ยมุนาจารย์ : คุรุผู้มีชีวิตพลิกผัน (1) | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ยมุนาจารย์ : คุรุผู้มีชีวิตพลิกผัน (1)

 

“ข้าแต่พระวิษณุเจ้า ขอให้ข้าฯ ไปเกิดเป็นหนอนในบ้านแห่งทาสผู้ยินดีที่จะรับใช้พระองค์ ดีกว่าให้ข้าไปเกิดเป็นพรหมสี่หน้าในโลกอันมีแต่ผู้ไร้ศรัทธา” ยมุนาจารย์

นับตั้งแต่กลุ่มนักบุญอาฬวาร์เคลื่อนไหวในคริสต์ศตวรรษที่แปด-เก้าเป็นต้นมา บรรยากาศของความภักดีในพระวิษณุค่อยๆ แผ่ขยายไปในดินแดนทักษิณาบทอย่างช้าๆ ดุจดอกไม้แย้มกลีบบาน ไม่เพียงแต่บทกวีอันทรงคุณค่าดังพระเวทแห่งทมิฬที่ท่านได้สร้างทิ้งไว้ ยังได้มีผู้ดำเนินรอยตามอีกไม่น้อยจนค่อยๆ ก่อรูปเป็น “ไวษณวะนิกาย” ในภายหลัง

ยมุนาจารย์ (Yamunacharya) คือหนึ่งในผู้วางรากฐานแห่งไวษณวะนิกาย ท่านเกิดในเดือนอาษาฒะ (กรกฎาคม-สิงหาคม) ปีคริสต์ศักราช 953 (บางตำราว่าปี 918) ที่เมืองมทุไร (Madurai) ครอบครัวเป็นตระกูลพราหมณ์ บิดาของท่านชื่อว่าอีศวรมุนี ส่วนนาถมุนีปู่ของท่านเป็นนักบุญที่มีชื่อเสียงมาก

เมื่อมารดาคลอดยมุนาจารย์ได้ไม่นาน อีศวรมุนีก็มีเหตุให้เสียชีวิตทั้งที่อายุยังไม่มาก นั่นทำให้นาถมุนีรู้สึกเศร้าโศกเสียใจเกินกว่าที่จะรับได้ ไฉนลูกชายคนเดียวของตัวจึงตายลงไวนัก ความไม่เที่ยงกระทบหัวใจอย่างรุนแรง ท่านจึงออกบวชเป็นสันยาสีแสวงหาความสงบให้กับชีวิตที่เหลือ

นาถมุนีขอเอาพระวิษณุเจ้าเป็นที่พึ่ง หวังใจว่าพระองค์จะประทานความหลุดพ้นให้ และท่านเองเป็นผู้รวบรวมบทกวีนิพนธ์ทั้งสี่พันบทของเหล่าอาฬวาร์ผู้มีชีวิตอยู่ก่อนหน้า ในชื่อ “นาลายีละทิพยประพันธัม”

หลานชายตัวน้อยถูกตั้งชื่อว่า “ยมุนา” แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์อันเกี่ยวพันกับพระกฤษณะซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของอินเดีย ราวกับนาถมุนีรู้ว่า ในอนาคตเขาจะกลายเป็นสายธารแห่งศรัทธาต่อพระเจ้าให้ผู้คนได้อาบกิน

 

เมื่อไร้บิดา ปู่และย่าดูแลยมุนาด้วยความยากลำบาก ทว่า เด็กชายคนนี้มีภูมิปัญญาที่ไม่ธรรมดา สามารถร่ำเรียนและจดจำศาสตร์ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว ยมุนาร่ำเรียนกับศิษย์ของปู่นามว่าภาสยาจารย์แห่งราชสำนักปาณฑยะ

เวลานั้น มีมหาบัณฑิตผู้หนึ่งทรงความรู้มากกว่าใครในแผ่นดิน เป็นที่ครั้นคร้ามสะพรึงกลัวแก่บัณฑิตทั้งหลาย แม้พระราชาแห่งปาณฑยะก็ทรงยกย่องไว้อย่างสูงสุด มหาบัณฑิตผู้นี้นามว่า “โกลาหละ” (บางตำราว่าชื่อเอกไก Akki Azhwan) แต่ผู้คนมักเรียกว่า “วิทวัชชนโกลาหละ” ซึ่งหมายความว่า “ผู้ทำให้ปราชญ์สั่นกลัวสับสน”

ด้วยความทระนงตนและเห็นว่ามีพระราชาหนุนหลัง โกลาหละจึงได้รับอภิสิทธิ์พิเศษบางอย่างคือสามารถเรียกเก็บเงินจากสำนักปราชญ์ต่างๆ ราวกับโจรเรียกค่าคุ้มครอง

