มุมมองในห้วง 10 ปี ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ ชี้ไร้วัฒนธรรมการเมือง สลายชุมนุมปี 2553 ‘เราเสียใจ’/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

มุมมองในห้วง 10 ปี

‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’

ชี้ไร้วัฒนธรรมการเมือง

สลายชุมนุมปี 2553 ‘เราเสียใจ’

 

แม้จะอยู่ในช่วงเว้นวรรคการเมือง แต่ชื่อของ “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยจากพรรรคประชาธิปัตย์ ก็ยังถูกพูดถึงอยู่บ่อยครั้งในแวดวงการเมือง

ล่าสุด ในโอกาสครบรอบ “10 ปีมติชนทีวี” ทีมข่าวการเมืองมติชนทีวีมีโอกาสได้สัมภาษณ์อดีตนายกฯ 2 สมัย ถึงประเด็นมุมมองการเมืองไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีสิ่งที่ไหนที่พัฒนา ปัญหาไหนที่ยังคงอยู่

และความผิดพลาดอะไรที่ฝังใจอดีตนายกฯ ผู้นี้บ้าง

: 10 ปีที่ผ่านมา เห็นพัฒนาการ-ปัญหาอะไรในการเมืองไทยบ้าง

เริ่มต้นจากการเทียบก่อนว่า 10 ปีที่แล้วเราอยู่ตรงไหน 10 ปีที่แล้วเราอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยระดับหนึ่ง วันนั้นเรามีกติกาที่ค่อนข้างเป็นประชาธิปไตย มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นรัฐบาลของคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แน่นอนมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ทุกอย่างก็อยู่ในสภาวะของประชาธิปไตยที่ทำงานตามปกติ

ตัดภาพมาเป็นปัจจุบันเราก็เห็นชัดเจนว่าถ้าประเมินในแง่ของความเป็นประชาธิปไตยมันถอยหลังไปหลายก้าว

จริงๆ ต้องบอกว่าถอยหลังไปถ้าเทียบใกล้เคียงที่สุดก็อาจจะเป็นปี 2521 เท่ากับเราถอยหลัง 30-40 ปี ใช่ไหมครับ นอกจากนั้นสิ่งที่เรายังมองเห็นก็คือว่า บทบัญญัติต่างๆ ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่มีความไม่เป็นประชาธิปไตย ก็จะยังคงมีผลอยู่ไปอีกระยะหนึ่ง อันนี้พูดถึงเฉพาะกติกา

แต่ในทางสภาพของการเมือง ผ่านไป 10 ปี เราเห็นว่ามันมีมิติของความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้น มันยังมีความกังวลอยู่ตลอดเวลาว่าประเทศจะสามารถเดินไปอย่างราบรื่นหรือไม่ ท่ามกลางปัจจัยทางการเมืองต่างๆ

ฉะนั้นถ้าถามผมว่ามอง 10 ปีอย่างไร ก็ต้องยอมรับตรงไปตรงมาว่าเราถอยหลัง การถอยมาครั้งนี้มันยังไม่มีภาพที่ชัดเจนว่าจะกลับไปเดินหน้าได้ในรูปแบบไหน เร็วแค่ไหน

แต่ถ้าถามว่าทั้งหมดที่เกิดขึ้น มันเป็นผลพวงจากเหตุการณ์ใน 10 กว่าปีที่ผ่านมาหรือเปล่า ผมก็คงต้องตอบว่ามันไม่ใช่ มันสะท้อนมาจากปัญหาที่ลึกและยาวนานกว่านั้นที่เกี่ยวข้องกับสังคมไทยกับประชาธิปไตยของไทย ซึ่งถ้าจะไล่ดูปัจจัยต่างๆ เช่น ประเทศไทยก็เหมือนกับหลายประเทศที่เคยมีรัฐประหาร และการรัฐประหารกลายเป็นทางเลือกหรือทางออกหนึ่งอยู่ตลอดเวลาทุกครั้งที่มันเกิดวิกฤต และการรัฐประหารถูกอ้างว่าจำเป็นเพราะเป็นทางออก ในขณะที่ถ้าเป็นประเทศที่เป็นประชาธิปไตยแล้ว เขาจะแสวงหาวิธีอื่นในการหาทางออก

