PLAN 75 วันเลือกตาย / เครื่องเคียงข้างจอ : วัชระ แวววุฒินันท์

วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ

วัชระ แวววุฒินันท์

 

PLAN 75 วันเลือกตาย

 

หลายคนอาจจะได้ชมภาพยนตร์ญี่ปุ่นเรื่องนี้ไปแล้ว หรืออาจจะเคยอ่านเรื่องราวของภาพยนตร์ “PLAN 75 วันเลือกตาย” นี้บ้างก็ได้

ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการกล่าวขวัญเมื่อนำออกฉายในเทศกาลหนังเมืองคานส์ที่ผ่านมา ได้รับเสียงชื่นชมจากนักวิจารณ์และผู้ชมอย่างมาก การันตีด้วยการเป็นตัวแทนประเทศญี่ปุ่น ในการส่งเข้าชิงรางวัลสาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม สำหรับรางวัลออสการ์ในปีหน้า

เท่านี้ก็เพียงพอต่อการกวักมือให้เข้าไปชมในโรงภาพยนตร์แล้ว

แต่เมื่อได้ชมจริงๆ ยิ่งรู้สึกว่า “ไม่น่าพลาด” เลยจริงๆ

“PLAN 75 วันเลือกตาย” เป็นเรื่องที่จับเอาประเด็นผู้สูงอายุของประเทศญี่ปุ่นมานำเสนอแบบตรงๆ ชัดๆ ซึ่งทุกคนคงทราบดีแล้วว่า ตัวเลขประชากรผู้สูงอายุของญี่ปุ่นนั้นเป็นอันดับหนึ่งของโลก

ข้อมูลจากสื่อ The Asahi Shimbun ที่รายงานไว้เมื่อกันยายนปีที่แล้วว่า ญี่ปุ่นมีประชากรอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไปถึง 28.52 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 22.8 ของประชากรทั้งหมด นั่นคือเกือบ 1 ใน 4 ทีเดียว สิ่งที่ตามมาคือการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลเพื่อรองรับผู้สูงอายุเหล่านี้มีจำนวนสูงมาก ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจถดถอยในหลายปีที่ผ่านมา ประเด็นดังกล่าวจึงถูกพูดถึงอย่างมากในประเทศญี่ปุ่น

มีการถกเถียงเรื่องนี้เป็นวงกว้าง โดยเฉพาะกับคนหนุ่มสาว ที่เริ่มรู้สึกว่า “คนแก่” เป็นภาระทั้งของตนเองและประเทศชาติ ถึงกระนั้นก็มีคนที่หากินกับเงินสวัสดิการก้อนนี้

คงเคยได้ยินข่าวที่คนหนุ่มสาวบางคนตั้งใจที่จะไม่แจ้งว่าผู้สูงอายุในครอบครัวเสียชีวิต เพื่อที่จะยังคงได้รับเงินช่วยเหลือผู้สูงวัยจากรัฐมาใช้จ่าย บางคนต้องเก็บซากศพของญาติผู้ใหญ่นั้นไว้ในบ้านเป็นปีๆ

เคยเกิดเหตุการณ์ที่เศร้าสลดเมื่อราวปี 2016 ที่มีชายคนหนึ่งได้ลงมือสังหารผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ในสถานดูแลผู้สูงอายุไปทั้งสิ้น 19 คน และบาดเจ็บกว่า 40 คน โดยมีแรงจูงใจมาจากความคิดที่ว่า คนเหล่านี้ไร้ประโยชน์และเป็นภาระของสังคม

ซึ่งหนังเรื่องนี้ ก็ได้เปิดเรื่องด้วยเหตุการณ์ทำนองนี้เช่นกัน ดึงให้คนดูหดหู่และตกใจไม่น้อย ก่อนจะพาไปสำรวจเรื่องราวผ่านตัวละครหลากหลายวัยเพื่อสะท้อนถึงปัญหานี้

หนังเล่าว่า PLAN 75 เป็นชื่อโครงการที่รัฐบาลสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาผู้สูงอายุ เปิดโอกาสให้คนที่มีอายุ 75 ปีขึ้นไปสมัครเข้าร่วมโครงการ ผลคือพวกเขาสามารถเลือกจบชีวิตตัวเองลงได้ โดยรัฐบาลจะสนับสนุนทุกอย่างให้ ทั้งมีเงิน 1 แสนเยนให้ได้ใช้อย่างมีความสุขก่อนจะตาย และเมื่อตายแล้วก็จัดการศพและเผาให้ด้วย

ฟังดูน่าจะวิน-วิน เพราะสังคมของผู้สูงอายุในญี่ปุ่นอยู่ยากขึ้นทุกที ไม่ต้องพูดถึงการหวังว่าจะได้รับการดูแลจากลูกหลานอีกต่อไป เพราะคนรุ่นใหม่จำนวนมากไม่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ แค่ลำพังดูแลตัวเองให้รอดยังยาก เมื่อคนแก่ต้องอยู่ตามลำพังด้วยค่าใช้จ่ายที่แพงขึ้นจากเศรษฐกิจ งานการอาชีพก็ไม่มีใครจ้าง รวมทั้งโรคภัยไข้เจ็บที่มาเยือน จึงอาจจะดีกว่าก็ได้ หากตนเองจะเลือกจบชีวิตลง

โครงการนี้ได้กระตุ้นถึงความภาคภูมิใจของชาวญี่ปุ่นที่ชาตินิยมอย่างแรงกล้า สามารถยอมตายได้เพื่อประเทศชาติ และการสมัครเข้าร่วมโครงการนี้ก็เป็นเกียรติยศในระดับเดียวกัน

เลือกวันที่จะยอมตาย…เพื่อชาติ

หนังเล่าผ่านตัวละครต่างวัยและต่างที่มา เพื่อสะท้อนถึงมุมมองและวิธีคิดของคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ทำให้เนื้อหาของเรื่องไม่ยึดอยู่กับมุมของผู้สูงอายุอย่างเดียว เป็นวิธีที่ชวนให้ผู้ชมวัยต่างๆ ร่วมขบคิดไปด้วยได้อย่างชาญฉลาด

โดยมีตัวละครหลักคือ หญิงสูงวัยอายุ 78 ปี ในเรื่องชื่อ “มิจิ” รับบทโดยนักแสดงรุ่นใหญ่ของญี่ปุ่น “จิเอโกะ ไบโช” วัย 81 ปี ทำงานเป็นพนักงานทำความสะอาดในโรงแรมแห่งหนึ่งร่วมกับเพื่อนวัยไล่เลี่ยกัน จู่ๆ เธอและเพื่อนๆ ก็ถูกเลิกจ้าง และบ้านที่เช่าอยู่ก็จะถูกยึดคืน เธอไม่มีใครในชีวิตเพราะสามีได้เสียชีวิตไปก่อนแล้ว นั่นเป็นจุดพลิกผันของชีวิตที่ท้าทายหญิงอายุ 78 ปีอย่างเธอมาก

มิจิเดินหาที่อยู่ใหม่ก็ไม่มีใครให้เช่า นอกจากจะจ่ายค่าเช่าล่วงหน้าเป็นปี คงเพราะไม่แน่ใจว่าเธอจะมีปัญญาหาเงินมาจ่ายค่าเช่าได้ไหม และจะมีชีวิตอยู่ได้อีกนานแค่ไหน การหางานทำใหม่ของเธอก็ติดขัดด้วยอายุ สุดท้ายภาพที่สะท้อนใจคนดูอย่างมากคือ เธอต้องไปรับจ้างยืนโบกรถริมถนนที่มีการก่อสร้าง ท่ามกลางอากาศที่หนาวเหน็บยามค่ำคืน

เพื่อนที่เคยไปมาหาสู่หรือโทรศัพท์คุยกัน ก็มีอันต้องจากไปตามลำพังในบ้านของตนเอง ยิ่งทำให้เธอตัดสินใจรับบริการจากโครงการ PLAN 75 ด้วยความจำยอม

