สงครามในเดือนที่ 7! รบหนัก แต่ชัยชนะยังอีกไกล | ยุทธบทความ

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ | สุรชาติ บำรุงสุข

 

สงครามในเดือนที่ 7!
รบหนัก แต่ชัยชนะยังอีกไกล

 

“ความขัดแย้งในยูเครนแสดงให้เห็นว่า สงคราม [ในปัจจุบัน] ได้เปลี่ยนไปอย่างไร”

Sean McFate

The New Rules of War (2019)

 

แล้วสงครามยูเครนก็เดินหน้าเข้าสู่เดือนที่ 7 ความหวังที่จะเห็นสันติภาพในระยะเวลาสั้นๆ นั้น ยังอยู่ห่างไกลอย่างมาก และฤดูหนาวกำลังมาเยือน

ความเปลี่ยนแปลงในเดือนที่ 7 ได้เริ่มเห็นชัดถึงสถานการณ์ใหม่ และมีนัยสำคัญหลายประการ แม้สถานการณ์เหล่านี้จะยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงทิศทางการสงครามได้อย่างมาก แต่ก็เป็นการตอกย้ำว่า สงครามในยูเครนจะยังคงดำเนินต่อไปในรูปแบบของสงครามที่มีลักษณะการรบต่อเนื่อง ติดพัน และยังไม่มีการรบที่จะเป็นจุดชี้ขาดของสงครามได้ทันที (decisive battle) ซึ่งผลที่ตามมาคือ ความรุนแรงและความสูญเสียจะเกิดอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น จึงน่าสนใจว่า คู่ความขัดแย้งจะดำเนินการสงครามต่อไปอย่างไร

การรุกกลับที่เคอร์ซอน
(Kherson Counteroffensive)

หลังจากรัสเซียประสบความล้มเหลวในการยึดเคียฟที่เป็นเมืองหลวงของยูเครนในช่วงแรกของสงครามแล้ว รัสเซียจึงเริ่มปรับแผนยุทธศาสตร์ในการรุกเข้ายึดพื้นที่ของยูเครน ด้วยการยึดดินแดนทีละส่วน มากกว่าจะเป็นการรุกเพื่อยึดพื้นที่ทั้งหมดอย่างรวดเร็ว

ความคิดในแผนการยุทธ์ที่จะยึดครองยูเครนได้ในระยะเวลาสั้นๆ กลายเป็นความผิดพลาดทางยุทธศาสตร์อย่างชัดเจนของกองทัพรัสเซีย

เราอาจกล่าวเปรียบเทียบในวิชาประวัติศาสตร์ทหารได้ว่า “สงครามสายฟ้าแลบ” ของประธานาธิบดีปูตินในยูเครนล้มเหลวตั้งแต่ช่วงต้นของการยุทธ์ (ต่างกับเมื่อครั้งที่กองทัพนาซีเปิดการรุกใหญ่ต่อโปแลนด์ในปี 1939 ที่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว)

ความล้มเหลวที่เกิดขึ้นของรัสเซียทำให้วัตถุประสงค์ทางการเมืองต้องปรับเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง

เพราะในอีกด้านหนึ่งสงครามยูเครนสำหรับรัสเซียก็ยาวกว่าที่คาดไว้เช่นกัน อันมีนัยว่ารัสเซียเองก็เป็นฝ่ายบอบช้ำจากการรบที่เกิดขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียกำลังพล ยุทโธปกรณ์จำนวนมาก ตลอดรวมถึงการสูญเสียนายทหารระดับผู้บังคับบัญชาอีกด้วย

แม้สงครามจะยังไม่ยุติลงจริง แต่ก็เห็นถึงความเพลี่ยงพล้ำทางทหารของรัสเซียอย่างมาก

ฉะนั้น แม้รัสเซียจะสามารถยึดพื้นที่หลายส่วนของยูเครนได้ด้วยอำนาจกำลังรบที่เหนือกว่า แต่ความยาวของแนวรบที่มากขึ้นก็เป็นจุดอ่อนในตัวเองเสมอ

นักการทหารทุกคนรู้ดีว่ายิ่งแนวรบมีความยาวมากเท่าใด แนวรบก็มีจุดเปราะบางมากเท่านั้น เพราะเป็นไปได้ยากที่จะสามารถนำกำลังเข้าทุกพื้นที่เพื่อสร้างความเข้มแข็งของแนวรบดังกล่าว

