‘ผู้กอง’ รีเทิร์น…

เดิมนั้นคาดหมายว่า ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า จะนำ ส.ส.พรรคเศรษฐกิจไทย ที่ไปต่อไม่ได้ กลับสู่อ้อมกอดของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)

โดยจับสังเกตจากปรากฏการณ์ที่ ส.ส.พรรคเศรษฐกิจไทย แห่ไปต้อนรับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาการนายกฯ ที่ลงพื้นที่ไปดูเรื่องที่ดินและน้ำ อ.แม่สอด จ.ตาก เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2565

ปรากฏว่า พล.อ.ประวิตร ประกาศว่าในพื้นที่ภาคเหนือ พื้นที่ไหน พรรคเศรษฐกิจไทยส่งผู้สมัคร ส.ส. พปชร.จะไม่ส่งคนลงรับสมัครเลือกตั้ง

ส่วน ส.ส.เศรษฐกิจไทย ที่อยากกลับ พปชร. พล.อ.ประวิตรบอกว่า ก็ขึ้นอยู่กับ ส.ส.แต่ละคนจะคิดเอา

ท่าทีดังกล่าว สะท้อนความแนบแน่นระหว่าง พล.อ.ประวิตร กับ ร.อ.ธรรมนัส อันสูงยิ่ง

แต่นั่นก็มีเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้ดีลคัมแบ๊กดังกล่าวไม่ราบรื่น ดำรงอยู่

ซึ่งคือหาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ไปต่อหลังอยู่ในตำแหน่งครบ 8 ปี และศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำวินิจฉัยเช่นนั้นจริงๆ โดย พล.อ.ประยุทธ์ได้ไปต่อจนถึงปี 2568

ทำให้ พปชร.ยังต้องผูกพันอยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์ต่อไป ด้วยเพราะ พล.อ.ประวิตร บอกเองว่า ถึงอย่างไรก็คงต้องเสนอชื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นหนึ่งในแคนดิเดตนายกฯ อยู่

เงื่อนไขนี้ ทำให้การตัดสินใจกลับ พปชร.ของ ร.อ.ธรรมนัส และพรรคเศรษฐกิจไทย ที่ไม่เผาผีกับ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องสะดุดลง เพราะคงทำใจไปสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้

นอกจากนี้ การกลับพลังประชารัฐ ก็ “ไม่ง่าย” อย่างที่คิด

เพราะยังมีแรงต้านในพรรคไม่น้อย

ไม่ว่าจะเป็น “กลุ่มสามมิตร” ของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รวมไปถึง “กลุ่มเพชรบูรณ์” ของนายสันติ พร้อมพัฒน์ และยังมีกลุ่มนายสุชาติ ชมกลิ่น นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ที่ขวางอย่างเต็มที่ด้วย

เมื่อกลับบ้านหลังเดิมไม่ราบรื่น ร.อ.ธรรมนัส และพรรคเศรษฐกิจไทย ก็ต้องเตรียมหาทางเลือกอื่น

เพราะในสภาพแห่งความเป็นจริง การจะขับเคลื่อนพรรคเศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อไปไม่ไหว

เนื่องจากนี่ไม่ใช่ช่วงอันรุ่งโรจน์ของ ร.อ.ธรรมนัสอีกแล้ว

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า ร.อ.ธรรมนัสในวันที่ไร้เงา “3 ป.” สนับสนุน รวมทั้งยังกลายเป็นอริการเมืองกับ 2 ป.คือ พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ทำให้พลังการขับเคลื่อนงานการเมือง ทั้งบนดินและใต้ดิน ถดถอยลงอย่างชัดเจน

หนึ่งในบทเรียนอันเจ็บปวดที่ ร.อ.ธรรมนัสได้รับ คือผลการเลือกตั้งซ่อม ส.ส. จ.ลำปาง ที่ส่งนายวัฒนา สิทธิวัง ลงสู้ ปรากฏว่าพ่ายแพ้อย่างยับเยินให้กับนายเดชทวี ศรีวิชัย จากพรรคเสรีรวมไทย

