง 3 ป. คือ พล.อ.ประวิตร พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา กลับมิได้สุกงอมกับเป้าหมายดังกล่าว

ตรงกันข้าม พล.อ.ประยุทธ์ได้แสดงท่าทีกำกวม ไม่ชัดเจนมาตลอด

จนถูกตีความ “จะไปต่อ” แม้ว่าจะไปได้เพียงครึ่งเทอมคือ 2 ปีก็ตาม โดยมี พล.อ.อนุพงษ์แสดงท่าทีเป็นฝ่ายสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เต็มที่

เพราะตัว พล.อ.อนุพงษ์ก็ถูกเขย่าจากพรรคพลังประชารัฐมาตลอดว่าควรเปิดเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้ พล.อ.ประวิตรเข้ามาดูแลในห้วงเลือกตั้ง

แต่ พล.อ.ประยุทธ์ดูจะไม่ขานรับและดึงเกมการปรับคณะรัฐมนตรีมมาโดยตลอด

จึงทำให้เกิดภาวะอึมครึม ทั้งในพรรคพลังประชารัฐ และในสัมพันธ์ของพี่น้อง 3 ป.

และทำให้คำพูดของ พล.อ.ประวิตร ที่หลุด “ไปเลย ไปไหนก็ไป” ถูกตีความกว้างไปถึงอนาคตของ 2 ป.คือ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.อนุพงษ์ ดังกล่าว

ซึ่งหากมองจากมุมของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ประสงค์ “จะไปต่อ” นั้น สถานการณ์ก็บีบให้ พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีทางเลือกมากนัก จำเป็นต้องเล่นบทกำกวม

เพราะหากประกาศอยู่ร่วมหัวจมท้ายกับพรรคพลังประชารัฐ ก็ต้องมั่นใจได้ว่า จะเป็นแคนดิเดตนายกฯ หมายเลข 1 ของพรรค

แต่ในความเป็นจริง พล.อ.ประยุทธ์รู้ดีว่าขณะนี้มีแรงใต้น้ำในพรรคอย่างรุนแรง ที่ต้องการชู พล.อ.ประวิตรเป็นนายกฯ แทนตนเอง

ด้วยเหตุผลว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นจุดขายไม่ได้เพราะมีเวลาเป็นนายกฯ แค่ 2 ปี

ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์จึงควรเสียสละ เป็นกองหนุนให้พี่

การจะให้ พล.อ.ประวิตรต่อคิวอีกสองปีข้างหน้า มีความไม่แน่นอนสูงมาก

ซึ่งก็คงเป็นอย่างที่นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ออกมาจุดพลุเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องหลายครั้ง

โดยเสนอให้ 2 ป.เคลียร์ความชัดเจนเดี่ยวกับแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค

เพราะถ้าหาก พล.อ.ประยุทธ์เป็นอีก 2 ปี แล้วเลือกนายกฯ ใหม่ จะใช้บทเฉพาะกาลไม่ได้ คือต้องเป็นเรื่องของ ส.ส.เท่านั้น ไม่มี ส.ว. 250 เสียงมาเกี่ยวข้อง หรือช่วย ซึ่งมันไม่ใช่สมการสูตรเดิม

“ถ้าเป็นสูตรเดิมใครก็ต้องยอม จึงมีความเป็นไปได้สูงในครึ่ง 2 ปีหลังจะไม่ใช่พรรคพลังประชารัฐที่จะเป็นรัฐบาล พรรคพลังประชารัฐจะไปเป็นฝ่ายค้าน ซึ่งมันก็ไม่ได้ ซึ่งคิดไปมันก็น่ากลัว หลังจากเปิดสภามาผมถามเพื่อนๆ น้องๆ ในพรรคประมาณ 20 คนเขาเห็นด้วยกับผม แต่เขาพูดไม่ได้ เพราะถ้าไม่มี ส.ว.มาช่วยโหวตเลือกนายกฯ ใครมันจะมาช่วย เงื่อนไขมันจะต่างจากเดิมไปเยอะ ซึ่งเรารับไม่ได้ด้วยซ้ำไป”