ผมจะไม่โทษเฉพาะ 10 ปี หรอกแต่ว่ามันเป็นปัญหาที่ยาวนานมาตั้งแต่ก่อนผมเกิดด้วยซ้ำ

ประการที่สอง คือความเป็นประชาธิปไตยของแต่ละประเทศในโลก ไม่ได้ดูแล้วว่าอยู่ได้ด้วยลำพังเรื่องของกติกาที่เขียนอยู่ มันต้องมีวัฒนธรรมทางการเมืองที่รองรับ ตัวอย่างเช่นเราใช้ระบบรัฐสภา ถ้าเราดูทั่วโลกสถาบันการเมืองที่จะเป็นแกนหลักในการประคับประคองระบบรัฐสภาคือความเข้มแข็งของพรรคการเมือง เพราะพรรคการเมืองจะเป็นการรวมคนที่มีความคิด มีอุดมการณ์ใกล้เคียงกันเป็นตัวแทนประชาชน ประชาธิปไตยไทยตั้งแต่ก่อน 10 ปีที่แล้ว ยังไม่เคยก้าวพ้นตรงนี้

พรรคที่มีลักษณะที่พูดได้ว่าเป็นลักษณะเชิงสถาบัน อย่างน้อยในช่วงระหว่างนั้นก็อาจจะมีพรรคประชาธิปัตย์ แต่วันนี้คนอาจจะมองไปที่พรรคก้าวไกล แต่ว่าโดยรวมพรรคการเมืองอื่นๆ กลายเป็นเรื่องที่ยังผูกติดกับตัวบุคคลแล้วก็เป็นการตั้งขึ้นมา รวมตัวเพื่อประโยชน์ของคนที่ตัดสินใจว่าจะอยู่พรรคไหน เพื่อจะได้อำนาจ จะชนะเลือกตั้ง แต่ว่าตัวตนของพรรคยังขาดอยู่

ความจริงแล้วพรรคเพื่อไทยเองเขาก็มีชุดนโยบายที่ประสบความสำเร็จ ที่เป็นแกนเหมือนจะทำให้เขาสามารถก้าวไปสู่ความเป็นสถาบันพรรคการเมืองได้ แต่อันนั้นก็ถูกบดบังโดยเงาของครอบครัวชินวัตร ถ้าพูดตรงไปตรงมา ซึ่งก็ทำให้คนยังมีความรู้สึกว่ายังแยกกันไม่ออกระหว่างเรื่องของครอบครัวกับเรื่องของพรรค ฉะนั้นปัญหานี้ก็ยังเป็นปัญหาต่อเนื่อง

พอเรามีรัฐธรรมนูญปี 2560 มีระบบการเลือกตั้งแบบปี 2562 สภาพของพรรคการเมืองทั้งหมดมันอ่อนแอลง ประชาธิปไตยก็อ่อนแอ อย่างหนึ่งที่ผมพูดมาโดยตลอดคือประชาธิปไตยในระบบสภามันต้องมีวัฒนธรรมทางการเมือง นักการเมืองจะต้องมีความสำนึกในความรับผิดชอบที่สูงกว่าเรื่องของกฎหมาย เพราะในระบบรัฐสภา รัฐบาลมีเสียงข้างมาก ฉะนั้นถ้าคุณบอกว่าตัดสินทุกอย่างด้วยเสียงข้างมากมันก็ชนะอยู่ตลอดเวลา

แต่จะเห็นว่าในระบบรัฐสภาทั่วโลก รัฐมนตรีบางครั้งเป็นระดับผู้นำ จะแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก ไม่ต้องมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ไม่ต้องมีองค์กรอิสระ ไม่ต้องมีการไปขึ้นโรงขึ้นศาล แต่เมื่อใดก็ตามที่มันเกิดปัญหาซึ่งกระทบต่อศรัทธาของประชาชนที่มีต่อระบบการเมือง นักการเมืองในระบบรัฐสภาในประเทศเหล่านั้นเขาจะแสดงความรับผิดชอบ เป็นการรักษาศรัทธาต่อระบบการเมือง

