จากโดรนเดี่ยว…กลายเป็น ‘กองทัพปีศาจโดรนกลางหาว’ | กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ | สุทธิชัย หยุ่น

 

จากโดรนเดี่ยว…กลายเป็น

‘กองทัพปีศาจโดรนกลางหาว’

 

“สงครามโครน” หรือ Drone Warfare กำลังเป็นแนวโน้มของโลก

โดยได้รับการตอกย้ำจากสงครามยูเครนที่มีการใช้โดรนมากมายหลายประเภทในการทำลายล้างกันและกัน

นอกจากนี้ เราก็เริ่มเห็นเทคโนโลยีที่พัฒนาให้ไม่เพียงแต่มี “โดรนไร้คนขับ” ที่ทิ้งระเบิดใส่ฝ่ายศัตรูได้เท่านั้น

หากแต่ยังมี “เรือรบไร้คนขับ”

และ “โดรนทำลายทุ่นระเบิดใต้น้ำ” ที่กำลังอยู่ในขั้นทดลองอย่างคึกคักอีกด้วย

ตัวเลขทางการเมื่อสองปีก่อนแจ้งว่าทุกวันนี้มีโดรนหรือ Unmanned Aerial Vehicles (UAV) ที่ใช้เพื่อการสู้รบนั้นมีกว่า 20,000 ลำทั่วโลก

วันนี้ผมเชื่อว่ามีจำนวนสูงกว่านั้นหลายเท่า

และต่อแต่นี้ไปจะไม่ใช่เป็นการใช้โดรนสงครามแบบเดี่ยวๆ อีกต่อไป

หากแต่จะเป็น “กองทัพโดรน” กลางหาวที่พร้อมจะบุกจู่โจมฝ่ายตรงกันข้ามกันอย่างหนักหน่วงและรุนแรงอย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน

ในปี 2020 อเมริกาใช้โดรนสังหารผู้นำทางทหารของอิหร่าน Qasem Soleimani มาแล้ว

และต่อมา เราเห็นโดรนเปลี่ยนโฉมหน้าแห่งสงครามตั้งแต่ในสนามรบที่ซีเรียตลอดไปถึงอาเซอร์ไบจาน, ลิเบีย และเยเมน

วันนี้มันแสดงอภินิหารเหนือสมรภูมิยูเครนอย่างคึกคัก

แต่ก่อนนี้ ประเทศที่มีความสามารถในการผลิตโดรนเพื่อใช้ทางทหารมีไม่กี่ประเทศ

แต่วันนี้กองทัพของหลายประเทศสามารถสร้างโดรนเพื่อทำสงครามมากขึ้นทุกขณะ

ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ, จีน, อิสราเอล, รัสเซีย, ตุรกี, อิหร่าน รวมถึงไต้หวัน

และมันก็กำลังจะกลายเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าซื้อขายมหาศาล

เชื่อกันว่าอีกไม่นานงบประมาณทางทหารของหลายประเทศสำหรับโดรนเพื่อการสู้รบจะสูงกว่าการผลิตรถถังเพื่อทำสงครามด้วยซ้ำไป

เหมือนที่กองทัพเรือหลายประเทศปรับตัวด้วยการลดจำนวนเรือรบขนาดใหญ่มาเป็นเรือรบขนาดเล็กที่มีความคล่องตัวสูงกว่าและมีประสิทธิภาพของการทำงานดีกว่า

ที่น่ากลัวก็คือโดรนที่สามารถสอดแนม, หาข่าวและทิ้งระเบิดได้ด้วยนั้นไม่เพียงแต่เป็นอาวุธใหม่ของกองทัพประเทศต่างๆ เท่านั้น

แต่ผู้ก่อการร้ายและผู้ต้องการก่อความวุ่นวายไปทั่วโลกก็สามารถเข้าถึงโดรนเพื่อการรบพุ่งได้เช่นกัน

เป็นที่รู้กันว่ากลุ่มก่อการร้ายบางกลุ่มเพียงแค่ซื้อโดรนพลเรือนปกติมาต่อเติมเสริมใส่อุปกรณ์ไม่กี่ตัวก็สามารถใช้ทิ้งระเบิดและทำลายเป้าหมายที่ต้องการได้

โดรนจึงเป็นดาบสองคมที่น่ากลัวไม่น้อยไปกว่า “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ Artificial Intelligence (AI) ที่อาจจะสร้างเพื่อสร้างสรรค์และนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติ

แต่ขณะเดียวกันมันก็สามารถถูกนำไปใช้เพื่อทำลายล้างและเข่นฆ่าผู้คนอย่างไร้ความปราณีเพียงเพื่อบรรลุเป้าหมายส่วนตัวหรือเฉพาะกลุ่มได้เช่นกัน

ตัวอย่างเช่น : ผู้ใช้มีความตระหนักในสถานการณ์เพียงพอที่จะตัดสินใจว่าจะใช้กำลังหรือไม่?

อาวุธมีความเสี่ยงต่อการแฮ็กหรือไม่?

หากโดรนสร้างความเสียหายโดยไม่ได้ตั้งใจ ผู้คนจะรับผิดชอบความเสียหายนั้นได้อย่างไร?

พลเรือนจะได้รับการคุ้มครองได้อย่างไร?

ก็เพราะผู้คนสามารถเพิ่มเสริมเติมแต่งอุปกรณ์ที่ทำงานได้ในหลายๆ รูปแบบจนกลายเป็นอาวุธที่อันตรายยิ่ง จึงเกิดความกังวลเพิ่มเป็นทวีคูณ

 

แต่จะว่าไปแล้ว แนวคิดของอากาศยานไร้คนขับ (UAV) ไม่ใช่เพิ่งเกิดเมื่อเร็วๆ นี้

ย้อนกลับไปยุคแรกของโดรน

เชื่อกันว่า “โดรน” ตัวแรกถูกประดิษฐ์ขึ้นในปี ค.ศ.1896 หรือ 124 ปีมาแล้ว

แต่สมัยนั้นเขาไม่ได้เรียกว่าโดรน

ปีนั้น อัลเฟรด โนเบล ซึ่งมีชื่อเสียงในการคิดประดิษฐ์ไดนาไมต์ เปิดตัวจรวดที่มีกล้องติดอยู่ ในสิทธิบัตรของเขา

เขาเรียกมันว่า “โหมดที่ได้รับการปรับปรุงในการรับแผนที่ภาพถ่ายและการวัดโลกหรือพื้นดิน”

แต่เอาเข้าจริงๆ ภาพถ่ายทางอากาศครั้งแรกโดยใช้วิธีนี้เกิดขึ้นในปีต่อมา

มันเกิดขึ้นหลังจากที่อัลเฟรด โนเบล เลยเสียชีวิตแล้ว

หลังจากนั้น กว่าที่จะมี “โดรนสมัยใหม่” ตัวแรกก็ต้องใช้เวลาอีกสองสามทศวรรษ

นั่นคือการปรากฏตัวของประดิษฐกรรมในปี 1935

ที่รู้จักในชื่อเครื่องบิน De Havilland DH.82B

หรือ Queen Bee ซึ่งเริ่มใช้การเปรียบเทียบเป็น “ผึ้ง” อันเป็นที่มาของคำว่า “โดรน”

เป็นผลงานของกองทัพอากาศสหราชอาณาจักรโดยใช้เป็นวิธีฝึกนักบินให้ต่อสู้กับศัตรู

ออกแบบเป็นโดรนบังคับวิทยุขนาดใหญ่ที่ใช้สำหรับการฝึกยิงเป้าหมาย

ต่อมา แบบจำลองโดรนรุ่นนี้ถูกกองทัพสหรัฐลอกเลียนแบบเมื่อพลเรือเอก William Harrison Standley ซึ่งเคยเห็น Queen Bee ที่ทำงานในสหราชอาณาจักรได้นำความรู้ดังกล่าวกลับคืนสู่รัฐต่างๆ

เพราะเรียกแบบจำลองของเขาว่า “โดรน” เพื่อแสดงความเคารพต่อ Queen Bee ดั้งเดิม และเป็นคนแรกที่รู้จัก UAV ว่าเป็นโดรน

จากนั้นโดรนก็กลายเป็นอุปกรณ์เชิงพาณิชย์แบบที่เรารู้จักในปัจจุบัน

 

โดรนสมัยใหม่มาไกลมากตั้งแต่ UAV

ตัวแรกที่คิดค้นโดยกองทัพอากาศสหราชอาณาจักร ใน 100 ปีที่ผ่านมา

ต่อมาก็มีเครื่องบินบังคับวิทยุลำแรกที่คิดค้นโดยนักแสดงชื่อเรจินัลด์ เดนนี่ ในปี 1941

ซึ่งต่อมาได้สร้างบริษัทที่สร้างและขายเครื่องบินเหล่านี้ให้กับกองทัพสหรัฐ

เช่นเดียวกับโดรนที่กองทัพอิสราเอลใช้เพื่อเอาชนะยุทธการ Jezzine กับกองกำลังซีเรียในปี 1982

จากจุดนั้น กองทัพสหรัฐอเมริกา อิสราเอล และสหราชอาณาจักร รวมถึงองค์กรอื่นๆ ที่พยายามสร้าง UAV สำหรับการใช้งานที่หลากหลาย

จนกระทั่งปี 2006 พลเรือนทั่วไปได้รับอนุญาตให้ใช้โดรนเป็นครั้งแรก

โดยแรกเริ่มได้รับอนุญาตให้ช่วยเหลือในการบรรเทาทุกข์หลังจากพายุเฮอร์ริเคนแคทรีนาก่อความเสียหายอย่างใหญ่หลวงในอเมริกาในช่วงใกล้ๆ กันนั้น

 

วันนี้ กองทัพเรืออเมริกันกำลังกระโดดไปอีกก้าวหนึ่ง

ด้วยกำลังจะใช้ ‘เรือรบไร้คนขับ’ เสริมทัพรับยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกแล้ว

โดยที่มีหน่วยที่เรียกว่ากองเรือผิวน้ำไร้คนขับที่หนึ่ง (Unmanned Surface Vessel Division One – USVDIV-1)

ซึ่งเป็นหน่วยรบทางทะเลที่ประกอบด้วยเรือรบไม่มีระบบน้ำ ไม่มีห้องน้ำ

เรือมีหน้าที่ล่องไปตามท่าเรือต่างๆ โดยมีการควบคุมของมนุษย์ให้เคลื่อนที่ไปยังจุดหมายอย่างปลอดภัยเท่านั้น

เรียกมันว่า ‘เรือโดรน’ หน่วยแรกของกองทัพเรือสหรัฐ

โดยการทำงานนั้นเรือไร้คนขับเหล่านี้มีทหารคอยควบคุมในระยะเริ่มต้น

และในอนาคตอันใกล้นี้ เรือเหล่านี้จะเข้ามามีบทบาทช่วยให้กองทัพเรือสหรัฐ สามารถลาดตระเวนในน่านน้ำอันกว้างใหญ่ 165 ล้านตารางกิโลเมตรของมหาสมุทรแปซิฟิกได้ดียิ่งขึ้น

เราอาจจะไม่ค่อยได้ยินข่าวนัก แต่วงในบอกว่าที่ผ่านมา ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และจีน มีโครงการพัฒนาเรือไร้คนขับเพื่อเสริมทัพในน่านน้ำนี้เช่นกัน

ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้บอกว่า “กองเรือผิวน้ำไร้คนขับ” อาจเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพสหรัฐภายในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าก็เป็นไปได้

นั่นแปลว่า “โดรน” กำลังจะกลายเป็นอาวุธทั้งทางอากาศและทางน้ำในไม่ช้านี้

ดีหรือชั่วร้ายอย่างไรอยู่ที่มนุษย์จะใช้นวัตกรรมไปทางสร้างสรรค์หรือทำลายล้างกันเท่านั้น!