สัมภาษณ์งานอย่างไร ให้ได้ใจ ‘หุ่นยนต์’ | จิตต์สุภา ฉิน

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

ตัวฉันเองนับว่าไม่ค่อยมีประสบการณ์ในการสมัครและสัมภาษณ์งานสักเท่าไร

เพราะงานแรกในชีวิตก็คือการช่วยคุณพ่อคุณแม่ขายคอมพิวเตอร์ที่ร้านตั้งแต่เด็ก

หลังจากนั้นแม้จะได้ย้ายไปทำงานให้บริษัทอื่นอยู่บ้างแต่ก็มักจะเป็นบริษัทขนาดเล็กที่ไม่มีการสัมภาษณ์งานแบบแข่งขันห้ำหั่นกันเหมือนองค์กรใหญ่ๆ จนกระทั่งมาทำบริษัทของตัวเองในที่สุด

ดังนั้น ตลอดชีวิตการทำงานที่ผ่านมาฉันจึงมีโอกาสได้เป็นคนสัมภาษณ์งานมากกว่าคนถูกสัมภาษณ์ ทำให้ไม่เคยต้องรับมือกับความกดดันที่มาพร้อมกับการสมัครงานสักเท่าไร

ในยุคที่กระบวนการสมัครงานและเรียกสัมภาษณ์ยังประกอบไปด้วยมนุษย์ที่มีเนื้อหนังมังสาล้วนๆ ก็มีความยากในตัวของมันอยู่แล้ว ใครจะไปคิดว่าเมื่อมาถึงยุคนี้ ผู้สมัครงานไม่ได้แค่ต้องสร้างความประทับใจให้มนุษย์ด้วยกันเท่านั้น แต่จะต้องเข้าใจวิธีที่จะทำให้คอมพิวเตอร์ชอบเราตั้งแต่แรกเห็นด้วย

คุณผู้อ่านอาจจะเคยได้ยินมาบ้างแล้วว่าสมัยนี้บริษัทหลายแห่งโดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่นิยมใช้อัลกอริธึ่มของซอฟต์แวร์ในการช่วยคัดสรรผู้สมัครที่มีคุณสมบัติเข้าข่ายตรงตามตำแหน่งงานที่ประกาศรับ

สาเหตุที่บริษัทหันมาใช้ซอฟต์แวร์แทนมนุษย์ในการช่วยกรองใบสมัครก็มีอยู่หลายสาเหตุ ตั้งแต่การช่วยแบ่งเบาหน้าที่ของการต้องอ่านใบสมัครวันละเป็นร้อยเป็นพันใบ ไปจนถึงการป้องกันอคติของผู้คัดเลือก เพราะไม่ว่าจะระมัดระวังแค่ไหนแต่มนุษย์เราก็มีแนวโน้มที่จะเกิดอคติหรือลำเอียงไปทางผู้สมัครคนใดคนหนึ่งได้

ดังนั้น การยกการตัดสินใจนี้ให้แก่คอมพิวเตอร์ที่ไม่มีหัวจิตหัวใจและไม่ได้เป็นญาติพี่น้องใครก็น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดหากต้องการหลีกเลี่ยงอคติ จริงไหมคะ

น่าเสียดายที่เมื่อเอามาใช้งานจริงๆ ผลลัพธ์ไม่ได้ออกมาสวยหรูขนาดนั้น เพราะอัลกอริธึ่มที่ว่าเป็นกลางก็มีอคติของตัวเองด้วยเหมือนกัน

เว็บไซต์ Telegraph รายงานว่า Cambridge University ได้เผยผลวิเคราะห์ว่าซอฟต์แวร์ช่วยคัดเลือกผู้สมัครงานเองก็มีสิ่งที่มันชอบและไม่ชอบด้วยเหมือนกัน และถ้ามันเจอสิ่งที่ไม่ชอบก็อาจจะคัดใบสมัครงานคนนั้นออกได้ง่ายๆ

สิ่งที่ซอฟต์แวร์ ‘เห็น’ แล้ว ‘ไม่ชอบ’ ก็มีตั้งแต่สไตล์การตกแต่งบ้าน เสื้อผ้าที่ผู้สมัครใส่ ไปจนถึงลักษณะของแสงในภาพถ่ายเลยทีเดียว

ผู้พัฒนาอัลกอริธึ่มมักจะกล่าวอ้างว่าโปรแกรมของตัวเองสามารถระบุลักษณะบุคลิกภาพใหญ่ทั้ง 5 หรือที่เรียกว่า The Big Five ที่อยู่ในตัวผู้สมัครได้ บุคลิกภาพใหญ่นั้นประกอบไปด้วย ความพิถีพิถัน ความสนใจต่อสิ่งภายนอก ความเปิดรับประสบการณ์ ความยินยอมเห็นใจ และความไม่เสถียรทางอารมณ์

โปรแกรมเหล่านี้ผ่านการฝึกฝนให้สามารถคาดการณ์บุคลิกภาพของผู้สมัครงานได้ด้วยการดูจากลักษณะที่แสดงออกบางประการ โดยมีข้อมูลที่ใช้ประมวลผลมาจากภาพถ่ายหรือวิดีโอจำนวนมากที่มีอยู่ในฐานข้อมูลแล้วนำมาวิเคราะห์เพื่อหาความเกี่ยวข้อง

ความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นก็คืออัลกอริธึ่มจับสิ่งที่มันคิดว่าเป็นบุคลิกภาพเข้ากับปัจจัยอื่นๆ ที่อาจจะไม่มีอะไรเกี่ยวโยงกันเลยก็ได้

อย่างเช่น ในการสัมภาษณ์งานผ่านวิดีโอ โปรแกรมปัญญาประดิษฐ์มีแนวโน้มที่จะชอบคนที่นั่งสัมภาษณ์งานอยู่หน้าชั้นวางหนังสือหรือผนังที่มีงานศิลปะประดับตกแต่งอยู่มากกว่าผนังเปล่า

หรือมองว่าคนที่มีผ้าโพกศีรษะจะมีความเสถียรทางอารมณ์มากกว่า

ในขณะที่คนที่สวมแว่นมีแนวโน้มจะถูกคัดออกเพราะมองว่าเป็นคนที่ไม่ค่อยพิถีพิถัน

Telegraph จึงทำคำแนะนำขึ้นมาสำหรับคนที่กำลังสมัครเข้าทำงานกับองค์กรที่ใช้อัลกอริธึ่มในการคัดใบสมัครว่า

1. สวมคอนแทกต์เลนส์แทนแว่น
2. สวมผ้าโพกศีรษะ
3. นั่งสัมภาษณ์หน้าชั้นวางหนังสือ
4. หลีกเลี่ยงผนังเปล่าๆ (แขวนกรอบรูปหรืองานศิลปะไว้ด้วย)

ผู้เชี่ยวชาญออกมาให้ความเห็นโต้แย้งการทำงานของอัลกอริธึ่มว่าบุคลิกภาพอย่างความพิถีพิถันหรือความยินยอมเห็นใจนั้น จะแสดงออกมาในรูปแบบที่แตกต่างกันไปในแต่ละคน ไม่มีวิธีตายตัวที่จะใช้เพื่อชี้วัดว่าใครมีหรือไม่มีบุคลิกภาพดังกล่าว

และยังเตือนอีกด้วยว่า การใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อตัดสินบุคลิกภาพเหล่านี้ถือเป็นวิทยาศาสตร์ลวงโลกที่พิสูจน์ไม่ได้

ถึงแม้ว่าการหันมาใช้คอมพิวเตอร์คัดผู้สมัครงานแทนมนุษย์เพื่อลดอคติในการว่าจ้างงานนั้นจะเกิดจากเจตนารมณ์ที่ดี แต่ถ้าหากซอฟต์แวร์ยังมีความผิดพลาดก็อาจจะนำไปสู่ความเข้าใจผิดว่าใช้ซอฟต์แวร์แล้วจะเลี่ยงอคติได้อย่างหมดจด นี่เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องรีบทำความเข้าใจกันตั้งแต่ตอนนี้ เพราะจากการสำรวจพบว่าบริษัทจำนวนมากใช้ซอฟต์แวร์ในการคัดเลือกผู้สมัครอยู่ในปัจจุบัน และยังมีอีกหลายบริษัทที่กำลังเตรียมความพร้อมจะเริ่มใช้ภายในปีหน้า

การแพร่ระบาดของไวรัสเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้บริษัทหันมาใช้ซอฟต์แวร์ช่วยในการคัดคนเพิ่มมากขึ้น เมื่อพนักงานหันไปทำงานออนไลน์มากขึ้น ฝ่ายทรัพยากรบุคคลก็จะต้องการเครื่องมือที่เป็นตัวช่วยออนไลน์เพิ่มด้วยเช่นเดียวกัน

ดังนั้น อีกไม่นานข้างหน้าผู้สมัครงานอาจจะพบว่าแทบไม่มีบริษัทไหนเลยที่จะกรองใบสมัครงานด้วยมนุษย์ล้วนๆ

ตัวฉันเองคิดว่าปัญญาประดิษฐ์นั้นไม่ใช่สิ่งที่เสกให้เกิดขึ้นมาได้จากความว่างเปล่า แต่เกิดจากการฝึกฝนด้วยข้อมูลมหาศาลที่มนุษย์สร้างเอาไว้ ดังนั้น หากในที่สุดแล้วมันจะเชื่อมโยงข้อมูลบางอย่างเข้าหากันเพื่อให้ไปถึงข้อสรุปอย่างใดอย่างหนึ่งโดยมีอคติเข้ามาปะปนด้วยก็ไม่น่าจะใช่เรื่องแปลกอะไร

การสัมภาษณ์งานในอนาคตที่ผู้สมัครอาจต้องปรับเปลี่ยนอะไรบางอย่างเพื่อให้เข้าตาซอฟต์แวร์ก็ไม่น่าจะแตกต่างจากการที่เราต้องพิถีพิถันเรื่องการแต่งตัวหรือการต้องเหลาคำตอบสุดคมไว้เพื่อสร้างความประทับใจให้ผู้สัมภาษณ์ที่เป็นมนุษย์ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา

แต่ควรต้องอยู่บนพื้นฐานว่าทั้งผู้สัมภาษณ์และผู้ถูกสัมภาษณ์เข้าใจเป็นอย่างดีว่าจุดอ่อนและจุดด้อยของซอฟต์แวร์ที่ใช้อยู่ตรงไหน และดีที่สุดก็คือควรใช้วิจารณญาณทั้งของคนและซอฟต์แวร์ร่วมกันในการที่จะรับใครสักคนเข้าทำงาน

เพื่อให้เราเข้าใกล้การจ้างงานที่ปราศจากอคติและมีความเป็นธรรมมากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้