ศธ.กางมาตรการรับมือ ‘โควิด-19’ โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ใน ‘สถานศึกษา’ ทั่วประเทศ | การศึกษา

ศธ.กางมาตรการรับมือ ‘โควิด-19’ โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ใน ‘สถานศึกษา’ ทั่วประเทศ

 

กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ประกาศยกเลิกโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา-2019 หรือโควิด-19 จาก “โรคติดต่อร้ายแรง” เป็น “โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง” โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดมีแนวโน้มคลี่คลาย

ส่งผลให้ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ยุบไปโดยปริยาย พร้อมกันนี้ ยังยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยให้กลับไปใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ในการควบคุมโรคโควิด-19 แทน

ส่งผลให้หน่วยงานต่างๆ ต้องเร่งปรับมาตรการให้สอดคล้อง โดยสังคมได้จับตามองที่ “กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)” ว่าหลังจากนี้ ศธ.จะมีมาตรการป้องกันโควิด-19 ในสถานศึกษาอย่างไร

แม้ว่าปัจจุบันความรุนแรงของโรคจะลดลงแล้ว และประชาชนได้รับวัคซีนป้องกันจำนวนมาก แต่ผู้ปกครองยังมีความกังวล โดยเฉพาะเด็กเล็ก ที่ยังดูแลตัวเองไม่ได้ และสถานศึกษาก็เป็นสถานที่ที่มีการรวมกลุ่มกันจำนวนมาก จึงมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้

นอกจากนี้ ยังพบสัดส่วนการฉีดวัคซีนในนักเรียนยังน้อยอยู่ เมื่อดูข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม สธ.รายงานอัตราการรับวัคซีนโควิด-19 ของนักเรียน พบว่า กลุ่มอายุ 12-17 ปี ทั้งหมด 5,333,639 คน ได้รับวัคซีนเข็ม 1 จำนวน 4,723,369 คน คิดเป็น 88.56% วัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 4,386,081 คน คิดเป็น 82.23% วัคซีนเข็ม 3 จำนวน 1,140,580 คน คิดเป็น 20.35%

ส่วนอายุ 5-11 ปี ทั้งหมด 5,002,698 คน ได้รับวัคซีนเข็ม 1 จำนวน 3,328,184 คน คิดเป็น 64.6% เข็มที่ 2 จำนวน 2,493,003 คน คิดเป็น 48.4% และเข็ม 3 จำนวน 56,807 คิดเป็น 1.1%

 

ล่าสุด ศธ.ร่วมกับ สธ.คลอดมาตรการดูแลนักเรียน โดยย้ำให้สถานศึกษายึดหลักความปลอดภัยเป็นสำคัญ

สำหรับมาตรการป้องกันโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังโรคโควิด-19 สำหรับสถานศึกษา ต้องแยกการเฝ้าระวังเป็น 3 ส่วน คือ

1. สถานศึกษา ให้ประกาศนโยบายมิติสุขภาพ และคำแนะนำการป้องกันโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง พร้อมกับให้จัดสภวาะแวดล้อมของสถานศึกษา ให้สะอาด ปลอดภัย มีสุขลักษณะตามหลักสุขาภิบาล และจัดห้องเรียนมีระบบการระบายอากาศที่ดี และมีการประเมินความเสี่ยงตามความเหมาะสม หรือตามคำแนะนำของ สธ.และคณะกรรมการโรคติดต่อระดับจังหวัด และส่งเสริมสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพแก่ครู บุคลากร นักเรียน และผู้ปกครอง

2. นักเรียน และบุคลากร ต้องปฏิบัติตามสุขอนามัยส่วนบุคคลขั้นพื้นฐานเป็นกิจวัตร คือ ล้างมือ สวมหน้ากากที่เข้าไปในสถานที่ที่มีคนแออัด ในพื้นที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก หรือมีความเสี่ยง ประเมินความเสี่ยงของตนเองด้วย Thai Save Thai ถ้าเสี่ยงสูง แนะนำตรวจ ATK หรือปรึกษาหน่วยบริหารด้านสาธารณสุขในพื้นที่ และรับวัคซีน

และ 3. การเฝ้าระวัง ให้สถานศึกษาตรวจคัดกรองสุขภาพนักเรียนตามมาตรฐานงานอนามัยโรงเรียน พร้อมกับเฝ้าระวัง และสังเกตอาการป่วย ถ้าป่วยเป็นกลุ่มก้อน ให้ประสาน ปรึกษา และส่งต่อสถานพยาบาล และกำกับติดตาม และรายงานตามมาตรฐาน ผ่านออนไลน์อนามัยโรงเรียน

