รัฐนา ‘วอร์’/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

รัฐนา ‘วอร์’

 

รัฐนาวาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตอนนี้ ต้องถือว่า โคลงเคลง อย่างยิ่ง

โดยเฉพาะหลังกัปตันเรือ พล.อ.ประยุทธ์ ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งพักการทำงาน ระหว่างรอการวินิจฉัยการดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปี หรือไม่

ทำให้ขาดคนคุมหางเสือ ที่จะนำพารัฐนาวาไปข้างหน้า

แม้จะมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ผู้รักษาการนายกฯ จะเป็นกัปตันเรือชั่วคราว

แต่กระนั้น ต้องไม่ลืมว่า หมวกอีกใบที่ พล.อ.ประวิตรสวมอยู่คือ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

มีภารกิจสำคัญจะต้องนำพาพรรคให้ได้ ส.ส.ในการเลือกตั้ง ที่จะมีขึ้นในอีกประมาณ 6 เดือนข้างหน้าอย่างน้อย 150 คน

เพื่อลุ้นจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้ง และที่สำคัญ คราวนี้มีเดิมพันกับการเลือกตั้งสูง

เพราะหากได้ ส.ส.ตามเป้าหมาย ว่ากันว่าโอกาสที่ พล.อ.ประวิตรจะได้ลุ้นนั่งนายกฯ เองมีสูง

ดังนั้น การทำงานจึงถูกมองว่ามุ่งเน้นไปที่ประโยชน์ของพรรคพลังประชารัฐเป็นหลัก

มิได้ทำในนามรัฐบาลผสม ที่เมื่อมีผลงานต่างๆ เกิดขึ้นต้องกระจายออกไปหลายพรรค คะแนนเสียงที่ได้จึงไม่เป็นกอบเป็นกำและไม่เป็นประโยชน์ต่อพรรคโดยตรง

กัปตันเรือชั่วคราวจึงมุ่งทำงานเพื่อพรรคมากกว่าทำเพื่อรัฐบาลโดยรวม

การลงพื้นที่ทุกวันจันทร์ และช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ ของ พล.อ.ประวิตร ถูกมองว่ามีเป้าหมายที่การเรียกคะแนนเสียงให้กับพรรคพลังประชารัฐมากกว่า

และสภาพเช่นนี้ มิได้เกิดเฉพาะกับแกนนำรัฐบาลเท่านั้น

พรรคร่วมรัฐบาลอื่นโดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ก็อยู่ในสภาวะไม่ต่างกัน

นั่นคือต่างใช้กระทรวงที่พรรคตนเองดูแลและบริหารอยู่ เป็นฐานในการหาคะแนนเสียง

จึงทำให้รัฐนาวา หรือรัฐบาลโดยรวม ขับเคลื่อนไปข้างหน้าลำบาก

ยิ่งขาดกัปตันตัวจริงอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยิ่งทำให้รัฐนาวา สะเปะสะปะ ไร้ทิศทาง

 

นอกจากจะไร้ทิศทางในการขับเคลื่อนในภาพรวมแล้ว

ในภาพย่อย แต่ละพรรคซึ่งมีนโยบายที่จะขับเคลื่อน หาคะแนนเสียงและเสียงสนับสนุนของตนเอง ก็ใช่จะราบรื่น

เพราะพรรคร่วมรัฐบาล แทนที่จะเดินหน้าไปตามงานที่ตนเองดูแลและรับผิดชอบ แบบทางใครทางมัน

แต่ก็ไม่เป็นเช่นนั้น ด้วยเกิดปรากฏการณ์ว่า พรรคใดสามารถยื่นขาไปขัดพรรคอื่นได้ก็พร้อมจะทำ

เราจึงเห็นความไม่ลงรอยในการผลักดันกฎหมายต่างๆ หลายฉบับ

ที่ชัดเจนที่สุด ก็เช่น พ.ร.บ.กัญชา ที่เสมือนเป็นผลงานโบแดงของพรรคภูมิใจไทย ที่หวังจะผลักดันออกมา

แต่ก็ถูกขัดขวางเมื่อเข้าสู่การพิจารณาของสภา ซึ่งชัดเจนว่า ไม่ใช่เพียงพรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทย ที่ต้องคัดค้านโดยธรรมชาติเท่านั้น

หากแต่พรรคร่วมรัฐบาลยังกระโดดเข้าไปขัดขวางด้วย โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคพลังประชารัฐ ที่เดินหน้าโหวตให้ถอนร่าง พ.ร.บ.กัญชาเสรี ออกไปจากสภา อ้างถึงความบกพร่อง ไม่รอบคอบของกฎหมายนี้

นอกจากนี้ พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่พรรคภูมิใจไทยหมายมั่นปั้นมือที่จะเป็นกฎหมายที่เรียกคะแนนนิยมจากคนรุ่นใหม่อีกเช่นกัน ด้วยการเสนอให้งดเก็บดอกเบี้ยและเงินค่าปรับในกรณีผิดชำระ

แต่พรรคประชาธิปัตย์ กลับมีท่าทีเห็นต่าง

โดยชี้ว่า เรื่อง กยศ.ที่พรรค ปชป.เป็นผู้จัดตั้งในยุคของนายชวน หลีกภัย นั้นควรจะมีดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ เพื่อรักษาวินัยของคนที่กู้ไป และให้ความเป็นธรรมกับผู้ใช้คืนมาก่อนหน้านี้ หากไม่มีวินัย กู้แล้วไม่คืนกองทุนก็จะหมดในเวลาไม่นาน คนต่อไปจะเอาเงินที่ไหนมากู้

การไม่ลงรอยและเห็นต่างดังกล่าว ทำให้พรรคฝ่ายค้านอย่างเพื่อไทย ช่วงชิงการกำหนดเกมในเรื่องนี้ไปในที่สุด

ทำให้พรรคภูมิใจไทยที่หมายมั่นปั้นมือจะเอาเรื่องนี้ไปหาเสียง ถูกเตะตัดขาจนหัวคะมำ

 

นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) จึงได้ออกมาตอบโต้ ส.ส. และพรรคการเมืองที่เตะตัดขา ว่า เป็นการเอาการเมืองนำประโยชน์ของประชาชน

แตกต่างจากพรรคภูมิใจไทยที่ทุกอย่างทำเพื่อประชาชน

เมื่อทุกอย่างทำเพื่อประชาชนจึงไม่มีอะไรที่ต้องกังวล เพราะถ้าใครมาขวาง คนคนนั้นก็ต้องไปตอบให้ประชาชนทราบ

“ดีเสียอีกที่เป็นแบบนี้ พรรคร่วมรัฐบาลไม่สนับสนุนกันเอง ใกล้เลือกตั้ง ไอ้ที่จะต้องเกรงใจอะไรกัน ก็ไม่ต้องเกรงใจ” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยบอกอย่างแข็งกร้าว

ขณะที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ก็ตอบโต้ว่าพรรคประชาธิปัตย์มีจุดยืนชัดเจน แม้บางพรรคไม่สนับสนุนและไม่ยกมือให้ พรรคประชาธิปัตย์ก็เคารพความเห็น ไม่มีปัญหาอะไร ไม่ต้องกังวล เรามีวุฒิภาวะทางการเมือง

 

ภาวะเดือดพล่านในรัฐนาวาไม่ได้ขัดแย้งกันทั้งในทิศทางใหญ่ และในส่วนนโยบายของพรรคที่ใช้ไปหาเสียงเท่านั้น

หากแต่สาเหตุสำคัญอีกสาเหตุหนึ่งที่ไม่อาจมองข้าม

นั่นคือการรุกเข้าไปแย่งชิงเก้าอี้ ส.ส.ของแต่ละพรรคการเมือง

ที่ร้อนแรงสุด คือพรรคภูมิใจไทย ที่ดูมีเป้าหมายจะก้าวข้ามการเป็นพรรคขนาดกลางไปเป็นพรรคขนาดใหญ่

การจะเป็นเช่นนั้นได้ก็คือการแย่งชิงนักการเมือง ทั้งจากพรรคฝ่ายตรงข้าม เช่น พรรคเพื่อไทยในภาคอีสาน ซึ่งแม้จะดุเดือด แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาอะไรมากนัก เพราะเป็นการตกปลาในบ่อของคู่แข่ง

แต่ที่เดือดพล่าน กลับเป็นปรากฏการณ์การตกปลาในบ่อเพื่อน–เพื่อนที่อยู่ในพรรคร่วมรัฐบาลเดียวกันมากกว่า

โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ในภาคใต้ ที่เคยถือเป็นฐานสำคัญของพรรค

อย่างไรก็ตาม วันนั้น กับวันนี้ แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้แข็งแกร่งเช่นเดิม อันสืบเนื่องจากปัญหาขัดแย้งภายในพรรค ทำให้มีภาวะเลือดไหลออกจากพรรคหลายระลอก

และกลายเป็นบ่อปลาที่หลายพรรคการเมืองจ้องจะเข้าไปตกปลาในบ่อเพื่อน หรือหากไม่มีปลาให้ตก ก็พร้อมจะส่งคู่แข่งเข้าไปบดขยี้

 

ที่ผ่านมา หลายพรรคจึงต่างเลือกจะลงพื้นที่ภาคใต้อย่างต่อเนื่อง

เช่น พล.อ.ประวิตร ล่าสุดลงพื้นที่ตรวจราชการที่ จ.นราธิวาส พร้อมประกาศจะกวาดชัยชนะทั้งจังหวัด

รวมทั้งจะพยายามรักษาเก้าอี้ ส.ส.ใต้ ที่เบียดชิงมาจากพรรคประชาธิปัตย์ 14 เก้าอี้เอาไว้ให้ได้

ขณะเดียวกัน พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรค และนายวิทยา แก้วภราดัย กรรมการผู้บริหารพรรค ที่เคยเป็นสายเลือดประชาธิปัตย์เก่า ก็บุกเข้าไปในพื้นที่พร้อมประกาศจะแย่ง ส.ส. ทั้ง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และพัทลุง มาเช่นกัน

ส่วนพรรคสร้างอนาคตไทย (สอท.) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ในฐานะประธานพรรค ก็ไปเขย่าพรรคประชาธิปัตย์ถึงในภาคใต้ ผ่านการสัมมนา “อันดามันรุ่ง ประเทศไทยรอด” ที่ จ.ภูเก็ต

โจมตีว่าพรรคประชาธิปัตย์ที่ครองความยิ่งใหญ่ในภาคใต้มาตลอดแต่กลับไม่สามารถสร้างความเจริญให้ภาคใต้ได้

ขณะที่พรรครวมพลังประชาชาติไทยของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็คงดิ้นรักษา 1 ที่นั่งที่ จ.ชุมพรเอาไว้ต่อไป

ส่วนจังหวัดชายแดนภาคใต้ พรรคประชาชาติที่มี ส.ส.อยู่ 6 ที่นั่งก็คงหวังจะแย่งชิง ส.ส.ให้มากขึ้นเช่นกัน

และแน่นอน เก้าอี้ ส.ส.ใต้ที่จะเพิ่มเป็น 58 ที่นั่งนั้น ที่จะถูกแชร์ไปมากที่สุดก็คงไม่พ้นประชาธิปัตย์ ที่เหลือ ส.ส.อยู่ 22 คนในปัจจุบันนั่นเอง

 

พรรคที่ถูกจับตาว่าจะเข้ามาแชร์เก้าอี้จากพรรคประชาธิปัตย์มากที่สุด ก็คือพรรคร่วมรัฐบาล อย่างพรรคภูมิใจไทยนั่นเอง นายอนุทินเดินสายเปิดตัวในพื้นที่หัวใจของพรรคประชาธิปัตย์อย่างถี่ยิบ

ด้วยความเชื่อมั่นว่าพรรคพรรคภูมิใจไทยที่มี ส.ส.เดิม 8 ที่นั่ง จะได้ ส.ส.เพิ่มกว่าเท่าตัว

