จับกระแสประท้วง ‘โลกร้อน’ | สิ่งแวดล้อม

ทวีศักดิ์ บุตรตัน
กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม "Ultima Generazione" หรือชนยุคสุดท้าย

จับกระแสประท้วง ‘โลกร้อน’

 

การประท้วงของกลุ่มต่อต้าน “โลกร้อน” ด้วยการบุกเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ศิลปะอันล้ำค่าแล้วเอากาวทามือแปะไปที่กรอบรูปภาพที่วาดโดยจิตรกรนามกระเดื่องโลก เพื่อเรียกร้องความสนใจผู้คนให้ฉุกคิดถึงผลพวงจากโลกร้อนที่นำไปสู่ปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง ความอดอยากหิวโหย ความทุกข์ยากจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น โรคภัยไข้เจ็บที่แพร่ระบาด กำลังกลายเป็นกระแสไวรัลลามไปทั่วยุโรป

เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กลุ่มต่อต้านภาวะโลกร้อนชื่อ “Just Stop Oil” พากันเข้าไปในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติของอังกฤษตั้งอยู่ในกรุงลอนดอน จากนั้นเปิดฝากระป๋องซุปมะเขือเทศที่แอบซุกไว้ในเสื้อแจ๊กเก็ตแล้วสาดใส่ไปที่กรอบรูปดอกทานตะวันของ “วินเซนต์ แวน โก๊ะ” ศิลปินชาวดัตช์ซึ่งมีมูลค่ากว่า 1,400 ล้านบาท สุดท้ายเอามือโปะกาวแปะไปที่ผนังข้างกรอบรูปพร้อมกับถ่ายคลิปแพร่ไปในโลกออนไลน์

“ฟีบี พลัมเมอร์” สาวชาวลอนดอนวัย 21 ปี ตัวแทนของกลุ่มผู้ประท้วง ตะโกนร้องถามผู้ที่อยู่ในห้องแสดงหมายเลข 43 ว่า “ระหว่างศิลปะกับชีวิตผู้คน อะไรมีค่ามากกว่ากัน”

“พลัมเมอร์” ตั้งคำถามว่า “รูปนี้มีค่ามากกว่าอาหารหรือมากกว่าความยุติธรรม พวกคุณทั้งหลายจะปกป้องรูปภาพหรือจะปกป้องโลกและประชาชน?”

“วันนี้ผู้คนกำลังอดอยากจากค่าครองชีพที่พุ่งสูง อีกหลายล้านคนกำลังหนาวตายเพราะไม่มีเงินซื้อพลังงานมาให้ความอบอุ่น พวกเขาไม่มีแม้แต่เงินจะซื้อซุปกระป๋องกิน” พลัมเมอร์พูดปิดท้ายก่อนมีเสียงเรียกเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์เข้าระงับเหตุ

เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์เร่งทำความสะอาดห้องและบอกว่า รูปภาพแวนโก๊ะไม่ได้รับความเสียหาย มีแค่กรอบรูปที่โดนน้ำซุปเลอะเปื้อนนิดหน่อย

แต่คลิปของกลุ่มต่อต้านโลกร้อนแพร่กระจายผ่านโชเซียล เป็นการประท้วงในรูปแบบใหม่ที่ได้รับความสนใจอย่างมากทั้งจากฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

ฝ่ายเห็นด้วยบอกว่า แม้การกระทำอย่างนี้ทำให้คนรู้สึกตื่นตระหนกตกใจบ้าง แต่สะกิดให้ผู้คนหันมาคิดตระหนักถึงปัญหาโลกร้อน ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ กระจิ๋วหลิวที่มองข้ามไป

 

ให้หลัง 9 วัน กลุ่มต่อต้านโลกร้อนในเยอรมนี บุกเข้าไปสาดมันฝรั่งบดใส่รูปศิลปะของ “โคล้ด โมเน่ต์” ที่มีชื่อว่ากองฟาง ตั้งโชว์อยู่ในพิพิธภัณฑ์บาร์เบอรินี เมืองพอตส์ดัม

