คำ ผกา : ความฝันและความงามในขาดทุนและกำไร

คำ ผกา

ไม่น่าเชื่อว่าฉันจะเขียนหนังสือมายาวนานพอที่จะเจอกับสภาวะที่ครั้งหนึ่งสังคมไทยให้ความสำคัญกับ “ปริญญา”

ใครๆ ก็อยากจบปริญญา การเรียนวิชาชีพต่างๆ ก็เปิดทะลุจนถึงระดับปริญญา และในแง่ของค่านิยม พ่อแม่ก็เห็นว่า จบปริญญาตรีไว้ก่อนจะสาขาอะไรก็ได้

ขณะเดียวกัน คุณค่า ศักดิ์ศรีของคนเรียนสายอาชีพ อาชีวะก็ถูกลดทอนไปพร้อมกับภาพพจน์ของเด็กอาชีวะตีกัน เด็กที่ไปเรียนอาชีวะ สายอาชีพคือเด็กไม่เอาไหน

จำได้ว่า ในยุคนั้น ฉันเสนอว่า กระทรวงศึกษาธิการต้องให้ความสำคัญกับการศึกษาสายอาชีพให้มากขึ้นเพราะเราขาดแคลนแรงงานที่เป็น “ช่างฝีมือ”

การให้ความสำคัญในที่นี้หมายถึงการ “รีแบรนด์” การศึกษาสายอาชีพเสียใหม่ว่า ไม่ใช่เรื่องของเด็กเหลือขอ เด็กไม่เอาถ่าน เด็กที่สอบเข้าที่ไหนไม่ได้ เลยต้องมาเรียนอาชีวะ

และยังต้องเปลี่ยนค่านิยม คนไทยต้องให้เกียรติคนที่อยู่ในอาชีพ “ช่าง” ให้มากขึ้น เพราะที่ผ่านมาเราเคารพยกมือไหว้คนบางอาชีพ และดูถูกคนบางอาชีพเสียเหลือเกิน

และให้ถึงที่สุดก็ต้องปรับเพดานรายได้ของคนที่เป็น “ช่าง” ให้สูงพอที่จูงใจให้คนอยากเป็น – แต่เอาเข้าจริงๆ ช่างที่เก่งในทุกสาขาก็น่าจะเรียกค่าตัวได้สูงอยู่แล้วเพราะหายาก

หลับๆ ตื่นๆ ไปจากวันที่เขียนเรื่องนี้ เราต้องมาให้ความสำคัญกับอาชีวศึกษาไปไม่กี่ปี ก็พบว่า กระทรวงศึกษาธิการของไทยก็หันมาให้ความสำคัญกับการศึกษาอาชีวะแล้ว (1)

ซึ่งก็ต้องบอกว่ามาถูกทาง และเป็นสิ่งที่ต้องผลักดันให้เป็นโครงการระยะยาว เกิดสัมฤทธิผล สร้าง “แรงงาน” มีคุณภาพ มีฝีมือป้อนตลาดแรงงานได้จริงๆ

แต่การที่เราสนับสนุนการศึกษาสายอาชีพ หรือส่งเสริมอาชีวะ ไม่จำเป็นต้องมาพร้อมกับวิธีคิดที่บอกว่า การศึกษาในสาขาที่หางานทำยากนั้นเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นหรือเป็นชอยส์ เป็นทางเลือกที่ “ไม่ฉลาด” ไม่ควรเลือก เช่น การเรียนปรัชญา ประวัติศาสตร์ หรือสาขาอื่นของมนุษยศาสตร์ ศิลปศาสตร์ เช่น วรรณคดี

สถิติการว่างงานในช่วงหลัง เราเริ่มเห็นว่า ตัวเลขของผู้ว่างงานในกลุ่มของคนจบปริญญาตรีสูงกว่าคนจบมัธยม หรือ ปวช. ปวส. อนุปริญญา

แต่นั่นไม่ควรนำมาซึ่งข้อสรุปง่ายๆ ว่า – ถ้าเรียนปริญญาตรีในสาขาที่หางานทำยาก หรือไม่ตรงกับตลาดแรงงาน ก็ไปเรียนอาชีวะดีกว่า

ง่ายกว่านั้น อาจมีคนบ้าจี้บอกว่า จะมีไปทำไม สาขาวิชาที่เรียนไปแล้ว ตลาดแรงงานไม่ต้องการ เรียนปรัชญางี้ ศาสนาเปรียบเทียบงี้ วรรณคดีเปรียบเทียบงี้ ประวัติศาสตร์ศิลปะงี้ – ยุบๆ ไปบ้างก็ได้ หรือเอาไปควบไปรวมเป็นวิชาย่อยๆ ในสาขาวิชาอื่นก็พอ หรือไอ้คณะอย่างมนุษยศาสตร์อะไรนี่ ไม่มีก็ไม่เป็นไร ไม่ค่อยมีประโยชน์ เอางบประมาณไปทุ่มกับการศึกษาด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี ผลิตคนมาอยู่ในอุตสาหกรรม 4.0 ดีกว่า

ความคิดเช่นนี้ไม่ถึงกับผิด เพราะคิดว่าประเทศจนๆ อย่างไรจะมีนักปรัชญา นักประวัติศาสตร์ไปทำไมเยอะแยะ

แต่เดี๋ยว – ลองจินตนาการถึงโลกที่ไม่มีดนตรี วรรณกรรม ความงาม ศิลปะ ปรัชญา – โลกใบนี้จะน่าอยู่อย่างไร?

รถยนต์ ชินกันเซ็น เครื่องบิน เครื่องตีขนมเค้ก ฯลฯ ไม่ได้มีแต่เครื่องจักร เครื่องกล แต่มีดีไซน์ มีสี มีความงาม มีรูปทรง

พูดให้หยาบคือ ในทุกผลิตภัณฑ์ที่เราเรียกว่าของไฮเทค ไม่ได้มีแต่แง่มุมของวิทยาศาสตร์ วิศวะ แต่มีปรัชญา มีประวัติศาสตร์ มีมิติของสังคมวิทยา

และที่แน่ๆ มี “ศิลปะ” อยู่ในนั้น

หน้าตามันถึงสวยงาม น่าใช้ ตราตรึง มีเสน่ห์ และสามารถปลุกเร้าอารมณ์ความรู้สึกของเราให้พึงใจ ให้หลงรัก หรือเพลิดเพลินจำเริญตากับมันได้

การจะออกแบบรถยนต์มาสักคัน ให้ถูกใจคน จะไม่มีมิติทางสังคมศาสตร์ จิตวิทยาเลย มันเป็นไม่ได้-ถูกไหม?

ดังนั้น แค่การวาดรูปได้ ระบายสีเป็น ไม่เพียงพอที่จะเป็นทักษะให้คนออกแบบงานให้คลาสสิคและตราตรึงได้ (และนี่เราไม่ได้พูดถึงศิลปะบริสุทธิ์ แต่กำลังพูดถึงงานออกแบบที่เป็นสรรพสิ่งไว้ใช้สอย ตั้งแต่ที่คั้นมะนาว ที่เปิดขวด ไปจนถึงเครื่องบิน ยานอวกาศ) แต่คนคนนั้นต้องมีความรู้เรื่องโลก เรื่องมนุษย์ เรื่องรสนิยม เรื่องศาสนา วรรณกรรม ภาพยนตร์ ประวัติศาสตร์ศิลปะ และอีกสารพัด อันเราจะกล่าวรวมๆ ว่ามันคือ Liberal arts หรือที่ภาษาไทยเรียกว่า

ศิลปศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ (ความหมายของคำว่า liberal หรือ “ปลดปล่อย/เสรี” ก็หล่นหายกลางทางเสียด้วย)

แนวคิดที่อยู่เบื้องหลังนโยบายการศึกษาของรัฐนั้น โดยเฉพาะรัฐที่สมาทานแนวคิดเสรีนิยมใหม่ เช่นอเมริกานั้นมีจุดเปลี่ยนของมันที่น่าสนใจคือ

ในยุคแรก รัฐลงทุนในการศึกษาเพื่อ “กล่อมเกลา” พลเมือง และเพื่อผลิตแรงงานตอบสนองตลาดเพื่อผลิตภาพทางเศรษฐกิจ และความมั่งคั่งของรัฐ

ดังนั้น ในระดับหนึ่ง รัฐจึงอยากให้การศึกษาฟรีแก่พลเมือง หรือมองว่าการศึกษาเป็นบริการจาก “รัฐ” แต่เมื่อหมดยุคกล่อมเกลาพลเมือง จบยุคชาตินิยมมาสู่ความเป็นทุนนิยม เสรีนิยมเต็มที่ รัฐกลับมองว่า การศึกษาคือการ “ลงทุน” ของปัจเจกบุคคล

ปัจเจกบุคคล (และรัฐเอง) พึงประเมินความเสี่ยงในการลงทุนเพื่อการศึกษาด้วยว่า ผลที่ได้จะคุ้มกับเงินที่ลงไปไหม?