ส่วนตัวละครอื่นๆ ก็ล้วนเป็นคนที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ทั้งสิ้น

ตั้งแต่เจ้าหน้าที่สาวที่ชื่อ “ยูโกะ” ที่มีหน้าที่โทรศัพท์พูดคุยวันละ 15 นาทีกับเธอ ก่อนที่จะถึงกำหนดวันที่เธอเลือกตาย ซึ่งมิจิก็ได้ถามว่าทำไมเขาไม่ให้เจอหน้ากัน หญิงสาวตอบว่า คงกลัวที่จะเกิดความสัมพันธ์กันระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้สมัครร่วมโครงการ ซึ่งมีนัยยะว่าความสัมพันธ์นั้นอาจจะทำให้ผู้สูงอายุเกิดเปลี่ยนใจยกเลิกการรับบริการก็ได้ ซึ่งไม่ใช่จุดประสงค์ที่ต้องการเลย

แม้กระนั้นทั้งคู่ก็ได้ลักลอบพบกัน แม้จะเป็นแค่ครั้งเดียวก็ได้ทำให้มิจิมีความสุข อย่างน้อยก็มีคนที่ใช้ชีวิตร่วมกับเธอบ้าง แม้จะด้วยเวลาสั้นๆ ก็ตาม ซึ่งจากการได้พูดคุยทางโทรศัพท์ที่ผ่านมาก็ทำให้เธอรู้สึกใกล้ชิดกับหญิงสาวคนนี้ไม่น้อย

และเมื่อถึงจุดหนึ่ง ยูโกะเองก็รู้สึกสับสนว่า งานที่เธอทำอยู่นี้เหมาะสมถูกต้องแล้วหรือไม่

 

ตัวละครอีกคนหนึ่งชื่อ “ฮิโรมุ” เขาเป็นเจ้าหน้าที่ของโครงการที่เป็นด่านหน้า คือ คอยตั้งโต๊ะรับสมัครผู้สนใจร่วมโครงการ ให้รายละเอียดต่างๆ และชักชวนให้ใช้บริการ เหมือนเซลส์ขายสินค้ายังไงยังงั้น เขาคนนี้ได้ขายบริการนี้กับมิจิด้วย โดยนึกไม่ถึงว่าลูกค้าคนหนึ่งที่มาใช้บริการนั้นเป็นลุงของเขาที่ไม่ได้เจอะเจอกันมา 20 ปี

ความจริงฮิโรมุจะไม่ต้องสนใจลุงของเขาเลยก็ได้ เพราะไม่มีความผูกพันกันแน่นแฟ้นอะไร หนังบอกแบ๊กกราวด์สั้นๆ แค่ว่า ลุงคนนี้ไม่ถูกกับพ่อของเขา แม้ตอนพ่อตาย ลุงก็ไม่ได้มาร่วมงานศพ

เมื่อได้แนะนำตัวว่าตนเป็นใคร เขาก็ได้ใช้เวลาหนึ่งวันกับการไปหาลุงที่บ้านพักเล็กๆ ซอมซ่อ ทั้งคู่ทำอาหารกินกันและพูดคุยกัน นั่นก็เพียงพอให้เขารู้สึกผิดหากจะละเลยลุงของเขาคนนี้ไป โดยเฉพาะกับช่วงสุดท้ายของชีวิตที่ไม่มีใคร แต่ตอนนี้ลุงมีเขาเข้ามาในชีวิตแล้ว

ในวันที่ลุงของเขาได้เลือกวันตาย เขาได้ตัดสินใจทำอะไรบางอย่างตามที่หัวใจเขาเรียกร้อง

อีกตัวละครหนึ่งนั้น เป็นสาวฟิลิปปินส์ที่มาทำงานรับจ้างที่ญี่ปุ่น ชื่อว่า “มาเรีย” เพื่อเก็บเงินรักษาลูกสาวตัวน้อยที่เป็นมะเร็ง แม้ความหวังของเธอจะริบหรี่แต่เธอก็จะสู้ เธอเปลี่ยนงานเดิมมาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลที่จะดูแลผู้ร่วมโครงการนี้หลังจบชีวิตลง เธอจึงพบกับผู้เสียชีวิตทุกๆ วัน