คนกลุ่มนี้ใช้ชื่อกลุ่มว่า “ชนยุคสุดท้าย” (Letzte Generation) ประกาศจตนารมณ์หลังปฏิบัติการเสร็จสิ้นว่า วันนี้โลกของเรากำลังอยู่ในห้วงวิกฤตจากการปล่อยก๊าซพิษ ผู้คนกำลังหนาวตาย หิวโหย แม้รูปนี้มีมูลค่ามหาศาล แต่ถ้าคนอดตาย มันจะมีค่าอะไร และหากทุกคนรับฟัง เราพร้อมจะหยุด

ภาพวาดของโมเน่ต์ ไม่ได้รับความเสียหายเพราะอยู่ในกรอบรูปที่มีแผ่นกระจกใสปิดไว้อย่างดี

เมื่อปีที่แล้วกลุ่มผู้ประท้วงชุดนี้ เคยเรียกร้องให้รัฐบาลเยอรมนีเร่งแก้วิกฤตการณ์ “โลกร้อน” ด้วยวิธีอดอาหารที่หน้าอาคารรัฐสภา

มาต้นปีนี้เปลี่ยนวิธีการเรียกร้องใหม่ด้วยการเอากาวโปะมือแล้วแปะกับผิวถนนมอเตอร์เวย์ที่การจราจรคับคั่ง

หลังจากนั้น ระดมพลราว 15 คนบุกเข้าไปในพิพิธภัณฑ์รถปอร์เช่ที่เมืองวูฟส์เบิร์ก แล้วใช้กาวแปะมือติดกับพื้นโชว์รูมเพื่อเป็นสัญลักษณ์เรียกร้องให้บริษัทโฟล์กสวาเกน ผู้ผลิตรถปอร์เช่ หยุดการผลิตรถยนต์ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

การประท้วงครั้งหลังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำเกินเหตุเพราะบุกรุกเข้าไปในพื้นที่เป็นของเอกชน แต่กลุ่มผู้ประท้วงยอมรับว่า ถ้าไม่ทำให้วุ่นวายปั่นป่วน รัฐบาลไม่หันมาสนใจ บริษัทก็ไม่ให้ความสำคัญ

ภาพชื่อ “พริมาเวอรา” ฝีมือ “ซานโดร บอตติเซลลี” จิตรกรอิตาเลียนยุคเรอเนสซองส์ วาดไว้เมื่อ 540 ปีก่อน นำแสดงที่ศูนย์ศิลปะในเมืองฟลอเรนซ์ บรรดานักต่อต้าน “โลกร้อน” ใช้เป็นเครื่องมือประท้วง

เมื่อคลิปการประท้วงต่อต้านโลกร้อนดังกล่าวนำเผยแพร่ในโชเชียล มีผู้แสดงความเห็นมากมาย บางคนเห็นว่าบริษัทเหล่านี้ฟาดกำไรมโหฬาร แต่ก๊าซพิษที่ปล่อยจากท่อไอเสียของรถทำให้ผู้คนต้องเผชิญกับปัญหาโลกร้อน ฉะนั้น บริษัทควรแบ่งความมั่งคั่งมาช่วยเยียวยาโลกเพียงแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ของกำไรก็ยังดี

ที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ใช้ชื่อว่า “Ultima Generazione” หรือชนยุคสุดท้าย เข้าไปในศูนย์ศิลปะออฟฟิซี พร้อมกับเอามือติดกาวโปะใส่กรอบรูปวาดอันโด่งดังที่มีชื่อว่า “พริมาเวอรา” ฝีมือของ “ซานโดร บอตติเซลลี” จิตรกรอิตาเลียนยุคเรอเนสซองส์ วาดไว้เมื่อ 540 ปีก่อน

ผู้ประท้วงบอกว่า ได้แรงบันดาลใจมาจากกลุ่ม “Just Stop Oil” ของอังกฤษ และเป้าหมายพุ่งไปที่รูปพริมาเวอรา เพราะมีความหมายว่า ฤดูใบไม้ผลิ เป็นภาพวาดแสดงถึงการเฉลิมฉลองในความรัก ความสันติสุขและความมั่งคั่งของชาวโรมในเวลานั้น

