อำนาจทางทหาร! รัสเซียในการเมืองโลก | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ | สุรชาติ บำรุงสุข

 

อำนาจทางทหาร!

รัสเซียในการเมืองโลก

 

“อำนาจขึ้นอยู่กับบริบทเสมอ”

Joseph S. Nye, Jr. (2011)

 

สงครามยูเครนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไม่มีใครคาดคิด ไม่มีใครคาดเดามาก่อนเลยว่าเช้าตรู่ของวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 กองทัพรัสเซียจะเปิดการรุกข้ามพรมแดนเข้าตียูเครน โดยมีเป้าหมายที่จะยึดกรุงเคียฟให้ได้อย่างรวดเร็ว

จนอาจกล่าวเปรียบเทียบได้ว่า “สงครามสายฟ้าแลบของปูติน” ในช่วงต้นดำเนินไปอย่างรวดเร็ว จนไม่มีใครคิดว่ายูเครนจะสามารถรับมือกับการโจมตีของรัสเซียได้ และระยะเวลาที่กรุงเคียฟจะอยู่รอดจากการยึดครองของกองทัพรัสเซีย น่าจะไม่นานนัก

แต่สุดท้ายแล้ว สงครามยูเครนกลับอยู่ใน “ขั้นยัน” (stalemate) การรุกแบบสายฟ้าแลบของรัสเซียไม่สามารถนำไปสู่วัตถุประสงค์ทางการเมืองอย่างที่ประธานาธิบดีปูตินต้องการได้

ในทางตรงข้ามยูเครนกลับสามารถยันการรุกของกองทัพรัสเซียได้มากกว่าที่หลายฝ่ายคาดคิด

ทั้งยังสามารถสร้างความเสียหายให้กองทัพรัสเซียได้มากกว่าที่คิดด้วย

Photo by AFP

อำนาจโซเวียตในยุคสงครามเย็น

ตัวแบบจากสงครามยูเครนทำให้เราอาจจะต้องคิดถึงเรื่องของ “อำนาจ” ในเวทีระหว่างประเทศกันใหม่ ถ้าคิดในแบบเดิมแล้ว อำนาจที่เหนือกว่าอย่างมากในทางทหารของรัสเซียน่าจะทำให้สงครามยูเครนจบไปแล้ว และจบลงด้วยชัยชนะของรัสเซียด้วย

หากย้อนกลับไปในยุคสงครามเย็นแล้ว จะเห็นได้ว่าแนวคิดที่ชัดเจนของสตาลินซึ่งเป็นผู้นำสหภาพโซเวียตในขณะนั้นคือ การสร้าง “พื้นที่กันชน” เพื่อเป็นหลักประกันว่า สหภาพโซเวียตจะไม่ถูกบุกโจมตีจากยุโรปตะวันตกดังเช่นที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ความมั่นคงของประเทศมาแล้ว

ฉะนั้น ดินแดนที่ถูกปลดปล่อยโดย “กองทัพแดงโซเวียต” จะตกอยู่ภายใต้การยึดครองและ/หรืออยู่ภายใต้อิทธิพลของโซเวียต โดยการที่รัฐบาลมอสโกจัดตั้งรัฐบาลที่นิยมรัสเซียขึ้นปกครอง

แต่เข้าควบคุมดินแดนของกองทัพแดงนั้น มิได้หมายความว่าคนในประเทศเหล่านั้นจะนิยมชมชอบกับลัทธิคอมมิวนิสต์ หรือยอมที่จะตกอยู่ภายใต้อำนาจของโซเวียต

เช่น หากวัดด้วยการลงเสียงแล้ว พรรคคอมมิวนิสต์ได้รับเสียงสนับสนุนเพียงร้อยละ 17 ในเดือนพฤศจิกายน 1945 หรือการลงเสียงในเชโกสโลวะเกีย พรรคคอมมิวนิสต์ได้รับเสียงสนับสนุนเพียงร้อยละ 38

ซึ่งก็ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์โปแลนด์ไม่กล้าที่จะเปิดการลงเสียง เพราะกลัวที่จะแพ้เลือกตั้ง

สภาวะเช่นนี้ทำให้ผู้นำโซเวียตต้องคิดอย่างมากถึงการใช้อำนาจในการควบคุมพื้นที่กันชนเหล่านี้

ดังนั้น ทางเดียวที่พรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตจะควบคุมยุโรปที่ถูกปลดปล่อยจากกองทัพแดงได้จริง ก็คือจะต้องกำจัดฝ่ายที่ไม่นิยมคอมมิวนิสต์ในประเทศเหล่านั้นให้หมดไป

