ทำไมนาซีเยอรมัน จึงใช้เครื่องหมาย ‘สวัสดิกะ’ เป็นตราสัญลักษณ์? : ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

On History

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

 

ทำไมนาซีเยอรมัน

จึงใช้เครื่องหมาย ‘สวัสดิกะ’

เป็นตราสัญลักษณ์?

ลวดลายที่ประดับอยู่บนตราสัญลักษณ์ของพวก “นาซี” (Nazi) อันมีหนึ่งในบุคคลอันตรายที่สุดในประวัติศาสตร์โลกอย่าง “อดอล์ฟ ฮิตเลอร์” (Adolf Hitler) ดำรงตำแหน่งเป็น “ท่านผู้นำ” (Führer) ซึ่งเรียกว่า “ฮาเก้นเคราซ์” (Hakenkreuz, แปลตรงตัวว่า กากบาทที่มีปลายหัก) นั้น มีชื่อเรียกในโลกภาษาไทยว่า “สวัสดิกะ” โดยนับเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์เก่าแก่ของโลก ที่มีมาอย่างโบราณนานนม ไม่ใช่เป็นสัญลักษณ์ใหม่ที่เพิ่งสร้างขึ้นโดยท่านผู้นำ หรือชาวคณะคนไหนของพลพรรคนาซีเลยสักนิด

โดยปกติแล้ว เจ้าสัญลักษณ์รูปสวัสดิกะนี้ ก็มักจะมีความหมายสื่อถึงความเป็นสิริมงคล และความอุดมสมบูรณ์

ในโลกตะวันออก โดยเฉพาะอนุทวีปอินเดียนั้น หลายครั้งสวัสดิกะที่มีปลายกากบาทหมุนวนตามเข็มนาฬิกา เป็นสัญลักษณ์ของพระอาทิตย์

แต่ถ้าปลายกากบาทหมุนทวนเข็มนาฬิกา (มีศัพท์เรียกเฉพาะว่า เสาวัสติกะ) จะหมายถึงช่วงเวลากลางคืน หรือพระแม่กาลี (ในกรณีความเชื่อแบบฮินดูตันตระ)

ส่วนในศาสนาเชน ลายสวัสดิกะเป็นสัญลักษณ์ของตีรถังกร (ศาสดา) องค์ที่ 7 จาก 24 องค์ที่มีชื่อว่า สุปารศวนารถ

และอันที่จริงแล้วคำว่า “สวัสดิกะ” (หรือ “สวัสติกะ” ในภาษาสันสกฤต) นี้ ก็เรียกตามชื่อในภาษาสันสกฤตของเจ้าเครื่องหมายโบราณนี้ โดยมีความหมายตรงตัวแปลว่า “ความเป็นสวัสดิมงคล” นั่นแหละ

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ชวนให้สงสัยใจสำหรับใครหลายๆ คนเลยนะครับ ว่าทำไมฮิตเลอร์และบรรดาพลพรรคนาซีจึงได้นำเอาเจ้าลวดลายโบราณที่เรียกกันในโลกตะวันออกว่า “สวัสดิกะ” มาใช้เป็นสัญลักษณ์ประจำกลุ่มก้อนความคิดที่มีลักษณะเป็นเชื้อชาตินิยมสุดโต่ง (extreme racism/extreme racialism) ของตนเอง?

คำตอบง่ายๆ ก็คือ เจ้าลาย “สวัสดิกะ” ที่ว่านี่ไม่ได้มีอยู่เฉพาะในโลกตะวันออก เพราะเจอหลักฐานในโลกตะวันตกมาเนิ่นนานแล้วเช่นกัน ที่สำคัญก็คือ ฮิตเลอร์ยังใช้เจ้าสัญลักษณ์ที่ในภาษาเยอรมันเรียกว่า “ฮาเก้นเคราซ์” นี้ เป็นสัญลักษณ์ของความยิ่งใหญ่ของชนชาวเยอรมัน ในฐานะ “ชนชาติที่สูงส่ง” (master race) ที่สืบสายชนชาติอารยัน (Aryan) มาโดยตรงและบริสุทธิ์ที่สุด

 

ไฮน์ริช ชลีมันน์ (Heinrich Schliemann, มีชีวิตอยู่ระหว่าง พ.ศ.2365-2433) นักธุรกิจและนักโบราณคดีสมัครเล่น ชาวเยอรมัน ผู้หลงใหลในตำนานของมหากาพย์อีเลียด (Iliad) ซึ่งก็คือสงครามระหว่างพวกกรีก และชาวเมืองทรอย (Troy) ในระดับที่ตามหาว่า เมืองทรอยในตำนานนั้นอยู่ที่ไหนแน่?

แน่นอนว่า การขุดค้นในช่วงระหว่าง พ.ศ.2413-2416 ที่เมืองฮิซาร์ลิก (Hisarlik, ปัจจุบันอยู่ในเขตเมืองชานักคาเล่ [?anakkale] ประเทศตุรเคีย) ใกล้ชายฝั่งทะเลอีเจียนนั้น ทำให้ชลีมันน์ค้นพบเมืองทรอยที่เขาถวิลหา และกลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลก โดยเฉพาะในโลกตะวันตก

(ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจนัก เพราะเรื่องของสงครามเมืองทรอยนั้น ถูกยกย่องให้เป็นมหากาพย์ของโลกตะวันตก ที่ยิ่งใหญ่ไม่ต่างกับรามายณะ อันเป็นสงครามระหว่างพระราม และทศกัณฐ์ ของชมพูทวีป)

การขุดค้นในครั้งนั้น ชลีมันน์ได้ทรัพย์สินมีค่า ไม่ว่าจะเป็นเพชรนิลจินดา เครื่องทอง เครื่องเงิน และเครื่องสำริด เป็นจำนวนมากกว่าที่เขากล้าคิดฝันเอาไว้

ที่สำคัญก็คือในบรรดาข้าวของมีค่าทั้งหมดเหล่านี้ มีการประดับประดาด้วยรูปเครื่องหมาย “สวัสดิกะ” มากมายถึงราว 1,800 ชิ้นเลยทีเดียว

ดังนั้น เจ้าสัญลักษณ์โบราณชนิดนี้ จึงเป็นสิ่งที่ชลีมันน์ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษแน่

(ต่อมามีการค้นพบเครื่องหมายรูปสวัสดิกะในวัฒนธรรมต่างๆ มากมายทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นในยุโรป เอเชีย หรือแม้กระทั่งทวีปอเมริกา โดยชิ้นที่เก่าที่สุดนั้นถูกสลักอยู่บนงาช้างแมมมอธจากยูเครน ที่อ้างว่ามีความเก่าแก่ถึง 15,000 ปีเลยทีเดียว)

ชลีมันน์สรุปว่า เครื่องหมายสวัสดิกะนั้นเป็น “สัญลักษณ์สำคัญทางศาสนา ของบรรดาบรรพชนที่อยู่ห่างไกลจากเรา”

แต่ชาวฝรั่งเศส ที่เป็นเพื่อนร่วมการขุดค้นเมืองทรอยของเขาอย่างเอมีล-หลุยส์ บูร์นูฟ (Émile-Louis Burnouf, พ.ศ.2364-2450) กลับไม่ได้คิดอย่างนั้น

 

บูร์นูฟเป็นนักตะวันออกศึกษา (Orientalist) และนักเขียนเชิงเชื้อชาตินิยม (ซึ่งมาพร้อมกับการเหยียดเชื้อชาติอื่นๆ เสมอ) อย่างเต็มขั้น เขาพบว่าในอินเดียมีการใช้เครื่องหมายสวัสดิกะมาอย่างเนิ่นนาน โดยเขาได้สอบค้นข้อมูลเพิ่มเติมจากตำราภาษาสันสกฤตที่เก่าแก่ที่สุดอย่างฤคเวท

และนั่นก็ทำให้บูร์นูฟอ้างว่า เขาได้ค้นพบความเชื่อมโยงระหว่างเครื่องหมาย “สวัสดิกะ” กับชนชาว “อารยัน” ซึ่งในยุคโน้นถูกมองว่าเป็นเชื้อชาติโบราณอันลึกลับเสียเหลือเกิน

มีหลักฐานระบุชัดเจนว่า ชาวตะวันตกที่ได้มาเยือนอนุทวีปอินเดีย เริ่มสังเกตถึงความคล้ายคลึงกันระหว่างภาษาต่างๆ ในอินเดีย, เปอร์เซีย (คืออิหร่านในปัจจุบัน) และภาษาต่างๆ ในยุโรปมาตั้งแต่ พ.ศ.2126 เป็นอย่างน้อย

ความเคลือบแคลงสงสัยถึงความคล้ายคลึงกันของภาษาเหล่านี้ ค่อยๆ ถูกพัฒนาเรื่อยมา โดยเฉพาะเมื่อบริษัทอินเดียตะวันออก (East India Company) ของอังกฤษ เริ่มเข้าไปมีบทบาททางการเมืองในอินเดีย (ก่อนที่จะโอนถ่ายอำนาจการปกครองจากรูปบริษัท มาอยู่ในมือของราชอาณาจักรบริเตนในภายหลัง)

เซอร์ วิลเลียม โจนส์ (William Jones, พ.ศ.2289-2337) ผู้พิพากษาศาลฎีกาแห่งฟอร์ตวิลเลียม (Fort William) ในรัฐเบงกอล ประเทศอินเดีย ชาวอังกฤษผู้สนใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมอินเดียโบราณ ได้เสนอถึงความสัมพันธ์ระหว่างภาษาต่างๆ ของชนชาวยุโรป กับภาษาสันสกฤตในอินเดีย โดยยกย่องว่าภาษาสันสกฤตนั้น

“มีโครงสร้างภาษาที่สมบูรณ์แบบกว่าภาษากรีก มั่งคั่งยิ่งกว่าภาษาละติน และละเอียดประณีตมากกว่าทั้งสองภาษา แต่กลับแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับทั้งสองภาษายิ่งขึ้น”

 

แน่นอนว่า ความเห็นข้างต้นของโจนส์ได้เพิ่มมูลค่าให้ภาษาสันสกฤตเป็นอย่างมาก ต่อมาในเรือน พ.ศ.2356 คนที่โลกมักจะจดจำในฐานะของนักวิทยาศาสตร์มากกว่าอย่างโธมัส ยัง (Thomas Young, พ.ศ.2316-2372) ได้ประดิษฐ์คำว่า ภาษาตระกูล “อินโด-ยูโรเปียน” (Indo-European) ขึ้นเพื่อใช้เรียกกลุ่มภาษาที่มีความคล้ายคลึงกันเหล่านี้ในยุโรป และเอเชีย ก่อนที่จะทำให้เกิดข้อถกเถียงขึ้นว่า ใครเป็นชนชาติที่ทำให้ภาษาเหล่านี้แพร่กระจายไปทั่วยุโรป และเอเชีย?

ปราชญ์และผู้รู้ทั้งหลายในยุคนั้น ต่างก็เห็นตรงกันว่า การที่ภาษาเหล่านี้กระจายไปทั่วพื้นที่กว้างขวางขนาดนี้ได้ต้องเป็นชนชาติที่ยิ่งใหญ่ และพูดภาษาที่พวกเขาสมมติเรียกว่า “ก่อนอินโด-ยูโรเปียน” (Proto Indo-European) แน่นอนว่าพวกเขาเชื่อว่า ชนชาตินี้เรียกว่า “อารยัน” แต่ยังไม่มีใครระบุได้ชัดเจนว่า อารยันมีหลักแหล่งดั้งเดิมมาจากไหน? และลูกหลานที่เป็นเชื้อสายบริสุทธิ์ของพวกเขาคือใคร?

