แผน ‘เท็กซัส’ แก้ภัยแล้ง | สิ่งแวดล้อม

ทวีศักดิ์ บุตรตัน
ซากปลาตายที่ Falcon Lake County Park ในซาปาต้า ชี้ให้เห็นว่าระดับน้ำน้อยเกินกว่าที่สิ่งมีชีวิตจะอาศัยอยู่ได้ และส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของเมือง / ภาพประกอบ : Michael Gonzalez for The Texas Tribune

แผน ‘เท็กซัส’ แก้ภัยแล้ง

 

“แอริน ดักกลาส” นักข่าวด้านสภาพภูมิอากาศของเว็บไซต์เดอะเท็กซัสทริบูน รายงานเรื่องแผนสำรองน้ำเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงหน้าแล้งของรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกาได้น่าสนใจ ขออนุญาตนำมาเรียบเรียงถ่ายทอดเป็นไทยๆ

“แอริน ดักกลาส” เล่าถึงสภาพของรัฐเท็กซัสในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก จำนวนประชากรเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ปัจจุบันมีผู้อยู่อาศัยในรัฐนี้เฉียดๆ 30 ล้านคน เทียบกับ 20 ปีก่อนมีแค่ 14 ล้านคนเท่านั้น

เมื่อจำนวนประชากรเพิ่มมากถึง 1 เท่าตัว ปริมาณน้ำกินน้ำใช้ก็เพิ่มตาม ช่วงหน้าแล้งการใช้น้ำจะมากกว่าปกติ แต่สภาพอากาศเปลี่ยนไปมาก หน้าแล้งไม่มีฝน เกิดภัยแล้ง ปริมาณน้ำสำรองเข้าขั้นวิกฤต

แผนของผู้บริหารรัฐเท็กซัสกำหนดไว้ชัดว่า ในอนาคตข้างหน้าต้องจัดหาแหล่งน้ำให้เพียงพอกับความต้องการของชาวเมืองโดยเฉพาะในฤดูร้อน

“แอริน ดักกลาส” นักข่าวด้านสภาพภูมิอากาศของเว็บไซต์เดอะเท็กซัสทริบูน

นักข่าวสาวแห่งเดอะเท็กซัสทริบูน เดินทางไปที่ “ซาปาต้า” เมืองชายแดนทางตอนใต้ห่างจากเมืองออสติน เมืองหลวงของรัฐเท็กซัส ราวๆ 450 กิโลเมตร ที่นั่นเป็นแหล่งกักเก็บน้ำที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของรัฐ ในฤดูร้อนกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา น้ำในแหล่งกักเก็บน้ำแห่งนี้แทบจะแห้งขอด

“โจ รัธแมล” ผู้จัดการโรงผลิตน้ำประปาของซาปาต้าเล่าให้ “แอริน ดักกลาส” ถึงสถานการณ์ในเวลานั้นว่า เป็นห้วงที่น่าวิตกกังวลที่สุดเพราะน้ำที่สูบขึ้นมาเป็นโคลน ทำให้เครื่องสูบน้ำมีปัญหา

ฤดูร้อนของเท็กซัสปีนี้ ถือว่าร้อนอย่างโหด โดยเฉพาะเดือนกรกฎาคม อากาศร้อนจัดทำลายสถิติเดิมๆ และเกิดภัยแล้งหนักสุดในรอบทศวรรษ ระดับน้ำในแหล่งสำรองน้ำทั่วเท็กซัสลดลงอย่างมากจนต้องออกมาตรการควบคุมการใช้น้ำ

เดือนสิงหาคม แหล่งน้ำสำรอง “ริโอ แกรนด์” วัดปริมาณน้ำได้ต่ำสุดในรอบ 10 ปี แหล่งน้ำสำรอง “เอมิแทด” ลด 30% ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2531 ส่วนทะเลสาบฟอลคอน ลดลง 9% แต่มีฝนมาเติมให้บ้างในเดือนกันยายน

พอมาถึงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ปริมาณน้ำสำรองในรัฐเท็กซัสเฉลี่ยลดลงถึง 67% เมื่อเทียบกับต้นปีมีน้ำสำรองอยู่ 80%

ผู้บริหารเมืองซาปาต้าต้องไปวิงวอนให้ ส.ส.รัฐเท็กซัสร้องของบประมาณจากรัฐบาลกลางคิดเป็นเงินไทยกว่า 70 ล้านบาทเพื่อจัดซื้อเครื่องมือในการขุดลอกแหล่งน้ำเอาโคลนออกจากสถานีสูบน้ำ

แต่การขุดลอกดินโคลนเป็นเพียงการแก้ปัญหาชั่วคราวเนื่องจากทุกครั้งที่สภาพอากาศร้อนจัดทำให้ฝนตกน้อยลงเกิดปัญหาภัยแล้งตามมา น้ำในแม่น้ำแห้งขอด เพราะฉะนั้น ยิ่งอากาศร้อนมากเท่าไหร่ แหล่งน้ำสำรองในรัฐเท็กซัสก็ยิ่งลดลง

ระดับน้ำที่ Falcon Dam ลดลงเป็นอย่างมากในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยเหลือน้ำน้อยกว่า 10% ของจำนวนประชากร สะท้อนถึงสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คน / ภาพประกอบ : Michael Gonzalez for The Texas Tribune

