วิกฤติศตวรรษที่21 : สังคมสอดส่องในตะวันตก

มองโลกปี 2017 และหลังจากนั้น (39)

สังคมสอดส่องในตะวันตก

สังคมสอดส่องหรือสังคมที่มีการสอดส่องผู้คนจำนวนมากในชีวิตประจำวัน ได้เป็นสิ่งปรกติไปในขณะนี้

ผู้คนทั่วโลกถูกสอดส่องในทางหนึ่งทางใด และแบบหนึ่งแบบใด โดยรัฐบาลและองค์กรธุรกิจ รวมทั้ง “เพื่อนบ้าน” ของเราเอง

สังคมสอดส่องสมัยใหม่เกิดขึ้นในสังคมข่าวสาร และมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ผ่านสงครามเย็น เข้าสู่สงครามต่อต้านการก่อการร้าย

ในขณะนี้เข้าสู่สงครามพันทางรบกันตะลุมบอน ไม่ชัดเจนว่าใครอยู่ฝ่ายไหน และมีสมรภูมิในทุกแห่งหน “ไม่มีที่ใดจะหลบซ่อนได้”

กล่าวสำหรับชาวรากหญ้า สังคมสอดส่องทำให้ชีวิตประจำวันกลายเป็นสมรภูมิไป

ในด้านหนึ่ง สังคมสอดส่องเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแบบเป็นธรรมชาติในระบบทุนนิยม ที่ทั้งรัฐบาล และองค์กรธุรกิจต้องการเข้าใจมวลชนในรายละเอียดลงถึงชีวิตประจำวัน เพื่อสร้างประชามติและความยินยอม หรือรู้จักคนงานและลูกค้าของตนดีขึ้น

เรื่องเริ่มปรากฏชัดตั้งแต่ทศวรรษ 1930 ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งสอง ในยุโรปตะวันตกมีอังกฤษเป็นต้น สร้างอุตสาหกรรมสมัยใหม่ มีโรงงานขนาดใหญ่ การผลิตปริมาณมาก เกิดสำนักงานและร้านค้าเรียงราย เมืองเติบโตอย่างรวดเร็ว

ผู้คนที่อยู่อย่างกระจัดกระจายแบบชนบท ได้มาดำเนินชีวิตรวมกันในพื้นที่แคบๆ เช่น โรงงาน บ้านเรือน แออัด ที่ทำการไปรษณีย์ ร้านเหล้าหรือผับได้เป็นแหล่งพบปะสังสันทน์ของผู้คนในชุมชน แลกเปลี่ยนข่าวสารสารพัด เรื่องชีวิตประจำวันของผู้คนถูกตีกรอบอยู่ในสถานที่ไม่กี่แห่งในโลกที่ดูกว้างสะดวกแก่การสอดส่อง

ในช่วงเวลานี้ได้มีลัทธิสตาลินเกิดขึ้นในสหภาพโซเวียต ที่มีตำรวจลับคอยสอดส่องชีวิตประจำวันของผู้คน

An elderly Kashmiri read a newspaper near a cybercafe in Jammu, 20 January 2002. Most cybercafe and internet parlour owners have closed their shops after a government decision of barring long distance calls and internet access in the state begining this year due to security concerns. AFP PHOTO/Indranil MUKHERJEE / AFP PHOTO / INDRANIL MUKHERJEE

 

ในเยอรมนีลัทธินาซีขึ้นครองอำนาจ (1933) และสร้างระบบเผด็จการทุนนิยมขึ้นมา เหล่านี้เป็นบริบทที่ จอร์จ ออร์เวลล์ เขียนนวนิยาย “1984” อันโด่งดังขึ้นมา

ดังนั้น ในสังคมที่มีการผลิตปริมาณมากและอย่างรวมศูนย์ผู้คนเข้ามาอยู่อาศัยดำเนินชีวิตในพื้นที่แคบๆ ไม่ว่าจะเป็นสังคมทุนเสรี ทุนเผด็จการฟาสซิสต์ หรือสังคมนิยม ก็มีแนวโน้มที่จะเกิดสังคมสอดส่องขึ้นเมื่อมีเหตุปัจจัยอื่นสนับสนุน ได้แก่

