จับตาอนาคตจีน หลัง ‘สี จิ้นผิง’ กระชับอำนาจ | บทความต่างประเทศ

บทความต่างประเทศ

 

จับตาอนาคตจีน

หลัง ‘สี จิ้นผิง’ กระชับอำนาจ

 

การประชุมสมัชชาแห่งชาติสมัยที่ 20 ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งเริ่มต้นเมื่อ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา และจะใช้เวลาราวหนึ่งสัปดาห์จึงจะสิ้นสุด

ในทางทฤษฎี นี่จะเป็นวาระสำคัญของการลงคะแนนเลือก ผู้นำใหม่ทั้งของพรรคและของรัฐ รวมไปถึงการคัดสรรเอาหัวกะทิในพรรคขึ้นมารับผิดชอบการกำหนดนโยบายและแนวทางขับเคลื่อนประเทศในอีก 5 ปีข้างหน้า ที่จะมีการประชุมสมัชชาแห่งชาติกันขึ้นอีกครั้ง

แต่ในทางปฏิบัติ นักสังเกตการณ์จีนเล็งเห็นตรงกันว่า สมัชชาสมัย 20 นี้จะเป็นเครื่องมือที่ทำให้อำนาจและอิทธิพลของสี จิ้นผิง แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น กลายเป็นผู้นำที่มีอำนาจสูงสุด อยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุดเท่าที่จีนเคยมีมา

เชื่อกันว่า สีจะได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ตำแหน่งสูงสุดในพรรค และตำแหน่งประธานกรรมาธิการทหาร ที่ควบคุมกองทัพประชาชนจีนและกำลังตำรวจทั้งประเทศ รวมไปถึงตำแหน่งประมุขของประเทศ คือตำแหน่งประธานาธิบดีสืบต่อไปอีก เป็นสมัยที่ 3 ซึ่งไม่เคยปรากฏเช่นนี้มาก่อน

เหตุผลก็คือ สี จิ้นผิง เตรียมการทุกอย่างมาเป็นอย่างดีเพื่อแต่งตั้งคนของตนเองเข้าสู่แกนกลางของอำนาจให้มากที่สุด เพื่อยังผลให้ตนเองสามารถกระชับและยืดอำนาจสูงสุดออกไปนานเท่าที่ต้องการได้

ในการประชุมเมื่อปี 2017 สีไม่สามารถทำเช่นนี้ได้ เนื่องจากติดขัดข้อกำหนดบางประการ โดยเฉพาะการจำกัดให้ผู้ที่จะเข้าดำรงตำแหน่งคณะกรรมการกรมการเมืองถาวรประจำคณะโปลิตบูโร 7 คน ซึ่งคัดสรรจากคณะกรรมการกรมการเมือง หรือโปลิตบูโร 25 คนว่าจะต้องอายุไม่เกิน 68 ปีเมื่อมีการประชุมสมัชชาขึ้น

แต่ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา พรรคคอมมิวนิสต์จีนเผยแพร่กฎเกณฑ์ใหม่ออกมา นอกจากจะยกเลิกข้อจำกัดเรื่ออายุดังกล่าวแล้ว ยังยกเลิกข้อจำกัดเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งที่จำกัดให้ได้ไม่เกิน 2 สมัย ลงอีกด้วย

ผลจากการนี้อาจทำให้คณะกรรมการกรมการเมืองถาวรเดิมทั้ง 7 คนสามารถอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้อีก แต่ผู้เชี่ยวชาญจีนเชื่อว่า สี จิ้นผิง จะคัดสรรเอาผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม อาทิ เป็นนักวิชาการ, มีผลงานดีความสามารถสูง, มีอายุที่เหมาะสม และที่สำคัญที่สุดคือ ต้องภักดีต่อสี จิ้นผิง ขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทน 7 คนดังกล่าวให้มากที่สุด

ซึ่งอาจจะยังผลให้องค์ประกอบทั้งในคณะกรรมการกรมการเมือง 25 คน และคณะกรรมการกรมการเมืองถาวร 7 คน ส่วนใหญ่กลายเป็นคนของสี จิ้นผิง ไปในที่สุด

เป็นการหวังผลในระยะยาวอย่างน้อยในอีก 5 ปีข้างหน้าหรือไกลไปมากกว่านั้น

 

ด้วยอำนาจที่มีอยู่กับตัวอย่างล้นเหลือ สี จิ้นผิง ได้ก่อให้เกิดความไม่แน่นอนสำคัญประการหนึ่งขึ้นกับพรรคและรัฐของจีน เป็นความไม่แน่นอนในการสืบทอดอำนาจ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาแตกแยกและช่วงชิงการนำภายในพรรค ทำลายเสถียรภาพของพรรคและของประเทศมาหลายต่อหลายครั้งในอดีต

