ตามหา ‘ฤๅษีสัชนาไลย’ ผู้นำหอยสังข์มาเป็นแบบสร้างเมืองหริภุญไชย | เพ็ญสุภา สุขคตะ

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ตามหา ‘ฤๅษีสัชนาไลย’

ผู้นำหอยสังข์มาเป็นแบบสร้างเมืองหริภุญไชย

 

ระหว่างวันที่ 14-15 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ดิฉันและคณะนักวิจัยจากลำพูน-เชียงใหม่ราว 10 ชีวิต ได้ลงพื้นที่สำรวจ ตามรอยค้นหาที่สถิตพำนักของ “ฤๅษีสัชนาไลย” หรือ “อนุสิสฤๅษี” ผู้เป็นต้นแบบในการสร้างเมืองสมัยทวารวดีเป็นผังรูป “หอยสังข์” ให้แก่ฤๅษีวาสุเทพแห่งนครหริภุญไชย

โดยคณะของเราได้รับเกียรติจาก “อาจารย์สมชาย เดือนเพ็ญ” ปราชญ์ชาวสวรรคโลก-สุโขทัย เป็นผู้ประสานงานกับพรานป่าในพื้นที่ ให้ถากถางวัชพืช นำทางพาคณะพวกเราขึ้นไปบน “ยอดเขาพระศรี” ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย

เขาพระศรีมีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 300 เมตร มองเห็นโดดเด่นได้รอบด้านทันทีที่ใครไปถึงอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย คณะเราต้องหอบห่อข้าว-น้ำดื่มไต่เขาสูงชันแนวเฉียงเกือบ 75 องศาตลอดฐานจรดยอด ไม่มีเส้นทางราบเรียบ ปราศจากราวบันได ไร้เชือกจับ ท่ามกลางหนามไหน่ไผ่งิ้ว ต่อแตน มดแดง มดดำ กับสัตว์ร้ายชนิดหนึ่งที่อยู่คู่กับเขาลูกนี้ ทำให้ไม่มีใครกล้าขึ้นไปหากไม่จำเป็น นั่นคือ “งูจงอาง” เลื้อยตัดหน้าไปมาเป็นระยะๆ พอให้เลือดในกายได้สูบฉีดร้อนแรงขึ้น

เมื่อสลัดความกลัวทิ้ง สายฝนที่กระหน่ำหนักอย่างไม่ขาดสายเพิ่มความลื่น ต้องชะลอความเร็ว ก็หาใช่อุปสรรคใดๆ อีกต่อไป

 

นัยแห่ง “ฤษี” ในตำนานการสร้างเมืองหริภุญไชย

เราพบคำว่า “ฤษี” (ฤๅษี) ว่าเป็นผู้มีบทบาทในการสร้างเมืองหริภุญไชย ปรากฏในตำนานมูลศาสนา จามเทวีวงส์ ชินกาลมาลินี และพงศาวดารโยกนก ซึ่งเรื่องราวของฤๅษีเหล่านี้ ล้วนเต็มไปด้วยอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ จนทำให้ “ยากแก่การเชื่อถือได้ว่าเรื่องราวเหล่านี้มีอยู่จริง”

หากเราถอดเรื่องอภินิหารทิ้งไป แล้วเปลี่ยนมุมมองของ ษ ฤๅษี หนวดยาวใหม่ จากเป็นเพียงแค่ “พ่อปู่ผู้บำเพ็ญตบะแก่กล้ายุยืน ขบฉันผลหมากรากไม้ในป่า” มาเป็น “พวกพราหมณ์นักพรตที่เดินทางมายังสุวรรณภูมิเพื่อเผยแผ่ศาสนา” ก็จะพบว่าสอดคล้องกับหลักฐานทางโบราณคดีที่มีอยู่จริงในหลุมฝังศพมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ในลำพูน เช่นที่บ้านวังไฮ ตำบลเวียงยอง อำเภอเมือง

พบร่องรอยการรับเอาอารยธรรมจากอินเดียเข้ามาในดินแดนลุ่มแม่ระมิงค์นี้ ผ่านเข้ามา 2 ด้าน ด้านแรกคือ ทางการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากัน โดยชาวอินเดียหรือชาวตะวันตกต้องการไม้หอมประเภทไม้กฤษณา ไม้จันทน์ ไม้ฝาง กํายาน ครั่ง และอีกด้านหนึ่งคือ การเข้ามาของพราหมณ์ฮินดู ซึ่งนักวิชาการหลายท่านวิเคราะห์ว่า เป็นกลุ่มที่ในตํานานใช้คําว่า “ฤษี”