และก็ต้องอย่าลืมด้วยนะครับว่า โลกในยุคอาณานิคมนั้น คนขาวนั้นคิดว่าตนเองสูงส่งยิ่งกว่าคนผิวสีอื่นเสียจนมองว่า คนชนชาติอื่นๆ ที่ไม่ขาวนั้นยังมีความใกล้เคียงกับลิงอยู่มาก

ดังนั้น ชาวอารยันผู้สูงส่งและลึกลับนั้น จะเป็นคนผิวสีอื่นไปได้อย่างไรกัน?

 

ผู้เชี่ยวชาญภาษาสันสกฤต ระดับที่ใครหลายคนยกย่องว่าเป็น นักสันสกฤตศึกษาที่เก่งที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมาอย่างแมกซ์ มุลเลอร์ (Max Müller, พ.ศ.2366-2443) ปราชญ์ชาวเยอรมัน (แต่รับเงินสนับสนุนในการศึกษาภาษาสันสกฤตจากรัฐบาลอังกฤษ ที่ปกครองอินเดียอยู่ในขณะนั้น) เป็นหนึ่งในหัวหอกคนสำคัญในการเสนอข้อสันนิษฐานที่ว่า ภาษาสันสกฤตเพิ่งจะเข้าไปในอินเดียพร้อมกับชาวอารยันที่อยู่นอกอินเดีย แล้วขับไล่เอาคนพื้นเมืองเดิมคือชาวทมิฬ หรือดราวิเดียน (Dravidian) ลงไปอยู่ทางใต้ (ข้อมูลจากหลักฐานหลายประเภทในปัจจุบัน รวมถึงการศึกษาทาง DNA พิสูจน์แล้วว่าไม่จริง)

แน่นอนว่า มุลเลอร์คิดว่า อารยันเป็นคนผิวขาวที่มาจากที่อื่น

อะไรต่างๆ เหล่านี้ย่อมเป็นพื้นฐานความเข้าใจ ที่ทำให้บูร์นูฟเลือกที่จะเชื่อมโยงเครื่องหมาย “สวัสดิกะ” ที่พบที่เมืองทรอยเข้ากับ “ภาษาสันสกฤต” และ “อารยัน” ซึ่งก็เป็นที่ถูกอก ถูกใจนักชาตินิยม และเชื้อชาตินิยมทั้งในยุคนั้น ซึ่งเป็นช่วงยุคอาณานิคม

จนกระทั่งมีการนำเอาเครื่องหมายสวัสดิกะที่เมืองทรอย เชื่อมโยงเข้ากับลายสวัสดิกะบนหม้ออายุ 1,500 ปี ที่พบในเยอรมนี และข้อสังเกตในแวดวงผู้ศึกษาภาษาโบราณที่ว่า ภาษาสันสกฤตนั้นมีความใกล้เคียงกับภาษาเยอรมันเป็นอย่างมาก

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจอะไรหรอกนะครับว่า ทำไมพลพรรคนาซี ที่ประกาศตนว่า จะสร้างชาติของชนชาติสืบทอดสายเลือดบริสุทธิ์ มาจากชนเผ่าอารยันอันสูงส่ง จึงเลือกที่จะใช้ลวดลายสวัสดิกะเป็นตราสัญลักษณ์ โดยเฉพาะเมื่อในหนังสือ “Mein Kampf” (แปลว่า การต่อสู้ของข้าพเจ้า) ที่ฮิตเลอร์เขียนขึ้นนั้น ระบุถึงความหมายของรูปสวัสดิกะบนสัญลักษณ์ของนาซีว่า “สวัสดิกะหมายถึงภารกิจการต่อสู้เพื่อชัยชนะของชาวอารยัน” •