ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11 - 17 พฤศจิกายน 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | ปริศนาโบราณคดี |
เผยแพร่ |
พระนางจามเทวี จารึกศรีวิชัย สายสัมพันธ์ขอมเจนละ-จามปา ในมุมมองของ ผศ.พงศ์เกษม สนธิไทย
วิทยากรอีกท่านที่นำเสนอผลงานเรื่อง “ความสัมพันธ์ของพระนางจามเทวีกับศรีวิชัย : หลักฐานจากจารึก” ในโครงการประชุมสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “ปริศนาพระนางจามเทวี” จัดโดยสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2565 นั้น
ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พงษ์เกษม สนธิไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรมอญโบราณ สนใจคร่ำหวอดอยู่กับความพยายามที่ต้องการไขปริศนาปมอันสับสนย้อนแย้งเรื่องพระนางจามเทวีมานานกว่าสองทศวรรษ ว่าตกลงแล้วพระนางเป็นใครมาจากไหนกันแน่?
รวมถึงปริศนาของเจ้าชายรามราช ว่าเหตุใดจึงตัดสินใจไปบวช ก็ไหนว่าจ่อตำแหน่งอุปราชว่าที่กษัตริย์ละโว้อยู่รอมร่อแล้ว ทั้งหมดนี้มีเงื่อนงำอะไร
อาจารย์พงศ์เกษมวางน้ำหนักให้ความสำคัญระหว่างตำนานฝ่ายหลวง (ชินกาลมาลีปกรณ์ มูลศาสนา จามเทวีวงส์) ที่ระบุว่า พระนางจามเทวีเป็นราชธิดากษัตริย์ละโว้ ไว้ในระนาบเดียวกันกับตำนานฝ่ายท้องถิ่นของชาวมอญบ้านหนองดู่ บ้านบ่อคาว อ.ป่าซาง จ.ดลำพูน ที่เชื่อว่าพระนางจามเทวีเป็นธิดาของเศรษฐีอินตา เกิดที่บ้านบ่อคาว ซึ่งปัจจุบันยังมีสถานที่ที่มีชื่อเรียกว่า “เนินบ้านเศรษฐีอินตา” ใกล้วัดเกาะกลางตั้งอยู่
แต่สิ่งที่พิเศษสุดเหนือกว่านักวิชาการคนอื่นใดก็คือ อาจารย์พงศ์เกษมเป็นคนเดียวที่สามารถอ่านจารึกอักษรมอญโบราณได้ มีความเข้าใจในภาษามอญโบราณและมอญปัจจุบันอย่างแตกฉาน
ดังนั้น อาจารย์จึงทำการศึกษาเปรียบเทียบจารึกอักษรมอญโบราณ (บางหลักเป็นอักษรปัลลวะ ต้นกำเนิดอักษรมอญโบราณในประเทศไทย) หลักต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาค นำมาสอบทานกัน
จนอาจารย์พงษ์เกษมได้ข้อสรุป (นานแล้ว) ว่า ในบรรดากลุ่มจารึกอักษรมอญโบราณนับ 10 หลักที่เก็บรักษาในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชยนั้น “ล้วนมีร่องรอยความสัมพันธ์ของรัฐศรีวิชัยสายทมิฬ แฝงอยู่ผ่านอักขระบางตัว ซึ่งลักษณะประการนี้ไม่พบในอักษรกลุ่มมอญ-ปัลลวะในสายกรุงละโว้”
อันเป็นที่มาของการตั้งข้อสมมุติฐานใหม่อีกแนวทางหนึ่งว่าเป็นไปได้หรือไม่ “หากพระนางจามเทวีจะมีเชื้อสายมาจากรัฐศรีวิชัย?” โดยการขึ้นมาจากศรีวิชัยก็ขึ้นมาทางสายตะวันตกของอ่าวไทย แถบนครปฐม อู่ทอง ราชบุรี โดยไม่ผ่านละโว้!
จะว่าไปแล้วก็ถือเป็นประเด็นที่หนักหนาเอาการอยู่พอสมควร ที่จะโน้มน้าวความเชื่อจากใครๆ ได้ เพราะลำพังแค่ปมปัญหาเรื่อง แดนประสูติของพระนางจามเทวี ละโว้ VS ป่าซาง? ก็ยังถกเถียงกันไม่จบสิ้น ไม่มีคำตอบที่แน่ชัดจวบทุกวันนี้เลย
แล้วนี่ยังมาลากให้เชื้อสายความเป็นมาของพระนางจามเทวียาวไกลไปถึงสุดคาบสมุทรมลายูอีกด้วยล่ะหรือ เป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนกันเล่า?
