ผ่าเบื้องลึกเบื้องหลัง ร่าง พ.ร.บ.กยศ. ฉบับ ‘ปลอดดอกเบี้ย’ | การศึกษา

ผ่าเบื้องลึกเบื้องหลัง… ร่าง พ.ร.บ. กยศ. ฉบับ ‘ปลอดดอกเบี้ย’

กลยุทธ์หาเสียงของ ‘พรรคการเมือง’??

 

กลายเป็นประเด็นร้อนแรงในแวดวงการเมือง และการศึกษา เมื่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 14 กันยายน ได้ “ผ่าน” ร่าง พ.ร.บ.เงินกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ฉบับที่… พ.ศ…. โดยลงมติวาระ 3 เห็นด้วย 314 ไม่เห็นด้วย 3 งดออกเสียง 2 ไม่ลงมติ 2

ซึ่ง “มาตรา 17” การคิดดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ค้างการพิจารณามาจากการประชุมครั้งก่อนหน้านั้น หลังที่ประชุมลงมติไม่เห็นด้วยกับที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่…) พ.ศ…. เสียงข้างมาก ให้คิดดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ร้อยละ 0.25 แต่ยังตกลงกันไม่ได้ ว่าจะ “ไม่คิด” ดอกเบี้ย และเบี้ยปรับล่าช้า หรือไม่?

อีกทั้งที่ประชุมได้ลงมติแยกเป็นกลุ่ม ระหว่างกลุ่ม “เก็บ” ดอกเบี้ย กับกลุ่ม “ไม่เก็บ” ดอกเบี้ย โดยมีมติ “เห็นด้วย” กับกลุ่มของนายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย (พท.) ด้วยคะแนน 218 ต่อ 109 งดออกเสียง 53 ไม่ออกเสียง 1 เสียง

ให้ผู้กู้ยืมเงิน กยศ. “ไม่ต้องจ่าย” ดอกเบี้ย!!

ทั้งนี้ ก่อนที่ที่ประชุมจะลงมติเห็นด้วยกับเสียงข้างน้อยกลุ่มใด ได้มีการสงวนความเห็นไว้ถึง 6 กลุ่ม แต่ขอถอน 2 กลุ่ม เหลือ 4 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มที่ 1 นายอุบลศักดิ์ ที่สงวนความเห็นว่า ให้ผู้กู้ยืมเงินมีหน้าที่ต้องชำระเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ที่ได้รับไปตามสัญญากู้ยืมเงิน คืนให้กองทุนโดย “ไม่มี” ดอกเบี้ย จะชำระเงินคืนกองทุนทั้งจำนวน หรือผ่อนชำระก็ได้ ตามจำนวน ระยะเวลา และวิธีการที่กองทุนกำหนด

กลุ่มที่ 2 นายประกอบ รัตนพันธ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พร้อมคณะ สงวนความเห็นว่า ให้ผู้กู้ยืมเงินจ่ายดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 1

กลุ่มที่ 3 นายจุมพล นิติธรางกูร กฤษฎีกา ในฐานะ กมธ.เสียงข้างน้อย และนายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุน กยศ. สงวนความเห็นว่า ให้คงตามร่างเดิม คือให้เก็บดอกเบี้ย ร้อยละ 2 และเก็บเบี้ยปรับล่าช้า ร้อยละ 1

และกลุ่มที่ 4 ของ น.ส.ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พร้อมคณะ สงวนความเห็นให้เก็บดอกเบี้ย ร้อยละ 1 และเก็บเบี้ยปรับล่าช้า ร้อยละ 1 ต่อปี แต่ให้เริ่มชำระเมื่อผู้กู้ยืมมีเงินได้พึงประเมินเพียงพอจะเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภายในระยะเวลา 30 ปี!!

(Photo by MANAN VATSYAYANA / AFP)

ทั้งนี้ ส.ส.ที่โหวต “เห็นด้วย” กับการให้ผู้กู้เงิน กยศ.โดยไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย ส่วนใหญ่เป็น ส.ส.พท. ส.ส.ภูมิใจไทย (ภท.) ทั้งพรรค ส.ส.เศรษฐกิจไทย ส.ส.เสรีรวมไทย ส.ส.ประชาชาติ ส.ส.เพื่อชาติ ส.ส.เศรษฐกิจใหม่ ส.ส.พลังท้องถิ่นไท ส.ส.ชาติพัฒนา

