รีวิวแม่นาคภาคที่เราไม่คุ้นเคย | ปริชาติ หาญตนศิริสกุล

ถ้าถามถึงภูตผีในดวงใจของพี่น้องชาวไทย หนึ่งในรายชื่อภูตผีไทยยอดนิยมย่อมต้องมีชื่อ แม่นาค อยู่ด้วยแน่นอน

คนไทยรู้จักแม่นาคกันดีในฐานะนิทานพื้นบ้านสุดสยองว่าด้วยผีสาวตายท้องกลมที่สำแดงฤทธิ์เดชหลอกหลอนชาวบ้านทั่วทุ่งพระโขนง

ความสนุกสนานในตำนานผีแม่นาคนี้เองเป็นแรงบันดาลใจขับให้คนทำหนัง-ละคร รวมถึงสื่ออื่นๆ และศิลปะหลากหลายแขนงนำแม่นาคกลับมารังสรรค์แล้วถ่ายทอดให้ผู้คนได้ชมอยู่เรื่อยๆ

ในวงการหนังไทยเรื่องราวของแม่นาคถูกนำมาสร้างใหม่เป็นภาพยนตร์หลายต่อหลายเวอร์ชั่นตามแต่จินตนาการและการตีความของผู้สร้างผู้กำกับฯ ที่มองแม่นาคแตกต่างกันไปในหลากหลายมิติ

บทความนี้ผู้เขียนจึงอยากขอแนะนำหนังแม่นาคภาคที่ผู้เขียนประทับใจแต่ไม่ได้เป็นที่รู้จักและพูดถึงในวงกว้างเท่าที่ควรนัก

อนึ่ง แม้ปัจจุบันมีการสันนิษฐานว่าแม่นาคน่าจะสะกดว่า นาก ซึ่งแปลว่า โลหะผสมชนิดหนึ่งที่เอาทองคำ เงิน และทองแดงมารวมเข้าด้วยกัน มากกว่า นาค ที่แปลว่างูใหญ่หรือพญานาค แต่เพื่อให้สอดคล้องต่อชื่อภาพยนตร์ทั้ง 2 เรื่องที่ยกมา บทความชิ้นนี้จึงขอเลือกใช้คำว่า ‘นาค’ ที่สะกดด้วย ค.ควาย แทน

ใบปิดหนัง ‘แม่นาคอเมริกา’ (ชื่อภาษาอังกฤษ The Pot, กำกับฯ โดย เล็ก กิติพราภรณ์, ฉายครั้งแรกปี 2518)

แม่นาคอเมริกา (2518)
: เมื่อแม่นาคเป็นฝรั่ง

แน่นอนว่าความแปลกตาของแม่นาคฉบับนี้คือการเห็นผีแม่นาคที่ ไม่ใช่คนไทย และไม่มีรูปลักษณ์อะไรที่ใกล้เคียงคนไทยหรือคนเอเชียเลย

เรื่องราวของแม่นาคอเมริกาภาคนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในยุคโบราณและไม่ได้เกิดขึ้นที่พระโขนงตามตำนานต้นฉบับ

แต่เป็นเรื่องราวร่วมสมัยในราว พ.ศ.2518 ว่าด้วยสามีภรรยาคู่หนึ่งที่อาศัยอยู่ ณ หมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ฝ่ายภรรยา (หรือฝ่ายแม่นาคในภาคนี้) มีชื่อว่าโจนส์ (นำแสดงโดย ลิซ่า ฟาริงเจอร์ ดาราฮอลลีวู้ดยุค 70) แหม่มสาวอเมริกันที่ตัดสินใจตกลงปลงใจแต่งงานกับนที (รับบทโดย กรุง ศรีวิไล) ทหารหนุ่มไทยชั้นผู้หมวด

โจนส์เป็นฝรั่งที่หลงใหลวัฒนธรรมไทยเป็นอย่างมาก (ประหนึ่งว่าเป็นคนไทยมาเกือบทั้งชีวิต) ทั้งการเชื่อเรื่องโชคลาง การแต่งชุดไทยไปเที่ยวงานลอยกระทง หรือแม้แต่บทจริตจะก้านการเอาใจสามี