อย่างไรก็ดี นักวิชาการท้องถิ่นหลายท่านยังคงยืนยันว่า “ฤษี” ที่ปรากฏในตํานานเกี่ยวกับการสร้างเมืองหริภุญไชยนี้เป็นพวกที่นับถือพระพุทธศาสนา ดังข้อความในตํานานมูลศาสนากล่าวว่า

“ในกาลครั้งหนึ่ง วันนั้นยังมีกุลบุตรทั้งหลาย 5 คน คนหนึ่งชื่อวาสุเทว คนหนึ่งชื่อสุกกทันต คนหนึ่งชื่ออนุสิสส คนหนึ่งชื่อพุทธชฎิล คนหนึ่งชื่อสุพรหม กุลบุตรทั้ง 5 คนนี้ประกอบด้วยศรัทธา ออกบวชในพระพุทธศาสนา แล้วเขาทั้งหลายมารําพึงเห็นว่า วินัยสิกขาบททั้งหลายอันพระศาสดาทรงบัญญัติไว้นี้ ประกอบด้วยกิจอันละเอียดยิ่งนัก และเขาทั้งหลายเห็นว่าจะปฏิบัติตามได้ด้วยยาก จึงพร้อมกันสึกออกจากสมณเพศ แล้วมาบวชเป็นฤษีเข้าไปอยู่ในป่าหิมวันต์ ก็ได้สำเร็จปัญจอภิญญาและสมาบัติทั้ง 5 ตน อยู่มาในกาลวันหนึ่งเจ้าฤษีทั้ง 5 ตนนั้น มีความปรารถนาจักบริโภคในรสอันเปรี้ยวและเค็ม อันเป็นอาหารของมนุษย์ทั้งหลาย จึงชวนกันออกจากป่าหิมวันต์มาทางอากาศตรงมาสู่ทิศหนใต้นี้”

หากอ่านข้อความในตํานานแบบตรงไปตรงมาตามตัวอักษร ก็อาจเข้าใจได้ว่า ฤษีทั้ง 5 ตนนี้เคยบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนามาก่อน สุดท้ายก็สึกออกมาเป็นนักบวชหรือพรตอิสระ คือปล่อยผมยาวไว้มุ่นมวย ประพฤติตนเคร่งครัด กินผลหมากรากไม้ ฯลฯ ซึ่งไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับศาสนาพราหมณ์แต่อย่างใดเลย

อนึ่ง ต้นวงศ์ของ “ฤษี” ที่เหล่าฤษีทุกตนนับถือให้เป็น “มหาฤษี” หรือ “พ่อปู่ฤษี” นั้น มีจุดกำเนิดมาจาก “พระศิวะ” หนึ่งในเทพตรีมูรติของศาสนาฮินดู พระองค์เป็นผู้ก่อตั้งนิกายสำคัญ 2 นิกายให้แก่นักบวชประเภทโยคี มุนี ปริพาชก และฤษี ได้แก่ 1.นิกายเศวตัมพร (เศวตัมภรณ์) กลุ่มที่นุ่งขาวห่มขาว (เศวต-ขาว สมาสกับคําว่า อาภรณ์-เครื่องนุ่งห่ม) 2.นิกายทิฆัมพร (ทิฆัมภรณ์) กลุ่มชีเปลือย นุ่งลมห่มฟ้า ไม่สวมเสื้อผ้า ซึ่งกลุ่มหลังนี้มีความใกล้เคียงกับศาสนาเชนของพระมหาวีระ

ข้อถกเถียงเกี่ยวกับเหล่าฤษีผู้สร้างเมืองหริภุญไชยว่าสรุปแล้วควรเป็นฤษีพุทธ หรือฤษีพราหมณ์นั้น ยังไม่มีข้อยุติ