ส่วน ส.ส.พรรคก้าวไกล โหวตเห็นด้วย 5 ที่เหลืองดออกเสียง ฝั่ง ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา งดออกเสียงทั้งพรรค

สำหรับ ส.ส.ที่โหวต “ไม่เห็นด้วย” ได้แก่ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ส.ส.ปชป. และ ส.ส.พรรครวมพลัง

ขณะที่ ส.ส.พรรคเล็กอื่นๆ มีที่เห็นด้วยบ้าง ไม่เห็นด้วยบ้าง หรืองดออกเสียงบ้าง

หลังจากที่ประชุมพิจารณาเรียงตามมาตราครบทั้ง 27 มาตราแล้ว ได้ลงมติวาระ 3 เห็นด้วย 314 ไม่เห็นด้วย 3 งดออกเสียง 2 ไม่ลงมติ 2 และเห็นชอบกับข้อสังเกตตามที่ กมธ.เสนอ

ซึ่งก่อนหน้านั้น ที่ประชุมได้พิจารณามาตราที่ 18-27 และเห็นชอบตามที่ กมธ.เสนอทุกมาตรา รวมถึงมาตรา 24 ซึ่ง กมธ.แก้ไขเพื่อกำหนดเป็นบทเฉพาะกาล ให้มีผลย้อนหลังกับ “ผู้กู้ยืม” และ “คนค้ำประกัน” ที่ได้ทำสัญญากู้ยืม ก่อนหน้าที่ร่างกฎหมายจะบังคับใช้ด้วย

โดยผู้กู้ยืมที่มีกว่า 3.4 ล้านบัญชี เป็นกลุ่มที่ถูกดำเนินคดีนับล้านราย และถูกฟ้องดำเนินคดีอีกจำนวนมาก จะได้รับสิทธิประโยชน์หากกฎหมายผ่านทั้ง 2 สภา!!

การโหวตดังกล่าว ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อน ว่าเป็นการ “หาเสียง” ชัดเจน กรณี “เพื่อไทย” เสนอให้ผู้กู้เงิน กยศ.ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย และเบี้ยปรับล่าช้า เพื่อให้ “ได้ใจ” คนรุ่นใหม่ ที่จะมีสิทธิมีเสียงในการเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งมีแนวโน้มว่าอาจจะเกิดขึ้นในอนาคตไม่ใกล้ไม่ไกลนี้

โดยหวังจะอาศัยคนรุ่นใหม่ “แลนด์สไลด์” ทั้งแผ่นดิน…

ขณะที่ “ภูมิใจไทย” ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ส.ส.ทุกคนในพรรค กลับโหวต “เห็นด้วย” กับข้อเสนอของ พท.ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าเล่นการเมืองกันชัดเจน และเป็นการ “เอาคืน” ปชป.ที่โหวตให้ถอนร่าง พ.ร.บ.กัญชง กัญชา (ฉบับที่…) พ.ศ…. ของ ภท.ออกจากวาระประชุม

ส่วน “ก้าวไกล” เอง แม้ ส.ส.ของพรรคจะสงวนความเห็นให้เก็บดอกเบี้ย ร้อยละ 1 และเก็บเบี้ยปรับล่าช้า ร้อยละ 1 ต่อปี แต่มี ส.ส.บางคนโหวตเห็นด้วยกับการไม่ต้องจ่ายเบี้ยปรับของ พท. ส่วนที่เหลือ “งดออกเสียง”

ว่ากันว่าเพราะกลัวจะ “เสีย” คะแนนกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่เป็น “ฐานเสียง” ของพรรคนั่นเอง…

ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ยังไม่มีผลบังคับใช้ ต้องไปลุ้นว่าจะผ่าน “วุฒิสภา” หรือไม่ หาก ส.ว.มีความเห็นไม่แก้ไข กฎหมายก็ผ่านฉลุย แต่ถ้าเห็นว่าต้องแก้ไข ก็ต้องส่งร่าง พ.ร.บ.กยศ.ย้อนกลับไปที่สภาอีกครั้ง

หากสภาเห็นด้วยก็เป็นอันจบ แต่ถ้าสภาไม่เห็นด้วย ก็ต้องตั้ง กมธ. 2 ฝ่ายขึ้นหารือ!!

