วิวัฒนาการของนางเงือก / On History : ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
ภาพประกอบ : Monstra Niliaca, in Ulisse Aldrovandi, Opera omnia. XI Monstrorum historia cum paralipomenis historiae omnium animalium, Bologna, N. Tebaldini, 1642, p. 354.

On History

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

 

วิวัฒนาการของนางเงือก

 

ในเอกสารเก่าครั้งต้นกรุงศรีอยุธยา หรือเก่าก่อนหน้านั้น ที่รู้จักกันในชื่อ “โองการแช่งน้ำพระพัทธ” (พัทธ แปลว่า ผูกมัด ซึ่งเข้ากันได้ดีกับพิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณความจงรักภักดีต่อกษัตริย์ อย่างพิธีแช่งน้ำ การเรียกชื่อพิธีนี้ว่า ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา เป็นความเข้าใจผิดในสมัยหลัง) มีบทร่ายพรรณนาลักษณะของพระอิศวร (องค์เดียวกับพระศิวะ) โดยมีลักษณะอย่างหนึ่งได้ถกระบุเอาไว้ว่า “เอาเงือกเกี้ยวข้าง”

แต่ “เงือก” ในที่นี้ไม่ใช่ “นางเงือก” อย่างที่คุ้นๆ กันในภาษาไทยปัจจุบันนะครับ เพราะในร่ายโบราณตอนนี้เขาหมายถึง “พญานาค” ชื่อ “วาสุกรี” (พราหมณ์อินเดียเรียก วาสุกิ) ที่ตามความเชื่อของพ่อพราหมณ์ทั้งในชมพูทวีป และอุษาคเนย์นั้นเชื่อว่า พระอิศวรท่านใช้เป็นสังวาลย์ประจำองค์อยู่เสมอ

และ “พญานาค” นั้นก็คือ “งู” ที่มีฤทธิ์อิทธิเดชเหนือธรรมชาตินั่นเอง

ดังนั้น “เงือก” จึงเป็นคำเก่าที่หมายถึง “งู” โดยไม่จำเป็นว่าหมายถึง งูที่มีหงอน อย่างพญานาค เช่นเดียวกับคำว่า “เงี้ยว” ซึ่งก็คืองู อย่างที่มีวลีว่า “งูเงี้ยวเขี้ยวขอ” ด้วยเช่นกัน

ที่สำคัญก็คือ ทั้งป่าหิมพานต์ รวมไปถึงส่วนอื่นๆ ของโลก ในจักรวาลวิทยา (cosmology) ของปรัมปราคติจากชมพูทวีป ที่อุษาคเนย์รับเอามาพร้อมคติความเชื่อในศาสนาพุทธ และพราหมณ์-ฮินดูอื่นๆ นั้น ก็ไม่มีสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า นางเงือก หรือนายเงือก ในความหมายของคนครึ่งปลา ที่มีร่างกายท่อนบนเป็นมนุษย์ และมีร่างกายส่วนล่างตั้งแต่สะโพกเป็นต้นไปเป็นหางปลาเลยด้วยซ้ำ

พูดง่ายๆ ว่า ในโลกของภาษาไทย อย่างน้อยก็ตั้งแต่ยุคก่อนสถาปนา-แรกสถาปนากรุงศรีอยุธยานั้น เรายังไม่รู้จักกับเงือกในความหมายของคนครึ่งปลา แต่มีคำว่าเงือกใช้ในความหมายว่างู หรือพญานาค เท่านั้น

 

พวกฝรั่งเองดูจะมีอะไรทำนองนี้เกี่ยวกับ “เงือก” ในความหมายของคนครึ่งปลาเหมือนกัน

ในเทพปกรณ์ของพวกกรีก มีสัตว์มหัศจรรย์ซึ่งมีรูปร่างเป็นครึ่งคนครึ่งนก คือมีร่างกายท่อนบนเป็นมนุษย์ ส่วนท่อนล่างเป็นนก แต่บางทีก็ถูกแสดงออกมาในงานศิลปะด้วยรูปนกที่มีหัวเป็นมนุษย์ ทีเรียกกันว่า “ไซเรน” (Siren)