โดยเฉพาะปัญหาแก่งแย่ง ช่วงชิงอำนาจกันในช่วงทศวรรษ 1980 ที่ลงเอยด้วยการขับ หู เย่าปัง และจ้าว จื่อหยาง พ้นจากตำแหน่ง เพราะถูกอีกฝ่ายกล่าวหาว่า “มีอุดมการณ์การเมืองเสรี” มากเกินไป ในการรับมือกับการลุกฮือขึ้นประท้วงของนักศึกษาในเวลานั้น

ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าวแม้ทางพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะพยายามบัญญัติกฎเกณฑ์ต่างๆ ออกมามากมาย แต่ยังคงไม่มีกฎเกณฑ์ชัดเจนตายตัวสำหรับการกำหนดตัวทายาทผู้สืบทอดอำนาจทางการเมือง ยังคงปล่อยให้เป็นเรื่องที่ “ไม่เป็นทางการ” อยู่ต่อไป

 

อีกตำแหน่งสำคัญที่ยังไม่ปรากฏเป็นที่แน่ชัด นั่นคือตำแหน่งผู้กุมอำนาจอันดับที่สองอย่างนายกรัฐมนตรีจีน เนื่องจากหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ยืนยันชัดเจนแล้วว่าจะไม่รับตำแหน่งนี้ต่อไป

นักสังเกตการณ์เชื่อว่า รองนายกรัฐมนตรีในปัจจุบันอย่างหู ชุนหว่า และหลิว เหอ ต่างมีโอกาสได้รับตำแหน่งนี้ด้วยกันทั้งคู่

รองนายกรัฐมนตรีหูนั้นมีแนวคิดทางเศรษฐกิจในเชิงเสรีนิยมค่อนข้างมาก เคยมีภูมิหลังมาจากการทำงานในสันนิบาตยุวชนของพรรคมาก่อน แต่ไม่เคยมีความสัมพันธ์กับสี จิ้นผิง ก่อนหน้าที่จะได้รับตำแหน่งในคณะกรรมการกรมการเมืองถาวรเมื่อ 5 ปีก่อน

ตรงกันข้ามกับรองนายกรัฐมนตรีหลิว ที่ได้รับความไว้วางใจจากสี และกลุ่มผู้สนับสนุนในแง่ของการปฏิรูปตลาด และการเปิดประเทศ จึงมีโอกาสที่จะได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ด้วยและอาจมีโอกาสสูงกว่าคนอื่นๆ ด้วยซ้ำไป

 

การกระชับอำนาจ สร้างสถานะที่แข็งแกร่งให้กับตนเองของสี จิ้นผิง สะท้อนให้เห็นว่า การควบคุมประเทศ ประชากรของประเทศในเชิงอุดมการณ์ตามลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างเข้มงวดของสี จิ้นผิง จะยังคงดำเนินต่อไป

แต่ผู้เชี่ยวชาญจีนหลายคนเชื่อว่า การปราบปรามและเข้มงวดกับแวดวงธุรกิจอาจสร่างซา ผ่อนคลายลงไปบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจัดการกับอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์, สถาบันการเงินต่างๆ และภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ทั้งนี้เนื่องจากเศรษฐกิจของจีนกำลังชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่สภาวะแวดล้อมภายนอกก็ส่อเค้าว่าจะเข้าสู่ภาวะถดถอยกันทั่วโลก ส่งผลให้จีนอาจจำเป็นต้องหันมาหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่อีกครั้งในอนาคตอันใกล้

การคงอยู่ของสี จิ้นผิง ยังอาจทำให้ตีความได้ว่า โครงการที่เป็นยุทธศาสตร์ทางการทูตระดับโลกอย่าง “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” (บีอาร์ไอ) ที่ริเริ่มโดยสี จิ้นผิง จะยังคงดำรงอยู่ต่อไป แต่อาจหันไปหามิติในเชิงความเป็นอยู่ของผู้คน แทนที่การเน้นที่ขนาดของโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานเหมือนเช่นที่ผ่านมา

และอาจผสมผสานเอามิติทางด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ, การพัฒนาที่ยั่งยืน และการเชื่อมต่อเชิงดิจิทัล ที่สี จิ้นผิง ย้ำนักย้ำหนา เข้าไปเป็นองค์ประกอบสำคัญด้วย

เพื่อดิ้นรนให้พ้นจากปัญหา “หนี้” ที่เกิดขึ้นกับโครงการนี้หนักหนาสาหัสในช่วงที่ผ่านมานั่นเอง