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่หลายฝ่าย “กลัว” ว่าจะเกิดขึ้น หากร่าง พ.ร.บ.กยศ.ผ่านวุฒิสภา “ผู้กู้” จะ “เบี้ยว” ชำระหนี้เงินกู้ กยศ.เพิ่มขึ้นจำนวนมาก

เพราะผู้กู้จะขาดความรับผิดชอบ ไม่มีวินัยทางการเงิน และเป็นการสร้างวินัยทางการเงินที่ไม่ดีให้กับประชาชน…

ทั้งๆ ที่การเก็บดอกเบี้ยไม่เกิน 2% และเบี้ยปรับล่าช้าไม่เกิน 1% “ต่ำ” กว่าที่กฎหมายกำหนด และจัดเก็บในอัตราที่เหมาะสมอยู่แล้ว

ล่าสุด มี “สัญญาณ” การ “ชะลอ” จ่ายหนี้เงินกู้ กยศ.เห็นได้ชัด นายชัยณรงค์ระบุว่า เริ่มเห็นสัญญาณลูกหนี้ กยศ.ชะลอจ่ายหนี้คืน ระหว่างรอความชัดเจนของกฎหมายฉบับใหม่ ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาในเดือนพฤศจิกายน ว่าจะลดเบี้ยปรับ และดอกเบี้ยกู้ยืมหรือไม่

ซึ่งปัจจุบันการจ่ายหนี้ กยศ.มี 2 ทาง คือ หักจากบัญชีลูกจ้าง ในส่วนนี้ยอดไม่ลด และการจ่ายหนี้ด้วยตัวเอง ยอดชำระ “ลดลง” จากเดิมชำระหนี้วันละ 50 ล้านบาท เหลือวันละ 10 ล้านบาทเท่านั้น

ผู้จัดการ กยศ.ยังแจกแจงถึง “ลูกหนี้” ที่ “ถูกฟ้อง” เพราะผิดนัดชำระหนี้ โดย กยศ.ชะลอฟ้องประมาณ 1.8 แสนราย ในจำนวนนี้ไกล่เกลี่ยแล้ว 1.4 แสนราย สำหรับกลุ่มที่ผิดนัดชำระหนี้ มี 3 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ 1.กลุ่มยากจน 2.กลุ่มที่ขาดวินัยทางการเงิน และ 3.กลุ่มที่ไม่มีจิตสำนึก ซึ่งกลุ่มที่ 3 แม้มีเงินในบัญชีธนาคาร แต่ไม่ยอมจ่ายหนี้

สำหรับทรัพย์สินที่ กยศ.มีในปัจจุบัน 3.7 แสนล้านบาท รับชำระหนี้ปีละ 3 หมื่นล้านบาท และปล่อยกู้ปีละ 4 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้มีรายได้จากเบี้ยปรับ และดอกเบี้ยปีละ 3 พันล้านบาท รวมเป็น 6 พันล้านบาท

ส่วนการให้กู้ในปีการศึกษา 2565 มีนักเรียน นักศึกษา ได้รับอนุมัติ 638,132 ราย เป็นเงินกว่า 38,879 ล้านบาท

“คาดว่าในอนาคตอีก 5 ปีข้างหน้า (2566-2570) กยศ.จะมีรายจ่ายแน่นอนประมาณ 2 แสนล้านบาท ขณะที่รายรับปีละ 3 หมื่นล้านบาทเท่านั้น 5 ปีจะมีรายรับอยู่ที่ 1.5 แสนล้านบาท กรณีที่ไม่มีดอกเบี้ย และถูกลดเบี้ยปรับ จะทำให้ กยศ.เสียรายได้ปีละ 6 พันล้านบาท ฉะนั้น ต้องขอให้ลูกหนี้มีวินัยจ่ายหนี้ หรืออาจของบฯ รัฐ เพื่อประคับประคองกองทุนต่อไป” ผู้จัดการ กยศ.ทิ้งท้าย

ทั้งนี้ กองทุน กยศ.ไม่ได้ของบฯ แผ่นดินตั้งแต่ปีงบฯ 2561!!

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่หลายฝ่าย ทั้งฝ่ายการเมือง การคลัง และนักวิชาการ เป็นห่วงในเวลานี้ และมองตรงกัน ว่าการจ่ายดอกเบี้ย และเบี้ยปรับ เป็นการสร้างคนให้มีความรับผิดชอบ มีวินัยทางการเงินและการคลัง

เพราะหากกู้แล้วเบี้ยวหนี้ จะทำให้ได้คน “มีความรู้” แต่ “โกง”…

งานนี้ ต้องลุ้นว่าเหล่า ส.ว.จะยอมให้ร่าง พ.ร.บ.กยศ.ฉบับใหม่ ผ่านฉลุย หรือส่งกลับไปสภา!! •

 

การศึกษา