(ก) ความก้าวหน้าทางวิชาการด้านมานุษยวิทยา (สอนเรื่องวิวัฒนาการของปทัสถาน ค่านิยม และชีววิทยามนุษย์) สังคมวิทยา (สอนเรื่องแบบรูปและการเปลี่ยนแปลงปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรมของมนุษย์) จิตวิทยาสังคม (ศึกษาเรื่องอิทธิพลของสังคมที่มีต่อพฤติกรรมผู้คน สอนวิชาการจูงใจและโฆษณาชวนเชื่อ เป็นต้น)

(ข) มีเทคโนโลยีข่าวสารและการสื่อสารที่พัฒนาไปมาก พร้อมกับเศรษฐกิจแบบโลกาภิวัตน์

(ค) ความขัดแย้งและการแข่งขันที่เข้มข้นระหว่างชนชั้นผู้ปกครองด้วยกัน และระหว่างผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครอง

การต่อสู้ระหว่างผู้ปกครองและสาธารณชน

ในสังคมสอดส่องของตะวันตก

สังคมสอดส่องสมัยใหม่เกิดขึ้นในประเทศพัฒนาแล้วก่อน

จากนั้นจึงได้แพร่ไปสู่ประเทศกำลังพัฒนา ประเทศที่ถือว่ามีการสอดส่องมากในปัจจุบันได้แก่ สหรัฐและอังกฤษ เป็นต้น

การต่อสู้ระหว่างผู้ปกครองและสาธารณชนเป็นไปอย่างดุเดือด และมีการศึกษาอย่างกว้างขวาง จนถึงมีการเคลื่อนไหวเพื่อสร้างวิชาสอดส่องศึกษาขึ้นในสถาบันการศึกษา

ในการต่อสู้นี้ฝ่ายผู้ปกครองอ้างเรื่องความปลอดภัยและความมั่นคงในการขยายการสอดส่อง

ส่วนฝ่ายสาธารณชน ใช้การเปิดโปงความลับของรัฐบาล และการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิความเป็นส่วนบุคคล และการตรวจสอบได้ของงานสอดส่อง เป็นต้น

โดยทั่วไปฝ่ายผู้ปกครองดำเนินการรุก ขยายการสอดส่องจนคลุมทุกพื้นที่สาธารณะไปจนถึงในบ้านเรือน

Peruvian newspapers depict on their frontpages the country´s mood after the national football team defeated Ecuador by 2-1 in their 2018 World Cup Russia 2018 football qualifier played in Quito, on September 5, bringing renewed hopes to be eligible for the tournament, on September 6, 2017 in Lima. / AFP PHOTO / CRIS BOURONCLE

 

ส่วนฝ่ายสาธารณชนอยู่ในกระบวนรับแต่ก็ยังมีนักเปิดโปงเกิดใหม่เป็นระยะและสร้างเครือข่ายข่าวสารของตนเอง ในที่นี้จะกล่าวถึงบางด้านของการต่อสู้ดังกล่าวในสหรัฐดังนี้

ผู้ปกครองสหรัฐที่มุ่งมั่นจะก้าวมาเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก ได้สร้างสังคมสอดส่องในสองด้าน ที่ควรกล่าวถึงได้แก่

1) การตั้งหน่วยงานความมั่นคง ที่สำคัญคือ

ก) เอฟบีไอ (โดยเฉพาะภายใต้การนำของ เจ. เอ็ดการ์ ฮูเวอร์ ตั้งแต่ปี 1935) เป็นหน่วยงานข่าวกรองและความมั่นคงภายใน อื้อฉาวในการสอดส่องผู้คนรวมทั้งคนมีชื่อเสียงจำนวนมากในช่วงสงครามเย็นและมีปฏิบัติการในต่างประเทศด้วย สังกัดกระทรวงยุติธรรม

ข) สภาความมั่นคงแห่งชาติ (ตั้ง 1947) สังกัดทำเนียบขาว

ค) ซีไอเอ (ตั้ง 1947) เน้นปฏิบัติการนอกประเทศ ได้รับงบประมาณสูง มีพละกำลังมาก

ง) สำนักงานความมั่นคงกองทัพบก (ตั้ง 1949)

จ) สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ (NSA, ตั้ง 1952) สังกัดกระทรวงกลาโหม

ฉ) กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (DHS ตั้งปี 2002) เป็นการแปรประเทศให้เป็นแบบการทหาร ในปัจจุบันสหรัฐมีหน่วยงานข่าวกรอง-ความมั่นคงรวมกันถึง 17 แห่ง มีงบประมาณในปี 2015 สูงถึง 66.8 พันล้านดอลลาร์ มีกำลังพลกระจายอยู่ทั่วโลก ติดตั้งอุปกรณ์การสอดส่องครอบคลุมทุกย่าน บางคนวิจารณ์ว่าเป็นเหมือนอำนาจปกครองที่สี่ของประเทศ