โดยเฉพาะการใช้มาตรการ “อุ้มฆ่า” ที่เกิดขึ้นในหลายกรณีกับผู้นำพรรคการเมืองที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับพรรคคอมมิวนิสต์ แล้วผู้นำเหล่านี้ก็เริ่มหายตัวไป

หรือเมื่อการเลือกตั้งเกิดขึ้น ผู้นำฝ่ายตรงข้ามล้วนถูกจับติดคุกเกือบหมด อันทำให้พรรคคอมมิวนิสต์โปแลนด์ชนะการเลือกตั้งด้วยผลร้อยละ 80 และการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น กลายเป็นการจัดตั้ง “รัฐบาลพรรคเดียว” ของฝ่ายคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีทิศทางที่ชัดเจนภายใต้การนำของสตาลิน

การกระทำเช่นนี้ทำให้สตาลินสามารถจัดตั้ง “เขตอิทธิพล” (sphere of influence) ของโซเวียตในยุโรปตะวันออกได้ และตามมาด้วยความสำเร็จในแบบเดียวกันที่โรมาเนียและบัลแกเรีย

อีกทั้งโซเวียตยังขยายอิทธิพลเข้าไปยังอาเซอร์ไบจานที่อยู่ทางตอนเหนือของอิหร่านอีกด้วย พร้อมพยายามกดดันให้สหรัฐยอมรับพื้นที่ที่เป็นเขตอิทธิพลโซเวียต

แม้สตาลินรู้ดีว่าการสร้างเขตอิทธิพลในยุโรปตะวันออกเช่นนี้อาจจะเป็นความเสี่ยงที่อาจนำไปสู่การเผชิญหน้ากับโลกตะวันตก แต่ผู้นำมอสโกก็พร้อมที่จะเสี่ยง

คำปราศรัยของสตาลินในเดือนกุมภาพันธ์ 1946 ที่จะไม่มีการ “ประนีประนอม” กับฝ่ายตะวันตก โดยเฉพาะการกล่าวว่า “ระบบทุนนิยมทำให้สงครามเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้” จึงมีความหมายในทางการเมืองอย่างยิ่ง จนนิตยสารไทม์กล่าวว่าคำปราศรัยนี้เป็นการส่งสัญญาณของ “นโยบายนิยมสงคราม” ของผู้นำโซเวียตที่ชัดเจนที่สุด

จนทำให้กระทรวงต่างประเทศอเมริกันต้อง “ตีความ” อย่างมากกับคำปราศรัยดังกล่าว และนำไปสู่การกำหนดนโยบายต่างประเทศสำหรับยุคสงครามเย็น

แต่ก็มีนัยว่าสหรัฐจะไม่ก้าวล่วงเข้าไปในเขตอิทธิพลของโซเวียต เพราะอาจนำไปสู่การเผชิญหน้าระหว่างสองมหาอำนาจใหญ่ได้

Russian Air Force aerobatic teams ‘Strizhi’ (Swifts) on MiG-29 aircrafts and ‘Russian Knights’ in Su-27 aircrafts Photo by Dimitar DILKOFF / POOL / AFP

ม่านเหล็กปิดยุโรป

การเกิดเขตอิทธิพลและการจะไม่ก้าวข้ามเข้าไปในเขตของอีกฝ่ายหนึ่งได้กลายเป็นการแบ่งพื้นที่ของยุโรปออกเป็นสองส่วนอย่างชัดเจน จนอดีตนายกรัฐมนตรีเชอร์ชิลกล่าวในปี 1946 ว่า “ม่านเหล็ก” กำลังแบ่งทวีปยุโรปตั้งแต่ทะเลบอลติกจนถึงทะเลเอเดรียติก

ความท้าทายแรกเกิดขึ้นเมื่อประชาชนโปแลนด์ชุมนุมต่อต้านการดำรงอยู่ของกองทัพโซเวียต แต่เมื่อกองทหารโซเวียตแสดงกำลัง การชุมนุมดังกล่าวก็ลดระดับลง และรัฐบาลมอสโกสามารถเข้าควบคุมสถานการณ์ได้ ทางตะวันตกมองว่าเป็นเรื่องภายในของกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์

