ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในเมืองเก่าอยุธยา : ราชวงศ์จักรี คณะราษฎร และการปฏิสังขรณ์อดีต (5) | ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ

 

ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในเมืองเก่าอยุธยา

: ราชวงศ์จักรี คณะราษฎร และการปฏิสังขรณ์อดีต (5)

 

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 โดยคณะราษฎร ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงภายในพื้นที่เมืองเก่าอยุธยาในรูปแบบและทิศทางที่แตกต่างออกไปจากสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งผมอยากเรียกปรากฏการณ์นี้ว่าเป็น “การปฏิสังขรณ์อดีต” อยุธยาระลอกที่สอง

ภายหลังการปฏิวัติ 2475 เพียงไม่นาน ได้มีการจัดตั้งกรมศิลปากรขึ้นใหม่ในปี พ.ศ.2476 (ควรทำความเข้าใจร่วมกันก่อนนะครับว่า กรมศิลปากรใหม่นี้แตกต่างมากจากกรมศิลปากรที่ตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 ทั้งในเชิงโครงสร้างและบทบาทหน้าที่ ซึ่งรายละเอียดจะไม่ขอกล่าวในที่นี้)

และเพียงราว 1 ปีหลังจากนั้นก็ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติ โบราณสถาน ศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ และการพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ พ.ศ.2477 ที่ให้อำนาจแก่อธิบดีกรมศิลปากรในการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานทั่วราชอาณาจักร ซึ่งในปี พ.ศ.2478 ภายใต้พระราชบัญญัติฉบับนี้ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในพื้นที่เกาะเมืองอยุธยาทันทีถึง 69 แห่ง

ขณะเดียวกัน พร้อมๆ ไปกับการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลโบราณสถานโดยตรง คณะราษฎรก็ได้เตรียมแผนพัฒนาพื้นที่เมืองเก่าอยุธยาให้กลับมาเป็นเมืองที่มีชีวิตอีกครั้ง

แผนที่แสดงแนวเขตที่ดินต่อท้ายพระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินและที่วัดร้าง ภายในกำแพงเมืองจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กระทรวงการคลัง ใน พ.ศ.2481

ในปี พ.ศ.2478 รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาได้ประกาศจัดตั้ง “เทศบาลเมืองนครศรีอยุธยา” (หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบใหม่หลังการปฏิวัติ 2475) โดยมีขอบเขตครอบคลุมพื้นที่เกาะเมืองอยุธยาทั้งหมด

ยิ่งไปกว่านั้น ยังได้มีการออกพระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินและที่วัดร้าง ภายในกำแพงเมืองจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้กระทรวงการคลัง ใน พ.ศ.2481 ซึ่งกินเนื้อที่มากถึง 4,500 ไร่ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้กำกับดูแล หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังในช่วงระยะเวลาดังกล่าว (พ.ศ.2481-2484)

ประเด็นนี้น่าสนใจ เพราะปรีดีเองก็เป็นคนอยุธยาโดยกำเนิด โดยสายตระกูลของปรีดีคือชาวนาที่มีบ้านอยู่แถววัดพนมยงค์ ซึ่งความพอเหมาะพอดีนี้เองที่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ภายในเกาะเมืองอยุธยาอย่างมากในช่วงระยะเวลาดังกล่าว

โครงการสำคัญที่อาจเรียกได้ว่าเป็นประตูบานแรกที่เปิดทางสู่การพัฒนา คือ การสร้างทางหลวงแผ่นดินสายวังน้อย-อยุธยา (พ.ศ.2493 มีประกาศให้เรียกว่าถนนโรจนะ) และการสร้างสะพานปรีดี-ธำรง (สะพานตั้งชื่อจากปรีดี พนมยงค์ และหลวงธํารงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งทั้งสองคนเป็นคนอยุธยา) ข้ามเข้ามาในพื้นที่เกาะเมืองอยุธยา โดยโครงการทั้งสองเกิดขึ้นในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2481-2486

โครงการนี้ได้ทำให้เกิดการคมนาคมทางบกด้วยรถยนต์สมัยใหม่เข้ามาในพื้นที่ตอนในของเมืองเก่าอยุธยาเป็นครั้งแรก และกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อการตั้งถิ่นฐานของผู้คน ที่แต่เดิมจะตั้งบ้านเรือนเกาะอยู่ตามริมแม่น้ำโดยรอบเกาะเมืองอยุธยา ให้ขยับขยายเข้ามาสู่พื้นที่ตอนในมากขึ้น

นอกจากนี้ รัฐบาลและเทศบาลยังได้มีการส่งเสริมให้ประชาชนย้ายเข้าไปตั้งบ้านเรือนในพื้นที่รกร้างภายในเมืองเก่า มีการตัดถนนเพิ่มขึ้นในพื้นที่ตอนใน สร้างระบบสาธารณูปโภค ไฟฟ้า ประปา พร้อมลงทุนก่อสร้างสถานที่ราชการ โรงเรียน อาคารพาณิชย์ ตลาด ฯลฯ

 

น่าสังเกตนะครับว่า การย้อนกลับมาปฏิสังขรณ์อดีตที่อยุธยาในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์แทบทั้งหมดเกิดขึ้นในบริเวณริมแม่น้ำโดยรอบเกาะเมือง ไม่ว่าจะเป็นวัดสุวรรณดาราราม วังจันทรเกษม วัดเสนาสนาราม และพระราชวังเก่า โดยมิได้เข้ามาในพื้นที่ตอนในเท่าไรนัก

หากจะมีอยู่บ้าง ส่วนใหญ่ก็เป็นแค่การเข้ามาสำรวจและเที่ยวชมซากโบราณสถาน โดยมิได้มีโครงการบูรณะหรือพัฒนาที่จริงจังแต่อย่างใด ที่สำคัญคือ ถนนภายในเกาะเมืองอยุธยาทั้งหมด ณ ตอนนั้น ยังเป็นเพียงถนนอิฐและดิน ซึ่งเหมาะเพียงแค่การเดินทางด้วยช้างและเกวียนเท่านั้น

ในขณะที่การปฏิสังขรณ์อดีตในสมัยคณะราษฎร มีเป้าหมายหลักคือการเปิดพื้นที่ตอนในของเมืองโดยตรงผ่านการสร้างโครงข่ายถนนสมัยใหม่ โดยมีแนวแกนใหม่ของเมือง คือ แนวแกนของถนนโรจนะ ซึ่งน่าเชื่อว่าคงถูกออกแบบให้มีลักษณะถนนสวยงามขนาดใหญ่ในแบบเดียวกับถนนราชดำเนินกลางที่กรุงเทพฯ และถนนนารายณ์มหาราชในพื้นที่เมืองใหม่ลพบุรี ซึ่งถูกสร้างขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน

เมื่อมีถนนขนาดใหญ่ ย่อมมีการก่อสร้างอาคารสำคัญขึ้นสองข้างทางเพื่อกระตุ้นให้เกิดความเจริญ กรณีถนนโรจนะก็เช่นกัน โดยในปี พ.ศ.2482 ได้มีการก่อสร้างอาคารศาลากลางจังหวัดอยุธยาและโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยขึ้น โดยศาลากลางตั้งอยู่ในตำแหน่งปลายสุดของถนนโรจนะ ส่วนโรงเรียนตั้งอยู่ริมถนน

ตัวอาคารทั้งสองหลังสร้างขึ้นด้วยรูปแบบ “สถาปัตยกรรมคณะราษฎร” โดยความพิเศษของศาลากลาง คือ มีการออกแบบเสาด้านหน้าอาคารเป็นจำนวนหกต้น ซึ่งสื่อความหมายถึงหลักหกประการของคณะราษฎร และปลายเสาทั้งหกต้นยังติดตั้งประติมากรรมครึ่งตัวของกษัตริย์อยุธยา 4 พระองค์ (พระเจ้าอู่ทอง, พระบรมไตรโลกนาถ, พระนเรศวร และพระนารายณ์) พระศรีสุริโยทัย 1 พระองค์ และพระเจ้าตากสินอีก 1 พระองค์

โดยทั้งหมดเป็นฝีมือการปั้นของศิลป์ พีระศรี

 

สิ่งที่น่าสนใจอีกประการสำหรับการพัฒนาเมืองเก่าอยุธยาในยุคนี้ คือ การเข้าไปสร้างความหมายใหม่ให้แก่โบราณสถานบางแห่งในฐานะสัญลักษณ์ที่เชื่อมโยงระหว่าง “อดีต” กับ “ความเป็นสมัยใหม่” เช่น ในกรณีวงเวียนวัดสามปลื้ม

โครงการนี้เกิดขึ้นจากการวางแนวถนนโรจนะที่ทาบทับผ่านกลางพื้นที่วัดสามปลื้ม (ไม่ทราบแน่ชัดว่าตั้งใจหรือบังเอิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่โดยส่วนตัวคิดว่าตั้งใจ) ทำให้ต้องรื้อถอนโบสถ์วิหารและอาคารทั้งหมดของวัดลง เหลือเพียงเจดีย์ประธานของวัดเอาไว้ โดยกำหนดแนวถนนให้พุ่งตรงมาที่องค์เจดีย์ พร้อมกับการทำถนนเป็นวงเวียนวิ่งโดยรอบเจดีย์