นายวีระกรบอกว่า ถ้าพรรคพลังประชารัฐอยากจะอยู่ 4 ปีก็ต้องเอา พล.อ.ประวิตรขึ้นเป็นนายกฯ ซึ่งไม่ได้ลดเกรด พล.อ.ประยุทธ์ ที่พรรคจะให้มาเป็นรองนายกฯ หรือรัฐมนตรีว่าการแทน

“ซึ่งมีศักดิ์ศรีเท่ากับที่ พล.อ.ประวิตรเป็นรองนายกฯ อยู่ในตอนนี้ มีบารมีไม่ต่างกันเลย เพราะทุกคนรู้ว่าทั้ง 2 คนใกล้ชิดและรักกันมาก ตายแทนกันได้ ทุกคนที่เกรงใจ พล.อ.ประยุทธ์ ก็เกรงใจ พล.อ.ประวิตรเหมือนกัน เมื่อมีความจำเป็นที่พรรคพลังประชารัฐจะเป็นรัฐบาลอีก 4 ปี ก็ให้ พล.อ.ประวิตรขึ้น เปลี่ยนสลับชื่อกันเฉยๆ แต่บารมีหน้าที่ก็เหมือนเดิมเท่าๆ กัน” นายวีระกรระบุ

ตามข้อเสนอนี้ เท่ากับให้ พล.อ.ประยุทธ์ไปยืนแถว 2

ซึ่งแน่นอน ยากที่ พล.อ.ประยุทธ์จะยอมรับได้

Photo by Jack TAYLOR / AFP

นี่จึงทำให้ พล.อ.ประยุทธ์จำเป็นต้องมีทางเลือกอื่น

และที่จับตากันมากคือ พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าพรรค ดูจะตอบโจทย์มากที่สุด

โดยนายพีระพันธุ์ยอมรับว่าพรรครวมไทยสร้างชาติรอการตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นหลังการประชุมเอเปค พร้อมกับ “อวย” ว่า พล.อ.ประยุทธ์อยู่ที่ไหนก็ดีกับที่นั่น การที่คนดีๆ มาทำงานให้กับบ้านเมืองถือว่าดีทั้งนั้น

และถ้า พล.อ.ประยุทธ์อยากทำงานการเมือง ทางพรรครวมไทยสร้างชาติก็พร้อมจะต้อนรับ

ที่น่าสนใจ คือท่าทีของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่บอกว่า ที่มองกันว่า พล.อ.ประยุทธ์ขายไม่ได้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า แต่ส่วนตัวเห็นต่าง เพราะนายกฯ ทำงานมา 8 ปี รักษาตัวได้ขนาดนี้ต้องถือว่าดี และถ้ายิ่งไปดูในทุกภาค นายกฯ ยังเป็นแชมป์ และยังขายได้อยู่

โดยเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์น่าจะทำให้พรรคใหญ่ขึ้น เดิมคาดการณ์ว่า รวมไทยสร้างชาติจะเป็นพรรคขนาดกลางได้ 40-50 คน

แต่ถ้า พล.อ.ประยุทธ์มาร่วม อาจไปถึง 100 คนก็ได้

ถือเป็นการคาดหวังที่สูงลิ่ว

และยากจะผลักดันให้เป็นจริง

แต่กระนั้นต้องยอมรับว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์มาปักหลักที่พรรครวมไทยสร้างชาติ คงจะเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักการเมืองหลายกลุ่มเข้ามาร่วม

ซึ่งก็อาจเป็นอย่างที่กลุ่มในโลกโซเชียลซึ่งสนับสนุนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ย้ำถึงผลการสำรวจคะแนนนิยมทางการเมือง ที่เกี่ยวกับ พล.อ.ประยุทธ์ อย่าง “นิด้าโพล” ยืนยันว่าคะแนนนิยมส่วนตัวของ พล.อ.ประยุทธ์ยังคงมีสูง