พวกมันมีถิ่นที่อยู่ตามเกาะแก่ง หรือโขดหินในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน โดยเฉพาะละแวกเขตประเทศอิตาลีในปัจจุบัน พวกไซเรนจะคอยขับขานเสียงร้องเป็นเพลงที่หวานรื่นเสนาะหูออกมา เพื่อหลอกล่อให้ชาวเรือเคลิบเคลิ้มแล้วกระโดดลงทะเลจนจมน้ำตาย

มหากาพย์โอดิสซี (Odyssey) ของมหากวีโฮเมอร์ (Homer) ซึ่งเชื่อกันว่า ประพันธ์ขึ้นเมื่อราว 800 ปีก่อนคริสตกาลนั้น ได้เล่าว่า โอดิซิอุส (Odysseus, พระเอกของเรื่องผู้ทำให้มหากาพย์เรื่องนี้มีชื่อว่า โอดิสซี) ได้รับคำแนะนำจากเทพีเซอร์ซี (Circe, บางตำนานก็ว่าเป็นแม่มด หรือผู้วิเศษ) ให้เอาขี้ผึ้งมาอุดหูของลูกเรือของเขาให้หมดทุกคน เพื่อจะให้ไม่ได้ยินเสียงของพวกไซเรน

แต่ตัวของโอดิสซิอุสเองนั้น ต้องการที่จะได้ยินเสียงเพลงจากเหล่าไซเรนสักครั้ง เขาจึงไม่เอาขี้ผึ้งมาอุดหู แต่เอาตัวเองผูกไว้กับเสากระโดงเรือ เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้ตัวเองต้องมนต์แห่งเสียงเพลงจนตาย พร้อมกับเป็นการช่วยให้เขาไม่บังคับเรืออกนอกเส้นทางเพราะถูกมนต์สะกดเอาได้

ในขณะที่เอกสารภาษาละตินของปูบิลุส โอวิดิอุส นาโซ่ (P?blius Ovidius N?s?) หรือที่ในโลกภาษาอังกฤษรู้จักเขาในชื่อว่า “โอวิด” (Ovid, มีชีวิตอยู่ในช่วงระหว่าง 43 ปีก่อนคริสตกาล-ค.ศ.17 หรือ 18) ที่ชื่อ “Metamorph?se?n libr?” หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า “Metamorphoses” ที่มีความหมายแปลเป็นภาษาไทยตรงตัวได้ว่า “หนังสือที่ว่าด้วยการกลายร่าง” นั้น ได้อ้างว่า แต่เดิมพวกไซเรนเป็นเพื่อนมนุษย์ของเทพีพืชพรรณธัญญาหาร และความอุดมสมบูรณ์แห่งฤดูใบไม้ผลิที่ชื่อ เพอร์เซโฟเน่ (Persephone)

เพอร์เซโฟเน่เป็นเทพีรูปงามเสียจนเทพเจ้าแห่งบาดาล และนรกภูมิอย่างฮาเดส (Hades) พึงตาพึงใจ จนได้ฉุดคร่าเอาพระนางไปเป็นชายาที่โลกบาดาลด้วยกัน (เพอร์เซโฟเน่จึงถูกบูชาในฐานะราชินีแห่งโลกบาดาลด้วย)

ในระหว่างที่ถูกฉุดคร่านั้นบรรดาเพื่อนมนุษย์ของไท้เธอพยายามออกตามหาพระนางไปทุกหนแห่ง แต่ก็ไม่เจอ พวกเธอจึงอ้อนวอนต่อบรรดาเทพเจ้าให้พวกตนเองมีปีก เพื่อจะได้บินข้ามทะเลสมุทรตามหาพระนางได้ เหล่าทวยเทพจึงให้พรพวกเธอตามที่ขอ และก็ทำให้เกิดเป็นบรรดาไซเรนขึ้นมาในที่สุด