โจนส์ทำหน้าที่แม่ศรีเรือนอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ทั้งสองต่างใช้ชีวิตคู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ทว่า ความสุขของพวกเขาก็ช่างแสนสั้น

ด้วยอาชีพรับราชการทหารทำให้นทีต้องจากบ้านไปลาดตระเวนตามหมายราชการอยู่เป็นประจำ ทำให้เขาไม่มีเวลาดูแลโจนส์ที่ท้องแก่ใกล้คลอดเต็มที ด้วยความเป็นห่วง นทีจึงจ้างวานป้าเพื่อนบ้านคนหนึ่งมาคอยดูแลรับใช้โจนส์ขณะตนออกไปลาดตระเวน

และแล้วเรื่องเศร้าก็เกิดขึ้น…

คืนหนึ่งโจนส์เกิดเจ็บท้องคลอดขึ้นมากะทันหัน ป้าคนรับใช้พยายามเรียกหมอตำแยมาช่วยทำคลอดให้โจนส์ แต่สุดท้ายเธอก็ไม่รอด ขณะที่โจนส์กำลังจะจากไป จิตสุดท้ายของโจนส์ยังคงคิดถึงนทีอยู่ตลอดเวลา

ฝ่ายนทีเมื่อกลับถึงบ้านแล้วเห็นโลงศพโจนส์ตั้งอยู่ หัวใจของเขาก็สลายเมื่อรับรู้ว่าภรรยาได้จากตนไปเสียแล้ว

ความตายของโจนส์สร้างความเจ็บปวดให้นทีเป็นอย่างมาก เขาเอาแต่ดื่มเพื่อลืมเรื่องที่เกิดขึ้น

บางคืนโจนส์ก็ปรากฏตัวให้นทีเห็นในรูปของวิญญาณ พร้อมสัญญากับนทีว่าจะอยู่เคียงข้างเขาและขอให้เขาอย่ามีผู้หญิงคนอื่น

แต่แล้วเมื่อเวลาผ่านไปหัวใจของนทีก็เปลี่ยนแปร เขามีผู้หญิงคนใหม่และพาผู้หญิงคนนั้นเข้ามาอยู่บ้านหลังเดิมที่เคยอยู่กับโจนส์

วิญญาณของโจนส์ไม่พอใจเป็นอย่างมาก เธอกลายเป็นผีร้ายตามรังควานนทีและภรรยาใหม่จนทุกคนต้องผจญกับจุดจบสุดสยอง

ภาพยนตร์แม่นาคอเมริกาฉบับนี้เป็นหนึ่งในผลงานภาพยนตร์ข้ามชาติของ เล็ก กิติพราภรณ์ ผู้สร้าง-ผู้กำกับภาพยนตร์แนวไทยฮอลวีวู้ดที่มักทำหนังร่วมทุนกับต่างประเทศ นำนักแสดงระดับโลกมาร่วมงานด้วย

จากประสบการณ์การเป็นนักเรียนนอกและใช้ชีวิตอยู่ต่างแดนมานาน เล็กมองว่าตำนานแม่นาคเป็น love story ระหว่างชายหญิงที่น่าสนใจ ซึ่งทีมสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ดัดแปลงเนื้อเรื่องให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น แต่ยังคงสอดแทรกประเพณีและวิถีชีวิตความเป็นคนไทยลงไปในภาพยนตร์ที่สร้าง และยังคงใช้ชื่อเรื่องที่มีคำว่าแม่นาคดังเดิม แม้ว่าตัวละครนำหญิงในเรื่องนี้จะไม่ได้ชื่อ ‘นาค’ ก็ตามที

สามารถรับชมภาพยนตร์แม่นาคอเมริกาได้ที่ : ห้องสมุดและโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี ที่หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)

