รามานุชาจารย์ : ปราชญ์ผู้นอบน้อมบนวิถีแห่งศรัทธา (2)

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

รามานุชาจารย์ : ปราชญ์ผู้นอบน้อมบนวิถีแห่งศรัทธา (2)

 

หลังสิ้นยมุนาจารย์ รามานุชะดูเหมือนจะหมดอาลัยในเรื่องทางโลกมากขึ้น เขาใช้เวลาในแต่ละวันปรนนิบัติพระเป็นเจ้า องค์พระวรทราชาที่เขารักร่วมกับกาญจีปูรณะ

วันหนึ่งเขานึกขึ้นว่าควรจะต้องเชิญกาญจีปูรณะมากินอาหารที่บ้าน สิ่งใดเล่าจะดีไปกว่าการปรนนิบัติสาวกที่แท้จริงของพระนารายณ์ คิดแล้วก็สั่งภรรยาให้จัดเตรียมอาหารเป็นพิเศษ ส่วนตัวเขาไปเชิญให้กาญจีปูรณะให้มาในวันรุ่งขึ้น

เช้าวันถัดมา กาญจีปูรณะมาถึงบ้านขณะที่รามานุชะออกไปสวนทางกัน ตัวกาญจีปูรณะเองไม่อาจรอให้รามานุชะกลับมากินอาหารด้วยกันได้เพราะใกล้เวลาปรนนิบัติพระเจ้าแล้ว จึงกินอาหารก่อน เมื่อกินเสร็จก็รีบออกไปทันที

ฝ่ายภรรยาของรามานุชะก็ปฏิบัติตามธรรมเนียมพราหมณ์ เหตุว่ากาญจีปูรณะเป็นศูทร อาหารที่เหลือบนใบตองถูกโยนทิ้งไป ในขณะส่วนอื่นที่เหลือในหม้อถูกนำไปแจกให้หญิงวรรณะศูทรใกล้บ้าน แล้วเธอก็เริ่มปรุงอาหารใหม่ให้รามานุชะ

เมื่อเขากลับมาและพบการกระทำเช่นนั้นของภรรยา รามานุชะบริภาษด้วยความโกรธ “เจ้าทำอะไรลงไป แทนที่ข้าจะมีโชคได้กินอาหารเหลือจากสาวกผู้ประเสริฐเป็นประสาท (ของที่เทพหรือคุรุมอบให้) เจ้ากลับเอาทิ้งไปจนหมด”

แม้รามานุชะจะเป็นพราหมณ์ แต่เขาประสงค์จะรับเอาของเหลือจากศูทรมากินเป็นมงคล เขาละเมิดความเชื่อโดยทั่วไปเพราะศูทรคนนั้นเป็นสาวกที่แท้จริงของพระเจ้า ทว่า ภรรยากลับยึดถือขนบประเพณีพราหมณ์ซึ่งเต็มไปด้วยความเย่อหยิ่งและมองไม่เห็นคุณค่าของสาวกที่มีชาติกำเนิดต้อยต่ำ

นั่นเป็นจุดเริ่มต้นความไม่พอใจในชีวิตคู่ของรามานุชะ

 

จากนั้น กาญจีปูรณะออกเดินทางไปยังติรุมาลาบุณยสถานอีกแห่งของพระวิษณุนานหกเดือน เมื่อกลับมาพบกัน รามานุชะต้องการคำแนะนำในการปฏิบัติ กาญจีปูรณะจึงบอกกับเขาว่า “เมื่อคืนพระวรทราชาได้บอกข้าถึงคำแนะนำที่มีต่อเจ้า ดังนี้”

“เราคือพรหมันอันสูงสุด เป็นเหตุแห่งประกฤติหรือธรรมชาติอันก่อเกิดเป็นจักรวาล, ความแตกต่างระหว่างพระเจ้ากับชีวะเป็นสัจพจน์, การยอมตนต่อพระเจ้าเป็นหนทางสู่ความหลุดพ้น, ความหลุดพ้นจะเกิดมีขึ้นเมื่อสิ้นใจไปแล้วเท่านั้น, จงถือเอามหาปูรณะเป็นครูผู้เปี่ยมกุศลทั้งปวง จงนำคำของข้าไปบอกเขา ดังนี้”

รามานุชะรีบออกเดินทางไปยังศรีรังคัม เมื่อพบมหาปูรณะผู้เป็นศิษย์อาวุโสของยมุนาจารย์แล้ว เขานำถ้อยคำของพระวรทราชามาบอกให้ทราบ มหาปูรณะต้อนรับรามานุชะด้วยความยินดีแล้วจัดการอภิเษกรามานุชะเข้าเป็นไวษณพนิกายชนโดยสมบูรณ์

