เสฐียรพงษ์ วรรณปก : บางแง่มุมเกี่ยวกับพระพุทธองค์ (12) ผู้ถูกแผ่นดินสูบเพราะผิดต่อพระพุทธองค์ (ภาคนางจิญจมาณวิกา)

คราวที่แล้วเล่าเรื่อง พระเทวทัต ผู้ผิดต่อพระพุทธองค์ ในที่สุดถูกแผ่นดินสูบ มีผู้ถามว่า มีพระเทวทัตผู้เดียวหรือที่ถูกแผ่นดินสูบ (คลิกย้อนอ่าน)

ตอบว่ายังมีอีก 2 คนครับ บุรุษหนึ่ง สตรีหนึ่ง

ขอนำเรื่องสตรีมาเล่าก่อนก็แล้วกัน

สตรีนางนี้นามไพเราะว่า จิญจมาณวิกา เรียกสั้นๆ ว่า จิญจา

นางเป็นคนสวยงามมาก เป็นสาวิกาของอัญเดียรถีย์ อัญเดียรถีย์แปลว่า ลัทธิศาสนาอื่น คืออื่นจากพระพุทธศาสนา ไม่ระบุชัดว่าศาสนาใดลัทธิใด แต่เท่าที่ทราบมักจะเป็น ศาสนานิครนถ์ หรือศาสนาเชน ศาสนาที่มีพระแก้ผ้านั้นแหละครับ เพราะคัมภีร์มักเล่าถึงความกระทบกระทั่งระหว่างพระพุทธศาสนากับศาสนาเชนนี้บ่อยครั้งมาก

เมื่อพระพุทธศาสนามีการแพร่หลาย มีผู้เข้ามาบวชเป็นสาวกของพระพุทธองค์มากขึ้นตามลำดับ ทำให้พวกอัญเดียรถีย์เดือดร้อน เพราะศาสนาของตนมีผู้นับถือน้อยลง

แถมพระราชามหากษัตริย์ สมัยนั้นคือ พระเจ้าปเสนทิโกศล แห่งเมืองสาวัตถีก็เป็นพุทธมามกะสนับสนุนพระพุทธศาสนาอย่างเข้มแข็งอีกด้วย

ลาภสักการะที่เคยมีก็ลดลง ที่คาดว่าจะมีมาก็ดูมืดมน พวกอัญเดียรถีย์จึงเดือดร้อนมาก

พวกเขาประชุมปรับทุกข์กันและหาทางออกกอบกู้สถานการณ์ ในที่สุดได้มีมติให้นางจิญจมาณวิกา สาวิกาคนสวยไปดำเนินการโดยวิธีใดก็ได้ ที่ทำให้พระสมณะโคดม (คือพระพุทธเจ้า) เสื่อมเสียชื่อเสียง

เมื่อศาสดามัวหมอง ศาสนาของเขาก็เสื่อมถอยในที่สุด

แผนอันสกปรกโสมมได้ดำเนินการเป็นขั้นๆ เริ่มด้วยเดินออกจากเมืองในเวลาค่ำ ขณะที่คนทั้งหลายเดินเข้าเมืองกัน ครั้นมีคนถามนางว่า นางไปไหน ก็ตอบว่า เรื่องของฉัน คนอื่นไม่เกี่ยว สร้างความฉงนฉงายแก่ประชาชนเป็นอันมาก

พอเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง แผนชั่วร้ายก็ค่อยแย้มพรายออกมาทีละนิดๆ เมื่อถูกถามว่า นางจะไปไหน ก็ตอบว่า กลับที่อยู่ของฉันสิจ๊ะ

“ที่อยู่ของนางอยู่ที่ไหน”

พระศาสดาของท่านอยู่ที่ไหน ฉันก็อยู่ที่นั้นแหละ นางเล่นลิ้น ทำให้ประชาชนฉงน

นางเอาท่อนไม้มาผูกท้องแล้วเอาผ้าพันไว้ให้คนเห็นว่าตั้งครรภ์ ท้องเธอก็ใหญ่ขึ้นๆ ตามวันเวลาที่เปลี่ยนไป

ท่านที่เป็นบัณฑิตมีจิตใจหนักแน่น ก็ย่อมรู้ว่านางคนนี้ตอแหล เรื่องที่นางพูดไม่มีทางเป็นไปได้

แต่ปุถุชนคนที่ศรัทธาในพระรัตนตรัยยังไม่มั่นคง ที่ชักเอนเอียงตามลมปากของนางจิญจาก็คงมีอยู่บ้าง นับว่านางคนนี้ได้สร้างบาปขึ้นสองชั้น ชั้นหนึ่งตัวเองใส่ร้ายป้ายสีพระพุทธองค์ผู้บริสุทธิ์ ชั้นที่สองชักพาให้คนอื่นคิดอกุศลต่อพระพุทธองค์ไปด้วย

เหตุการณ์ดำเนินไปในสภาพนั้นชั่วระยะเวลาหนึ่ง เมื่อเห็นว่าทุกอย่างสุกงอมแล้ว วันหนึ่งขณะพระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาแก่ประชาชนทั้งหลาย ณ พระเชตวัน นางจิญจมาณวิกา ก็เดินอุ้ยอ้ายท้องโย้เชียว เข้าไปยังที่ประชุม กล่าวขึ้นว่า

เสด็จพี่ ดีแต่เทศน์อยู่นั้นแหละ ภรรยาท้องใกล้คลอดแล้ว ไม่เหลียวแลบ้างเลย

นางร้องทำนองว่า ใช่สิเรื่องในมุ้ง คนอื่นใครเขาจะไปรู้ด้วย ก็เราสองคนเท่านั้นแหละที่รู้กัน แน่ะ นางใจโฉด กล้าพูดกล้าทำถึงปานนี้นั้นแน่ะครับ

พระพุทธองค์ไม่สนพระทัย ยังคงแสดงธรรมต่อไป ด้วยพระอาการอันสงบ ทำให้นางจิญจมาณวิกาโกรธแค้นมาก ถึงกับเต้นเร่าๆ ด้วยความลืมตัว ทันใดนั้นท่อนไม้ที่ผูกพุงไว้หลุดออกมา อาจจะเพราะเต้นแรงไปก็ได้ (ในคัมภีร์กล่าวว่า พระอินทร์ทนให้นางใส่ร้ายพระพุทธเจ้าไม่ไหว จึงจำแลงกายมาเป็นหนูไต่ขึ้นไปกัดเชือกที่มัดท่อนไม้ไว้ขาด ท่อนไม้จึงหล่นลงมาว่าอย่างนั้น)

เมื่อความลับถูกเปิดเผยขึ้น ประชาชนรู้ว่าอะไรเป็นอะไรต่างก็ลุกฮือขึ้นไล่ นางวิ่งหนีตายไปหน้าวัด พอพ้นประตูพระเชตวันเท่านั้น แผ่นดินก็ดูเสมือนว่าจะธาร (ต้องการเขียน ธาร นะครับ) ไว้ไม่ไหว จึงแยกออกเป็นช่อง ดูดกลืนร่างนางใจบาปมิดหายไปในบัดดล

ถ้าใครไปที่พระเชตวันในปัจจุบันนี้ มัคคุเทศก์จะชี้ให้ดูสถานที่แห่งหนึ่งหน้าพระเชตวัน เป็นที่นาของชาวบ้าน ณ จุดนั้นมีหญ้าขึ้นรก ขณะที่พื้นที่รอบๆ มีร่องรอยว่าชาวบ้านเขาปลูกข้าวกัน มีเฉพาะจุดดังกล่าวเท่านั้นถูกเว้นว่างไว้

“ตรงให้ที่หญ้าขึ้นรกนั้นแหละ คือจุดที่นางจิญจมาณวิกา ถูกแผ่นดินสูบ” มัคคุเทศก์บอก “ชาวบ้านไม่กล้าไถหรือหว่านข้าวกล้า ณ ที่นั้น จึงปล่อยหญ้าขึ้นรก”

ผมถามชาวบ้านแถวนั้น เขาก็พูดยืนยันเช่นเดียวกัน จริงเท็จอย่างไร ก็เห็นจะต้องหันไปหยิบกาลามสูตร ขึ้นมาอ่านเสียแล้วขอรับ

กาลามสูตรที่ว่านี้ พระพุทธองค์ตรัสแนะนำชาวกาลามะผู้อยู่ในเกสปุตตนิคม (บางครั้งเรียกสูตรนี้ว่า เกสปุติยสูตร) ว่าอย่าด่วนเชื่อ

1. เพราะได้ยินได้ฟังตามกันมา

2. เพราะข่าวเล่าลือ

3. เพราะปฏิบัติสืบต่อกันมาจนเป็นประเพณี

4. เพราะมีคนกล่าวไว้ในตำรา

5. เพราะเหตุผลทางตรรกะ

6. เพราะอนุมานเอา หรือสรุปเอาจากหลักฐานที่ประจักษ์เฉพาะหน้า

7. เพราะคิดตรองตามอาการปรากฏ

8. เพราะตรงกับทฤษฎีที่ตั้งไว้, หรือเพราะเข้ากับความเห็นของตน

9. เพราะรูปลักษณ์น่าเชื่อถือ

10. เพราะผู้พูดเป็นครูของตน

จนกว่าจะพิจารณาอย่างรอบคอบว่า สิ่งนั้นๆ เป็นกุศล หรืออกุศล (ดีหรือไม่, เอื้อต่อการยกสภาพจิตให้สูงขึ้น ประณีตขึ้นหรือไม่) วิญญูชนใคร่ครวญแล้วตำหนิติเตียนหรือไม่ เมื่อทำตามจะมีผลกระทบต่อสังคมในแง่เสียหรือไม่นั่นแหละ จึงค่อยเชื่อถือหรือไม่เชื่อถือ

สรุปหลักกาลามสูตรด้วยคำสั้นๆ ง่ายๆ ก็คือ “ให้ฟังหูไว้หูก่อนจะเชื่อหรือไม่เชื่อ”

เรื่องนางจิญจมาณวิกา รวมทั้งเรื่องพระเทวทัต และอีกคนหนึ่งที่จะกล่าวถึงในวันอาทิตย์หน้า แน่นอนมีอ้างไว้ในตำราก็เห็นจะต้องยกเอากาลามสูตรข้อที่ 4 ข้างต้นมาย้ำอีกครั้งว่าอย่าด่วนเชื่อ เพราะมีกล่าวไว้ในตำรา ฉะนี้แล