ประยุทธ์ เทกระจาด ก่อนเลือกตั้ง สั่ง ครม.แจกของขวัญปีใหม่ ลุยคนละครึ่ง ช้อปดีมีคืน | ศัลยา ประชาชาติ

บทความพิเศษ | ศัลยา ประชาชาติ

 

ประยุทธ์ เทกระจาด ก่อนเลือกตั้ง

สั่ง ครม.แจกของขวัญปีใหม่

ลุยคนละครึ่ง ช้อปดีมีคืน

 

5 เดือนข้างหน้า ก่อนสภาครบวาระในวันที่ 23 มีนาคม 2566 เป็นโค้งหักศอกของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมานตรี ที่ต้องทุบหม้อข้าวหม้อแกง กระชากเรตติ้ง แก้เกมคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้อยู่ได้อีกเพียง 2 ปี

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ยังคง “ติดหล่ม” จากพิษเศรษฐกิจ จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยัง “ตกสะเก็ด” ผสมโรงกับวิกฤตพลังงาน กระทบชิ่งค่าครองชีพสูง เคราะห์ซ้ำกรรมซัดด้วยภัยพิบัติน้ำท่วม

แผนการชิงความได้เปรียบ-ชิงยุบสภาหลังจากการเป็นจ้าภาพจัดงานเอเปค ต้องถูกพับเก็บใส่ลิ้นชัก เปลี่ยนเกมด้วยการกาปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 คร่อมไทม์ไลน์ครบวาระ

 

กระสุนของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่ต้องยิงออกไปเพื่อชิงความนิยม กระทำผ่านมาตรการเยียวยาน้ำท่วมในพื้นที่ประสบอุทกภัยตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน-24 ตุลาคม 2565 ที่ได้รับผลกระทบ 59 จังหวัด 528,000 ครัวเรือน แหกกฎเหล็ก 180 วัน

ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์เยียวยาไปก่อนหน้านี้ ประกอบด้วย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2562 จำนวน 79 ล้านบาท

ยกตัวอย่างเช่น ค่าจัดการศพผู้เสียชีวิต รายละไม่เกิน 29,700 บาท บาดเจ็บสาหัส จ่ายเบื้องต้นรายละ 4,000 บาท ค่าวัสดุซ่อมแซมที่อยู่อาศัยประจำเท่าที่จ่ายจริง หลังละ 49,500 บาท

ด้านการเกษตร ช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยพิบัติที่พืชตาย-เสียหายตามจำนวนพื้นที่ทำการเกษตรจริงที่ได้รับความเสียหาย ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่

กองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัยสำนักนายกรัฐมนตรีของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) มอบถุงยังชีพ ตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม-21 ตุลาคม 92,361 ถุง 13 จังหวัด วงเงิน 65 ล้านบาท

ค่าจัดการศพ รายละ 50,000 บาท เงินทุนเลี้ยงชีพแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต ครอบครัวละ 30,000 บาท เงินทุนเลี้ยงชีพแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตที่มีบุตรอายุไม่เกิน 25 ปีบริบูรณ์ อีกครอบครัวละ 50,000 บาท

ค่าวัสดุในการก่อสร้างซ่อมแซมบ้านเรือนที่เสียหายทั้งหลัง ไม่เกินหลังละ 220,000-230,000 บาท เสียหายมาก ไม่เกินหลังละ 70,000 บาท และเสียหายน้อย ไม่เกินหลังละ 15,000 บาท

ค่าเครื่องอุปโภคและเครื่องใช้ที่จำเป็นแก่ครอบครัวแก่ผู้ประสบภัยพิบัติเฉพาะบ้านเรือนที่เสียหายทั้งหลัง-เสียหายมาก ครัวเรือนละ 5,000 บาท

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์ ช่วยเหลือตามระเบียบว่าด้วยการจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคมกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2547 จำนวน 151 ราย รายละ 3,000 บาท รวม 453,000 บาท

องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ช่วยเหลือประชาชนไปแล้วจำนวน 181 ล้านบาท เป็นการช่วยเหลือประชาชนในเบื้องต้นได้ทันที เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า กรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน อาจใช้เงินสะสมของ อปท.

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ให้เงินช่วยเหลือแก่เกษตรกรชาวสวนยางกรณีประสบภัย รายละไม่เกิน 3,000 บาท

 

นอกจากเงินนอกงบประมาณที่อยู่ในส่วนของเงินทดรองจ่ายฉุกเฉิน-เงินสะสมของ อปท. และกองทุนภัยพิบัติ ยังมี “งบกลาง” ที่อยู่ในมือของ พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อใช้เป็น “เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณุฉุกเฉินหรือจำเป็น” กว่า 92,400 ล้านบาท

โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ได้เห็นชอบให้สำนักงบประมาณตั้งไว้เป็น “งบกลางรายการชดใช้เงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน” จำนวน 2,000 ล้านบาท