2) การสร้างโปรแกรมลับในการปฏิบัติการจำนวนมาก เช่น

ก) โปรแกรมมินาเรต (1967-1973) สอดส่องผู้ต่อต้านสงครามเวียดนาม

ข) โครงการเอเชอลอน (ECHELON) เริ่มตั้งปฏิบัติการตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1960 เป็นการร่วมมือกันสอดส่องโลกในห้าชาติ คือสหรัฐ อังกฤษ ออสเตรเลีย แคนาดาและนิวซีแลนด์ เรียกกันว่า “กลุ่มห้าตา” เริ่มแรกเพื่อสอดส่องการเคลื่อนไหวของสหภาพโซเวียตและพันธมิตร เมื่อถึงปลายศตวรรษที่ 20 ได้พัฒนาเป็น “ระบบดักฟังการสื่อสารและการค้าของเอกชนทั่วโลก”

ค) โปรแกรมปริซึม เป็นการสอดส่องทางอิเล็กทรอนิกส์ต่อประชาชนที่เป็นเป้าทั้งในสหรัฐและทั่วโลก ตั้งขึ้นหลังจากเกิดวินาศกรรม 9/11 ในปี 2007 เพื่อการสู้รบในสงครามต่อต้านการก่อการร้าย มีศาลการสอดส่องข่าวกรองต่างประเทศสหรัฐดูแล

เป็นที่สังเกตว่าผู้ปกครองทั่วโลกได้ร่วมมือกันในการสอดส่องประชาชนกว้างขวาง ลึกซึ้ง และหลายรูปแบบ มากขึ้นทุกที

จากกลุ่ม “ห้าตา” ดังกล่าวแล้ว ขยายเป็นกลุ่ม “สิบสี่ตา”

นอกจากห้าตาแล้วยังมีประเทศเดนมาร์ก ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ เยอรมนี เบลเยียม อิตาลี สเปน สวีเดน และเมื่อสหรัฐสร้างพันธมิตรในการต่อต้านกลุ่มก่อการร้าย ความร่วมมือได้ขยายไปรวม 41 ประเทศ

สำหรับฝ่ายสาธารณชนชาวรากหญ้า มีผู้นำต่อสู้ได้แก่ บางส่วนในนักหนังสือพิมพ์ ผู้ทำงานด้านสื่อและงานข่าวกรอง นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านอินเตอร์เน็ต นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนได้เปิดเผยเรื่องลับและเหตุการณ์ที่ผู้ปกครองสร้างขึ้นเองและเปิดโปงแผนปฏิบัติการและโครงการต่างๆ ของรัฐอย่างต่อเนื่อง

ตัวอย่างเช่น

ก) นอม ชอมสกี (เกิด 1928) นักวิชาการที่เคลื่อนไหวต่อต้านลัทธิทุนนิยมและจักรวรรดินิยม นำการต่อต้านสงครามเวียดนามจนเข้าไปอยู่ในรายชื่อศัตรูของประธานาธิบดีนิกสัน

ข) ซีมัวร์ เฮิร์ซ (เกิด 1937) นักหนังสือพิมพ์แบบเจาะลึก เผยกรณีสังหารหมู่ที่หมู่บ้านหมีลายในสงครามเวียดนาม เป็นต้น

ค) เพอร์รี เฟลล์วอก (เกิด 1947) เคยทำงานในสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ เปิดเผยโปรแกรม “เอเชอลอน” (ECHELON) ในปี 1971 จนสภาสูงสหรัฐต้องตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นไต่สวน ถือเป็นนักเปิดโปงคนแรก

ง) เกล็นน์ กรีนวอลด์ (เกิด 1967) นักหนังสือพิมพ์แบบเจาะลึก ร่วมกับ เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน เปิดเผยโปรแกรมปริซึม เป็นต้น สร้างเว็บไซต์ชื่อ เดอะ อินเตอร์เซ็ปต์

จ) เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน (เกิด 1983) ผู้เชี่ยวชาญระบบสอดส่อง ผู้เปิดโปงโปรแกรมลับจำนวนมากของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ รวมทั้งโปรแกรมปริซึม ทำให้เป็นที่ประจักษ์ว่ารัฐบาลสหรัฐก้าวล้ำเส้นไปในการสอดส่องประชาชน

นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งกลุ่มของสาธารณชนเพื่อรักษาสิทธิมนุษยชน

ที่สำคัญได้แก่ กลุ่มความเป็นส่วนบุคคลระหว่างประเทศ (ก่อตั้งปี 1990) และการตั้งเครือข่ายนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์ “ความจำเป็นและความพอเหมาะ” ตีกรอบงานสอดส่องของรัฐบาลตามความจำเป็นและพอเหมาะ (ปี 2014)

ในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศตลาดเกิดใหม่ก็มีการต่อสู้อย่างดุเดือดเช่นกัน

AFP PHOTO / Virginie Montet

 

บางการศึกษาว่าด้วยสังคมสอดส่อง 

การเติบโตของสังคมสอดส่องในตะวันตกเป็นไปอย่างรวดเร็วจนตามไม่ทัน และเป็นที่สนใจของนักวิชาการจำนวนไม่น้อยต่อปรากฏการณ์ใหม่ทางสังคมนี้

นักวิชาการบางคนชี้ว่า การให้ความสำคัญแก่ความปลอดภัยของรัฐ ทำให้มีความต้องการสอดส่องประชาชนมากขึ้นทุกที จนกระทั่งลามไปถึงในชีวิตประจำวัน เพื่อจุดมุ่งหมายในการจัดการความเสี่ยง ให้รัฐเกิดความปลอดภัยมั่นคง

ขณะที่องค์กรธุรกิจก็ต้องการสอดส่องลูกค้า สร้างความภักดี ไม่ให้วอกแวกหาแบรนด์อื่น ช่วยให้ตนเองสร้างกำไรอยู่รอดได้ในท่ามกลางการแข่งขันและความเสี่ยงสูง

ข้อมูลส่วนบุคคลที่สามารถประมวลได้มากขึ้นทุกทีอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง เจาะจง เป็นระบบและเป็นอัตโนมัติ ก่อให้เกิด “การเมืองของข้อมูลส่วนบุคคล” ขึ้น เพราะว่ามันมีความสัมพันธ์ทางอำนาจอย่างแยกกันไม่ออก

จากการสอดส่อง สังคมไม่เพียงแบ่งระหว่างผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครองเท่านั้น ยังแบ่งเป็นผู้สอดส่องกับผู้ถูกสอดส่อง ทั้งเป็นการสอดส่องระยะไกล ข้อมูลส่วนบุคคลจำนวนมากที่เก็บรวบรวมสามารถสร้างภาพพฤติกรรมที่ชัดเจนของสาธารณชน จนกลายเป็นเครื่องมือในการควบคุมความคิดและการกระทำได้

ประเด็นปัญหาซึ่งเป็นที่กังวลมากของนักวิชาการ ได้แก่ ความเป็นส่วนบุคคล

แต่บางคนเห็นว่าการจัดกลุ่มทางสังคมและการประมวลผลของผู้มีอำนาจสอดส่อง ว่าบุคคลใดจะจัดอยู่กลุ่มเสี่ยงต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของรัฐหรือไม่เพียงใด หรือต่อการดำเนินงานและกำไรขององค์กรธุรกิจเพียงใด มีความสำคัญกว่า เพราะว่ามันก่อให้เกิดการแบ่งแยกกีดกันทางสังคม และมันยังทำไปแบบอัตโนมัติได้อีก ในศตวรรษที่ 21 ประเด็นการเมืองที่สำคัญคือ เรื่องการตรวจสอบได้ของผู้ที่รับผิดชอบการประมวลข้อมูลส่วนบุคคล

(ดูบทความของ David Lyon : Surveillance, Power and Everyday Life ใน panoptykon.org, 2006) อย่างไรก็ตาม ประเด็นการเป็นส่วนบุคคลก็ยังคงเป็นประเด็นที่มีการต่อสู้อย่างเหนียวแน่นจนถึงปัจจุบัน

นักสังคมวิทยาชาวสหรัฐที่มีชื่อเสียงอีกผู้หนึ่ง ได้แก่ แกร์รี ที. มาร์กซ์ แห่งเอ็มไอที (เกิด 1938) เป็นผู้บุกเบิก “วิชาสอดส่องศึกษา” เขาเขียนเตือนถึงสังคมสอดส่องที่จะควบคุมชีวิตของคนอเมริกันตั้งแต่ปี 1985 ในบทความชื่อว่า “สังคมสอดส่อง : การคุกคามของเทคนิคแบบ 1984”