แต่จู่ๆ พวกฝรั่งก็จับ “ไซเรน” ตัดต่อพันธุกรรมจาก “นก” ให้กลายเป็น “ปลา” มันเฉยๆ เสียอย่างนั้น

 

นักโบราณคดีพบหลักฐานการจับเอาไซเรนมาเปลี่ยนสปีชีส์ จากนกมาเป็นปลา ในภาพเขียนบนภาชนะดินเผาที่พบที่เมืองเอเธนส์ ประเทศกรีซ ที่มีอายุอยู่ในช่วง 300 ปีก่อนคริสตกาล และภาพเขียนบนตะเกียงดินเผาบางชิ้นของชาวโรมัน แต่หลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรเพิ่งจะปรากฏในหนังสือประเภทสัตว์มหัศจรรย์และถิ่นที่อยู่ จากสหราชอาณาจักรที่เขียนด้วยภาษาละตินที่ชื่อ “Liber Monstrorum”

หนังสือเล่มที่ว่านี้เขียนขึ้นในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 8 แต่ถูกตัดลอกอย่างแพร่หลายในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 9-10 คือเป็นเวลานับพันปี โดยมีข้อความพรรณนาถึงไซเรนเอาไว้ว่า

“หญิงสาวแห่งท้องทะเล…มีรูปร่างดุจสาวพรหมจารี แต่มีหางเป็นปลาที่มีเกล็ด”

หนังสือเล่มที่ว่านี้ เขียนขึ้นในช่วงยุคกลางของยุโรป (คริสต์ศตวรรษที่ 5-15) ซึ่งไซเรนที่มีลักษณะเป็นครึ่งคนครึ่งปลานั้น ดูจะเป็นที่แพร่หลายกว่าลักษณะครึ่งคนครึ่งนก เหมือนในปรัมปราคติของชาวกรีก ส่วนคำว่า “mermaid” ที่แปลตรงตัวว่า หญิงสาวแห่งทะเล (ถ้าเป็นผู้ชายเรียก merman) ก็ดูจะเป็นคำที่รู้จักแพร่หลายแล้ว

อันที่จริงแล้ว เจ้าสิ่งมีชีวิตมหัศจรรย์ครึ่งคนครึ่งปลา อย่างที่เรียกในโลกภาษาไทยทุกวันนี้กันว่า “เงือก” นั้น เคยมีอยู่ก่อนแล้วในวัฒนธรรมส่วนอื่นๆ ของโลก ข้อความในพันธสัญญาเดิม (The Old Testament) พระธรรม 1 ซามูเอล (I Samuel 5 : 1-6) ว่าด้วยบทลงโทษของพระเจ้าต่อชาวฟิลิสไตน์ (Philistines) ที่เมืองแอชดอด หลังจากที่พวกฟิลิสไตน์นำหีบพันธสัญญา (Ark of Covenant) ไปตั้งไว้ในเทวสถานแห่งเทพดากอน (Dagon) แสดงให้เรารู้ว่า ชาวฟิลิสไตน์ที่เมืองแอชดอด (เมืองท่าแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ในเขตประเทศอิสราเอลในปัจจุบัน) เคยนับถือเทพเจ้าที่มีร่างกายท่อนบนเป็นมนุษย์ และมีร่างกายท่อนร่างเป็นหางปลา เช่นเดียวกับเมอร์แมนในโลกภาษาอังกฤษ

ในเอกสารโบราณเรื่อง “Bibliotheca Historica” หรือที่รู้จักในโลกภาษาอังกฤษว่า “Historical Library” ของนักประวัติศาสตร์เชื้อสายกรีกอย่าง ดิโอดอรุส ซิคุลุส (Diodorus Siculus, มีชีวิตอยู่ในช่วงราวศตวรรษที่ 1 ก่อนคริสตกาล) ได้กล่าวถึงลัทธิการบูชาเทพีที่มีร่างกายท่อนบนเป็นมนุษย์ และมีท่อนล่างเป็นปลา ที่เขาเรียกว่า เดอร์เคโต (Derketo) ที่เมืองแอชเคลอน (Ashkelon) ซึ่งก็เป็นเมืองท่าอีกแห่งในเขตประเทศอิสราเอลปัจจุบันนี้