ซึ่ง ร.อ.ธรรมนัสยอมรับเองว่า การยืนอยู่ตรงข้ามกับกลไกรัฐ ทำให้เผชิญอุปสรรคอย่างมาก

และจากจุดนั้น พรรคเศรษฐกิจไทยก็เหมือนกับพรรคที่ไร้พลัง ถูกบั่นเซาะลงเรื่อยๆ

จากที่เคยมี ส.ส.ในกลุ่มกว่า 20 คน ปรากฏว่าร่อยหรอลงเหลือ 13 คน

และมีโอกาสที่จะลดน้อยถอยลงไปอีกตามลำดับ เพราะถูก “ดูด” ส.ส.ไปอย่างต่อเนื่อง

จนที่สุดอาจไม่อาจดำรงสภาพความเป็นพรรคเอาไว้ได้

จำเป็นจะต้องเดินไปสู่ “เกม” ใหม่

นี่เองทำให้เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ที่ จ.พะเยา พรรคเศรษฐกิจไทยได้จัดประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่ 3/2565 ขึ้น

มิใช่การประชุมเพื่อไปต่อ

หากแต่เป็นการประชุมเพื่อเตรียม “ไม่ไปต่อ” อย่างชัดแจ้ง

โดย ร.อ.ธรรมนัสได้ลาออกจากหัวหน้าพรรค เพื่อเปิดทางให้เลือกกรรมการบริหารพรรคใหม่

ซึ่งปรากฏว่า ไร้ชื่อทั้ง ร.อ.ธรรมนัส ส.ส.และกรรมการบริหารชุดเก่าทั้งหมด ซึ่งคงตีความเป็นอื่นใดไม่ได้

นอกจากเป็นการส่งสัญญาณทิ้งพรรคเศรษฐกิจไทยของ ร.อ.ธรรมนัสนั่นเอง

เพียงแต่ยังอุบ ไม่บอกจะไปไหนอย่างไร

แต่กระนั้น ก็มีกระแสข่าวออกมาหนาหูว่า พรรคการเมืองที่ “ร.อ.ธรรมนัส-ลูกพรรคเศรษฐกิจไทย” จะไปต่อ คือพรรคเพื่อไทย

อย่างไรก็ตาม จะถือว่าเป็นเซอร์ไพรส์คงไม่ได้

เพราะอย่างที่ทราบ ร.อ.ธรรมนัสสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 25 ถูกชักชวนเข้าสู่การเมือง ผ่าน พล.อ.ไตรรงค์ อินทรทัต อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร

โดย ร.อ.ธรรมนัสเริ่มงานการเมืองกับพรรคไทยรักไทยเมื่อปี พ.ศ.2542

นอกจากมีความความสัมพันธ์ที่ดีกับนายทักษิณแล้ว ร.อ.ธรรมนัสยังเคยช่วยงานนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาวทักษิณ ในศึกเลือกตั้งในภาคเหนือ จนรู้ฝีมือกัน จากนั้นได้ลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 55 ในนามพรรคเพื่อไทย ในศึกเลือกตั้งปี 2557 แต่การเลือกตั้งครั้งนั้นกลายเป็นโมฆะ

ร.อ.ธรรมนัสจึงถือเป็นหน่อเนื้อเชื้อไขทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน

เพียงแต่ต้องมาเป็นแม่น้ำแยกสายกับพรรคการเมืองเดิม เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติเข้ายึดอำนาจ

ร.อ.ธรรมนัสเป็นหนึ่งในบุคคลที่ คสช.มีคำสั่งเรียกมารายงานตัว และต่อมาในปี พ.ศ.2561 ร.อ.ธรรมนัสถูกโน้มน้าวจากฝ่ายที่มีอำนาจขณะนั้น ได้เข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ โดยได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการยุทธศาสตร์ภาคเหนือของพรรค และได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพะเยา เขตที่ 1