ยอมรับว่าเป็นการยากทีเดียวที่จะให้ผู้คนในสมัยของเราจินตนาการถึงบรรยากาศของลัทธิพราหมณ์ในเมืองลำพูนซึ่งปัจจุบันมีพระบรมธาตุเป็นสัญลักษณ์ เนื่องจากราว 600 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่สมัยพระญากือนาเป็นต้นมา ศาสนาพุทธลัทธิลังกาวงศ์ได้รับการสถาปนาอย่างมั่นคงในอาณาจักรล้านนา ชาวล้านนาให้ความสำคัญเฉพาะลัทธิลังกาวงศ์บริสุทธิ์เท่านั้น โดยเฉพาะตํานานที่เกี่ยวกับพระนางจามเทวีเหล่านี้รจนาโดยพระภิกษุล้านนา ที่ล้วนมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนานิกายลังกาวงศ์อย่างแรงกล้า บางทีอาจมีการปฏิเสธบทบาทของศาสนาพราหมณ์ไปก็เป็นได้

อันที่จริงขบวนการ “ภารตาภิวัฒน์” (Indianization) ในลักษณะการนับถือศาสนารูปแบบผสม ที่มีการปะปนกันระหว่างพุทธเถรวาท พุทธมหายาน และฮินดูปะปนในเวลาเดียวกัน ได้ก่อตัวอย่างเข้มข้นมาช้านานแล้วในดินแดนแถบอุษาคเนย์ในยุคสุวรรณภูมิ โดยปรากฏหลักฐานเด่นชัดทั้งทางศิลาจารึกและศิลปกรรมไม่ว่าในอาณาจักรฟูนัน เจนละ จามปา ศรีวิชัย ศรีเกษตร ศรีเทพ และทวารวดี เป็นรัฐจารีตที่ร่วมสมัยกันกับรัฐหริภุญไชย บางรัฐมีการนับถือลัทธิสุริยเทพ ลัทธิพระกฤษณะ

หลายแห่งพบร่องรอยของเทวาลัยฮินดูจำนวนมากก่อนที่จะมีการสร้างวัดในศาสนาพุทธ

 

ฤๅษีสัชนาไลยแห่ง “หริตวัลลีย์” เครือข่ายนครแห่ง “หริเทพ”

อีกเหตุผลหนึ่งที่นักวิชาการหลายท่านเชื่อว่า หริภุญไชย น่าจะมีความหมายสัมพันธ์กับพระนารายณ์ เพราะเหตุว่าในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14 นั้น อาณาจักรเจนละในสมัยนั้นมีเมืองหลวงชื่อ “หริหราลัย” (หริ = พระวิษณุหรือพระนารายณ,์ หระ = พระอิศวรหรือพระศิวะ หมายความว่าอาณาจักรแห่งนี้เคารพนับถือทั้งลัทธิไวษณพนิกายและไศวนิกาย)

อีกทั้งเมืองเก่าอีกเมืองหนึ่งอันเป็นเมืองที่สร้างโดยอนุสิสฤษี พระสหายของฤษีวาสุเทพ ผู้เป็นคนนําเกล็ดหอยสังข์มาให้ฤษีวาสุเทพใช้เป็นผังสร้างเมืองหริภุญไชย ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นเมืองศรีสัชนาลัยเดิมเคยใช้ชื่อว่า “หริตวัลลีนคร” (บ้างเขียน หริตวัลลีย์/หลิทวัลลีย์) เช่นเดียวกัน

จึงมีข้อน่าสังเกตว่าหริปุญไชยก็ดี หริหราลัยก็ดี หริตวัลลีก็ดี ต่างก็เป็นอาณาจักรเก่าแก่ที่ร่วมสมัยเดียวกัน ชื่อก็คล้ายกัน และต่างเป็นเมืองในยุคสมัยที่ลัทธิไวษณพนิกายกําลังเฟื่องฟู ดังมีหลักฐานปรากฏชัดอยู่ที่รัฐทวารวดี ร่วมสมัยกับหริภุญไชยที่เมืองอู่ทอง มีการนับถือลัทธิไวษณพนิกายอย่างกว้างขวาง จึงน่าจะมีอะไรที่โยงใยกันอยู่บ้างก็เป็นได้

รัฐเครือข่ายทวารวดีทุกแห่ง ไม่มีรัฐไหนที่ไม่เกี่ยวข้องกับพระกฤษณะ ซึ่งเป็นอวตารของพระวิษณุแห่งลัทธิไวษณพนิกาย เหตุที่คําว่า ‘ทวารวดี’ มาจากชื่อเมืองที่พระกฤษณะเป็นผู้สร้าง” ดังนั้น การที่นักวิชาการกล่าวว่า “หริภุญไชย” เป็นรัฐเครือข่ายของ “ทวารวดี” จากภาคกลาง นั่นย่อมหมายถึงว่าเป็นเมืองที่มีความเกี่ยวข้องเชิงแนวคิดกับลัทธิบูชาพระกฤษณะมาก่อน และต่อมาถูกผนวกรวมเป็นไวษณพนิกาย