ซึ่งในมุมมองของฝ่ายยูเครนแล้ว แนวรบทางภาคใต้มีความเปราะบางมากกว่าทางภาคตะวันออก เพราะพื้นที่ทางตะวันออกของแคว้นดอนบาสนั้น เป็นพื้นที่ของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่นิยมรัสเซียเข้าควบคุมไว้ตั้งแต่วิกฤตในปี 2014 ประกอบกับคนในพื้นที่ดังกล่าวเองเป็นเชื้อสายรัสเซีย และนิยมรัสเซียอยู่เป็นทุนเดิม อีกทั้งพื้นที่ดังกล่าวยังมีแนวหลังที่เป็นดินแดนของรัสเซียเองด้วย

ทางภาคใต้แตกต่างออกไป แม้กองทัพรัสเซียจะสามารถเข้าควบคุมดินแดนส่วนนี้ตั้งแต่ช่วงต้น แต่ประชาชนในพื้นที่ส่วนหนึ่งพร้อมที่ให้ความสนับสนุนต่อกองทัพยูเครน

ดังนั้น การตัดสินใจเปิด “การรุกกลับ” ทางทหาร (counteroffensive) ทางภาคใต้ จึงเป็นทางเลือกสำคัญในยุทธศาสตร์ทหารของยูเครนในครั้งนี้

หากยูเครนประสบความสำเร็จในการผลักดันกองทัพรัสเซียให้ถอยจากแนวเดิมอย่างมากแล้ว จะเป็นเสมือนการจุดไฟ “สงครามต่อต้านรัสเซีย” ของชาวยูเครนให้ลุกโชติช่วงขึ้น และอาจจะยังมิใช่การรุกเพื่อยึดไครเมียคืนจากรัสเซียก็ตาม แต่อย่างน้อยก็แสดงให้โลกเห็นว่า ยูเครนไม่เพียงแต่ยันการรุกของรัสเซียได้เท่านั้น หากยังสามารถเปิดการรุกกลับ จนอาจยึดพื้นที่บางส่วนคืนได้ด้วย

ฉะนั้น หากกองทัพยูเครนสามารถผลักดันให้กองทัพรัสเซียต้องเป็นฝ่ายถอยแล้ว ผลของความสำเร็จที่จะตามมาอย่างมีนัยสำคัญคือ การสร้าง “กระแสชาตินิยมยูเครน” ที่จะดึงให้คนในชาติมีจิตใจสู้รบ และมีขวัญกำลังใจในการทำสงครามต่อต้านรัสเซีย

และทั้งยังทำให้โลกตะวันตกมีความมั่นใจในการสนับสนุนทางทหารแก่ยูเครนในการต่อสู้ครั้งนี้

อีกทั้งความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นอาจมีนัยถึงการสร้าง “นักรบกองโจร” ที่เป็นชาวบ้านทั้งที่ติดอาวุธและไม่ติดอาวุธปฏิบัติการในพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การยึดครองของรัสเซีย ซึ่งก็อาจจะไม่แตกต่างจากประวัติศาสตร์ของ “หน่วยใต้ดิน” ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ปฏิบัติการอยู่ในแนวหลังในพื้นที่ยึดครองของนาซี

การรุกกลับทางภาคใต้ที่มีเป้าหมายของการยึดเมืองเคอร์ซอนคืน จึงมีนัยสำคัญทั้งทางการเมืองและการทหารสำหรับยูเครนอย่างมาก

การรุกกลับครั้งนี้ยังจะเป็นการรุกใหญ่ก่อนที่ฤดูหนาวจะมา ซึ่งเป็นที่รับรู้กันอย่างดีจากวิชาประวัติศาสตร์ทหารว่า “สงครามฤดูหนาว” ในพื้นที่แถบนี้ เป็นความยากลำบากสำหรับปฏิบัติการทางทหารเป็นอย่างยิ่ง

อย่างน้อยบทเรียนของสงครามฤดูหนาวในยุคนโปเลียน และยุคฮิตเลอร์ ยังเป็นข้อเตือนใจที่ดีเสมอ

อย่างไรก็ตาม คำถามสำคัญสำหรับยูเครนก็คือ การรุกกลับทางภาคใต้ครั้งนี้จะเป็นการรุกใหญ่ได้จริงหรือไม่