หลังจากนั้นได้เขียนบทความและหนังสือเกี่ยวกับสังคมสอดส่องจำนวนมาก ได้แก่ “ตำรวจลับ” (Undercover : Police Surveillance in American, 1988) และเล่มล่าสุดชื่อ “หน้าต่างแห่งจิตวิญญาณ” (2016) ในหนังสือ “หน้าต่างแห่งจิตวิญญาณ” เป็นการมองสังคมสอดส่องในมุมกว้างเป็นวิชาการ เพื่อการศึกษาทำความเข้าใจ ไม่ใช่การเคลื่อนไหว และเพื่อให้เกิดการยอมรับวิชาสอดส่องวิทยาให้มีการเรียนการสอนจริงจัง ซึ่งเขาเชื่อว่าน่าจะเป็นคำตอบที่ดีสำหรับเรื่องที่ซับซ้อนมากๆ เช่นนี้

เขาชี้ว่า “การสอดส่องในตัวมันเองไม่ได้ดีหรือเลว แต่บริบทและการปฏิบัติที่เป็นจริงทำให้มันเป็นเช่นนั้น”

การสอดส่องสมัยใหม่เป็นกิจกรรมที่หลากหลายและซับซ้อนยิ่ง

“ความต้องการผลได้ทางการเงินเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของการสอดส่อง… จุดมุ่งหมายของการสืบสวนภาคเอกชนและอุตสาหกรรมข่าวสารขนาดใหญ่หรือคลังข้อมูล และการวิเคราะห์ก็เพื่อกำไรเท่านั้น …ปริมาณข่าวสารเพื่อขายมีมากอย่างเหลือเชื่อ จุดมุ่งหมายข้อที่สองก็เพื่อความบันเทิง การเป็นเชิงสัญลักษณ์และความอยากรู้อยากเห็น” (ดู Book Reviews for Windows into the Soul : Surveillance and Society in an Age of High Technology ใน web.mit.edu)

กล่าวสำหรับนักเคลื่อนไหว ย่อมเห็นว่าการสอดส่องที่มีแนวโน้มเข้มข้นหลากหลายขึ้น ทำให้สาธารณชนเหมือนตกอยู่ในสนามรบตลอดเวลา

 

กรณีป้ายราคาดิจิตอล

-สมรภูมิในเวลาที่แสนเพลิน

ป้ายราคานั้นเป็นที่รู้กันว่าตั้งสำหรับลูกค้าทุกคน แต่ป้ายราคาดิจิตอลไม่เป็นเช่นนั้น ในยุคอินเตอร์เน็ต และการช้อปปิ้งออนไลน์ ราคาสามารถเปลี่ยนได้บ่อยจากระยะไกล

ในยุค “ข้อมูลใหญ่” ทำให้บริษัทธุรกิจสามารถเข้าใจลูกค้าแต่ละคนอย่างละเอียดลึกซึ้ง รวมทั้งรสนิยมทางแฟชั่น จนสามารถโฆษณาอย่างมีเป้าเป็นรายบุคคลได้

เช่น เว็บไซต์ทางท่องเที่ยวแห่งหนึ่งคำนวณว่า ลูกค้าที่ใช้คอมพิวเตอร์แอปเปิ้ลแมค พร้อมจะจ่ายค่าเช่าห้องพักสูงขึ้นร้อยละ 20-30 เมื่อเทียบกับลูกค้าที่ใช้คอมพิวเตอร์ยี่ห้ออื่น และปรับราคาค่าห้องตามความเหมาะสม

ในไม่ช้าการตั้งราคาดิจิตอลนี้จะแพร่ไปในร้านค้าปลีกทั่วไป ซึ่งในปัจจุบันได้เริ่มใช้แล้วในฝรั่งเศสและเยอรมนี มีข่าวว่าบริษัทค้าปลีกใหญ่ด้านบ้านและสวน ได้ทดลองติดป้ายดิจิตอล ซึ่งราคาจะเปลี่ยนไปตามการจับจ้องของลูกค้าต่อสินค้าชิ้นนั้นๆ (ดูบทความของ David Morris ชื่อ Will Retailers Switch to Price Tag System the Screws Customers at Every Opportunity? ใน alternet.org 03.10.2017)

 

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงการสร้างรากหญ้าเทียม