ส่วนแนวปฏิบัติสำหรับสถานศึกษากรณีติดเชื้อโควิด-19 กรณีที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อยนั้น สธ.แนะนำให้นักเรียน ครู บุคลากรในสถานศึกษาปฏิบัติดังนี้ จัดการเรียนการสอนที่เหมาะสม โดยไม่ปิดเรียน ปฏิบัติตามหลักการ Universal Prevention เน้นมาตราการ 6-6-7 เข้มการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่างในห้องเรียนไม่น้อยกว่า 2 เมตร งดทำกิจกรรมรวมกลุ่ม จัดพื้นที่ให้มีระบบระบายอากาศที่ดี และทำความสะอาดห้องเรียนชั้นเรียน

ในกรณีที่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีอาการปานกลาง หรือรุนแรง ให้สถานศึกษาปฏิบัติตามแนวทางการดูแลรักษาของ สธ.และติดต่อหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่มาดูแล

 

ด้าน น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ออกมาเน้นย้ำว่า แม้ สธ.ได้ประกาศยกเลิกโรคโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตราย เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา แต่หน่วยงานและสถานศึกษาในสังกัด ศธ.ทุกแห่ง ยังต้องปฏิบัติตามแนวทางของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และ สธ.กำหนดต่อไป

“นอกจากจะต้องปฏิบัติตามแนวทางที่ สธ.วางไว้แล้ว ศธ.จะเน้นการพัฒนาระบบ และทักษะ ให้นักเรียนและครูสามารถดูแลตนเองได้ โดยใช้โครงการ 1 โรงเรียน 1 ครูอนามัย สร้างเด็กไทยรอบรู้สุขภาพ ซึ่งจะเน้นทักษะในการคัดกรองดูแลสุขภาพตนเองเบื้องต้นได้ เช่น ความเสี่ยงการติดโรคระบาด การกู้ชีวิตขั้นพื้นฐานได้ (Basic Life Support) รวมถึงด้านสุขภาพจิตใจ มีระบบการคัดกรอง เฝ้าระวัง การส่งต่อ ด้านความเครียด หรือซึมเศร้าต่างๆ เพื่อให้การช่วยเหลือ และลดความรุนแรง” น.ส.ตรีนุชระบุ

หลังจากออกแนวปฏิบัติไม่นาน ผู้บริหารองค์กรหลัก ศธ.ก็ออกมารับลูกทันที นำโดยนายอรรถพล สังขวาสี รักษาการปลัด ศธ.กล่าวว่า สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) ในฐานะที่กำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) มีนักเรียนในสังกัดกว่า 500,000 คนนั้น จะนำข้อแนะนำ และองค์ความรู้เรื่องโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังทั้งหมด สร้างความรู้ ความเข้าใจให้นักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้บุคคลเหล่านี้นำองค์ความรู้ที่ได้ กระจายให้ผู้ปกครอง และเฝ้าระวังตนเองต่อไป

ขณะที่นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ระบุว่า จะสื่อสารไปยังโรงเรียนในสังกัด ว่าแม้โควิด-19 จะปรับเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังแล้ว แต่ยังต้องเน้นป้องกันการแพร่ระบาดอยู่ เพราะโรคนี้ยังไม่ได้หายไป

ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะนำแนวปฏิบัติที่ สธ.ให้ไว้ ลงสู่การปฏิบัติ อะไรที่เป็นมาตรการเข้มงวดอยู่แล้ว และสร้างความปลอดภัยให้นักเรียน ขอให้คงไว้เหมือนเดิม เช่น การเว้นระยะห่างในห้องเรียน จัดให้โรงอาหารเป็นพื้นที่โปร่ง โล่ง เป็นต้น

ส่วนมาตรการไหนที่ผ่อนปรนได้ ก็ขอให้ผ่อนปรนเท่าที่จำเป็น

 

ด้านว่าที่ ร.ต.ธนุ วงษ์จินดา รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จะเร่งสร้างความเข้าใจกับสถานศึกษาในสังกัด พร้อมกับเน้นย้ำเรื่องการทำความสะอาดห้องพักนักศึกษาที่อยู่ประจำ กินนอนในสถานศึกษา นอกจากนี้ สถานศึกษาต้องจัดทำแผนเผชิญเหตุเพื่อรองรับสถานการณ์ต่างๆ ด้วย

ขณะที่นายวัลลพ สงวนนาม เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) กล่าวว่า จะเร่งประสานขอความร่วมมือกับชุมชน ผู้ประกอบการ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อเตรียมความพร้อมสถานที่สำหรับการจัดกิจกรรมเรียนรู้ของผู้เรียน กศน.ให้สะอาด ปลอดภัยจากเชื้อโควิด-19 มากที่สุด นอกจากนี้ กศน.จะนำข้อแนะนำของ สธ.ไปชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้เรียน ครู และบุคลากรของ กศน.ต่อไป

ทั้งนี้ แม้มาตรการป้องกันจะผ่อนคลายลง แต่อย่าลืมว่า โรคโควิด-19 ยังคงอยู่ และยังสามารถติดเชื้อได้ง่าย

ดังนั้น ทุกฝ่ายต้องปรับตัว และใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโรคโควิด-19 โดยไม่ประมาท และการ์ดต้องไม่ตกเด็ดขาด!! •

 

การศึกษา