และในทางกลับกัน รัสเซียจะสามารถรับมือกับการรุกกลับเช่นนี้ได้เพียงใด และกองทัพยูเครนจะสามารถเปลี่ยนเส้นแนวรบบนแผนที่ได้จริงเพียงใดด้วย

มหันตภัยนิวเคลียร์
(Nuclear Disaster)

ในอีกด้านหนึ่งของปัญหาสงครามยูเครนคือ ความกังวลต่อการโจมตีที่เกิดกับโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่เมืองซาปอริซห์เซีย (Zaporizhzhia) ซึ่งมีข่าวออกมาโดยตลอดว่า โรงไฟฟ้านี้ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดของยุโรป ตกอยู่ในอันตราย เพราะตัวโรงไฟฟ้าดังกล่าวตกอยู่ในพื้นที่สงครามโดยตรง

แม้จะมีความตกลงที่เป็นที่รับรู้ร่วมกันว่า คู่สงครามจะไม่ใช้อาวุธโจมตีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และพื้นที่นี้จะได้รับความคุ้มครองจากคู่สงคราม เพราะเป็นพื้นที่ทีมีความอันตรายในตัวเอง

เนื่องจากหากโรงไฟฟ้าดังกล่าวถูกโจมตี ก็จะเป็นเงื่อนไขให้เกิดการระเบิดของนิวเคลียร์ หรือหากถูกกระทบที่อาจจะไม่ใช่การโจมตีโดยตรง อาจทำให้เกิดการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีได้

มหันตภัยจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นสิ่งที่ชาวยูเครนรับรู้เป็นอย่างดีจากปัญหาโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล (Chernobyl) ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในเดือนเมษายน 1986

หรือในระยะเวลาที่ไม่นานนักคือ ปัญหาจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของญี่ปุ่นที่ฟูคุชิมา (Fukushima) ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในเดือนมีนาคม 2011 เป็นต้น

ตัวอย่างเช่นนี้ได้สร้างความกังวลอย่างมากว่า หากโรงไฟฟ้าถูกกระทบโดยตรงจากการโจมตีทางทหารแล้ว สงครามที่ซาปอริซห์เซียจะกลายเป็น “สงครามนิวเคลียร์” ไปโดยทันที ซึ่งประเด็นเช่นนี้ได้สร้างความกังวลอย่างมากให้กับหลายๆ ฝ่าย

ในอีกด้านหนึ่ง หากมีปัญหาจนกลายเป็น “อุบัติภัยนิวเคลียร์” ดังเช่นที่ญี่ปุ่นประสบมาแล้ว ก็จะต้องทำการอพยพประชาชนเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากลำบากในช่วงสงคราม

ฉะนั้น ทั้งในกรณีของเชอร์โนบิลและฟูคุชิมาจึงเป็นข้อเตือนใจอย่างดีกับ “มหันตภัยนิวเคลียร์”

ในสงครามยูเครน ทางออกที่ดีที่สุดจึงน่าจะได้แก่ การประกาศให้พื้นที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็น “เขตปลอดทหาร” ดังเช่นที่หลายฝ่ายพยายามเรียกร้อง

และอาจมีนัยต่อด้วยว่ากองทัพรัสเซียควรส่งคืนโรงไฟฟ้านี้ให้กับทางยูเครน เพราะโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่ควรจะอยู่ในบัญชีเป้าหมายทางทหารของกองทัพรัสเซียแต่อย่างใด อีกทั้งเหตุที่เกิดกับโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลยังเป็นสิ่งที่อยู่ในความรับรู้ของชาวยุโรปในปัจจุบัน

ความพยายามที่ป้องกันมหันตภัยจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของยูเครนทำให้องค์กรพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ต้องเข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบ ซึ่งต่างฝ่ายต่างกล่าวหาอีกฝ่ายโจมตีโรงไฟฟ้านี้ การตรวจสอบครั้งนี้ถือเป็น “ภารกิจทางเทคนิค” (technical mission) พร้อมกับคงเจ้าหน้าที่ทางเทคนิคไว้ที่โรงไฟฟ้าจำนวนหนึ่งเพื่อทำหน้าที่ประเมินสถานการณ์ (คำสัมภาษณ์ของ Rafael Grossi ผู้อำนวยการ IAEA) เพราะโรงไฟฟ้าได้ถูกละเมิดหลายครั้ง และยังรวมถึงพื้นที่ใกล้เคียงที่มีความเสี่ยงที่จะกระทบกับตัวโรงไฟฟ้า