มาเรียรู้สึกสับสนและขัดแย้งไม่น้อย ในขณะที่เธอพยายามดิ้นรนทุกวิถีทางที่จะต่อชีวิตให้ลูกสาวของเธอ แต่ก็มีคนอีกหลายคนเลือกที่จะจบชีวิตลงเพียงลำพัง ชีวิตมันคืออะไรกันแน่?

งานหนึ่งของเธอคือ การแยกของของผู้ตายเพื่อนำไปทิ้งหรือทำลาย เจ้าหน้าที่ชายที่ร่วมทำงานด้วยกันยื่นนาฬิกาเรือนทองของผู้ตายให้เธอ บอกให้เธอเอาไปใช้ แต่เธอปฏิเสธ เขาบอกว่า “ผู้ตายไม่ได้ใช้แล้ว หากทิ้งไปก็เท่ากับเพิ่มขยะให้กับโลก” เธอรับมันมาด้วยความสับสน และวันหลังเธอก็พบของที่ผู้ตายทิ้งไว้ในกระเป๋า เป็นเงินสดปึกหนึ่งที่แน่นอนว่ามันย่อมมีค่ากับเธอและชีวิตลูกน้อยของเธอ

เธอเลือกจะทำยังไง?

หนังเรื่องนี้ไม่ได้บอกว่าโครงการนี้ดีไม่ดี หรือความคิดของใครผิดหรือถูก เพราะแต่ละคนมีที่มาและเหตุผลในชีวิตแตกต่างกัน

แต่สิ่งที่หนังพาเราไปสำรวจคือ เรื่องคุณค่าของชีวิต และความสัมพันธ์ของมนุษย์

หากมนุษย์เราปราศจากซึ่งความสัมพันธ์ใดๆ กันแล้ว แม้จะมีชีวิตอยู่ร่วมกัน ใกล้กัน ก็อาจจะไม่มีความหมายและคุณค่าต่อการ “มีชีวิต” อยู่ก็ได้

เพราะการมี “ความสัมพันธ์” ได้เติมเต็มความเป็นมนุษย์ และได้ช่วยเยียวยาบาดแผลและลดทอนปัญหาในใจของคนเราได้ไม่น้อย

ไม่อย่างนั้นแม้เราจะยังหนุ่มยังสาว เราก็อาจจะว้าเหว่ หวาดหวั่น ไม่ต่างอะไรจากคนสูงอายุเลยก็ได้

 

หนังเรื่องนี้เป็นฝีมือสร้างของผู้กำกับฯ หญิง “จิเอะ ฮายากาวะ” ที่เป็นผลงานภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของเธอ นับว่าใช้ได้เลยทีเดียว เพราะเธอสามารถควบคุมน้ำหนักของการเดินเรื่องได้อย่างลื่นไหลและชวนติดตาม สามารถสะท้อนประเด็นต่างๆ ออกมาได้อย่างดี

อีกอย่างหนึ่งที่ชอบคือ ตอนไตเติลที่เสนอชื่อเรื่อง PLAN 75 นั้น ผู้สร้างจงใจที่จะให้คำว่า PLAN นั้นชัดเจน แต่สำหรับตัวเลข 75 ที่ตามมากลับพร่ามัว เหมือนกับชีวิตที่มัวหม่นของคนวัย 75 ของเรื่องเสียจริงๆ

ใครได้ชมแล้วน่าจะต้องใช้เวลาขบคิดกับตัวเองไม่น้อย ว่าหากเป็นเราแล้ว เราจะเลือกทำอย่างไรกับชีวิตดี เป็นคำถามที่ไม่ได้ถามเฉพาะคนอายุ 75 เท่านั้น

คนทุกวัยควรจะต้องคิด และตอบกับตัวเองให้ได้ •