ต่อมารัฐบาลฮังการีในปี 1956 ต้องการเปลี่ยนสถานะประเทศให้เป็นกลาง และนำไปสู่การชุมนุมเรียกร้องให้ถอนทหารโซเวียตออกไป สุดท้ายผู้นำมอสโกตัดสินใจปราบ และได้รับความสนับสนุนจากรัฐบาลจีน เพราะถือว่าการเรียกร้องนี้เป็น “กบฏต่อคอมมิวนิสต์” การปราบปรามจบลงโดยปราศจากการแทรกแซงจากตะวันตก แม้จะมีเสียงเรียกร้องประกาศผ่าน “สถานีวิทยุบูดาเปสต์” ให้ตะวันตกเข้าช่วย

อีก 12 ปีหลังจากการลุกขึ้นสู้ที่ฮังการีถูกปราบปรามอย่างหนัก ความท้าทายสำคัญเกิดอีกครั้งในปี 1968 เมื่อรัฐบาลเชโกสโลวะเกียต้องการที่จะพาประเทศออกจากการควบคุมของโซเวียต ไม่ต่างจากเดิม การเรียกร้องครั้งนี้จบลงไม่ต่างกันเมื่อหน่วยทหารพลร่มโซเวียตบุกเข้าควบคุมสนามบินที่กรุงปรากในเดือนสิงหาคม 1968 และตามมาด้วยกำลังพลราว 5 แสนนายจากองค์กรสนธิสัญญาวอร์ซอข้าพรมแดนเข้าควบคุมสถานการณ์

การลุกขึ้นสู้ครั้งนี้ถูกเรียกว่าเป็น “ฤดูใบไม้ผลิที่กรุงปราก” (The Prague Spring) แม้จะประสบความพ่ายแพ้ในการต่อสู้ก็ตาม และไม่มีการแทรกแซงจากตะวันตก

อำนาจทางทหารและการเมืองของสหภาพโซเวียตในยุคนั้น อาจจะเป็นด้วยเงื่อนไขของความเป็นรัฐมหาอำนาจนิวเคลียร์ใหญ่ การตัดสินใจของตะวันตกโดยเฉพาะในกรณีของสหรัฐ จึงอยู่ภายใต้แนวคิดที่จะไม่ “ยั่วยุ” (provoke) ให้เกิดความขัดแย้ง ด้วยการยอมรับอำนาจของมหาอำนาจอีกฝ่ายที่จะดำเนินการในเขตอิทธิพลของตนโดยปราศจากการแทรกแซงอย่างเปิดเผยจากรัฐมหาอำนาจอีกฝ่าย ดังจะเห็นถึงการตัดสินใจของตะวันตกที่จะไม่แทรกแซงในกรณีทั้งสอง

Photo by AFP

บริบทของอำนาจ

เราอาจกล่าวได้ว่าอำนาจมีบริบทของตัวเองเสมอ… อำนาจของสหภาพโซเวียตในยุคสงครามเย็นจึงมีความชัดเจนดังข้อสังเกตอย่างสังเขปที่กล่าวในข้างต้น

แต่เมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดลง สถานะของอำนาจก็เปลี่ยนไป การล่มสลายของรัฐโซเวียตแบบเดิม จนนำไปสู่การกำเนิดของ “รัสเซีย” อีกครั้ง ประเด็นเรื่องของอำนาจในบริบทระหว่างประเทศจึงกลับมาเป็นปัญหาอีกครั้ง และทำให้ความพยายามที่จะฟื้นสถานะของรัสเซียในยุคหลังสงครามเย็นเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่สำคัญของผู้นำมอสโก

แต่การจะฟื้นสถานะในยุคหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะความอ่อนแอทางเศรษฐกิจ เพราะโดยเปรียบเทียบแล้วจะเห็นได้ว่า เศรษฐกิจรัสเซียไม่ได้เข้มแข็งมากมายนัก และกองทัพเองก็อ่อนแอลงจากการล่มสลายของรัฐโซเวียตที่เกิดขึ้น เว้นแต่ยังดำรงความเป็นรัฐมหาอำนาจนิวเคลียร์ไม่ต่างจากเดิม แต่สภาวะของสงครามนิวเคลียร์ในยุคหลังสงครามเย็นก็แตกต่างออกไป

นอกจากนี้ เงื่อนไขของการเมืองโลกนับจากยุคหลังสงครามเย็นจนก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 ก็เปลี่ยนไปอย่างมากเช่นกัน อีกทั้งสถานการณ์ความมั่นคงระหว่างประเทศแตกต่างไปจากยุคสงครามเย็น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นบนเงื่อนไขที่รัสเซียไม่ใช่มหาอำนาจที่เข้มแข็งแบบเก่า