วันหนึ่ง ศิษย์ของโกลาหละมาเก็บเงินที่สำนักของภาสยาจารย์ ทว่า ในสำนักมีเพียงเด็กชายยมุนาซึ่งขณะนั้นมีอายุสิบสองปีนั่งอยู่ ครั้นทราบว่าชายคนนั้นต้องประสงค์สิ่งใดพร้อมกับพ่นคำดูถูกสติปัญญาอาจารย์ของเขาไม่หยุดหย่อน ยมุนาโต้ตอบด้วยความโกรธว่า สติปัญญาของโกลาหละจะแค่ไหนกันเชียว ไม่ต้องถึงมืออาจารย์ของเขาหรอก ตัวเขานี่แหละที่จะไปโต้วาทีกับโกลาหละให้พ่ายแพ้เอง

แม้จะดูน่าขัน แต่ด้วยการท้าทายและยืนยันหนักแน่น ศิษย์ของโกลาหละกลับไปแจ้งอาจารย์ของตนด้วยความโกรธเป็นอย่างมาก ว่าเด็กน้อยจากสำนักบัณฑิตเล็กๆ กล้าดูถูกอาจารย์

 

เมื่อภาสยาจารย์กลับมาทราบเรื่องราวทั้งหมดก็ตกใจมาก เห็นว่าศิษย์รักและตัวเขากำลังอยู่ในอันตรายเสียแล้ว ทว่า ยมุนายืนยันหนักแน่นว่าจะชนะการโต้วาทีครั้งนี้อย่างแน่นอน

พระราชาแห่งปาณยะทรงนึกสนุกกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นนี้ จึงทรงขอให้โกลาหละรับคำท้าโดยพระองค์จะจัดการโต้วาทีดังกล่าวในลานพระราชวังเป็นมหรสพใหญ่ และจะเสด็จไปเป็นประธานเอง ทั้งยังได้ประกาศว่า หากเด็กชายชนะการประลองปัญญาครั้งนี้จะยกแผ่นดินให้ครองกึ่งหนึ่ง

ชาวบ้านร้านตลาดเมื่อทราบข่าวต่างพากันมามุงดู เพราะไม่เคยได้ยินได้ฟังว่าเด็กน้อยอายุสิบสองปีจะมาท้าแข่งกับมหาบัณฑิตแห่งแผ่นดินได้

ฝ่ายโกลาหละเองก็นึกขันกับเรื่องที่เกิดขึ้น ลำพังแค่คำถามง่ายๆ ก็คงจะทำให้เด็กคนนี้แพ้แล้วกระมัง

เมื่อเด็กชายปรากฏตัว โกลาหละเป็นฝ่ายเริ่มถามก่อน คำถามเกี่ยวกับไวยากรณ์และความรู้จากศาสตร์ต่างๆ ถูกหยิบยกขึ้นมา ยมุนาตอบได้ถูกต้องทุกครั้ง แม้คำถามจะยากขึ้นเพียงใด ทว่า ยมุนาก็ตอบได้อย่างฉะฉานถูกต้องเสมอ

นั่นทำให้โกลาหละเริ่มกังวลว่า ชะรอยนี่คงไม่ใช่เด็กชายธรรมดาๆ เสียแล้ว แต่ก็ไม่เชื่อว่าความพ่ายแพ้จะมีแก่ตน

Shri Yamunacharya with Lord Sriman Narayana / Credits: Vishnudut1926 Blogger

ครั้นยมุนาเป็นฝ่ายถามบ้าง เขาตั้งเงื่อนไขง่ายๆ เพียงว่า หากโกลาหละสามารถปฏิเสธข้อความที่เขายกขึ้นมาได้ทั้งสามข้อความ ตนก็จะยอมรับความพ่ายแพ้แต่โดยดี จะลงโทษฆ่าแกงอย่างไรก็ได้

โกลาหละรับคำเพราะเชื่อมั่นในสติปัญญาของตนเองว่าข้อความไหนในโลกาเขาก็หาเหตุผลมาปฏิเสธได้ทั้งนั้น

ยมุนาจึงเริ่มข้อความแรกว่า “แม่ของท่านโกลาหละ มิใช่หญิงเป็นหมัน”

เมื่อได้ยินข้อความดังกล่าว โกลาหละหน้าแดงด้วยความโกรธ ไอ้เด็กน้อยนี้บังอาจยกแม่ของเรามาเย้ยหยัน แต่จะปฏิเสธข้อความนี้อย่างไรได้ ก็หากแม่ของเราเป็นหญิงหมัน เราก็ย่อมไม่ได้เกิดมา ประโยคนี้จึงถูกต้องแล้ว

เมื่อเห็นโกลาหละนิ่งเงียบ ฝ่ายยมุนาจึงยกข้อความถัดไปทันทีว่า “พระราชาแห่งปาณฑยะเป็นกษัตริย์ผู้ทรงธรรม” พร้อมท้าทายให้โกลาหละปฏิเสธ