ในปี พ.ศ.2564 ได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ เคยเปรียบตนเองว่าเป็นเส้นเลือดสำคัญในรัฐบาล

Photo by ISAAC LAWRENCE / AFP

แม้จะอยู่คนละขั้วกับนายทักษิณ แต่กระนั้นมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ทุกครั้งที่นายทักษิณพูดถึง ร.อ.ธรรมนัส ก็ไม่ได้ถือว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามเท่าใดนัก

เช่น ครั้งหนึ่งนายทักษิณบอกว่ารู้จัก ร.อ.ธรรมนัสเพราะเป็นเตรียมทหารรุ่นน้อง เมื่อเขามาอยู่พรรคเพื่อไทย ช่วงหนึ่งก็มีการได้พูดคุยบ้างในฐานะรุ่นน้อง ก็เห็นเขาเป็นคนที่มุ่งมั่นทางการเมือง อยากจะเติบโตทางการเมือง

ส่วน ร.อ.ธรรมนัสเคยพูดถึงนายทักษิณ ว่า “ผมร่วมอุดมการณ์กับท่านทักษิณมานาน ทุกวันนี้ก็ยังรักเหมือนเดิม”

ทำให้นายทักษิณและ ร.อ.ธรรมนัสถูกมองว่ามีเยื่อใยต่อกันเสมอมา

และเมื่อครั้งที่ ร.อ.ธรรมนัสมีปัญหากับ พล.อ.ประยุทธ์ เคยโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กเป็นปริศนาว่า “ศัตรูของศัตรูคือมิตร”

ปรากฏว่ามีคนนำเรื่องนี้ไปถามนายทักษิณ หรือโทนี่ วู้ดซัม ใน CARE ClubHouse ว่ามิตรนั้นคือนายทักษิณและเพื่อไทยหรือไม่

ซึ่งโทนี่ตอบว่า “ต้องถามคุณธรรมนัสเอง เพราะจะตอบได้ดีกว่า ว่าใครเป็นศัตรูของศัตรูแก แล้วใครเป็นมิตรแก…การเมืองมีการแข่งขัน มีการลูบคมกัน แต่ไม่ใช่ศัตรู และผมก็ไม่ใช่ศัตรูของธรรมนัสด้วย ธรรมนัสเขาเคยอยู่เพื่อไทยด้วย เราเคยรู้จักกันดี”

คำว่า เคยรู้จักกันดี นี้หรือไม่ ไม่ทราบ ที่ทำให้พรรคเพื่อไทยกลายเป็นทางเลือกของ ร.อ.ธรรมนัสในตอนนี้

และอาจไปสอดคล้องกับความต้องการของผู้มีอำนาจในพรรคเพื่อไทย ที่มุ่งมั่นกับเป้าหมายแลนด์สไลด์ โดยยังเชื่อมั่นในศักยภาพของ ร.อ.ธรรมนัส ที่ในปัจจุบันภาพรวมทางการเมืองจะอยู่ในภาวะขาลง

แต่กระนั้นหากเฉพาะเจาะจงไปลงในบางจุด เช่น ภาคเหนือตอนล่าง ภาคอีสานบางจังหวัด รวมถึงคอนเน็กชั่นในภาคใต้ ที่เป็นจุดอ่อนของพรรคเพื่อไทยมาตลอด ร.อ.ธรรมนัสอาจจะมาตอบโจทย์ หรืออุดช่องโหว่ให้ได้

นอกจากนี้ ยังมีกระแสข่าวทำนองว่า แกนนำเพื่อไทยบางส่วน อาจมองข้ามช็อตไปยังการเมืองข้างหน้า ที่อาจจะต้องมีการจับมือกับขั้วอำนาจตรงข้าม ในการขับเคลื่อนทางการเมืองแบบรอมชอม โดยเฉพาะกับฝ่ายของ พล.อ.ประวิตร และในปีกอนุรักษนิยม ซึ่งตรงนี้ ร.อ.ธรรมนัส อาจเป็นข้อโซ่กลางในเชื่อมให้ได้