กทม. ได้รับเลือกมาเป็นที่ 2 ด้วย 15.20%

ภาคใต้ ได้รับเลือกมาเป็นที่ 1 ด้วย 23.94%

ภาคอีสาน ได้รับเลือกเข้ามาเป็นอันดับ 4 ที่ 9.85%

ภาคเหนือ ได้รับเลือกมาเป็นอันดับ 3 ด้วย 12.65%

และชี้ว่าคะแนนนิยมในตัวของ พล.อ.ประยุทธ์มาจากความชื่นชอบตัวบุคคล

ไม่ได้เกี่ยวกับพรรคการเมืองที่สังกัด

ดังนั้น ไม่ว่าจะเลือกสังกัดพรรคการเมืองใด คะแนนนิยมจะตามตัว พล.อ.ประยุทธ์ไป

ผิดกับพรรคการเมืองบางพรรค หากวันใดไม่มีชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ คะแนนนิยมพรรคนั้นย่อมลดลงอย่างมาก

นี่จึงสอดคล้องกับกระแสข่าวว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์มาเป็นแคนดิเดตนายกฯ หรือสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ จะมีกลุ่มในพลังประชารัฐติดตามมา เช่น กลุ่มด้ามขวาน ส.ส.ภาคใต้ กลุ่ม กทม.สาย กปปส. กลุ่มภาคตะวันออกของนายสุชาติ ชมกลิ่น เป็นต้น

 

ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง แน่นอน ย่อมจะส่งผลกระทบต่อพรรคพลังประชารัฐไม่น้อย

และนี่อาจเป็นแรงปะทุทางอารมณ์ให้ พล.อ.ประวิตรหลุดคำพูดต่อฝ่ายที่จะผละหนี ว่า “ไปเลย ไปไหนก็ไป”

ขณะเดียวกัน ก็มีกระแสข่าวว่า พล.อ.ประวิตรก็เตรียมการรับมือการผละออกไปของ พล.อ.ประยุทธ์

อย่างการหาแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนใหม่มาเสริม

คือนอกจาก พล.อ.ประวิตรแล้ว ตอนนี้มีการขานชื่อ “ป. 4” คือบิ๊กแป๊ะ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา จะมาเป็นแคนดิเดตนายกฯ ช่วยอีกแรง

พร้อมกับกระแสข่าวที่หนาหูว่า กลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ก็พร้อมจะกลับเข้ามา เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ไปอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติแล้ว

สะท้อนว่า พล.อ.ประวิตรก็ไม่มีทางเลือกอื่นต้องลุยต่อ แม้จะต้องแตกหักทางการเมืองกับน้องๆ 2 ป. แบบ “ไปเลย ไปไหนก็ไป” ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ก็พยายามผ่อนคลายภาวะแตกหักนั้น ด้วยการกล่าวในการประชุมคณะรัฐมนตรีล่าสุด ที่นอกจากจะเรียกร้องพรรคร่วมรัฐบาลให้ “พักรบ” กันไว้ก่อน โดยเฉพาะในช่วงประชุมเอเปคแล้ว

ยังบอกกับรัฐมนตรีทั้งหลายว่า “กับพี่ป้อมก็ไม่มีอะไร ไม่เครียด ไม่ทะเลาะกันอยู่แล้ว ความเป็นพี่น้องมันเลิกไม่ได้ เรื่องอื่นก็ว่ากันไป”

แน่นอนคำว่าพี่น้องมันเลิกกันไม่ได้ ดูจะเป็นความพยายามรักษาเยื่อใยในหมู่พี่น้อง 3 ป.เอาไว้

แต่วลีท้ายที่ตามมานั่นคือ “เรื่องอื่นก็ว่ากันไป” ยังตีความไปได้ไกล ว่าหมายถึงอะไร

และนั่นย่อมทำให้สิ่งที่หลุดจากปากพี่ใหญ่ใน 3 ป. “ไปเลย ไปไหนก็ไป” ย่อมดำรงความร้อนฉ่าต่อไป