ดังนั้น ทุกฝ่ายที่กังวลจึงหวังเป็นอย่างมากว่า โรงไฟฟ้าที่ซาปอริซห์เซียจะไม่กลายเป็น “เชอร์โนบิลสอง” ในท่ามกลางสถานการณ์สงครามที่เกิดขึ้น แต่ก็ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่า กองทัพรัสเซียจะยอมถอนตัวออกจากการยึดครองโรงไฟฟ้านี้

จนอาจกล่าวได้ว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซห์เซียได้ตกเป็น “ตัวประกัน” ของกองทัพรัสเซียเรียบร้อยแล้ว

ดังที่มีข่าวปรากฏก่อนหน้านี้ว่า กองทัพรัสเซียได้นำกำลังและยุทโธปกรณ์จำนวนหนึ่งเข้าไปหลบซ่อนในพื้นที่นี้

เพราะกองทัพยูเครนจะไม่สามารถโจมตีโรงไฟฟ้านี้ได้โดยตรง ปัญหา “มหันตภัยนิวเคลียร์” ที่ซาปอริซห์เซียจะยังคงเป็นโจทย์ที่ค้างคาต่อไป

Photo by Sergei SAVOSTYANOV / POOL / AFP

สงครามของปูตินยังเดินหน้าไม่หยุด!

ดังได้กล่าวแล้วว่าสงครามที่ผู้นำรัสเซียตัดสินใจเริ่มขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานั้น จนถึงวันนี้ “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” ยังไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ทางการเมืองที่รัสเซียต้องการ แม้จะสามารถยึดพื้นที่บางส่วนได้ แต่การรุกใหญ่เพื่อที่จะทำให้รัสเซียเป็นฝ่ายชัยชนะยังไม่เกิดขึ้นจริง สงครามกลับมีลักษณะที่ “ยันกัน” (stalemate) และยาวกว่าที่ผู้นำรัสเซียคาดไว้ โดยเฉพาะการรบในหลายพื้นที่ได้สร้างความเสียหายให้กับกองทัพรัสเซียอย่างมาก

สถานการณ์สงครามยังสร้างผลกระทบอย่างมากกับระบบเศรษฐกิจของประเทศ เศรษฐกิจรัสเซียไม่เพียงถูกปิดล้อมด้วยการแซงก์ชั่นจากฝ่ายตะวันตก แต่ยังต้องรองรับต่อภาวะสงครามที่เกิดขึ้นด้วย ดังนั้น สภาวะ “เศรษฐกิจสงคราม” ของรัสเซียทำให้มีผลกระทบโดยตรงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งสงครามยูเครนจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจรัสเซียอ่อนแอลง

นอกจากนี้ คงต้องยอมรับความจริงในทางยุทธศาสตร์ว่า สงครามยิ่งทอดยาวออกไปนานเท่าใด เศรษฐกิจของประเทศก็ยิ่งทรุดลงเท่านั้น แม้รัสเซียมีความเหนือกว่าทางด้านพลังงาน จนสามารถเปิด “สงครามพลังงาน” (Energy War) กับรัฐยุโรปตะวันตกได้ แต่สงครามยูเครนก็ทำให้ตลาดพลังงาน และตลาดสำหรับสินค้าอื่นๆ ของรัสเซีย เช่น ธัญพืช ปุ๋ย ก็ได้รับผลกระทบจากสงครามไปด้วย รวมถึงการปิดตัวของบริษัทต่างชาติ ทำให้เศรษฐกิจรัสเซียอ่อนแอลงอย่างมาก เงื่อนไขเหล่านี้จะทำให้รัสเซียเป็น “รัฐผู้พึ่งพา” ต่อจีนในอนาคต

ดังนั้น แม้รัฐบาลจะสามารถควบคุมความเห็นต่างในสังคมได้ แต่ก็มิได้หมายความว่า “กระแสต่อต้านสงคราม” จะควบคุมได้ทั้งหมด

การก้าวสู่เดือนที่ 7 จึงเป็นยังคงท้าทายต่อมอสโกไม่ต่างจากเดิม

แต่ก็มิได้หมายความว่าประธานาธิบดีปูตินหมดศักยภาพในการทำสงคราม… รัสเซียยังมีอาวุธเก่ามากพอที่ลากสงครามไปจนถึงปีหน้า!