เมื่อเสร็จสิ้นพิธี รามานุชะเชิญให้มหาปูรณะและภรรยาเดินทางไปพักอาศัยกับเขาที่บ้าน โดยแบ่งบ้านครึ่งหนึ่งให้ทั้งสองคนอาศัย

ทว่า วันหนึ่งภรรยาของรามานุชะเกิดพูดไม่ดีกับภรรยาของครู มหาปูรณะและภรรยาจึงตัดสินใจออกจากบ้านไป รามานุชะรู้เข้าภายหลังก็โกรธมาก

นั่นเป็นจุดแตกหักสุดท้ายของชีวิตคู่ เขาตัดสินใจส่งภรรยากลับบ้านเดิม ส่วนตนเองออกบวชเป็นสันยาสี ละทิ้งชีวิตทางโลกไว้เบื้องหลัง

ว่ากันว่า พระวรทราชาได้จัดเตรียมจีวรและบริขารของนักบวชไว้ให้แล้ว เมื่อรามานุชะเดินไปยังพระวิหาร บริขารทั้งหมดก็ตั้งอยู่เบื้องหน้าองค์เทวรูป กาญจีปูรณะบอกกับรามานุชะว่า พระเจ้าทรงขนานนามเขาว่า “ยติราช” เจ้าแห่งยติหรือบรรดานักบวชทั้งปวง

เมื่อบวชแล้ว รามานุชะยติราชจาริกไปยังศรีรังคัม ร่ำเรียนวิชาความรู้กับมหาปูรณะต่อไปอีก มหาปูรณะแนะนำให้เขาไปเรียนมนต์อันศักดิ์สิทธิ์แห่งพระนารายณ์กับโคษฏิปูรณะ ที่เมืองใกล้ๆ กัน

มนต์อันศักดิ์สิทธิ์หรือมนต์แปดพยางค์ของพระนารายณ์นี้ เป็นมนต์ที่ถ่ายทอดกันเฉพาะศิษย์ใกล้ชิด ถือเป็นความลับสุดยอด แม้รามานุชะจะมีคุณสมบัติเพียบพร้อม แต่เขาก็ถูกปฏิเสธถึงสิบแปดครั้ง

สุดท้าย ด้วยความตั้งใจมั่นไม่หวั่นไหว โคษฏิปูรณะจึงยอมอภิเษกมนต์แปดพยางค์ให้

เขากระซิบข้างหูรามานุชะ “โอม นะโม นารายณายะ” และกำชับว่า นี่คือมนต์ที่หากใครสวดท่อง จะบรรลุโมกษะความหลุดพ้นได้ ขอให้รามานุชะปกปิดมนต์นี้ไว้เป็นความลับ

ในทางตรงข้าม ใครละเมิดนำมนต์ไปเปิดเผยหรือถ่ายทอดแก่ผู้ไม่เหมาะสม ย่อมตกนรกหมกไหม้อย่างแน่นอน

 

ระหว่างเดินกลับที่พัก รามานุชะเห็นผู้คนมากมายผ่านไปผ่านมา หลากชีวิตหลายบทบาท เขารำพึงในใจว่า เหตุใดผู้คนจึงต้องทนทุกข์ในสังสารวัฏนี้ นั่นก็เพราะพวกเขาไม่รู้สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้หลุดพ้นได้ หากพวกเขาได้รู้มนต์แปดพยางค์อันเป็นเรือพาข้ามห้วงน้ำไร้ฝั่ง ผู้คนก็จะไม่ต้องทนทุกข์กันอีกต่อไป

ด้วยหัวใจที่เปี่ยมกรุณา รามานุชะตัดสินใจละเมิดคำสั่งครู เขาปีนขึ้นไปบนหลังคาพระวิหาร ตะโกนเรียกผู้คนด้วยเสียงอันดัง “ท่านทั้งหลายจงมาที่นี่เถิด เราจะมอบแก้วมณีมีค่าหาใดเปรียบให้” ชาวบ้านชายหญิงพากันมามุงอยู่เบื้องล่าง รามานุชะประกาศคำสอนและบอกผู้คนว่า พวกเขาจะหลุดพ้นจากความทุกข์ได้อย่างไร

“จงยึดเอาพระนารายณ์เป็นที่พึ่ง เราจักบอกหนทางอันประเสริฐแก่ท่าน จงสวดท่องมหามนต์อันวิเศษ โอม นะโม นารายณายะ! พวกท่านก็จะหลุดพ้นจากความทุกข์อย่างแน่นอน!”

ผู้คนทั้งหลายจากทุกชนชั้นวรรณะต่างพากันตื่นเต้น ไม่เคยมีคุรุคนไหนมอบคำสอนอันปกปิดในที่สาธารณะเช่นนี้ ชนทั้งหลายต่างพากันซาบซึ้งต่อการกระทำอันแปลกประหลาดของคุรุผู้นี้ และรับเอาหนทางดังกล่าวเป็นที่พึ่งที่ระลึก เป็นความหวังของชีวิต

ข่าวการประกาศมนต์ลับในที่สาธารณะดังไปถึงหูของโคษฏิปูรณะ เขาโกรธอย่างถึงที่สุด เมื่อได้พบหน้ารามานุชะ โคษฏิปูรณะก็ต่อว่าอย่างรุนแรง เขาเห็นว่ารามานุชะนั้นทรยศต่อความไว้วางใจของครู ละเมิดประเพณีที่สืบทอดกันมา มอบมนต์ให้ใครต่อใครอย่างไม่เหมาะสม

ด้วยกรรมชั่วนี้จะต้องตกนรก!

 

รามานุชะได้แต่ก้มหน้าแล้วตอบด้วยความอ่อนน้อม เขาแน่ใจว่าสิ่งที่เขากระทำนั้นผิดและย่อมตกนรกเป็นแน่ หากแต่เขาคิดแล้วว่า แม้เขายอมตกนรกเพียงคนเดียวแต่ได้ช่วยผู้คนอีกมากมายให้ได้หลุดพ้น เขาก็จะยอมรับต่อผลกรรมนั้นด้วยความยินดี

โคษฏิปูรณะฟังคำตอบนั้นด้วยความสะเทือนใจ “ลูกเอ๋ย เจ้าช่างมีเมตตากรุณาต่อผู้คน นี่แหละคือคุณลักษณะที่แท้ของสาวกแห่งพระนารายณ์ ต่อนี้ไปจงถือว่าข้าเป็นศิษย์ด้วยเถิด” รามานุชะก้มกราบครูและปฏิเสธที่จะยอมรับโคษฏิปูรณะเป็นศิษย์ ดังนั้น โคษฏิปูรณะจึงขอให้รามานุชะยอมรับบุตรของตนเป็นศิษย์แทน

ชื่อเสียงเกียรติคุณของรามานุชะขจรขจายออกไป พร้อมๆ ความนิยมนับถือไวษณวะนิกายที่แผ่กว้างดุจแสงอาทิตย์ยามเช้าที่ปลุกให้มวลบุปผาเบ่งบานไปทั่วท้องทุ่ง

ในที่สุด แม้แต่ยาฑวประกาศผู้เย่อหยิ่ง อดีตครูของรามานุชะเองก็ยังมาขอฝากตัวเป็นศิษย์ เขาละความผยองในความรู้ของตนได้ บัดนี้ ได้ถือเอาพระนารายณ์และครูเป็นที่พึ่ง

 

แม้รามานุชะจะกลายเป็น “รามานุชาจารย์” อันหมายถึงปราชญ์ใหญ่ ทว่า ท่านยังคงอ่อนน้อมถ่อมตนดุจเดิมไม่เปลี่ยนแปลง บางครั้งความอ่อนน้อมกว่าคนทั่วไปนั้นก็ทำให้ศิษย์พากันฉงนสงสัย

วันหนึ่งรามานุชะเห็นเด็กๆ กำลังรวมตัวกันเล่นพิธีบูชา เด็กคนหนึ่งลากเอาราชรถคันจิ๋วซึ่งภายในมีเทวรูปพระนารายณ์ออกมา อีกคนเล่นเป็นพราหณ์กำลังทำพิธี อีกคนเล่นเป็นสาวก

รามานุชาจารย์ยืนดูเด็กๆ เล่นกันด้วยความนอบน้อมราวกับกำลังอยู่ในพิธีกรรมจริงๆ เด็กคนหนึ่งเล่นแจกเทวประสาท คว้าเอาก้อนหินก้อนดินตรงนั้นมาแจกแก่รามานุชะที่ยืนอยู่ รามานุชะกางผ้ารับเอาเทวประสาทเด็กเล่นจบขึ้นเหนือศีรษะด้วยความเคารพ ราวกับรับเทวประสาทจริงๆ จากเทวสถาน

บรรดาศิษย์พากันถามว่า ไฉนอาจารย์จึงต้องเคารพของเด็กเล่นขนาดนั้น

เขาตอบว่า เพราะนั่นเป็นการละเล่นศักดิ์สิทธิ์ แม้จะเป็นเพียงการเล่นก็ควรแก่การเคารพ เพราะเด็กๆ เหล่านั้นกำลังเล่นถึงการบูชาพระนารายณ์ด้วยหัวใจบริสุทธิ์ แค่นั้นก็ดีเพียงพอแล้ว

รามานุชะรับศิษย์จากภูมิหลังที่แตกต่างกัน จากทุกชนชั้นวรรณะ จากทุกเพศทุกวัย ขอเพียงเขาเหล่านั้นมีความมุ่งมั่นที่จะเรียนรู้และมีศรัทธา •

(โปรดติดตามต่อ)

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง