โจทย์ท้าทาย ‘คลัง’ จัดงบประมาณสมดุล 3 กรมภาษีเหนื่อยเร่งจัดเก็บ 2.49 ล้านล้าน/บทความเศรษฐกิจ

บทความเศรษฐกิจ

 

โจทย์ท้าทาย ‘คลัง’

จัดงบประมาณสมดุล

3 กรมภาษีเหนื่อยเร่งจัดเก็บ 2.49 ล้านล้าน

 

เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา เป็นที่เรียบร้อย ยังคงเป็นงบประมาณขาดดุล ด้วยงบฯ รายจ่าย 3.185 ล้านล้านบาท

ซึ่งมาจากรายได้ที่หน่วยงานนำส่งรัฐบาล 2.49 ล้านล้านบาท และเงินกู้ขาดดุลอีก 6.95 ล้านบาท ลดลงจากงบประมาณที่ผ่านมา 5,000 ล้านบาท ตามเป้าหมายกระทรวงการคลังจะจัดทำงบฯ แบบขาดดุลน้อยลง และหวังผลถึงจุดสมดุลในอนาคต

3 กรมจัดเก็บภาษี อย่างกรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร จึงเลี่ยงไม่ได้ ต้องรับบทหนักในการจัดก็บรายได้ให้มากที่สุด

โดยกระทรวงการคลังให้เป้าหมายการจัดเก็บรายได้ กรมสรรพากร มากที่สุด ที่ 2.029 ล้านล้านบาท สูงกว่าปีงบประมาณ 2565 ถึง 1.53 แสนล้านบาท

 

กรมสรรพากรจึงต้องเตรียมแผนงานเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ โดยอยู่ระหว่างดำเนินการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร ภายใต้ความร่วมในองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และการพัฒนา หรือโออีซีดี ซึ่งรัฐสภาได้เห็นชอบความตกลงพหุภาคีระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีทางการเงินแบบอัตโนมัติแล้ว

ภายหลังกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว ประเทศไทยจะเริ่มแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีทางการเงินกับประเทศคู่สัญญาภายในเดือนกันยายน 2566

คาดหวังจะทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นในการนำไปพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไป

ตามด้วยแผนยกระดับกฎหมายขยายความร่วมมือแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ไม่ใช่ภาษี เช่น ข้อมูลการเงินฝาก ทรัพย์สินในต่างประเทศ กับหน่วยงานสรรพากรระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามข้อตกลงระหว่างประเทศ ในกลุ่มโออีซีดี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ ป้องกันเงินนอกกฎหมายและที่ไหลออกไปนอกประเทศด้วย

รวมทั้งอยู่ระหว่างเตรียมออกกฎหมาย ‘ดาต้า เซ็นเตอร์’ เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางดิจิทัลของภูมิภาค ซึ่งช่วยให้สรรพากรมีรายได้เพิ่มจากภาษีเงินได้นิติบุคคลจากผลประกอบการผู้ประกอบธุรกิจนี้

โดยกรมสรรพากรได้ส่งรายละเอียดไปให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติได้ในเร็วๆ นี้

 

ด้านกรมสรรพสามิต ซึ่งเป็นกรมที่ได้รับผลกระทบเรื่องรายได้มากที่สุด

จึงต้องหาช่องทางในการเพิ่มรายได้ เพื่อทดแทนภาษีน้ำมันดีเซลที่หายไปจำนวนมาก

โดยในปีงบประมาณ 2566 กรมได้รับเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ 5.67 แสนล้านบาท

กรมจึงเดินหน้าศึกษาการกำหนดอัตราการจัดเก็บภาษีเพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ ได้แก่ 1.น้ำมันไบไอเจ็ท 2.ไบไอพลาสติก 3.แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า 4.เหล้า-เบียร์ มีแอลกอฮอลล์ 0% 5.บุหรี่ไฟฟ้า และ 6.ภาษีคาร์บอน

ตั้งเป้าผลการศึกษาจะได้ข้อสรุปชัดเจนภายในปีนี้

 