ท่ามกลางมหาสมาคมนั้นและต่อหน้าพระพักตร์ ใครกันจะกล้ากล่าวว่าพระราชาแห่งปาณฑยะเป็นทรราชหรือบกพร่องในราชธรรม ดีไม่ดีหัวจะหลุดออกจากบ่าเพราะพูดจาระคายพระกรรณ

แต่ถึงจะไม่กลัวราชภัย ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าพระราชาองค์นี้กอปรด้วยนีติธรรมหาใดเปรียบ มีพระจริยาโน้มไปในทางกุศล ทำนุบำรุงราษฎร์ให้ได้รับความสุขทุกประการ ดังนี้แล้ว จะปฏิเสธอย่างไรได้

โกลาหละได้แต่นิ่งเงียบ ก้มหน้าไม่สบตาผู้ใด ประโยคง่ายๆ แค่นี้แต่ตนเองกลับหาข้อที่จะปฏิเสธไม่ได้ ชาวบ้านต่างพากันฮือฮาเมื่อเห็นปฏิกิริยาดังกล่าว หรือท่านมหาบัณฑิตแห่งแผ่นดินจะเสียท่าให้เด็กซะแล้ว

รอยยิ้มน้อยๆ ปรากฏบนใบหน้าของยมุนา เขารุกต่อไปว่า “พระราชินีแห่งปาณฑยะมิใช่หญิงมีมลทิน”

โถโถ ใครกันจะกล้ากล่าวต่อหน้าพระพักตร์แห่งองค์ราชินีว่า ท่านเป็นหญิงไม่บริสุทธิ์ มีมลทิน เป็นแพศยาเลวทราม รังแต่จะทำให้ตัวเองต้องไปสู่ความตายอย่างแน่นอน หยามเกียรติแห่งภรรยาต่อหน้าสามี ย่อมร้ายแรงเสียยิ่งกว่าหยามเกียรติสามีเองเสียอีก

กระนั้น ถึงไม่กลัวพระราชอาญา พระราชินีองค์นี้ก็เพียบพร้อมไปด้วยรูปสมบัติ คุณสมบัติ เป็นกัลยาณีอันดีพร้อม เป็นปดิวรดาผู้รักเพียงพระราชสวามีของตนเท่านั้น มิได้ทรงประพฤติในทางเสื่อมเสียแต่อย่างใดเลย

ดังนั้น จะปฏิเสธข้อความนี้อย่างไรได้

โกลาหละนิ่งเงียบเป็นคำรบสาม ผู้คนเริ่มแตกตื่นโห่ร้อง เด็กชายตัวเล็กๆ จากสำนักแห่งภาสยาจารย์มีชัยเหนือมหาบัณฑิตแห่งแผ่นดินจริงหรือนี่

 

ขณะที่พระราชารีรอว่าโกลาหละจะทำอย่างไรต่อ เพราะพระองค์เองก็จะต้องเสียอาณาประเทศเขตขัณฑ์ให้เด็กชายคนนี้ปกครอง โกลาหละก็เงยหน้าขึ้นแล้วระเบิดเสียงหัวเราะดังลั่นพร้อมกล่าวด้วยเสียงดังว่า

“เจ้าเด็กโง่ เจ้าคนโกง ข้อความทั้งสามที่เจ้ายกมานั้น ก็เพียงแค่แกล้งให้ข้านิ่งเงียบ ราวกับเอาสิ่งใดมาอุดปากข้าไว้ แม้ข้าจะไม่สามารถปฏิเสธข้อความทั้งสามนั้นได้ก็จริง แต่ก็ถือว่าข้ายังไม่พ่ายแพ้ เพราะตัวเจ้าเองจะสามารถปฏิเสธข้อความทั้งสามนั้นได้ด้วยหรือ เป็นไปไม่ได้ที่เจ้าจะปฏิเสธเช่นกัน ดังนั้น หากเจ้าสามารถปฏิเสธข้อความทั้งสามนั้นได้ ข้าจึงจะยอมรับความพ่ายแพ้”

ฝ่ายยมุนาเองก็หัวเราะเสียงดังกลับไปพร้อมกับกล่าวว่า เขาย่อมสามารถที่จะปฏิเสธข้อความทั้งสามนั้นได้อย่างแน่นอน มิฉะนั้นเขาคงไม่ยกขึ้นมาในการโต้วาทีครั้งนี้

พระราชาทรงตื่นเต้นพระทัยแทบจะประทับพระราชอาสน์ไม่อยู่ ส่วนที่ประชุมนั้นก็เงียบสนิท รอคอยคำตอบของยมุนาอย่างใจจดจ่อ

(โปรดติดตามต่อ) •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ  | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง