What if…? เกิดอะไรขึ้น ถ้า…/บทความพิเศษ สมชัย ศรีสุทธิยากร

สมชัย ศรีสุทธิยากร

บทความพิเศษ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

 

What if…? เกิดอะไรขึ้น ถ้า…

 

ไม่ใช่แอนิเมชั่น 10 ตอนของค่ายมาร์เวลที่ฉายทางช่องดิสนีย์

แต่เป็นการพยายามตอบคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นหากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าครบ 8 ปีตามเงื่อนไขข้อจำกัดตามรัฐธรรมนูญในวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2565 ที่ผ่านมาแล้วหรือไม่

เส้นแยกของเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นทางการเมืองไทยหลังจากการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นมีมากมายแล้วแต่ผลของคำวินิจฉัยที่ปรากฏต่อสาธารณะ

แต่สิ่งที่แน่นอนคือ หลังวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2565 ซึ่งเป็นวันตัดสินคดีเรื่องการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี

 

เชื่อว่าการเมืองไทยจะไม่เหมือนเดิม

ตัดสินตามคำขอ หรือตัดสินแค่คำขอ

ประเด็นแรกที่ผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองคาดการณ์กันคือ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นคำวินิจฉัยที่มีความชัดเจนหรือยังคงเป็นเงื่อนปมทางการเมืองในอนาคตต่อไปอีก

ด้วยคำร้องของพรรคฝ่ายค้านที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ มีเพียงประเด็น “ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ตามมาตรา 7(9) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญว่าความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเนื่องจากดำรงตำแหน่งครบกำหนดเวลา ตามมาตรา 170 วรรคสอง และมาตรา 158 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญ 2560”

ซึ่งแปลความหมายคือ ขอให้ศาลพิจารณาว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานั้น ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาแล้วครบแปดปี จากข้อกำหนดตามมาตรา 158 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่เขียนไว้ว่า “นายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดํารงตําแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตําแหน่ง” หรือไม่เท่านั้น

ไม่ได้ถามลงไปในรายละเอียดว่า แล้วหากไม่พ้น จะพ้นเมื่อใด เป็นปี พ.ศ.2568 หรือปี พ.ศ.2570

What if…? หากว่าศาลเล่นตัดสินกันแบบนี้ หากกรณีเป็นบอกว่าไม่พ้นจากตำแหน่ง แต่ไม่มีคำตอบ

ผลในทางบวกต่อ พล.อ.ประยุทธ์ คือการได้อยู่ในตำแหน่งต่อ และยังจะเป็นประโยชน์ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป เพราะไม่ต้องเจอสถานการณ์การโจมตีจากพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามว่าจะอยู่ได้อีกเพียง 2 ปี หรือ 4 ปี เพราะหากต้องการรู้ ก็ต้องไปถามศาลอีกรอบ ถามก่อนก็ไม่ได้เพราะเหตุการณ์ที่เป็นปัญหายังไม่เกิด

แต่ผลในทางลบที่อาจจะเกิดขึ้น คือ ความไม่พอใจของประชาชนที่อยู่ในฝ่ายตรงข้าม และกลายเป็นประเด็นการรณรงค์การเลือกตั้งให้เลือกพรรคที่ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อให้สามารถชนะเลือกตั้งแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดหรือที่เรียกว่า Landslide เป็นการตัดโอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์จะได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีจากการเลือกของสมาชิกรัฐสภาอีกครั้ง

 

สิ่งที่ตามมา หากผลเป็นลบ

What if…? ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่เป็นลบต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือ มีคำวินิจฉัยให้พ้นการปฏิบัติหน้าที่เนื่องจากครบแปดปีตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2565 แล้ว

ประการแรก พล.อ.ประยุทธ์ต้องพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ย้อนกลับไปตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2565 สิทธิประโยชน์ในฐานะนายกรัฐมนตรีนับแต่ช่วงระยะเวลาดังกล่าวต้องคืนหลวง โดยสำนักนายกรัฐมนตรีต้องเป็นผู้คำนวณค่าใช้จ่ายและแจ้งให้ พล.อ.ประยุทธ์ทราบและดำเนินการ

ประการที่สอง คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน จะพ้นสภาพการเป็นคณะรัฐมนตรี ย้อนกลับนับแต่วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2565 เช่นกัน โดยมีสถานะเป็นคณะรัฐมนตรีรักษาการไปจนกระทั่งมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่มาปฏิบัติหน้าที่ โดยการดำเนินการต่างๆ ที่เกิดขึ้นและผ่านไปแล้ว เช่น การมีมติคณะรัฐมนตรี การลงนามในสัญญา จะยังมีผลสืบเนื่อง ไม่เสียเปล่าหรือเป็นโมฆะ

ประการที่สาม ประธานรัฐสภา มีหน้าที่ต้องจัดให้มีการประชุมร่วมของรัฐสภาโดยเร็ว เพื่อลงมติเลือกผู้สมควรดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีตามรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอตามมาตรา 88 ของรัฐธรรมนูญ

ซึ่งเหลือบุคคลที่อยู่ในข่ายในขณะนี้เพียง 5 คน คือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และนายชัยเกษม นิติสิริ