“แอริน ดักกลาส” หยิบยกข้อมูลของผู้เชี่ยวชาญด้านสภาวะภูมิอากาศชี้ให้เห็นว่า ไม่เฉพาะรัฐเท็กซัสเท่านั้นที่เจอปัญหาภัยแล้ง แหล่งน้ำขาดแคลนน้ำสำรอง แต่อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น อากาศที่ร้อนจัดขึ้นทำให้เกิดภัยแล้งทั่วสหรัฐ เช่นเดียวกับยุโรปก็เจอปัญหาภัยแล้งเช่นเดียวกัน

ผู้เชี่ยวชาญยังทำนายว่า ในช่วง 10 ปีข้างหน้ารัฐเท็กซัสจะมีปริมาณน้ำสำรองน้อยลงเพราะเหตุการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ

นักข่าวสาวแห่งเดอะเท็กซัสทริบูน บอกเล่าถึงแผนการจัดการน้ำระยะยาวของรัฐเท็กซัส ซึ่งคาดว่าใน 20 ปีข้างหน้า ประชากรในรัฐแห่งนี้จะมีเพิ่มขึ้นอีก 11 ล้านคน

นักการเมืองในรัฐเท็กซัสส่วนใหญ่ไม่ต้องการหยิบประเด็นเรื่องภาวะโลกร้อนมาพูดถึง เพราะแต่ละปีรัฐจัดเก็บรายได้จากการผลิตน้ำมันและก๊าซจำนวนมโหฬาร

บรรดาผู้แทนจากพรรครีพับลิกัน พยายามเลี่ยงการพูดเรื่อง “โลกร้อน” (global warming) เกิดจากการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิลเพราะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศทำให้สภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (climate change) มีผลต่อคะแนนนิยม การสร้างงานและรายได้ของรัฐ

แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้จริงก็จะใช้คำว่า “สภาพอากาศสุดขั้ว” (extreme weather)

ชาวเมือง Red River County รวมตัวกันที่ Cuthand United Methodist Church เพื่อหารือร่วมกันเรื่องการบริหารจัดการน้ำ / ภาพประกอบ : Ben Torres for The Texas Tribune

ตามแผนพัฒนาแหล่งน้ำของรัฐเท็กซัสภายในปี 2613 หรืออีก 68 ปีข้างหน้าจะจัดหาพื้นที่เก็บน้ำสำรองเพิ่มอีก 24 แห่ง สาเหตุต้องสร้างจำนวนขนาดนั้นเพราะคาดว่าการต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน แต่ถ้าไม่สร้างตามแผนนี้ เมื่อเกิดภัยแล้งจะทำให้เศรษฐกิจเสียหายราว 153,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 5.6 ล้านล้านบาท

นอกจากนี้ ยังเตรียมแผนการใช้อย่างมีประสิทธิภาพทั่วรัฐเท็กซัส แผนการสูบน้ำสะอาดจากชั้นใต้ดิน การหมุนเวียนนำน้ำใช้แล้วมาบำบัดกลับไปใช้ใหม่ โรงงานกลั่นน้ำทะเลให้เป็นน้ำดื่มน้ำใช้

ถ้าสภาพภูมิอากาศเปลี่ยน การบริหารจัดการน้ำของรัฐเท็กซัสจะปรับแผนในทุกๆ 5 ปี และทำให้รัฐเท็กซัสมีน้ำกินน้ำใช้เพียงพอ ไม่ต้องประกาศควบคุมการใช้น้ำอย่างแน่นอน

ในแผนยังกำหนดพื้นที่ที่จะต้องเคลื่อนย้ายอพยพผู้คน พื้นที่ก่อสร้างมีทั้งเขื่อนกักเก็บน้ำและอ่างเก็บน้ำ รวมถึงการเตรียมแผนชดเชยค่าเวนคืน

แผนการสูบน้ำจากใต้ดินนั้น อาจจะมีปัญหาสำหรับเมืองใหญ่ เมื่อก่อนนี้ เมืองฮุสตันอนุญาตให้ชาวเมืองสูบน้ำได้ แต่เกิดปัญหาดินทรุด ทางการต้องสั่งยกเลิก ส่วนโครงการสร้างเขื่อน มีเสียงคัดค้านจากนักวิชาการเพราะเห็นว่า ถ้าเกิดภัยแล้ง การสร้างเขื่อนก็ไม่มีประโยชน์ สิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ

ส่วนการเคลื่อนย้ายชุมชนออกจากพื้นที่ไม่ใช่เรื่องง่าย รัฐเท็กซัสต้องทำความเข้าใจกับผู้คนถึงเหตุความจำเป็นที่จะต้องอพยพ ในปัจจุบันมีบางชุมชนลุกขึ้นมาต่อต้านคัดค้านโครงการไม่ยอมให้เวนคืน เพราะปักหลักอยู่กันมาหลายชั่วอายุคน

 

สกู๊ปข่าวของ “แอริน ดักกลาส” ชวนให้ผู้อ่านได้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงร้อนจัด อุณหภูมิเพิ่มสูง ฝนไม่ตกเกิดภัยแล้งนำไปสู่ปัญหาน้ำขาดแคลน

รัฐต้องปรับแผนบริหารจัดการน้ำ เตรียมโครงการหาแหล่งน้ำใหม่

ต้องจัดงบประมาณมาสร้าง เวนคืนที่ดิน อพยพผู้คน

สุดท้ายถ้าเคลียร์ไม่จบก็จะนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชุมชน •

 

สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]