พระขรรค์ไชยศรี ใช้ถูกวิธีมีประโยชน์ | สมุนไพรเพื่อสุขภาพ

พระขรรค์ไชยศรี ใช้ถูกวิธีมีประโยชน์

 

สัก 2 ปีก่อนมีข่าว “การเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่เทศกิจ หลังจากดื่มยาต้มสมุนไพร” ซึ่งเกิดเหตุในสำนักสงฆ์แห่งหนึ่งในจังหวัดอุทัยธานี

เมื่อมีการสืบข้อเท็จจริงพบว่า การต้มยาสมุนไพรชื่อ พระขรรค์ไชยศรี แจกจ่ายรักษาโรค แต่ด้วยความไม่รู้ในการปรุงยา และอาจมีการใช้ต้นสมุนไพรไม่ถูกต้องจึงทำให้เกิดเรื่องราวน่าเศร้านั้นเอง

พระขรรค์ไชยศรี ฟังชื่อชวนให้นึกถึงละครจักร์ๆ วงศ์ๆ และใช่ชื่อศาตราวุธชนิดหนึ่ง

แท้ที่จริงเป็นชื่อสมุนไพรอย่างเป็นทางการของไทยว่า “ฝนแสนห่า”

มีชื่อท้องถิ่นหลายชื่อ เช่น เครือเขาเลี่ยม (ลำปาง) เถาวัลย์ปลิง (ตราด) ฝนแสนห่า (ภาคกลาง) พูพ่อค้า (เลย) เหล็กเหลี่ยม พระขรรค์ไชยศรี หนาวเดือนห้า (ภาคอีสาน) พูบิด คนเฒ่าลืมไม้เท้า (ภาคเหนือ)

พระขรรค์ไชยศรี หรือฝนแสนห่า มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Myxopyrum smilacifolium (Wall.) Blume มีลักษณะเป็นไม้เถา มีเนื้อไม้ขนาดใหญ่ กิ่งก้านเป็นเหลี่ยม เรียบ ใบเป็นแบบใบเดี่ยว แผ่นใบเรียบเกลี้ยง เส้นใบออกจากโคนใบไปจรดปลายใบ 3 เส้น

ดอกออกเป็นช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ดอกย่อยมีก้านสั้นมาก เชื่อมกันเป็นหลอด กลีบรูปช้อน ผลเป็นแบบผลสดมีเนื้อ ผิวเรียบเกลี้ยง พบตามป่าดิบแล้ง มีการกระจายพันธุ์ทั่วทุกภาคของประเทศไทย

ในต่างประเทศพบได้ที่หมู่เกาะอันดามัน รัฐอัสสัมของประเทศอินเดีย บังกลาเทศ กัมพูชา มณฑลไห่หนานของจีน ลาว พม่า และเวียดนาม หมู่เกาะนิโคบา ส่วนใหญ่พบในบริเวณที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 700 เมตร

 

จากรายงานที่ผ่านมาพบว่ามีการนำไปใช้ในการบำบัดผู้ติดยา และผู้ที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่ โดยใช้เป็นยานอนหลับสำหรับการฟื้นฟูร่างกายของผู้ป่วยที่ทำการรักษายาเสพติด

สูตรยาดังกล่าวประกอบด้วย เถาพระขรรค์ไชยศรี รากหมากไฟ (มะไฟ Baccaurea ramiflora Lour.) ขี้ข่าไฟ (เขม่าเหนือเตาไฟ) รากผักฮ้วนหมู (กระทุงหมาบ้า Wattakaka volubilis (L.f.) Stapf) เขากวางอ่อน เครือบวบขม (บ่านอยข้อง Trichosanthes cucumerina L.) หัวแหย่ง (หัวคล้า Schumannianthus dichotomus Gagnep.) เม็ดผักเข้า (ฝักข้าว Momordica cochinchinensis (Lour.) Spreng.) และมียาตัดยา คือใช้เมล็ดลำโพงกาสลัก (Datura metel L.) เท่ายาทั้งหลาย โดยต้องนำมาสะตุฆ่าพิษก่อน กินแล้วทำให้หลับ ไม่รู้ตัว

และในบางพื้นที่ยังใช้พระขรรค์ไชยศรีต้มให้กินเพิ่มเติมเพื่อขับเหงื่อ แต่ต้องใช้ในปริมาณที่เหมาะสม เนื่องจากเป็นยาอันตรายหากใช้มากเกินไป จะทำให้เหงื่อออกมากเกินจนร่างกายเสียเหงื่อมากจนเสียชีวิตได้ ดังนั้น ทั้งตำรับยาข้างต้นและพระขรรค์ไชยศรี ต้องเป็นหมอพื้นบ้านหรือผู้รู้จริงในการปรุงยา ไม่ใช่ทำกินกันเองในครัวเรือน

ซึ่งเข้าใจว่าความรู้เหล่านี้เป็นตำรับพื้นบ้านของทางภาคเหนือ

ในตำรับยาไทยกล่าวถึงพระขรรค์ไชยศรีว่า เถามีรสเมาเบื่อ นำทั้งต้นต้มน้ำดื่มแก้ปวดหัวเข่า ปวดแข้งขา ใช้เข้ายาขับเหงื่อ ดับร้อน ขับพิษไข้ ขับพิษร้อนภายใน แต่ต้องระมัดระวังในการใช้ เพราะใช้มากทำให้เหงื่อออกมาก หนาวสั่น ตัวซีด ถึงแก่ชีวิตได้ ยานี้เมื่อดื่มแล้วแม้จะเป็นช่วงฤดูร้อน ผู้ดื่มจะมีอาการหนาวสั่นต้องห่มผ้าแต่จะมีเหงื่อออกมาก จึงถูกตั้งชื่อเรียกว่าต้น “หนาวเดือนห้า” นั่นเอง

ในตำรับยาพื้นบ้านมีปรากฏทั้งภาคเหนือ ภาคอีสานและภาคใต้ เช่น หมอชาย มาตรา จากจังหวัดอุดรธานี ใช้รากเคี้ยวร่วมกับหมากและเข้าเป็นสมุนไพรตำรับยาแก้ไข้

ภูมิปัญญาพื้นบ้านในจังหวัดพะเยา เรียกสมุนไพรชนิดนี้ว่า “คนเฒ่าลืมไม้เท้า” โดยนำเอาลำต้นและใบแช่น้ำ นำมาทาแก้อาการชาตามแขนและขา

ตำรับของหมอพื้นบ้าน หมอสุจิตรา อ่อนเปลีย จังหวัดพิษณุโลก ใช้ทั้งห้า ผสมเปลือกต้นตูมกาขาว (Strychnos nux-blanda A.W.Hill) และผักบุ้งร้วม (Enydra fluctuans Lour.) ทั้งต้น ต้มน้ำดื่ม แก้มะเร็งตับ

ในแถบภาคกลางมีตำรับยาที่ปรุงกินแก้อาการอัมพาต มือตายเท้าตาย

โดยใช้รากผักเสี้ยนผี กาฝากที่ต้นโพธิ์ แกแล แก่นขี้เหล็ก แก่นขนุน แก่นสน แก่นปรุ แก่นประดู่ แก่นไม้สัก แก่นมะหาด กำลังวัวเถลิง ฝางเสน เถาวัลย์เปรียง ลูกฝ้ายหีบ รกขาว รกแดง รากจง รากกำจัด รากกำจาย รากคุยขาว รากพลูแก่ รากหิบลม รากกระทงลาย รากมะดูกต้น สุรามะริด สักขี สมิงคำราม สมอหนัง สมอเทศลูกใหญ่ แสมทะเล แสมสาร โพกะพาย โพประสาท เพ็ดชะนุนกัน พระขรรค์ไชยศรี พริกไทย มะม่วงคัน เปล้าน้ำเงิน เปล้าเลือด เปล้าใหญ่ เปลือกเพกา เปลือกราชพฤกษ์ เปลือกขี้เหล็ก เปลือกสมุลแว้ง ยาดำ ยาข้าวเย็นใต้ ยาข้าวเย็นเหนือ (ทั้งหมดนี้เอาหนักอย่างละ 1 บาท) และให้เพิ่มสมอไทยเข้าไปด้วยเท่าอายุของผู้ป่วย ใช้ต้มกินประมาณ 4-5 หม้อใหญ่ ใช้ดื่มก่อนอาหาร 30 นาที ครั้งละครึ่งแก้วถึงหนึ่งแก้ว วันละ 3 เวลา

ตำรับยาหมอพื้นบ้านภาคใต้ หมอเสทือน หอมเกต จังหวัดนครศรีธรรมราช ใช้รักษาอาการตกขาว ตำรับยาใช้ แห้วหมูและกระชายอย่างละ 2 ส่วน พระขรรค์ไชยศรี เร็ดหนู หูกวาง รางแดง พญาปล้องทอง หมากหมก ทุ้งฟ้า กำลังควายถึก กำแพงเจ็ดชั้น ปลาไหลเผือก หมากผู้ โสมไทยและบ่าวม้ามืด อย่างละ 1 ส่วน นำมาต้มกิน

 

การศึกษาวิจัยจำนวนหนึ่ง เช่น ที่อินเดีย ปี ค.ศ.2014, 2015 และ 2017 ทำการศึกษาสารสกัดจากใบของพระขรรค์ไชยศรีพบว่า มีคุณสมบัติต้านความเครียด ปรับสมดุลของร่างกาย (adaptogen) ต้านอนุมูลอิสระ และต้านการอักเสบ

งานวิจัยจากเวียดนามในปี ค.ศ.2021 พบสารตัวใหม่ในกลุ่ม ฟินนิลโพรพานอยด์ ไกลโคซายด์ (phenylpropanoid glycoside) ในพระขรรค์ไชยศรีที่มีคุณสมบัติในการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์กลูโคไซเดส (?-glucosidase inhibitory activity) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ทำหน้าที่ในการย่อยสลายคาร์โบไฮเดรตหรือกล่าวได้ว่าช่วยในการลดน้ำตาลในเลือด

พระขรรค์ไชยศรี ที่เราไม่ค่อยคุ้นเคย และยังเคยมีชื่อเสียเพราะการใช้ผิดๆ แต่เมื่อดูฤทธิ์และสรรพคุณมีความน่าสนใจ จึงควรหันมาอนุรักษ์พันธุ์และส่งเสริมการใช้ที่ถูกวิธี ปัจจุบันพระขรรค์ไชยศรีมีจำหน่ายเป็นสมุนไพรแห้ง กิโลกรัมละประมาณ 120 บาท ย่อมแสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความต้องการ •

 

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ | โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง

มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org