เป็น “เงินพิเศษ” ท็อปอัพ ผ่านเกณฑ์เยียวยาครอบครัวละ 3,000 บาท และอาจจะมากสุดถึง 5,000 บาทต่อครัวเรือน เทียบเท่ายุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อคราวน้ำท่วมปี 2554 หรือ “อาจจะมากกว่านั้น”

โดยจะเข้าสู่การอนุมัติของ ครม.ในสัปดาห์หน้า

ขณะเดียวกัน ยังมีมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ปี 2565 ของกระทรวงการคลัง อาทิ มาตรการภาษีระยะเร่งด่วน ขยายเวลายื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีหรือนำส่งภาษี และการขอเสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงิน สำหรับผู้มีหน้าที่เสียภาษีในพื้นที่อุทกภัยออกไปเป็นภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2565

มาตรการในระยะถัดไป หักลดหย่อนค่าซ่อมแซมอสังหาริมทรัพย์ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท และหักลดหย่อนค่าซ่อมแซมรถตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักรายจ่ายได้ตามจริง

กรมธนารักษ์ ผู้เช่าที่ราชพัสดุที่ประสบอุทกภัย ยกเว้นค่าเช่าสูงสุด 2 ปี กรณีผู้เช่าที่ดินราชพัสดุเพื่ออยู่อาศัย หากเสียหายบางส่วน ยกเว้นค่าเช่า 1 ปี เสียหายทั้งหลัง ยกเว้นค่าเช่า 2 ปี กรณีพืชหรือผลผลิตเกษตรเสียหาย ยกเว้นเก็บค่าเช่า 1 ปี

มาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ปี 2565 ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 7 แห่ง 21 มาตรการ ประกอบด้วย มาตรการพักชำระหนี้ ลดเงินต้นและดอกเบี้ย และปรับปรุงโครงสร้างหนี้ จำนวน 9 มาตรการ

มาตรการสนับสนุนด้านสินเชื่อ จำนวน 10 มาตรการ มาตรการสินไหมเร่งด่วน จำนวน 1 มาตรการ และมาตรการพักชำระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันและค่าจัดการค้ำประกัน จำนวน 1 มาตรการ อยู่ระหว่างเสนอ ครม.

 

อาวุธหนักของ “พล.อ.ประยุทธ์” ในช่วงโค้งสุดท้าย ปลายสมัยรัฐบาล เตรียมทุบคลังแสง-เปิดกล่องของขวัญปีใหม่ คืนความสุขให้ทุกชนชั้น เพื่อเป็น “แรงบวก” ส่งไปถึงก่อนการเลือกตั้งครั้งหน้าในวันที่ 7 พฤษภาคม 2566

ยกตัวอย่างเช่น โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 6 โครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการช้อปดีมีคืน รวมถึงโครงการช้อปช่วยชาติ ที่อยู่ในลิสต์แพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี

สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) มีหนังสือประทับตรา ด่วนที่สุด ที่ นร 0505/ว 463 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2565 เรื่อง การดำเนินโครงการเพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ พ.ศ.2566 ให้แก่ประชาชน ไปถึงหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค-ข้าราชการทุกกระทรวง-กรม-กอง ทุกหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ

“โดยแผนงาน/โครงการดังกล่าวต้องสามารถดำเนินการให้มีผลในทางปฏิบัติต่อส่วนรวมได้ทันในช่วงเทศกาลปีใหม่อย่างแท้จริง ไม่ขัดต่อกฎหมายและประกาศเตือนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศด้วย เช่น โครงการคนละครึ่ง โครงการเราเที่ยวด้วยกัน”

ทั้งนี้ ให้ทุกส่วนราชการรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐนำแผนงาน/โครงการดังกล่าวเสนอต่อคณะรัฐมนตรีโดยเร็ว ภายในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 เพื่อพิจารณาความเหมาะสมและสอดคล้องในภาพรวมก่อน

รวมถึงการลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ในช่วงต้นปี 2566 เติมเงิน-เพิ่มเงินให้กับ 20 ล้านคน ที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน

บัตรคนจนเวอร์ชั่นใหม่ก่อนเลือกตั้ง รัฐบาลอัพเกรดเป็นบัตรพรีเมียมแพลทินัม-เพิ่มสิทธิประโยชน์ เพิ่มส่วนลดค่าน้ำ-ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม ค่าเดินทาง

สามารถถอนเป็นเงินสดได้ เช่น เงินคืนค่าไฟฟ้า ไม่เกิน 315 บาท/ครัวเรือน/เดือน เงินคืนค่าน้ำประปา ไม่เกิน 100 บาท/ครัวเรือน/เดือน และที่เพิ่มเติมสะสมในเดือนถัดไปได้ คือ เงินเพิ่มเบี้ยคนพิการ 200 บาท/เดือน

 

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ล่องเรือรัฐนาวาเข้าสู่โค้งสุดท้าย พร้อมกับแผนเทกระจาดเที่ยวล่าสุดผ่านมาตรการเยียวยาน้ำท่วม-แพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปี ก่อนถึงวันเลือกตั้ง

นี่คือกลยุทธ์สำคัญที่มีเดิมพันถึงการกลับมาได้หรือไม่ หลังการเลือกตั้งปีหน้า