โดยต้องใช้คะแนนเห็นชอบเกินกว่ากึ่งหนึ่งจากสองสภา ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ

แต่หากไม่สามารถเห็นชอบจากคนในบัญชีดังกล่าวได้ ก็มีทางออกของมาตรา 272 วรรคสอง คือ ให้สมาชิกของสองสภาไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งเสนอให้มีการยกเว้นการใช้ชื่อในบัญชี และใช้เสียงสองในสามของสมาชิกรัฐสภาลงมติยกเว้นการใช้ชื่อคนในบัญชี จากนั้นก็กลับมาลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนนอกด้วยคะแนนเสียงข้างมากของรัฐสภาได้

ทางเดินแบบนี้แหละที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศ อาจจะชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ตามที่หลายฝ่ายคาดหมายไว้ แต่ก็จะเป็นนายกฯ ได้จนกระทั่งครบวาระของสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบัน หรือวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2566 หรือจนกว่าจะยุบสภาก่อนหน้าวันดังกล่าวเท่านั้น

ประการที่สี่ การปรับคณะรัฐมนตรี หรือการยุบสภา จะเกิดขึ้นได้หรือไม่หลังจากที่มีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ คำตอบคือ เมื่อมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ การฟอร์มคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะเกิดขึ้นตามเสียงของพรรคการเมืองที่ลงมติสนับสนุนให้ผู้นั้นเป็นนายกรัฐมนตรี องค์ประกอบและสัดส่วนการเป็นรัฐมนตรีของพรรคการเมืองก็จะเปลี่ยนไป ตามแต่ข้อตกลงใหม่และอำนาจการต่อรองของพรรคที่ร่วมรัฐบาล

ดังนั้น โอกาสที่พรรคเศรษฐกิจไทย และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า จะหวนคืนกลับมาเป็นรัฐมนตรีร่วมคณะ และใช้ความเจนจัดในทางการการเมืองกับตำแหน่งรัฐมนตรีให้เป็นประโยชน์ต่อการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในอนาคต เป็นสิ่งที่สามารถเห็นได้

 

สิ่งที่ตามมา หากผลเป็นบวก

What if…? กรณีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า การดำรงอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2565 ไม่ว่าจะระบุวันสิ้นสุดว่าจะเป็น วันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2568 หรือวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2570 หรือไม่ระบุเลยก็ตาม

ประการแรก พล.อ.ประยุทธ์กลับไปปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี นับแต่ศาลมีคำวินิจฉัย โดยถือว่าระหว่างที่หยุดปฏิบัติหน้าที่นั้นมี พล.อ.ประวิตรเป็นผู้รักษาราชการแทน ส่วนสิทธิประโยชน์ที่อาจถูกหักออกในช่วงหยุดปฏิบัติหน้าที่ได้คืนกลับมาเต็มจำนวนแม้ว่าช่วงที่ผ่านมาจะไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีก็ตาม

ประการที่สอง เป็นเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์จะเลือกตัดสินใจ เช่น จะปรับเพิ่มคณะรัฐมนตรีในตำแหน่งที่ว่างอยู่ หรือสลับสับเปลี่ยนตำแหน่งรัฐมนตรีในพรรคร่วมรัฐบาล หรือตัดสินใจยุบสภาในโอกาสที่ตนเองเห็นว่าเหมาะสม หรือในสถานการณ์ที่คิดว่าเป็นประโยชน์เกิดความได้เปรียบแก่พรรคการเมืองสนับสนุนตนเองเป็นนายกรัฐมนตรี

ประการที่สาม โอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์จะได้รับการเสนอชื่อจากพรรคการเมืองให้เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 88 ของรัฐธรรมนูญ ยังพอมีอยู่ แต่คาดว่าน่าจะไม่ได้เป็นเพียงชื่อเดียวตามลำพัง เช่น การเสนอของพรรคพลังประชารัฐในการเลือกตั้งปี 2562 เพราะเป็นการเสี่ยงและเป็นเป้าการโจมตีของพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามมากเกินไป พล.อ.ประยุทธ์จะมีโอกาสเป็นเพียงหนึ่งในสามชื่อที่พรรคการเมืองเสนอเท่านั้น

ประการที่สี่ การที่มีชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ลงในสนามแข่งขันในการเลือกตั้ง อาจกลับกลายเป็นสิ่งที่พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามปรารถนาจะให้เกิดขึ้น เพราะใช้เป็นประเด็นในการหาเสียงแก่ฝ่ายตนเองได้ง่ายกว่าการเปลี่ยนหน้าเอาคนใหม่ที่ไม่มีบาดแผลเข้ามา ดังนั้น เราอาจจะเห็นคำว่า “พอแล้ว” จากผู้นำประเทศเพื่อเปลี่ยนเอาตัวผู้เล่นใหม่ที่สดกว่า บาดเจ็บน้อยกว่า มาลงแทนผู้เล่นสูงอายุ ที่ไม่อาจทันเกมกับฝ่ายตรงข้าม

ส่วน What if…? กรณีผู้มีอำนาจที่ไม่ยอมลงจากอำนาจ ประชาชนจะเป็นผู้ตอบ