นี่จึงมีเสียงตอบรับจากแกนนำเพื่อไทย ที่จะมีที่มีทางให้กลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส ซึ่งก็พร้อมเช่นกัน ถึงได้มีการส่งสัญญาณลาออกจากกรรมการบริหารพรรคเศรษฐกิจไทย เป็นการเปิดประตูไว้รอดังกล่าว

แต่กระนั้นก็มีกระแสข่าวบางกระแสในพรรคเพื่อไทยเช่นกัน ที่ดูจะไม่สุกงอมกับเรื่องนี้มากนัก

โดยเฉพาะในฝั่งฟากที่กำลังฟูมฟักแนวทางสร้างครอบครัวเพื่อไทยซึ่งขยายฐานไปสู่คนรุ่นใหม่ การเมืองใหม่ ที่แลเห็นว่า การหวนกลับไปสู่แนวทางเดิม คือมุ่งพึ่งพิง “มือดีล” หรือการเมืองรูปแบบเดิมๆ เพียงเพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์ “แลนด์สไลด์” อาจจะไม่ได้ผลในเชิงบวกนัก

เพราะต้องไม่ลืมว่าภาพจำของ ร.อ.ธรรมนัส ไม่สดใสนัก คือออกไปในทาง “สีเทา” เข้ม ทั้งประวัติส่วนตัว ทั้งวิธีการขับเคลื่อนทางการเมือง ที่มุ่งไปยังคอนเน็กชั่นการต่อรองแบบกล้วยๆ

ซึ่งหากถูกฝั่งตรงข้ามจี้จุดอ่อนนี้ โอกาสที่คะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทย รวมทั้งจากคนรุ่นใหม่ อาจลดน้อยถอยลง และไม่บรรลุผลตามที่คาดหวัง

นี่เองที่ทำให้นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ซึ่งถูกถามเรื่องนี้ แบ่งรับแบ่งสู้ ว่ายังไม่ขอแสดงความคิดเห็น เพราะขณะนี้การเมืองเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ฉะนั้น ขอดูความชัดเจนในระยะหนึ่ง การพูดถึงในตอนนี้ยังอาจจะดูเร็วไป

สะท้อนว่าเรื่องนี้ ยังไม่ “สุกงอม” เท่าใด

โดยล่าสุด นายทักษิณ กล่าวเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ผ่านเฟซบุ๊ก CARE • แคร์ คิด เคลื่อน ไทย กล่าวถึงกรณีกระแสข่าวการดีลกับ ร.อ.ธรรมนัส ว่า ไม่มีดีลนี้แน่นอน ไม่เกี่ยวกับตน ไม่มีหน้าที่อะไรต้องไปดีล ถามว่ารู้จักไหมรู้จัก เพราะเป็นคนเหนือ เคยอยู่พรรคเพื่อไทยมาก่อน เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นน้อง แต่ทุกอย่างเป็นเรื่องของพรรค ระบบพรรค กระบวนการ กติกาของพรรค ต้องคุมคนในพรรคให้ปฏิบัติตามกติกา และมีหน้าที่ปฏิบัติตามในสิ่งที่พรรคได้พูด ให้สัญญากับประชาชนไว้

“เคยพูดไว้ว่าศิษย์เก่าไทยรักไทยทั้งหลาย มีเยอะอยู่ในวงการเมือง ถ้าคนไหนออกไป ไม่เป็นปฏิปักษ์กับพรรค และเขาอยากกลับมาก็ไม่น่าเสียหายอะไร แต่คนที่ออกไปเป็นปฏิปักษ์กับพรรคก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง” นายทักษิณกล่าว

ยังแบ่งรับแบ่งสู้แต่ไม่ปิดทาง

ซึ่งก็คงต้องติดตามต่อไปว่า ที่สุดแล้ว ผู้กองจะสามารถ “รีเทิร์น” กลับสู่เพื่อไทยได้สำเร็จหรือไม่