จะสังเกตได้ว่า เทพเจ้าที่มีรูปร่างเป็นมนุษย์กึ่งปลาเหล่านี้จะถูกบูชาอยู่ในพื้นที่เมืองท่า (ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเลยสักนิด เมื่อคิดถึงความเกี่ยวข้องระหว่างน้ำกับปลา) ของชายฝังทะเลเมดิเตอร์เรเนียนฟากตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่โซนทวีปเอเชียในช่วงเก่าก่อนหน้าที่คริสต์ศาสนาจะบังเกิดขึ้น

เทพเจ้าเหล่านี้ถูกลดฐานะลงเป็นเพียงแค่สิ่งมีชีวิตมหัศจรรย์ในโลกยุโรป โดยถูกสวมทับเข้ากับไซเรน ซึ่งตามตำนานว่ามีชีวิตอยู่กลางทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเหมือนกัน และยังมีเค้าเรื่องที่ต่อเนื่องกันอยู่

เมื่อพิจารณาถึงเรื่องเสียงอันไพเราะของเงือก เช่นเดียวกับเสียงของไซเรน โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ยุคกลาง ที่คริสต์ศาสนามีอำนาจและบทบาทอย่างสูงในยุโรป มีตำนานเรื่องเกี่ยวกับเงือกชายหญิง กระจายไปทั่ว โดยเฉพาะพื้นที่ติดกับทะเล

 

กรุงศรีอยุธยาในยุคปลายก็รู้จักนางเงือกแบบฝรั่งนี้แล้วนะครับ เพราะมีรูปเขียนของเงือกอยู่ในสมุดภาพไตรภูมิมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายแล้ว แถมรูปร่างหน้าตาของเงือกในสมุดภาพพวกนี้ ก็ยังเหมือนกับเงือกของฝรั่งอย่างไม่ผิดเพี้ยน เพราะมีร่างกายท่อนบนเป็นมนุษย์ ส่วนท่อนล่างนั้นเป็นปลาจริงๆ คือไม่มีขา แต่ไม่มีชื่อเรียกกำกับเอาไว้ว่า เงือกหรือเปล่า?

คำว่า “เงือก” ในความหมายของครึ่งคนครึ่งปลาในโลกภาษาไทยนั้น เพิ่งจะมามีหลักฐานชัดๆ เอาก็เมื่อสุนทรภู่แต่งเรื่อง “พระอภัยมณี” ขึ้นมา แต่เงือกของสุนทรภู่นั้นแตกต่างออกไปจากเงือกของฝรั่ง เพราะถึงจะมีหางอย่างปลา แต่ก็มีขาอย่างมนุษย์ เพราะว่าในพระอภัยมณี สุนทรภู่ได้พรรณนาถึงตอนที่นางผีเสื้อสมุทรจับพ่อแม่เงือกกินเอาไว้ว่า

“แล้วนางยักษ์หักขาฉีกสองแขน ไม่หายแค้นเคี้ยวกินสิ้นทั้งคู่”

เอาเข้าจริงแล้ว อะไรที่เรียกว่า “เงือก” นั้น จึงมีความเปลี่ยนแปลงทั้งในแง่ของรูปร่างหน้าตา และชื่อที่ใช้เรียก แต่ต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลาและวัฒนธรรมมาเสมอ และถ้าจะมีใครลุกขึ้นมาสร้างภาพยนตร์ให้นางเงือกมีผิวสี มันก็คงจะเป็นแค่อีกหนึ่งในความเปลี่ยนแปลงของเจ้าสิ่งมีชีวิตในจินตนาการชนิดนี้ ด้วยเงื่อนไขอะไรก็ตามทางวัฒนธรรมในอีกยุคสมัยหนึ่งก็เท่านั้นแหละครับ •