เช่น ถ้าฉันเกิดในครอบครัวคนชั้นกลางระดับล่าง พ่อแม่ไม่มีทรัพย์สิน ตัวฉันต้องประเมินว่าจะเรียนสายอาชีพ จบเร็ว ทำงานเลย หางานทำได้แน่นอน หรือกัดฟันหาเงินเรียนพิเสษ ติว เพื่อจะเรียนหมอ เรียนเป็นโปรแกรมเมอร์ หรืออะไรที่หางานง่าย เงินเดือนสูง

ถ้าฉันมาจากครอบครัวชั้นกลางค่อนไปทางล่าง พ่อแม่เป็นคนงานคอปกน้ำเงินอยู่บ้านเช่า แล้วยังจะกระแดะไปเรียนปรัชญา ไปเรียนประวัติศาสตร์ ที่หางานยากมาก หรือหาได้ก็เงินเดือนน้อยเหลือกำลัง – แม้ใจจะรักมาก หากต้องมีชีวิตลำบากยากจน จะมาโทษรัฐบาล โทษระบบ โทษนู่นโทษนี่ไม่ได้ ต้องโทษตัวเองว่า เลือกลงทุนแบบโง่ๆ ไม่ประเมินความเสี่ยงตัวเอง เผลอๆ มีคนสมน้ำหน้าอีก

ดังนั้น ไอ้วิชาเก๋ๆ แบบปรัชญา วรรณคดีอะไรนั่น มีไว้ให้คนที่เขามีทรัพย์สินเหลือกินเหลือใช้เรียน เรียนจนจบโพสต์ด๊อกฯ แล้ว เป็นอาจารย์เงินเดือนสอง-สามหมื่น ก็ไม่เป็นไร เพราะบ้านรวยมาก หรือเรียนแล้วก็มาบริหารธุรกิจของที่บ้าน

ความรู้นั้นเอาไว้ทำคอลเล็กชั่นงานศิลปะส่วนตัว ทำแกลเลอรี่ส่วนตัวเก๋ๆ ไม่ได้มีไว้ทำมาหากิน

เมื่อรัฐเปลี่ยนวิธีจากที่คิดว่า การศึกษาคือสิ่งที่รัฐต้องจัดหาให้ (ไม่ใช่เพราะใจดีนะ แต่อย่างที่บอก ต้องใช้เพื่อกล่อมเกลาพลเมืองไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง ให้รู้จักรักชาติ ฯลฯ) มาสู่แนวคิด การศึกษาคือการลงทุนเพื่อชีวิตที่ดีกว่า

รัฐจึงเปลี่ยนจากการศึกษาฟรี หรือการอุดหนุนงบฯ ให้มหาวิทยาลัยของรัฐเยอะๆ เพื่อจะได้ไม่ต้องเก็บค่าหน่วยกิต ค่าเทอมแพงนัก มาเป็นสิ่งที่เรียกว่า “มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ”

นั่นคือ รัฐอุดหนุนน้อยลง มหาวิทยาลัยต้องบริหารเงินไม่ให้ขาดทุนจากการทำธุรกิจการศึกษา

ส่วนคนที่เรียนก็ต้องลงทุนเอง – จะได้ไม่ไปเลือกเรียนอะไรไปเรื่อย ไม่คุ้มค่าเทอม จบออกมาแล้วตกงาน

ดังนั้น เพื่อให้พลเมืองรับผิดชอบกับการลงทุนเพื่อการศึกษาของตนเอง อย่ากระนั้นเลย รัฐไม่ได้ทอดทิ้งคุณนะ แต่แทนการเรียนฟรี รัฐให้เป็น “เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา” แทน

เมื่อเราต้อง “กู้” เงินมาเรียน เราต้องคิดเรื่องหาเงินมาใช้หนี้ เมื่อคิดเรื่องหาเงินมาใช้หนี้ ก็ต้องไม่ไปเลือกเรียนสาขาวิชาที่ไม่ทำเงินหรือหางานทำยากเย็น

มหาวิทยาลัยเมื่อต้องหาเงินเอง บริหารไม่ให้ขาดทุน ก็ต้องยุบสาขาวิชาที่ไม่มีคนมาเรียน หรือมีคนมาเรียนน้อย (กลับไปที่คนไม่เรียนอะไรที่ไม่สามารถปลดหนี้ กยศ. ได้) พร้อมกับการเปิดสาขา โปรแกรมพิเศษอะไรเยอะแยะไปหมด เพื่อหาเงินให้ได้มากขึ้น

บุคลากรในมหาวิทยาลัยเริ่มแปรสภาพเป็นกรรมกรทางวิชาการมากขึ้น หลังๆ เราจะได้อ่านบทความหรือข่าวเกี่ยวกับปัญหาสิทธิแรงงาน สวัสดิการ การถูกขูดรีดแรงงานของบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษามากขึ้น