โดยนางนาที รัชกิจประการ ซึ่งเป็นแม่ทัพของพรรคภูมิใจไทยในพื้นที่ภาคใต้ บอกว่า เดิมหวังว่าจะได้ที่นั่ง ส.ส.ไม่น้อยกว่า 16 ที่นั่ง แต่หลังจากที่ได้ลงพื้นที่มั่นใจว่าจะได้ ส.ส.ในพื้นที่ภาคใต้มากกว่า 20 ที่นั่งอย่างแน่นอน

ความฮึกเหิมของพรรคภูมิใจไทยดังกล่าว ทำให้นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เสาหลักของพรรคประชาธิปัตย์ อยู่เฉยไม่ได้ ออกมากรีดว่า ในฐานะที่เป็น ส.ส.ภาคใต้ เป็นพื้นที่ที่ไม่มีการซื้อเสียง พวกตนอยู่มา แม้แต่สลึงเดียวก็ไม่เคยใช้…พี่น้องประชาชนขออย่ายอมให้ใครมาซื้อ คนลงทุนแล้วไม่เอาคืนมันยาก หรือถ้านักการเมืองไม่โกง พรรคการเมืองก็ต้องโกง เพราะต้องเอาเงินมาเป็นทุน

นายชวนกล่าวว่า พยายามบอกเพื่อนๆ ที่มีพรรคการเมืองอื่นมาเกลี้ยกล่อมและมีแนวโน้มว่าจะไป ว่าให้คิดดีๆ ไปอยู่พรรคการเมืองที่เป็นพรรคเฉพาะกิจมันชั่วคราว เมื่อเสร็จภารกิจพรรคนั้นก็ล้มไป

สอดคล้องกับนายจุรินทร์กล่าวย้ำว่า

“เราเป็นสถาบันการเมืองที่คนภาคใต้แยกแยะออก ไม่ได้ทำพรรคการเมืองแบบเฉพาะกิจ ฉะนั้น ประชาชนภาคใต้เขาแยกออก อันไหนยั่งยืน อันไหนเฉพาะกิจ”

 

ปรากฏว่าในเวลาต่อมา นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ส.ส.สงขลา เขต 7 พรรคภูมิใจไทย ได้ออกมาโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวโต้นายชวน ว่า “ในอดีตอาจจะไม่มีจริง แต่ปัจจุบันมี การเตรียมการในพื้นที่เขต 7 บ้านผม อำเภอนาทวี และอำเภอสะบ้าย้อย คนที่เคยเป็นอดีต ส.ส. ประกาศตัวเคยทำงานใกล้ชิดท่าน ทำงานการเมืองสุจริตแบบท่าน สั่งให้ทีมเดินเก็บบัตรประชาชน เลขบัญชีธนาคาร และสัญญาว่าจะให้เงิน 500 บาท บอกกับคนทั่วไปอย่างไม่ละอาย ว่ารอบนี้เลือกตั้ง จะใช้เงิน 100 ล้านบาท เพื่อซื้อให้ชนะ ขอให้ท่านตรวจสอบมีจริงหรือไม่”

ทำให้นายศิริโชค โสภา อดีต ส.ส.สงขลา ที่เคยแพ้ให้กับนายณัฏฐ์ชนนในการเลือกตั้งปี 2562 ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวตอบโต้ด้วยความดุเดือด ว่านักการเมืองสมัยนี้บางคนหน้าด้านมาก…คงจะลืมว่าในอดีตเคยหอบเงิน 60 กว่าล้านบาทมาหล่นเรี่ยราดไว้แถวนี้

เรียกว่าดุเดือดเลือดพล่านตั้งแต่ระดับแกนนำลงไปจนถึงอดีต ส.ส.ในพื้นที่

ซึ่งแม้นายอนุทินจะลดโทนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือ in the name of the game นี่คือเกมการเมือง

ก็ว่ากันไปตามเกมการเมือง ไม่ได้มีอะไรกัน

แต่ดูจะเหมือนกลบเกลื่อนศึกในรัฐนาวา หรือรัฐนา “วอร์” ลงได้ยาก