ขณะที่กรมศุลกากรคาดว่าต้องจัดเก็บรายได้ที่ประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งในระหว่างนี้ กรมได้เตรียมความพร้อมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ มีการปรับการบริหารจัดการภายใน โดยสำนักงานเกิดใหม่ 2 แห่ง ได้แก่ สำนักงานมาบตาพุด และสำนักงานศุลการกรภาคที่ 5 จะเข้าไปเชื่อมต่อระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้สมบูรณ์ รวมทั้งยกระดับภายในเพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูง จากสำนักงานที่หนองคาย และจะมีการแยกสำนักงานพิกัดโครงสร้างภายในของพิกัดภาษี เป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่รับผิดชอบเรื่องนโยบายประเมินพิกัดภาษี และส่วนที่รับผิดชอบงานพิจารณาอุทธรณ์ เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินงาน

เป้าหมายมีไว้พุ่งชน แต่จะชนได้มากน้อยแค่ไหน ต้องตามดูอีก เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังแกว่ง มีความไม่แน่นอนสูง และรัฐบาลยังต้องมีมาตรการพยุงและผลักดันเศรษฐกิจในประเทศ รวมถึงมาตรการช่วยเหลือประชาชนในยุคข้าวยากหมากแพงรอบด้าน

โดยเฉพาะกรมสรรพสามิตเจอเต็มๆ จากภาวะราคาน้ำมันดีเซลยังแพง ล่าสุด 13 กันยายน 2565 คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบขยายเวลาปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 5 บาท ออกไปอีก 2 เดือน จนถึง 20 พฤศจิกายนนี้ รายได้การจัดหายไปรวมๆ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งไม่นับรวมที่ลดภาษีไปก่อนหน้า 3 ครั้ง รวมๆ ทั้งหมดรายได้จะหายไปทั้งสิ้น 5.8 หมื่นล้านบาท

และยังไม่รวมที่ ครม.เห็นชอบให้ขยายเวลาจัดเก็บภาษีสรรพสามิตอัตราศูนย์สำหรับน้ำมันดีเซล (บี0) และน้ำมันเตาที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ออกไปอีก 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2565-15 มีนาคม 2566 สูญเสียรายได้ราว 1,400 ล้านบาท ที่นับรวมไปในปีงบประมาณ 2566

 

แต่ถึงรายได้จะหายไปจากการออกมาตรการช่วยเหลือ กระทรวงการคลังยังคงคาดการณ์ว่า ปีงบประมาณ 2565 จะสามารถจัดเก็บรายได้สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 2.4 ล้านล้านบาท โดยจัดเก็บได้มากกว่าประมาณ 7 หมื่นล้านบาท เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้กรมสรรพากรสามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น โดยช่วง 10 เดือนแรกปีงบประมาณ 2565 กรมสรรพากรจัดเก็บรายได้อยู่ที่ 1.67 ล้านล้านบาท สูงกว่าปีก่อนถึง 2.1 แสนล้านบาท

ขณะเดียวกัน ยังมีปัจจัยในเรื่องของการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยคาดว่าทั้งปีจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน

ในส่วนของรายได้ที่คาดว่าจะเกินเป้าหมายในปีงบประมาณ 2565 ที่ 7 หมื่นล้านบาท ถือเป็นการเกินเป้าหมายครั้งแรก หลังจากเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในปีงบประมาณ 2563 รัฐจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 3.36 แสนล้าน และปีงบประมาณ 2564 จัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 3.07 แสนล้าน

รวมทั้งยังเป็นการจัดเก็บรายได้เกินเป้าได้มากกว่าช่วงก่อนมีการระบาดของโควิด-19 ที่จัดเก็บเกินเป้าเพียง 6.94 พันล้านบาท

แม้จะผ่านปีงบประมาณ 2565 ไปได้อย่างสวยงาม แต่ความท้าทายไม่สิ้นสุดนี้ กระทรวงการคลังยังคงตั้งเป้าหมายลดการขาดดุลงบประมาณให้ได้มากที่สุด จนไปถึงจุดสมดุลนั้น จะทำได้หรือไม่

ต้องติดตามกัน