โจนส์ รับบทโดย ลิซ่า ฟาริงเจอร์

แม่นาค (2540)
: เมื่อแม่นาคกลายเป็นหนังทดลอง

ว่ากันตามตรงแม่นาคฉบับนี้อาจไม่ใช่หนังสั้นที่ดูง่ายเท่าไหร่นักสำหรับคนดูหนังทั่วไป

แต่ตัวผู้เขียนคิดว่ามันเป็นหนังสั้นที่ควรค่าแก่กล่าวถึงให้คนรู้จักกันกว้างขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่ผู้คนเริ่มตื่นตัวและตั้งคำถามต่อประเด็นเพศกับสังคมไทยที่เป็นอยู่

หากให้กล่าวสั้นๆ ถึงแม่นาคฉบับหนังสั้นแนวทดลองเรื่องนี้ สำหรับผู้เขียนแล้วแม่นาคฉบับเป็นภาพยนตร์อิสระที่สัมผัสได้ถึง ‘ความกล้าหาญและความทะเยอทะยาน’ ของผู้สร้างภาพยนตร์

เดิมทีภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกสร้างขึ้นมาในฐานะหนังทดลองโดย พิมพกา โตวิระ แม่นาคฝีมือพิมผกาฉบับนี้ฉายครั้งแรกเมื่อปี 2540 แต่โชคไม่ดีนักที่กระแสตอบรับในหมู่ผู้ชมชาวไทยยุคนั้นเป็นไปในทางลบค่อนข้างมาก

ทว่า ในปีถัดมาแม่นาคของพิมผกาเรื่องเดิมกลับคว้ารางวัล Special Jury Prize ที่ประเทศญี่ปุ่นจากเทศกาลภาพยนตร์ Image Forum Festival ปี 1998 มาครองไว้ได้

อาจพูดได้ว่าการได้รับรางวัลใหญ่จากต่างแดนครั้งนี้ได้ส่งให้แม่นาคฉบับหนังทดลองนี้เป็นภาพยนตร์แจ้งเกิดของพิมผกาจนอุตสาหกรรมหนังไทยยอมรับฝีมือการทำภาพยนตร์ของเธอ

ปัจจุบันพิมผกากลายเป็นหนึ่งในผู้กำกับฯ หญิงแนวหน้าของแวดวงหนังอิสระไทยและเป็นผู้จัดเทศกาลภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงในระดับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย

ล่าสุดเมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา พิมผกาได้พูดถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ในงานเสวนาออนไลน์ที่จัดโดย Objectifs – Centre for Photography and Film ว่า

“ตอนนั้นฉันรู้สึกไม่ค่อยพอใจการสร้างภาพจำผู้หญิงในภาพยนตร์ไทยที่อยู่ในสังคมไทยของเรา นี่คือเหตุผลที่ฉันสนใจจะสร้างเรื่องราวของแม่นาคพระโขนงที่เป็นเรื่องผีไทยที่รู้จักกันดี นิทานพื้นบ้านเรื่องนี้มีการสร้างเป็นหนังและละครมามากกว่า 20 เวอร์ชั่น แต่ตอนนั้นฉันคิดถึงว่าทำไมตำนานพื้นบ้านนี้ยังต้องมีอยู่และเรามีความรู้อะไรอยู่เบื้องหลังเรื่องราวนี้บ้าง ฉันอยากจะสร้างมันใหม่จากมุมมองของผู้หญิงเพราะมันไม่เคยมีผู้กำกับฯ หญิงคนไหนตีความเรื่องนี้ใหม่เลย”

ดังที่กล่าวไว้ในช่วงแรกว่าหนังสั้นแม่นาคฉบับนี้อาจจะเป็นหนังที่ดูไม่ง่ายสำหรับมือใหม่เท่าใดนัก แต่ก็ควรค่าที่จะลองชมกันซักครั้ง

เนื้อเรื่องของแม่นาคฉบับพิมผกานี้เกิดขึ้นในยุคโบราณกาลตามต้นฉบับ ประเด็นหลักของหนังยังคงว่าด้วยความรักระหว่างคนกับปีศาจ จังหวะจะโคนของหนังดำเนินเรื่องไปอย่างเชื่องช้า พร้อมภาพสัญลักษณ์ที่ชวนให้คนตีความตลอดเรื่อง