หรือแม้กระทั่งข่าวว่า อาจารย์มหาวิทยาลัยในอเมริกาต้องอยู่รถบ้านเพราะเงินเดือนไม่พอจะจ่ายค่าเช่าบ้าน

และนั่นแหละ ที่เมื่อหันกลับมามองเมืองไทย เราเริ่มเห็นจุดเปลี่ยนของมุมมองต่อการศึกษาว่าเป็นไปในทางเดียวกับสังคมอเมริกา นั่นคือ ทั้งรัฐและพลเมืองมองว่าการศึกษาคือการลงทุนของ “ปัจเจกบุคคล” เป็นความรับผิดชอบของปัจเจกบุคคล ต่อภาวะ “ขาดทุน” หากเลือกผิด เช่น ตกงาน

ส่วนรัฐก็มองว่าอยากจะลงทุนการศึกษาเฉพาะสาขาที่ “คุ้มทุน” หรือตอบสนองการจ้างงาน ตลาดแรงงาน และนั่นอาจเป็นคำตอบว่า ทำไมรัฐไทยถึงหันมาหาอาชีวศึกษา

ถามว่าผิดไหม ก็ไม่ผิด หากเราจะเลือกเดินในทางของเสรีนิยมใหม่ ใครอ่อนแอก็แพ้ไป สาขาไหนไม่มีคนเรียนก็ยุบไป ถ้าเป็นคนจนแล้วก็เลือกไปเรียนอะไรที่มันทำเงินหน่อย อย่าตะบอยเรียนอะไรที่ตกงาน

ฉันซึ่งครั้งหนึ่งเคยอ้อนวอนรัฐว่า เหลียวแลอาชีวศึกษาบ้าง ครานี้ต้องหันมาอ้อนวอนสังคมว่า อย่าให้การเรียนปรัชญา ศิลปะ ประวัติศาสตร์ วรรณคดี กลายเป็นของฟุ่มเฟือย เสียจนกระทั่งกลายเป็นความรู้ของคนชั้นนำที่ไม่มีความกังวลทางเศรษฐกิจเท่านั้นเลย

ในน็อตทุกตัวของเครื่องจักร มีความงาม มีศิลปะ มีสิ่งที่เรียกดีไซน์ อย่าพรากเอาสุนทรียะไปจากพลเมืองเพียงเพราะว่าเขาจนเลย และอย่าให้ Liberal arts ที่มีเพื่อปลดปล่อยคนออกจากอวิชชาและการครอบงำทั้งปวงกลายเป็นวิชาของชนชั้นนำซึ่งมันแสนจะกลับตาลปัตรกับจุดมุ่งหมายของตัวมันเอง

ถึงที่สุดเราก็ต้องการช่าง ต้องการวิศวกร ต้องการเชฟที่ได้ผ่านการเรียนปรัชญา เรียนประวัติศาสตร์ และนั่นแปลว่า ต่อให้จะมีลูกคนจนสักคนเลือกเรียนมนุษยศาสตร์ทั้งๆ ที่รู้ว่าจะตกงาน เขาก็ไม่ควรถูกประณามว่า กำลังลงทุนแบบโง่ๆ หรือหากจะมีมหาวิทยาลัยที่ยอมขาดทุนเพื่อรักษาสาขาวิชาที่ไม่ทำเงินเหล่านี้เอาไว้ รัฐก็ต้องชั่งน้ำหนักว่า ทำไมเราจึงต้องอุดหนุนเพื่อให้สาขาวิชาเหล่านี้ดำรงอยู่

เพราะโลกย่อมไม่ควรขับเคลื่อนด้วยตัวเลข กำไร ขาดทุน เสียจนไม่เหลือพื้นที่สำหรับความฝันและความงาม

(1) โฉมหน้าเด็กอาชีวะไทย หลังบิ๊กตู่สั่งเดินหน้านโยบายควบรวมอาชีวะรัฐ-เอกชน ยึดโมเดลการพัฒนาเด็กอาชีวะ เป็นแรงงานสร้างชาติ ตามแบบ

(2) ประเทศ “สิงคโปร์-เยอรมนี” ขณะเดียวกัน ได้ 13 บิ๊กเอกชนร่วมขับเคลื่อน อาชีวะทวิภาคี เพื่อสร้างแรงงานคุณภาพรองรับการเปิด AEC และความต้องการภายในประเทศ ใช้งบ 4,400 ล้านบาทหนุนการควบรวม มั่นใจวิธีการนี้กู้ภาพลักษณ์เด็กอาชีวะ หรือ “นักเรียนนักเลง” ได้สำเร็จ http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9590000022218