ทั้งนี้ มิได้หมายความว่า ผู้นับถือพระวิษณุแล้ว จะต้องปฏิเสธการนับถือพระพุทธศาสนา ในอดีตพุทธกับพราหมณ์ไปด้วยกัน เห็นได้จากทุกวันนี้ยังมีพิธีพราหมณ์เคียงคู่กับพิธีพุทธในหลายๆ พิธีกรรมสำคัญ โดยเฉพาะในราชสำนักภาคกลางมีความประนีประนอมยอมรับการอยู่ร่วมกับพวกพราหมณ์อย่างกลมกลืนมิได้แบ่งแยก

ฤษีอนุสิสคือใคร สถิตพำนักอยู่ที่ไหน

ที่มาของความสัมพันธ์ระหว่างนคร “หริภุญไชย” กับนคร “หริตวัลลีย์” (ศรีสัชนาไลย ในยุคทวารวดี) สืบเนื่องมาจากการที่ตํานานได้ระบุถึงความสัมพันธ์กันระหว่างฤษี 2 ตนที่เป็นสหายกันก่อน ฤษีตนหนึ่งคือ “ฤษีวาสุเทพ” ผู้พํานัก ณ ยอดเขาดอยสุเทพ ได้เขียนสาส์นไปยังฤษีอีกตนคือ “ฤษีสุกกทันตะ” ณ เขาธรรมิกบรรพต (เขาสมอคอน) ละโว้ เพื่อให้ช่วยคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมจะมาเป็นผู้ปกครองนครหริภุญไชย

ส่วนเรื่องวิธีการสร้างเมืองนั้น ฤษีสุกกทันตะได้แนะนำให้ฤษีวาสุเทพสร้างเมืองด้วยผังแบบหอยสังข์ โดยจะมีสหายฤษีอีกตนเป็นผู้ช่วยคัดเลือกเกล็ดหอยสังข์ นำมาเป็นต้นแบบให้เอง

ฤษีผู้รับหน้าที่เป็นดั่ง “สถาปนิก” หรือ “วิศวกร” ผู้นั้นมีนามว่า อนุสิสฤษี บ้างเขียน “อนุสิสสะ” หรือ “อนุสิษฏ” อีกนามคือ สัชชนาไลยฤษี มีที่พํานักอยู่ ณ ยอดเขาลตางค์บรรพต แปลว่า “ดอยเครือเขา” บ้างเรียก “สิริบรรพต” (ตรงกับคำว่า “เขาพระศรี”) บ้างเรียก “ลงกตบรรพต” สถิต ณ เมืองหลิทวัลลินคร (หริตวัลลีย์/หริทวัลลีย์)

ฤษีตนนี้เป็นผู้มีความชํานาญด้านการก่อสร้าง มีบทบาทช่วยชี้แนะฤษีวาสุเทพในการกําหนดผังเมือง จนเกิดเป็นรูปหอยสังข์ตามความเชื่อที่ว่าผังรูปแบบนี้มีความเป็นสวัสดิมงคล เกี่ยวกับสถานที่อยู่ของอนุสิสฤษีในปัจจุบันนั้น ชินกาลมาลีปกรณ์เสนอว่า น่าจะหมายถึงเขาพระศรี ซึ่งอยู่ด้านหลังกำแพงเวียงเชลียง ในเขตอุทยานแห่งชาติศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย

จากข้อมูลทั้งหมดทั้งมวลนี้ นำไปสู่ปฏิบัติการตามหาที่สถิตพำนักของอนุสิสฤษี ณ เขาพระศรี ศรีสัชนาลัย ด้วยความยากเข็ญ แต่เปี่ยมท้นไปด้วยความสุข สนุกสนาน ได้บรรยากาศครบทุกรสชาติ

ขอกราบพระคุณ “อาจารย์สมชาย เดือนเพ็ญ” เป็นอย่างสูงอีกครั้ง ณ ที่นี้ ที่ทำให้คณะของเราได้ไปสัมผัสถึงจุดกำเนิดผู้หยิบยื่นผังเมืองหอยสังข์ให้แก่ฤๅษีวาสุเทพ •

 

ปริศนาโบราณคดี | เพ็ญสุภา สุขคตะ