แม่นาคที่ปรากฏในภาพยนตร์ทดลองเรื่องนี้ไม่ได้มีรูปลักษณ์เป็นปีศาจสยดสยอง แต่เป็นร่างของผีสาวที่ ‘ทรงพลังอำนาจ’ ความทรงพลังอำนาจของผู้เขียน

ณ ที่นี้ไม่ได้ถึงการสำแดงฤทธิ์เดชเหมือนนิทานพื้นบ้านที่เราฟังกันมาแต่เธอเป็นผีสาวที่ดูมั่นใจในพลังของตนเอง

ยกตัวอย่างเช่น ฉากที่เธอยิ้มมุมปากท่ามกลางเพลงแม่ศรีสวยสะที่ขับขานเพื่อบูชาตัวเธอ

แม้ว่าแม่นาคเวอร์ชั่นนี้จะไม่ค่อยมีบทสนทนาของตัวละครมาช่วยอธิบายสาร (message) จากผู้สร้างแบบตรงไปตรงมามากนัก แต่พิมผกากลับสร้างตัวละครพิเศษขึ้นมาอย่างหมอผีหญิง

แล้วหมอผีผู้หญิงนี่มันพิเศษอย่างไร?

หากเราสวมแว่นเพศวิถีมองบทบาทของตัวละครในตำนานแม่นาคฉบับดั้งเดิม เราจะพบว่าตัวละครฝ่ายธรรมะที่มาช่วยปราบปีศาจต่างเป็นผู้ชายทั้งสิ้น ทั้งพระหรือหมอผี แต่ปีศาจหรือผีสางตามเรื่องเล่าสยองขวัญในสังคมไทยกลับเป็นเพศหญิงเสียเป็นส่วนมาก หรือแม้กระทั่งในศาสนาพุทธก็มีวาทกรรมที่ว่า ‘สตรีเป็นศัตรูของพรหมจรรย์และเป็นเหตุที่มาแห่งทุกข์’ ความเชื่อต่างๆ เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงอคติทางเพศภายในของสังคมไทย

นอกเหนือจากหมอผีผู้หญิง พิมผกายังใช้ธรรมชาติและข้าวของต่างๆ มาเป็นสัญลักษณ์พูดถึงแม่นาคในเรื่อง

เช่น ฉากท้ายเรื่องที่แม่นาคเดินเล่นอยู่กลางทุ่งนา หรือฉากต้นเรื่องที่แม่นาคร่ายรำหยอกเย้ากับเม็ดข้าวสาร

ผู้เขียนตีความฉากเหล่านี้ว่า ความจริงแล้วก่อนการมาเยือนของศาสนา (โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ผู้คนต่างก็เคยนับถือภูตผี แล้วไยเล่าจึงมองว่าแม่นาคจำต้องเป็นผีร้ายที่น่าเกลียดน่ากลัวเสมอไป

นี่คือความโดดเด่นและกล้าหาญที่จะตีความแม่นาคต่างไปจากเดิมในหนังสั้นของพิมผกา

ตัวละครหมอผีหญิง

สามารถรับชมภาพยนตร์แม่นาค ฉบับ พิมผกา โตวิระ ได้ที่ : https://objectifsfilmlibrary.uscreen.io/programs/pimpaka-towira_mae_nak

อ้างอิง

– แม่นาคอเมริกา (2518). ไทยบันเทิง. เข้าถึงข้อมูลผ่าน https://thaibunterng.fandom.com/th/wiki/%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B2_(2518)

– Yongyu Chen. Mae Nak : The Close-Up and the Invisible. Positions Politics. 2020. https://positionspolitics.org/eikon-maenak/

– OBJECTIFS FILM CLUB RECAP: DAVY CHOU & PIMPAKA TOWIRA. Objectifs – Centre for Photography and Film. 2020. https://www.objectifs.com.sg/recap-davy-pimpaka/