กล่าวคือ แม้รัสเซียจะได้รับการยอมรับว่าเป็นรัฐมหาอำนาจ แต่สถานะที่จริงของความเป็นรัฐมหาอำนาจใหญ่ในการเมืองโลกที่ก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งขันกับรัฐมหาอำนาจเก่าอย่าสหรัฐคือ จีน

การเติบใหญ่ของจีน (หรือที่เรียกกันว่า “The Rise of China”) ต่างหากที่เป็นคู่แข่งใหม่ในเวทีโลก อันทำให้ “การแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่” (The Great Power Competition) ในศตวรรษที่ 21 มีความเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน

ฉะนั้น รัสเซียจึงต้องพยายามฟื้นสถานะให้กลับสู่ความเป็นรัฐมหาอำนาจใหญ่ ที่ชาติตะวันตกควรจะต้อง “เกรงใจ” ในเวทีโลก ด้วยการขยายอำนาจพลเข้าไปในพื้นที่ที่เคยเป็นเขตอิทธิพลเดิม ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตจอร์เจีย (2008) การยึดไครเมียและดอนบาส (2014) การกลับสู่บทบาททางทหารในตะวันออกกลางอีกครั้งในสงครามกลางเมืองซีเรีย (2015) จึงเป็นดังการส่งสัญญาณให้โลกเห็นถึงการคืนสู่สถานะของความเป็นรัฐมหาอำนาจใหญ่ของรัสเซีย

การตัดสินใจเปิดสงครามรุกข้ามพรมแดนยูเครนในต้นปี 2022 จึงเป็นความพยายามครั้งใหม่ เพราะถ้า “สงครามของปูติน” ประสบความสำเร็จในการยึดครองยูเครนได้จริง เป้าหมายต่อไปอาจเป็นมอลโดวา หรืออาจขยายไปสู่ความพยายามที่จะเอาสามรัฐริมชายฝั่งทะเลบอลติกกลับมาอยู่ภายใต้รัสเซียอีกครั้ง

แต่สงครามกลับตกอยู่ใน “ขั้นยัน” อีกทั้งเมื่อล่วงเข้าเดือนที่ 7 ของสงคราม กองทัพยูเครนในภาคใต้และภาคตะวันออกเริ่มเป็นฝ่ายรุกกลับ (counteroffensive) และสามารถผลักดันกองทัพรัสเซียถอยร่นกลับในหลายพื้นที่

Photo by Yasuyoshi CHIBA / AFP

จนเริ่มเป็นสัญญาณของ
“ความเพลี่ยงพล้ำทางทหาร” ของรัสเซีย

สัญญาณจากสนามรบในยูเครนคือ กองทัพรัสเซียได้สูญเสียทหารและยุทโธปกรณ์เป็นจำนวนมาก และเห็นได้ชัดเจนว่ากองทัพรัสเซียกำลังประสบปัญหาทางยุทธศาสตร์ที่ไม่สามารถเป็นเครื่องมือที่จะทำให้รัฐบาลมอสโกบรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการได้

ภาวะเช่นนี้ทำให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลว่า ความเพลี่ยงพล้ำที่เกิดมากขึ้นนั้น จะทำให้ประธานาธิบดีปูตินตัดสินใจใช้อาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีหรือไม่

แต่หลายฝ่ายก็ยังหวังว่า การตัดสินใจเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นจริง

ในอีกด้านหนึ่ง คงต้องยอมรับว่าบริบทของเวลาที่เปลี่ยนไปนั้น ผู้นำรัสเซียไม่สามารถใช้อำนาจกำลังรบดำเนินการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ทางการเมืองเช่นกรณีของฮังการี (1956) หรือเชโกสโลวะเกีย (1968)

เพราะการสนับสนุนในด้านต่างๆ ของฝ่ายตะวันตก โดยเฉพาะการสนับสนุนทางทหาร ที่ทำให้รัฐบาลเคียฟสามารถรบต่อเนื่องได้กับสงครามยืดเยื้อในระยะยาว

ประกอบกับการตัดสินใจอย่างมุ่งมั่นของผู้นำ กองทัพ และประชาชนยูเครนที่จะต้านทานการรุกของกองทัพรัสเซีย

จนวันนี้ยูเครนสามารถเปลี่ยนสงครามจาก “ขั้นรับ” เป็น “ขั้นยัน” ได้อย่างน่าสนใจ

ทั้งหมดนี้คือคำตอบว่า บริบทของอำนาจที่เปลี่ยนไป อำนาจทางทหารแบบเดิมไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาดชัยชนะในสงครามเสมอไป ดังเช่นที่เราเห็นจากสงครามยูเครนในปัจจุบัน!