การเสวนาครั้งนี้ อาจารย์พงศ์เกษมได้งัดเอาหลักฐานด้านจารึกมอญโบราณและอักษรปัลลวะหลายหลักในอุษาคเนย์มาวิเคราะห์ พร้อมกับตีความเชื่อมโยงไปถึงเนื้อหาของ “ความน่าจะเป็น”
จารึกอักษรทมิฬ-มอญ แห่งนครศรีธรรมราช
จารึกหลักใดๆ ย่อมกลายเป็นก้อนหินที่ไร้คุณค่า หากปราศจากการหยิบมาใช้งานของนักจารึกวิทยา ไม่ว่าจะตีความถูกหรือผิดอย่างไรก็ตาม อย่างน้อยก็ดีกว่าปล่อยทิ้งไว้เฉยๆ
จารึกหลักแรกที่อาจารย์พงศ์เกษมนำมาเปิดประเด็น เป็นจารึกหลักที่ใช้เลขทะเบียนของกรมศิลปากรว่า น.ศ.1 (น.ศ. ย่อมาจากนครศรีธรรมราช) เหตุที่เจอในจังหวัดนครศรีธรรมราช แต่ไม่ระบุที่มาว่าได้จากวัดไหน
อาจารย์พงศ์เกษมไปพบจารึกหลักนี้พิงอยู่ในซอกหลืบที่แคบมากพิงอยู่ในกำแพงวัดพระบรมธาตุ นครศรีธรรมราช เดินเข้าไปอ่านด้วยความยากลำบากมาก
การใส่รหัสว่า น.ศ.1 สะท้อนว่าย่อมเป็นจารึกที่ค้นพบนานแล้วเป็นหลักแรกๆ ของเมืองนี้
ทว่า ไม่ค่อยมีการเผยแพร่ในวงกว้างผิดกับจารึกหลัก น.ศ.3 วัดเสมาเมือง อาจเป็นเพราะหลัก น.ศ.1 ด้านหนึ่งเป็นอักษรมอญโบราณ ภาษามอญ ส่วนอีกด้านนั้นเป็นอักษรทมิฬ ทำให้หาผู้เชี่ยวชาญอ่านตีความได้ยาก เมื่อปี 2563 อาจารย์พงศ์เกษมจึงเริ่มลงมืออ่านทบทวนใหม่อีกครั้งเฉพาะด้านที่เป็นภาษามอญโบราณ และคงอ่านได้เพียงบางส่วนเท่านั้น เนื่องจากสภาพอักษรชำรุดลบเลือนมาก
จารึกหลักนี้มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 13 ในจารึกพบคำสำคัญหรือ Keyword ที่น่าสนใจอยู่ 3 คำคือ
1. ตามฺพรฺลิงค์ (บรรทัดที่ 9)
2. กฺมฺร (เตง) (บรรทัดที่ 12)
3. วรัญวาตี (บรรทัดที่ 13)
สามคีย์เวิร์ดนี้บอกอะไรแก่อาจารย์พงศ์เกษมบ้าง
คำแรก “ตามฺพรฺลิงค์” อ่านว่า ตาม-พะระ-ลิง-คะ แปลว่า ผู้เป็นใหญ่แห่งศิวลึงค์ทองแดง เป็นจารึกอีกหนึ่งหลักที่ตอกย้ำว่าชื่อเดิมของนครศรีธรรมราชคือ “ตามพรลิงค์” อันเป็นเมืองใหญ่ในสหพันธรัฐศรีวิชัยช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-15
คำว่า “กมรเตง” มีความหมายถึงกษัตริย์หรือชนชั้นสูงของขอม เข้ามาปรากฏในจารึกที่นครศรีธรรมราชยุคที่ชาวทมิฬยังเข้มแข็งเป็นประชากรหลักได้อย่างไร กมรเตง ท่านนี้คือใคร เดี๋ยวจักค่อยๆ เฉลยคำตอบกันต่อไป
คำสุดท้ายคือ “วรัญวาตี” เป็นชื่อสตรีสูงศักดิ์ มีความหมายว่า “นางผู้มีปัญญาปราดเปรื่อง” นางคือใคร เกี่ยวข้องอะไรกับ “กมรเตง” ด้วยหรือไม่
ขอพักปริศนาศัพท์สำคัญสามคำนี้ไว้ก่อน หันมาดูจารึกหลักสำคัญอีกชิ้นที่จะช่วยไขปริศนาหลัก น.ศ.1 ให้กระจ่างชัดขึ้นอีกหนึ่งเปลาะ
จารึกวัดกุดแต้ พบคำว่า “ศามภูกะ”
ในเมื่อจารึก น.ศ.1 ที่นครศรีธรรมราช ทิ้งร่องรอยของคำว่า กมรเตง กับ วรัญวาตี ไว้เป็นปริศนา อาจารย์พงศ์เกษมจึงต้องกลับไปอ่านจารึกอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤตอีกหลักหนึ่ง เรียก จารึกวัดกุดแต้ ค้นพบที่บ้านเขาน้อยสีชมพู ต.คลองน้ำใส อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “จารึกภววรมันที่ 2” มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12
เนื้อหากล่าวถึง กองทัพของขอมเจนละในสมัยของพระเจ้าอีศานวรมันที่ 1 (ผู้พ่อ) ลงมาจนถึง รัชกาลของพระเจ้าภววรมันที่ 2 (ผู้ลูก) ได้ตีกองทัพของรัฐ “ศามภูกะ” (บ้างเขียนว่า “ศัมพูกะ”) แตกพ่ายไป ซ้ำอ้างว่ามีชัยเหนือสุวรรณภูมิ ก็คือดินแดนของมอญฟากตะวันตกในสยามทั้งหมด
อนึ่ง คำว่า “ศามภูกะ” เป็นอีกพระนามหนึ่งของพระศิวะ อาจารย์พงศ์เกษมเคยเรียนถามอาจารย์ ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร ราชบัณฑิต และอดีตอาจารย์วิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ทับแก้ว (ปัจจุบันเพิ่งล่วงลับไปได้ไม่นาน) ว่าศามภูกะนั้นควรตั้งอยู่ที่ไหน
ท่าน ดร.วินัยได้กรุณาอธิบายว่า ศามภูกะนั้นคือดินแดนแถบเมืองโกสินารายณ์ ในจังหวัดราชบุรี ซึ่งถ้าตีความแล้ว ก็น่าจะเป็นชาวทวารวดีโดยรวมแถบฟากตะวันตกนับแต่เมืองนครปฐม อู่ทอง (ในสุพรรณบุรี) ไปจนถึงราชบุรี
การกินดองของราชวงศ์ ขอมเจนละ
มอญศามภูกะ จามปา ศรีวิชัย
อาจารย์พงศ์เกษมตามไปอ่านประวัติศาสตร์ของอาณาจักรเจนละ ที่มีผู้แปลและเรียบเรียงไว้อย่างละเอียดต่ออีกทำให้พบว่า การรบระหว่างขอมเจนละกับมอญศามภูกะครั้งนี้ไม่ได้เกิดความเสียหายใดๆ ด้วยยอมให้มีการเจรจากัน
เหตุที่พระธิดาของพระเจ้าอีศานวรมันที่ 1 มีจิตปฏิพัทธ์ประสงค์จะวิวาห์กับเจ้าชายของศามภูกะ ผู้มีนามว่า ศรีชคัทธัมม (ศรีประกาศธัมม-แปลว่าผู้นอบน้อมต่อพระธรรม) นางจึงรบเร้าให้พระราชบิดายกทัพมาข่มขู่เมืองต่างๆ ในศามภูกะ
กระทั่งนางได้สยุมพรกับเจ้าชายแห่งศามภูกะแล้ว มีโอรสองค์หนึ่งพระนามว่า “หรรษวรมัน” (พบชื่อนี้ในจารึกแผ่นทองแดงที่อู่ทอง) ดังนั้น พระเจ้าหรรษวรมันจึงมีศักดิ์เป็นหลานตาของพระเจ้าอีศานวรมันที่ 1 ซ้ำยังมีฐานะเป็นโอรสของกษัตริย์มอญอู่ทอง (ศามภูกะ) ศรีชคัทธัมม กับราชินีแห่งขอมเจนละอีกด้วย
ต่อมา น้องสาวของพระเจ้าหรรษวรมัน ผู้มีเลือดผสมระหว่างขอมเจนละกับมอญศามภูกะเช่นเดียวกับพี่ชาย ได้ไปแต่งงานกับ กษัตริย์จามปา ได้บุตรชายพระนามว่า “ศรีวิกรานตวรมา” จึงนับได้ว่า ศรีวิกรานตวรมา ผู้นี้มีเชื้อสายถึงสามทางคือ ขอมเจนละ + มอญทวารวดี (ศามภูกะ) + จามปา
ต่อมา ลูกสาวของศรีวิกรานตวรมา ถูกส่งไปแต่งงานกับเจ้าชายองค์หนึ่งที่ไชยา สุราษฎร์ธานี (เมืองครฺหิ) พวกไชยานั้นเป็นญาติกับวงศ์ลังกาสุกะ (ปัตตานี) ทำให้ศรีวิชัยทั้งหมดย่อมเกี่ยวดองเป็นเครือญาติกันทั้งกับมอญศามภูกะ และเกี่ยวข้องไปถึงขอมเจนละกับจามปาตามไปด้วย
เห็นได้จากการที่ลูกสาวของศรีวิกรานตวรมาถูกแต่งตั้งให้รั้งตำแหน่งเป็นผู้ปกครองที่เมืองจามปา จากนั้นเลื่อนสถานะขึ้นมาครองรัฐศรีวิชัยในตำแหน่งรานีของรายาแห่งศรีวิชัย (พระราชวังในยุคนั้นคาดว่าอยู่ที่ไชยา)
องค์ชายศรีวิชัยที่แต่งงานกับองค์หญิงลูกสาวของศรีวิกรานตวรมา มีเชื้อสายไศเลนทรวงศ์ ในขณะที่องค์หญิงที่เสด็จมานี้มีเชื้อสายผสมอย่างซับซ้อนมาก่อนแล้ว (มอญศามภูกะ + เจนละขอม +จามปา) คนในรัฐศรีวิชัยราชวงศ์ไศเลนทร์ยุคนั้นนับถือพระศิวะเหมือนชาวศามภูกะ
อาจารย์พงศ์เกษมสันนิษฐานว่า ธิดาของศรีวิชัยองค์ใหม่ที่เกิดจากการแต่งงานข้ามรัฐข้ามเผ่าพงศ์ครั้งนี้ ก็คือ ต้นตระกูลของพระนางจามเทวี นั่นเอง
พระธิดาองค์นี้ อาจารย์พงศ์เกษมเชื่อว่าน่าจะเป็นสตรีองค์เดียวกันกับ “พระนางวรัญวาตี” ที่ปรากฏนามในจารึก น.ศ.1 เนื่องจากจารึกหลักนั้นปรากฏคำว่า กมรเตง ด้วย สะท้อนถึงสายตระกูลของทางขอมเจนละที่เข้ามามีบทบาทในแถบศามภูกะและศรีวิชัย
อาจารย์พงศ์เกษมตั้งข้อสันนิษฐานเบื้องต้นว่า พระนางวรัญวาตี ผู้มีเลือดผสมทั้งของชาวจาม ขอมเจนละ มอญศามภูกะ และศรีวิชัยไศเลนทร์อยู่ในตัวเช่นนี้ พระนางน่าจะนับถือไศวนิกาย ปนกับพุทธมหายานของศรีวิชัย เป็นไปได้ที่ราชวงศ์นี้จักเรียกขานคนในตระกูลว่า “จามวงศ์”
เรื่องราวของพระนางวรัญวาตียังไม่จบ โปรดติดตามต่อในฉบับหน้า ว่าอะไรเป็นมูลเหตุให้อาจารย์พงศ์เกษม สนธิไทย ปักใจเชื่อว่าสตรีผู้นี้เองที่เป็นพระราชมารดาของพระนางจามเทวี
ขอจบบทความตอนแรกด้วยสาแหรกวงศ์ตระกูลจากจารึกวัดกุดแต้ที่ไปสัมพันธ์กับจารึก น.ศ.1 แห่งนครศรีธรรมราช ดังนี้ •
ปริศนาโบราณคดี | เพ็ญสุภา สุขคตะ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022