คุยกับทูต : ออร์นา ซากิฟ มิตรภาพที่ยั่งยืน 68 ปี ไทย-อิสราเอล ประเทศแห่งสตาร์ตอัพ และนวัตกรรม (2)

รายงานพิเศษ

ชนัดดา ชินะโยธิน

[email protected]

คุยกับทูต : ออร์นา ซากิฟ

มิตรภาพที่ยั่งยืน 68 ปี ไทย-อิสราเอล

ประเทศแห่งสตาร์ตอัพ และนวัตกรรม (2)

 

ผลจากสภาพแวดล้อมที่ทุรกันดาร ความขัดแย้งในภูมิภาค และการสู้รบอยู่เกือบตลอดเวลา กระตุ้นให้อิสราเอล ประเทศที่มีประชากรกว่า 9 ล้านคนแห่งนี้ สร้างชาติด้วยเทคโนโลยี การศึกษา และการสร้างนวัตกรรม อีกทั้งได้ฉายาว่า ‘ประเทศแห่งสตาร์ตอัพ’

รายงานของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุว่า ในปี 2525 ประชากรโลกเกือบครึ่งหนึ่งต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนน้ำ ปัญหาจะทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate change) เมื่อจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น ความต้องการในการใช้น้ำจะพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับแหล่งน้ำดื่มลดน้อยลง

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเองก็ประสบปัญหาภัยแล้งขึ้นหลายครั้ง ทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำในการทำเกษตรกรรม และหลายพื้นที่ต้องขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้เป็นเวลานาน ดังนั้น ปัญหาการขาดแคลนน้ำจึงเป็นปัญหาใกล้ตัวของคนไทยและจะเป็นปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง

เมื่อก่อน อิสราเอลเคยเป็นประเทศที่ขาดแคลนน้ำมากที่สุดในโลก แต่ปัจจุบันสามารถผลิตน้ำจืดได้มากจนเกินพอ โดยอาศัยเทคโนโลยีการจัดการน้ำ ทางออกอันชาญฉลาดระดับโลก

นางออร์นา ซากิฟ (H.E. Ms. Orna Sagiv) เอกอัครราชทูตรัฐอิสราเอลประจำราชอาณาจักรไทย

นางออร์นา ซากิฟ (H.E. Ms. Orna Sagiv) เอกอัครราชทูตรัฐอิสราเอลประจำราชอาณาจักรไทย เล่าว่า

“อิสราเอลมีวิธีแก้ปัญหาด้วยการใช้เทคโนโลยีแยกเกลือออกจากน้ำทะเล (Desalination) และโดยพื้นฐานเราผลิตน้ำที่สะอาดแล้วสำหรับการดื่ม วันนี้ 90% ของน้ำที่ใช้ในอิสราเอล เรารีไซเคิลนำกลับมาใช้ใหม่ และน้ำสะอาดที่เรารีไซเคิลก็เข้าสู่การเกษตร หมายความว่า แม้แต่ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในอิสราเอลก็ใช้น้ำสะอาด”

มุมมองทางอากาศของโรงงานกลั่นน้ำทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ Hadera ในอิสราเอล – ภาพถ่ายโดย Luciano Santandreu www.israel21c.org

“นอกจากนี้ เรามีการใช้ ‘ระบบน้ำหยด’ (Drip Irrigation) ซึ่งเป็นการใช้น้ำเพื่อการเกษตรอย่างชาญฉลาด วันนี้อิสราเอลเลี้ยงตัวเองได้ และยังเป็นประเทศที่มีรายได้จากการผลิตสินค้าการเกษตรส่งขายไปทั่วโลก อย่างเช่น สหรัฐ และยุโรป”

ที่ผ่านมา คนอิสราเอลได้ตระหนักถึงภาวะขาดแคลนน้ำของประเทศ จึงเป็นที่มาของการให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับน้ำที่ล้ำสมัยในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นระบบชลประทานน้ำหยด กระบวนการแยกเกลือออกจากน้ำ และการบำบัดน้ำเสียเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่

อิสราเอลมสูบน้ำจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมากลั่น ก่อนส่งผ่านท่อไปยังทะเลสาบ “กาลิลี” เพื่อแก้ปัญหาระดับน้ำในทะเลสาบลดลงอย่างต่อเนื่องเพราะปัญหาภัยแล้ง

ความร่วมมือระหว่างกัน

“รัฐบาลของเราทั้งสองประเทศต่างมีความกังวลในเรื่องเดียวกัน นั่นคือ ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางน้ำ ความมั่นคงทางด้านพลังงาน เราจึงยินดีที่จะแบ่งปันความคิด รับฟังซึ่งกันและกัน และเรียนรู้จากประสบการณ์ของกันและกัน”

“ดิฉันเชื่อว่าการทำงานร่วมกันไม่ได้จำเป็นเฉพาะกับภาครัฐเท่านั้น แต่กับภาคเอกชนด้วย จะเห็นได้ว่าเรามีความเชื่อมโยงที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมายในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาระหว่างกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศไทยและสตาร์ตอัพรายเล็กของอิสราเอล ซึ่งมีแนวความคิดที่ดีมาก แต่อาจไม่เชี่ยวชาญทางการตลาด ส่วนประเทศไทยเป็นตลาดขนาดใหญ่ มีลูกค้ารายใหญ่ทั้งในประเทศ และในอาเซียน รวมทั้งภูมิภาคอื่นๆ อาจกำลังมองหาพันธมิตรที่มาพร้อมกับนวัตกรรม และโซลูชั่น อย่างที่มาจากอิสราเอล ดังนั้น การเชื่อมโยงระหว่างบุคคล หรือกลุ่มองค์กรจึงเป็นสิ่งที่มีประโยชน์”

โครงการนักศึกษาแลกเปลี่ยน ทั้งในห้องเรียนและปฏิบัติในภาคสนาม ที่อิสราเอล

“ด้านการศึกษา เรามีโครงการนักศึกษาแลกเปลี่ยน กลุ่มนักศึกษาประมาณ 100 คนจากประเทศไทย เดินทางไปอิสราเอลทุกปีเป็นเวลา 1 ปี หรือ 11 เดือน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในระหว่างการศึกษาชั้นปีที่สองหรือสาม”

“หนึ่งปีในอิสราเอล นักศึกษาจะได้เรียนในห้องเรียนเพียงหนึ่งวันต่อสัปดาห์ ส่วนวันที่เหลือ นักศึกษาจะได้รับการฝึกอบรมภาคปฏิบัติ โดยทำงานเป็นเกษตรกรในภาคสนาม และจะใช้เวลาทุกๆ สามเดือน เลี้ยงสัตว์ หรือทำสวน โดยการหมุนเวียนกันเพื่อเรียนรู้ให้เกิดประสบการณ์ที่แท้จริง”

“สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เมื่อนักศึกษาเหล่านี้กลับมาประเทศไทย ก็จะเกิดผลดีต่อตนเอง ครอบครัว ชุมชนใกล้เคียง และเมืองของพวกเขา หรือที่ใดก็ตามที่พวกเขาอาศัยอยู่ เพราะได้นำประสบการณ์มากมายกลับมาด้วย ไม่ใช่เพียงไปศึกษาในมหาวิทยาลัยที่อิสราเอลเท่านั้น”

“เมื่อได้ทราบเรื่องราวแห่งความสำเร็จที่สวยงาม เราจึงมีความสุขและภาคภูมิใจมากเกี่ยวกับโครงการนี้”

โครงการนักศึกษาแลกเปลี่ยน ทั้งในห้องเรียนและปฏิบัติในภาคสนาม ที่อิสราเอล

นอกจากมีความสัมพันธ์อันราบรื่นแล้ว ทั้งสองประเทศยังมองหาแนวทางการเพิ่มพูนความสัมพันธ์ระหว่างกัน โดยเฉพาะในด้านการแลกเปลี่ยนการเยือน แรงงาน การท่องเที่ยว เศรษฐกิจ ความร่วมมือทางวิชาการ และรวมถึงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม

ไทยและอิสราเอลมีความสัมพันธ์ทางการทูตที่เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ.2497 (1954)

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จฯเยือนอิสราเอล พบกับนายชิมอน เปเรส ประธานาธิบดีอิสราเอล / photo credit: Mark Neyman / GPO

การเสด็จเยือนครั้งประวัติศาสตร์

มีบันทึกการเสด็จเยือนครั้งประวัติศาสตร์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (พระอิสริยยศในขณะนั้น) สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (พระอิสริยยศในขณะนั้น) สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี (พระอิสริยยศในขณะนั้น) และสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา (พระอิสริยยศในขณะนั้น)

บุคคลสำคัญจากอิสราเอลที่มาเยือนประเทศไทย รวมถึงผู้บัญชาการทหารสูงสุดของอิสราเอล นายยิตซัก ราบิน และผู้นำซึ่งเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกได้แก่ รัฐมนตรีต่างประเทศ นายอับบา อีบัน นางโกลดา เมียร์ นายโมเช ดายัน และนายชิมอน เปเรส

นางออร์นา ซากิฟ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายอักษรสาส์นตราตั้ง เป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งรัฐอิสราเอลประจำราชอาณาจักรไทย

