สัญญาณสู่ยุคหลัง COVID-19 / วิรัตน์ แสงทองคำ

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

วิรัตน์ แสงทองคำ

https://viratts.com

 

สัญญาณสู่ยุคหลัง COVID-19

 

มีภาพสำคัญ ได้สะท้อนความเป็นไปช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ สู่ยุคหลัง COVID-19

นั่นคือการจับตาความเคลื่อนไหวที่สำคัญ ว่าด้วยความสัมพันธ์ระว่างเครือข่ายธุรกิจใหญ่กับตลาดหุ้น

ความสนใจในภาพกว้างๆ เกี่ยวข้องอย่างเจาะจงกับหุ้นเข้าใหม่ (โปรดพิจารณา-สถิติ IPO) ที่เรียกกันว่า IPO (Initial Public Offering) ภาษาทางการว่า “เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก” โดยจับภาพต่อเนื่องและเกี่ยวข้องอย่างกันซับซ้อนพอประมาณ สถานการณ์ในประเทศกับวิกฤตการณ์ระดับโลกในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

ว่าไปแล้วอย่างกว้างๆ ข้อมูลที่ว่าไม่ได้สะท้อนการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผันมากนัก เมื่อเทียบเคียงกับเหตุการณ์ ซึ่งเป็นบริบทเกี่ยวข้อง ครั้นพิจารณาอย่างเฉพาะเจาะจง จะพบว่าในนั้นสะท้อนเป็นปรากฏการณ์อย่างที่เคยเสนอไว้

“เรื่องธุรกิจกับตลาดหุ้น สะท้อนมุมมองว่าด้วยโอกาสและความเชื่อมั่น…ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 ต่อต้นปี 2563 ธุรกิจใหญ่อันทรงอิทธิพลของไทย เดินแผนเข้าตลาดหุ้นอย่างคึกคัก เป็นปรากฏการณ์อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นับตั้งแต่วิกฤตกาณ์ทางเศรษฐกิจในปี 2540 เลยก็ว่าได้”

ช่วงเวลาที่ว่านั้น สัมพันธ์กับการเปลี่ยนผ่านและแปลงร่างอำนาจทางการเมืองไทย จากการรัฐประหาร สู่กระบวนการเลือกตั้ง

 

แผนการเข้าตลาดหุ้นของเครือข่ายธุรกิจอิทธิพลของไทย เริ่มต้นอย่างเป็นขบวน (โปรดพิจารณา “ข้อมูลจำเพาะ : IPO รายสำคัญ) โดยไม่คาดคิดว่า มีเหตุกาณ์ส่งพลิกผันอย่างสำคัญตามมาอย่างกระชั้น

ในช่วงต้นๆ ปี 2563 (กุมภาพันธ์) วิกฤตการณ์ COVID-19 ปะทุขึ้น ตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศจีน สู่ระดับสูงสุดถึง 75,000 คน มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 2,200 คน ขณะมีแนวโน้มผู้ติดเชื้อรายใหม่กำลังลดลง ทว่า ไม่กี่วันจากนั้น COVID-19 ได้แพร่กระจายรอบใหม่รอบใหญ่ไปทั่วโลก จากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไปยังโลกตะวันตก

ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวในคลื่นลูกแรก เครือข่ายธุรกิจใหญ่ ได้นำกิจการสู่กระบวนการเข้าตลาดหุ้นมาก่อนระยะหนึ่งแล้ว จังหวะเวลา สู่ปลายทางสำคัญ เป็นไปตามกรอบ เข้ามาในอยู่ช่วงสถานการณ์พลิกผันอย่างไม่คาดคิด

กรณีแรก-ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กลุ่มทีซีซี เปิดฉากอย่างครึกโครม บริษัท แอทเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC กิจการถือครองและบริหารทรัพย์สินในทำเลสำคัญใจกลางกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ มีเครือข่ายโรงแรม และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ รูปแบบต่างๆ หลากหลาย มีที่มาเป็นตำนานกับ เจริญ-วรรณา สิริวัฒนภักดี นักล่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ จนกลายเป็นผู้ถือครองรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของสังคมไทย

AWC ตั้งต้นด้วยแผนการเข้าตลาดหุ้น (ปี 2562) จากขายหุ้น IPO ระดมเงินได้ครั้งแรก 48,000 ล้านบาท จนบรรลุแผนเข้าซื้อขายหุ้น (ตุลาคม 2562) เวลานั้น จัดเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าตลาดที่สูงสุดในประวัติศาสตร์ของตลาดหลักทรัพย์ไทย และมีสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของมูลค่าหลักทรัพย์ IPO ปี 2562

อีกกรณีตื่นเต้นไม่แพ้กัน บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC เรียกอย่างย่อว่า “เซ็นทรัลรีเทล” “หนึ่งในธุรกิจค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุด ด้วยรูปแบบร้านค้าที่หลากหลายและธุรกิจระดับแนวหน้าในเอเชียอาคเนย์” ธุรกิจหลักที่สำคันที่สุดของตระกูลจิราธิวัฒน์ ผู้บุกเบิกธุรกิจค้าปลีกในเมืองไทยมานานเกือบศตวรรษ รอจังหวะเวลา ศึกษาอยู่นาน กว่าจะตัดสินใจเข้าตลาดหุ้น ช่างบังเอิญอยู่ในจังหวะไม่ค่อยดีนัก

ทั้ง AWC และ CRC ใช้จังหวะเวลาระหว่างวิกฤตการณ์ ปรับแผน ปรับตัวอย่างต่อเนื่อง คาดหวังว่าเมื่อเข้าสู่ยุคหลัง COVID-19 ดัชนีที่ตลาดหุ้นคงจะดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา

เครือข่ายเอสซีจี ธุรกิจศตวรรษซึ่งกลายเป็นสถาบันในสังคมธุรกิจไทย หวนกลับเข้าตลาดหุ้นอีกระลอก จากเว้นวรรคกว่า 3 ทศวรรษ เป็นเรื่องเร้าใจยิ่งนัก

จากกรณีเอสซีจี ซึ่งมีกิจการหลัก-บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) อยู่ในตลาดหุ้น (ชื่อย่อ SCC) อย่างยาวนาน (ตั้งแต่ปี 2518) จนมาถึงกรณี บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP ผ่านกระบวนการใช้เวลาไตร่ตรองและปรับตัว เป็นความท้าทายที่เป็นไปด้วยดีพอสมควร ในช่วงเวลา Great Lockdown ท่ามกลางวิกฤตการณ์ COVID-19 จากการตัดสินใจปลายปี 2562 จนบรรลุเป้าหมายในอีกราวหนึ่งปีเต็ม

ในปีที่วิกฤตการณ์ COVID-19 หนักหนาที่สุด มี “ขาใหญ่” เพียงรายเดียว อาจหาญเข้าตลาดหุ้น นั่นคือ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR สะท้อนความมั่นใจอย่างเต็มเปี่ยมของเครือข่ายธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในสังคมไทย เป็นน้ำหนักให้มูลค่าหลักทรัพย์ IPO ในปีที่ค่อนข้างเงียบเหงามีตัวเลขที่ไม่เลว ด้วย OR ครองสัดส่วนราว 40%

เป็นความต่อเนื่องกระบวนการปรับโครงสร้าง ปตท. โดยการแยกกิจการสำคัญออกมา โดยนิยามเอาไว้ว่า “การจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในตลาดค้าปลีกและตลาดพาณิชย์ ธุรกิจกาแฟ ร้านอาหารและเครื่องดื่มอื่นๆ ร้านสะดวกซื้อ และการบริหารจัดการพื้นที่” ว่ากันว่าเป็นกระบวนการอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะที่เรียกว่า “โอนธุรกิจที่ไม่มีสาธารณสมบัติของรัฐ ด้วยการซื้อขายตามราคามูลค่าตลาด (Fair Market Value)” เป็นไปเสร็จสิ้นตั้งแต่กลางปี 2561

ขณะความสัมพันธ์กับ ปตท. คงอยู่อย่างเหนียวแน่น ฐานะ OR เป็นหนึ่งในบริษัทซึ่งบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ถือหุ้นใหญ่ข้างมาก (75%) ขณะ PTT ถือเป็นแม่แบบและบทเรียนการเข้าตลาดหุ้นซึ่งประสบความสำเร็จในช่วงสถานการณ์ท้าทายไม่แพ้กันเมื่อราว 2 ทศวรรษที่แล้ว

 

ปรากฏการณ์คลื่นลูกถัดมา เชื่อว่าเป็นไปตามบทวิเคราะห์สถานการณ์ว่าด้วยยุคหลัง COVID-19 และคาดว่าสถิติ IPO ทั้งปี 2565 จะสะท้อนความคึกคักกว่าที่ผ่านๆ มา เมื่อพิจารณาจากความเคลื่อนไหว “รายใหญ่”

กรณีแรกปีนี้ที่ควรสนใจ คือ บริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ TLI ได้เดินหน้าครบกระบวนการแล้ว โดยมีอีก 2 กรณีสำคัญ เข้าคิวไว้ ได้แก่ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) หรือ BTG และ บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC

จะขอว่าต่ออีกตอน •