แต่ของเราถลำลึกลงไปเรื่อยๆ นอกจากไม่ทำยังพยายามพึ่งกลไกของกฎหมายหรือองค์กรที่สร้างขึ้นมาใหม่ เพิ่มเติมมากขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นวันนี้ยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ พอเกิดเรื่องแบบนี้แทนที่จะมีการลาออก ส่วนใหญ่ก็จะท้าทายกันว่า ก็ว่าไปตามกระบวนการสิ และตัวกระบวนการเองก็มีปัญหาด้วย เพราะขณะนี้ก็ต้องพูดตรงไปตรงมาว่าคนก็เคลือบแคลงใจในหลายกระบวนการยุติธรรม เพราะฉะนั้นตรงนี้มันก็บั่นทอนทุกสิ่งทุกอย่างในแง่ของการที่จะสร้างระบบรัฐสภาที่มีความเข้มแข็ง การตอบกระทู้ถามในสภาเพื่อให้สภาเป็นเวทีที่มีความสำคัญในเรื่องที่อยู่ในความสนใจของประชาชน

สิ่งเหล่านี้เราไม่ได้สร้างเป็นวัฒนธรรมหรือเราไม่ประสบความสำเร็จในการสร้างเป็นวัฒนธรรม เราพยายามจะไปเขียนอะไรในกฎหมายแล้วเราก็ทำไม่ได้ อันนี้ผมยกเป็นตัวอย่างเรื่องรัฐประหารกับวัฒนธรรมทางการเมือง ที่มีส่วนสำคัญที่ทำให้การเมืองไทยถอยหลังมาจนถึงวันนี้

: ความผิดพลาดบนเส้นทางการเมือง ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ หรือในฐานะนักการเมืองทั่วไป คืออะไร?

แน่นอนในช่วงที่เป็นนายกรัฐมนตรี การที่เกิดเหตุการณ์ความสูญเสียขึ้นในการชุมนุมเป็นสิ่งที่เราเสียใจ มันไม่ได้เป็นความตั้งใจของเรา แล้วก็ยืนยันจากการถูกตรวจสอบมาแล้ว ทั้ง ป.ป.ช. ทั้งศาล ว่าเราไม่เคยมีเจตนาที่จะให้มันเกิดเช่นนั้น แต่ว่าเมื่อเราเป็นผู้บริหารสูงสุดแล้วมันเกิดเหตุขึ้น เราเองก็เสียใจแล้วก็ไม่อยากให้มันเกิดขึ้น ก็พยายามคิดอยู่ตลอดเวลาว่าเราจะทำอย่างอื่นได้ไหม เราคิดว่าเราพยายามอย่างเต็มที่ ทั้งเจรจา เจรจาไม่สำเร็จก็ยังเสนอเงื่อนไขฝ่ายเดียวเพื่อให้เหตุการณ์ต่างๆ มันยุติ

แต่ในแง่การเมือง มีการตัดสินใจอะไรผิดพลาด ที่อาจจะรู้สึกเสียใจในแง่นั้นก็คือ การที่เราไม่สามารถดึงคนที่เป็นผู้สนับสนุนเราในช่วงที่เราเป็นฝ่ายค้านหรือเป็นรัฐบาลก็แล้วแต่ แล้วก็ต่อสู้กับสิ่งที่เราเห็นว่ามันไม่ถูกต้องที่เกิดขึ้นในฝั่งคุณทักษิณ ชินวัตร ไม่สามารถโน้มน้าวให้เขาเข้าใจได้ว่าเราไม่ได้ต่อสู้กับบุคคลนะ เราต่อสู้กับการกระทำ กลายเป็นว่าคนที่เคยต่อสู้มากับความไม่ถูกต้องในสมัยของคุณทักษิณ ก็คิดว่ามันสำคัญกว่าที่จะต่อสู้กับคุณทักษิณ แทนที่จะต่อสู้กับสิ่งที่คุณทักษิณเคยทำแล้วบัดนี้คนที่เขาสนับสนุนเองก็ทำ

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กล่าวทิ้งท้ายว่า ผลจากความผิดพลาดในอดีต ได้กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ปัญหาทุกอย่างเลยเถิดจนมาสู่สภาพการเมืองในปัจจุบัน ทั้งวังวนความขัดแย้ง แบ่งสีเสื้อ

และการทำรัฐประหาร ตัวการสำคัญที่ทำให้การเมืองไทยล้าหลังและยากต่อการแก้ไข จนทุกอย่างย่ำแย่มาถึงทุกวันนี้

เป็นอีกเรื่องที่เสียใจมาตลอดเช่นกัน