ประสบการณ์สุดประทับใจ

“จริงๆ แล้วมีความประทับใจหลายสิ่งหลายอย่าง สำหรับประเทศไทย มีเรื่องที่ดิฉันจดจำมาโดยตลอด เมื่อเข้าร่วมงานที่กระทรวงต่างประเทศ ครั้งที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี (พระอิสริยยศในขณะนั้น) จากประเทศไทยเสด็จเยือนอิสราเอล ดิฉันในฐานะข้าราชการกระทรวงต่างประเทศที่อายุน้อยมากได้รับมอบหมายให้ร่วมเตรียมโปรแกรมและได้ตามเสด็จฯ ตลอดทั้งสัปดาห์ ซึ่งพระองค์ท่านทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานคำอวยพรก่อนถึงวันที่ดิฉันจะแต่งงาน เป็นสิ่งหนึ่งในความทรงจำที่จะคงอยู่ตลอดไป”

“เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา ดิฉันได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายอักษรสาส์นตราตั้ง เป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งรัฐอิสราเอลประจำประเทศไทย ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต รู้สึกประทับใจอย่างยิ่ง เพราะไม่ได้เกิดขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราไม่มีพระราชวังและเราไม่มีกษัตริย์ในอิสราเอล ดิฉันไม่เคยอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ ซึ่งเป็นทางการมาก เนื่องจากได้เข้าเฝ้าฯ พระมหากษัตริย์ ดิฉันจึงรู้สึกตื่นเต้นและประทับใจมาก”

“นอกจากนี้ อิสราเอลยังมีส่วนเกี่ยวข้องในโครงการตามพระราชประสงค์หุบกะพง จ.เพชรบุรีด้วย”

นางออร์นา ซากิฟ (H.E. Ms. Orna Sagiv) เอกอัครราชทูตรัฐอิสราเอลประจำราชอาณาจักรไทย

ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของทูตออร์นาในประเทศไทย

“อย่างแรกเลยก็ยังเป็นโควิด สำหรับดิฉันในฐานะนักการทูต ชื่นชอบที่จะมีปฏิสัมพันธ์ พบปะผู้คน ในช่วงแรกที่มีการระบาดของโควิด-19 คนส่วนใหญ่ไม่ต้องการพบปะกัน แต่ต้องการเห็นหน้า พูดคุยผ่านจอ โดยการซูม และวิดีโอแชตเท่านั้น สำหรับดิฉันกลับรู้สึกว่ามันยากลำบากมาก”

“แต่ทุกคนก็ยังคงสวมหน้ากากอนามัย แม้กระทั่งวันนี้ ดิฉันจะไปประชุมก็ต้องสวมหน้ากาก เวลาเห็นผู้คน หลายครั้งเกิดความไม่แน่ใจเพราะไม่อาจเห็นใบหน้าได้อย่างชัดเจนเช่นปกติ โควิดมีอิทธิพลต่อคนทั้งโลกจริงๆ สำหรับดิฉัน คิดว่านี่เป็นความท้าทายที่แท้จริง”

อิสราเอลยกเลิกมาตรการการสวมหน้ากากอนามัยนอกอาคารแล้ว

อิสราเอล-ประเทศแรกของโลกที่ประกาศยกเลิกการสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ

“ในอิสราเอลทุกวันนี้ เราเรียนรู้ที่จะอยู่กับโควิด-19 ตั้งแต่เดือนเมษายน เราไม่ใช้หน้ากากเลย ทั้งในบ้านและนอกบ้าน”

“ดิฉันก็เพิ่งกลับมาจากอิสราเอลเมื่อสองสามสัปดาห์ก่อน และก็ติดโควิดในอิสราเอล เป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ เหมือนกับเป็นไข้หวัด ดิฉันไม่มีอาการใดๆ ไม่มีไข้ ไม่มีไอ เพียงแค่ไม่มีเรี่ยวแรง และหลังจากนั้นหนึ่งสัปดาห์ก็หายไป”

“รัฐบาลพยายามผลักดันให้ทุกคนได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 3 แต่ตอนนี้ในอิสราเอล หมอบอกว่า ถ้าคุณอายุต่ำกว่า 65 ปีและมีสุขภาพดี การฉีดวัคซีนเข็มที่ 4 ก็ไม่จำเป็น สำหรับคุณพ่อคุณแม่ของดิฉันซึ่งอยู่ในอิสราเอล และอายุมากกว่า 80 ปี ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 4 ก็ยังติดโควิด หรือบางทีอาจเพราะท่านทั้งสองติดได้ง่ายกว่าเมื่อก่อน”

“งานวิจัยในอิสราเอลรายงานว่า คนส่วนใหญ่ที่เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยกรณีของโควิด-19 ที่รุนแรงมาก มักเป็นคนที่มีอายุมาก หรือมีภูมิหลังในโรคต่างๆ เช่น โรคหอบหืด หรือโรคปอด หรือไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเลย ก็จะป่วยหนักมาก”

“อย่างไรก็ตาม ดิฉันคิดว่าคนส่วนใหญ่ในอิสราเอลได้รับการฉีดวัคซีน และเห็นว่าเมืองไทยก็เช่นกัน เราจึงเหมือนลงเรือลำเดียวกัน” •