การออกแบบดังกล่าว ทำให้เกิดการเปลี่ยนความหมายของเจดีย์วัดสามปลื้มไปอย่างสิ้นเชิง โดยเปลี่ยนจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นศูนย์กลางเจตพุทธาวาสของวัด กลายมาเป็นอนุสาวรีย์หรือแลนด์มาร์กแบบสมัยใหม่ในตำแหน่งศูนย์กลางของถนนแทน (รูปแบบนี้จะว่าไปก็คล้ายกันกับกรณีที่เกิดขึ้นกับวงเวียนศาลพระกาฬที่ลพบุรี)

การสร้างแนวแกนถนนขนาดใหญ่ โดยมีวงเวียน และอนุสาวรีย์ตั้งอยู่กลางถนน เป็นลักษณะการพัฒนาเมืองสมัยใหม่ที่คณะราษฎรนิยมทำ ดังจะเห็นได้จาก อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยตั้งอยู่กลางถนนราชดำเนินกลาง วงเวียนสระแก้วตั้งอยู่กลางถนนนารายณ์มหาราช อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิตั้งอยู่กลางถนนพหลโยธิน เป็นต้น เพียงแต่ในกรณีวงเวียนวัดสามปลื้ม (และวงเวียนศาลพระกาฬ) มิได้เป็นการสร้างอนุสาวรีย์ขึ้นใหม่ แต่ใช้โบราณสถานที่มีอยู่เป็นอนุสาวรีย์อยู่กลางวงเวียนแทน

แผนที่แสดงแนวถนนโรจนะที่ตัดผ่านเข้ามาในพื้นที่เกาะเมืองอยุธยา และโครงการก่อสร้างชิ้นสำคัญในยุคคณะราษฎร

จากรูปแบบการพัฒนาที่กล่าวมา จะเห็นว่า การปฏิสังขรณ์อดีตอยุธยาในยุคคณะราษฎร มิได้ทำการอนุรักษ์และพัฒนาไปในรูปแบบเมืองที่เน้นรักษาสภาพโบราณสถานและสภาพแวดล้อมแบบดั้งเดิมที่รกร้างเอาไว้ทั้งหมด (แตกต่างจากวิธีการที่จะเกิดขึ้นกับเมืองเก่าหลายแห่งในเวลาต่อมา เช่น สุโขทัย และศรีสัชนาลัย เป็นต้น) แต่เลือกที่จะรื้อฟื้นความเป็นเมืองที่มีผู้คนและความเจริญสมัยใหม่โดยแทรกกลับเข้าไปในพื้นที่เมืองเก่า

การเลือกทิศทางการอนุรักษ์และพัฒนาเช่นนี้ แน่นอนได้นำมาซึ่งข้อถกเถียงถึงความเหมาะสม เพราะภายใต้การฟื้นชีวิตเมืองให้กลับมานั้น ต้องแลกมาด้วยการทำลายโบราณสถานที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์มากมาย ทั้งจากการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ เช่น ถนน สะพาน และจากนโยบายการสนับสนุนให้ประชาชนเข้าไปบุกเบิกพื้นที่รกร้างเพื่อใช้เป็นที่ทำกิน ซึ่งแน่นอน ส่วนหนึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อโบราณสถานเป็นจำนวนมาก (โดยเฉพาะที่เป็นโบราณสถานขนาดเล็กและยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อย่างไรก็ตาม หากยกประเด็นเรื่องดีหรือไม่ดีออกไปก่อน สิ่งหนึ่งที่เรามองเห็นได้ชัดก็คือ ทั้งหมดที่คณะราษฎรทำลงไปในพื้นที่เมืองเก่าอยุธยา คืออีกหนึ่งแนวทางของการปฏิสังขรณ์อดีตของอยุธยาให้กลับมามีชีวิตใหม่ ในลักษณะที่มิใช่การปฏิสังขรณ์ที่มุ่งรื้อฟื้นย้อนกลับไปหาอดีตแบบโบราณของอยุธยา แต่เป็นการตีความใหม่ให้แก่โบราณสถานภายใต้บริบทใหม่ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ทั้งการเปลี่ยนความหมายของเจดีย์วัดสามปลื้มจากเจดีย์มาสู่อนุสาวรีย์กลางวงเวียน เพื่อสร้างเป็นแลนด์มาร์กของผังเมืองสมัยใหม่ หรือ การสร้างศาลากลางจังหวัดที่มีรูปประติมากรรมของอดีตกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของอยุธยา เพื่อปลูกฝังอุดมการณ์ (เชื้อ) ชาตินิยมไทย ที่กำลังเป็นแนวคิดที่สำคัญ ณ ช่วงเวลาดังกล่าว

ใต้ภาพ

1-แผนที่แสดงแนวเขตที่ดินต่อท้ายพระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินและที่วัดร้าง ภายในกำแพงเมืองจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กระทรวงการคลัง ใน พ.ศ.2481

2-แผนที่แสดงแนวถนนโรจนะที่ตัดผ่านเข้ามาในพื้นที่เกาะเมืองอยุธยา และโครงการก่อสร้างชิ้นสำคัญในยุคคณะราษฎร