“เราอยากให้ฤดูใบไม้ผลิวันนี้สวยสดงดงามเหมือนดั่งในรูป แต่ในสภาพความเป็นจริง เรากำลังเผชิญกับไฟป่า วิกฤตขาดแคลนอาหาร ภัยแล้ง ทำให้พวกเราตกอยู่ในห้วงทุกข์ เราจึงตัดสินใจประท้วงด้วยวิธีการอย่างนี้เพื่อบอกว่าชาวโลกถลำตัวสู่ดินแดนแห่งมหันตภัย สังคมและสิ่งแวดล้อมกำลังล่มสลาย” แถลงการณ์ของกลุ่มประท้วงอิตาลีระบุ

การปลุกกระแสต่อต้านโลกร้อนของยุโรปได้รุกคืบเข้าไปสู่พื้นที่ศิลปะเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ไม่รู้ว่าจะปลุกให้โลกตื่นรู้ได้มากน้อยแค่ไหน แต่ที่แน่ๆ ภัยจากโลกร้อนส่งผลสะท้อนในด้านลบกลับมายังชุมชนผู้คนอย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง

 

ศาสตราจารย์เดม เจนนี่ แฮร์รี่ หัวหน้าฝ่ายบริหารสำนักงานความมั่นคงด้านสุขภาพของอังกฤษ บอกว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เกิดผลกระทบอย่างกว้างขวาง ทั้งด้านความมั่นคงทางอาหาร น้ำท่วม และโรคร้ายที่มากับสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป

“แฮร์รี่” ยกตัวอย่าง คลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นในอังกฤษเป็นช่วงๆ ถึง 6 ครั้ง ส่งผลกระทบกับชาวอังกฤษโดยตรง มีส่วนสัมพันธ์กับการเสียชีวิตกว่า 2,800 คน มิหนำซ้ำอุณหภูมิทะลุถึง 40.3 องศาเซลเซียสทำลายสถิติที่เคยมี

คุณแฮร์รี่ยังคาดการณ์อีกว่า ภายในปี 2593 จำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุที่สัมพันธ์กับคลื่นความร้อนอาจจะมากเป็น 3 เท่าของปัจจุบัน และอุณหภูมิพุ่งสูงทำลายสถิติในฤดูร้อนจะกลายเป็นเรื่องปกติของอังกฤษ

คลื่นความร้อนนอกจากจะส่งผลต่อความตายแล้ว ยังทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคที่เหมือนกับเชื้อโรคในพื้นที่แถบโซนร้อนอย่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น เชื้อชิคุนกุนยา และเชื้อไวรัสเดงกี่ที่เกิดจากยุงลาย

ทางตอนใต้ของยุโรปและฝรั่งเศส เชื้อไวรัสเดงกี่ แพร่ระบาดรุนแรงขึ้นเนื่องจากอุณหภูมิเฉลี่ยสูงกว่า 28 ํC และในกรุงปารีสพบผู้ป่วยไข้เดงกี่เช่นกัน แสดงว่าการแพร่ระบาดขยับขยายขึ้นไปทางขั้วโลกเหนือ

ทางฝั่งบ้านเรา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีผลทำให้เกิดฝนตกหนัก ปริมาณน้ำฝนมากกว่าปกติ ผลที่ตามมาในขณะนี้ก็คือน้ำท่วมหนัก บ้านเรือน ไร่สวนจมอยู่ใต้น้ำ บางแห่งนานเป็นเดือน ความเสียหายพุ่งเป็นหลายหมื่นล้านบาท คาดว่าในหน้าแล้ง อุณหภูมิจะพุ่งสูง เกิดฝนทิ้งช่วง ภัยแล้งก็ตามมาอีก

แม้คนไทยส่วนใหญ่ไม่สนใจการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่มีม็อบต่อต้านโลกร้อน หรือไม่มีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลควบคุมการปล่อยก๊าซพิษ แต่คนไทยวันนี้รู้สึกเป็นทุกข์ไม่ต่างอะไรกับผู้ประท้วงชาวยุโรป •

 

สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]

คลิปการประท้วงของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม “Ultima Generazione”