คอฟฟี่เบรก ประภาส อิ่มอารมณ์/…เหรียญหลวงปู่มั่น… แหวนหลวงปู่ดู่…

คอฟฟี่เบรก
ประภาส อิ่มอารมณ์

…เหรียญหลวงปู่มั่น… แหวนหลวงปู่ดู่…

ด้วยความดีใจที่ได้ “เหรียญหลวงปู่มั่น” ปุบปับดังมีปาฏิหาริย์ มาจากมือเพื่อนที่ทำท่าพิศวงว่าอยู่ดีๆ มาเอ่ยหาเหรียญหลวงปู่มั่น และเขาเหลือติดตัวเพียงเหรียญสุดท้าย แต่ก็ยินดีให้เราเพราะเขาบอกว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ถ้าเป็นของใครก็มักจะได้มาครอบครองโดยไม่นึกไม่ฝันแบบนี้
และเชื่อว่าด้วยพลานุภาพของความเป็นผู้มีจริยวัตรปฏิปทางดงามในการปฏิบัติธรรมจนบรรลุถึงธรรมชั้นสูงของท่าน จะช่วยบันดาลให้ชีวิตที่เคยผกผันและระหกระเหินของเรา เปลี่ยนกลับมาสู่ความสงบและประสบกับเส้นทางชีวิตที่นำไปสู่ความสำเร็จที่ไม่เหมือนเดิม
…สาธุ ขอให้สมปรารถนาตามนั้นด้วยเถิด
จึงรีบนำท่านไปที่ร้านทองเพื่อเลี่ยมกรอบและหาสร้อยให้เหมาะสม แล้วคล้องคอท่านกลับมาที่ไซต์งานทันที แต่ไม่ได้เล่าเรื่องราวให้ลูกน้องฟัง ปล่อยให้พวกเขาคิดว่าเจ้านายกำลังไม่สบายใจเรื่องเหรียญปู่ทวดหายต่อไป เพื่อตัดการมาเซ้าซี้ชวนกันไปกินเหล้าเหมือนดังเดิม
สุดท้ายก็กลายเป็นพูดต่อๆ กันไปว่าเจ้านายได้ตั้งปฏิญาณในการไม่กินเหล้าแล้ว และจึงไม่มีใครกล้าออกปากชวน ซึ่งเข้าแผนของเราที่อยากให้เป็นดังนั้นจริงๆ

งานสร้างสนามกอล์ฟของพวกเรากำลังจะจบสิ้น จึงต้องมีการแยกย้ายจากกัน…
เราจึงขอเป็นเจ้ามือเลี้ยงส่งและขอบคุณทีมงานทุกคนที่ได้ร่วมมือร่วมใจกันทำงานชิ้นที่ได้รับมอบหมายมาสำเร็จเป็นที่พออกพอใจของเจ้าของทุน และขอเอาที่ร้านอาหารแพปลาทับทิมเป็นสถานที่จัดงานเหมือนเดิม โดยมีเงื่อนไขว่า เราจะเลี้ยงอาหารไม่อั้น แต่ไม่ขอเลี้ยงสุราเมรัย แต่ไม่ห้ามหากใครคิดอยากจะซื้อหากันเอง
ปรากฏว่า… เป็นที่น่ารักมาก ลูกน้องทุกคนให้เกียรติและมอบของขวัญให้ โดยของดดื่มของมึนเมาในวันนั้นตามเจ้านาย…
ช่างงดงาม และเป็นสิ่งประทับใจที่ได้รับจากพวกเขาก่อนที่เราจะต้องแยกย้ายจากกัน หลังที่ได้ใช้เวลาร่วมกันมาเกือบหนึ่งปี…ขอให้ทุกคนโชคดี
และ…ปรากฏการณ์ที่ไม่คาดฝันก็ตามมา เมื่อลูกน้องคนหนึ่งที่เป็นผู้ช่วยคนสำคัญซึ่งเราเอาเขาติดสอยห้อยตามมาตลอด และคงจะต้องจากกันตรงนี้ เพราะเราได้ฝากให้เจ้าของโครงการรับเขาเข้าเป็นพนักงานประจำ เพื่อดูแลสานต่อการเก็บรายละเอียดของงานที่จะต้องมีการซ่อมแซมต่อมา ตามขั้นตอนของทฤษฎีการดูแลสนามกอล์ฟสากล
แม้เขาจะดีใจที่เรายังให้ความเมตตาและห่วงใยอนาคตในการดำเนินชีวิตเขา แต่ก็เสียดายที่หมดโอกาสจะได้ยืนหยัดร่วมกันทำงาน อย่างรู้มือรู้ใจอีกต่อไป จึงอยากมอบสิ่งที่มีค่าชิ้นหนึ่งของเขาไว้เป็นการตอบแทนบุญคุณและเป็นอนุสรณ์ที่เตือนให้เราคิดว่าเขายังอยู่ใกล้ชิดกับเราเสมอ…
เมื่อยกมือไหว้แสดงความคารวะก่อนจากกันเสร็จ เขาก็แบบมือที่มีแหวนเลี่ยมทองรูปร่างแปลกสวยสะดุดตา แล้วหยิบมาใส่นิ้วนางมือขวาของเราซึ่งสวมใส่กันได้อย่างกับไปวัดขนาดนิ้วกันมาก่อน
“ผมขอมอบแหวนหลวงปู่ดู่ ที่เคารพนับถือมาก ไว้เพื่อปกป้องและนำโชคให้เจ้านายครับ”

หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ เกิดในตระกูลหนูศรี เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ.2447 ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีมะโรง (ตรงกับวันวิสาขบูชา) โดยเป็นบุตรของนายพุดกับนางพุ่ม หนูศรี มีพี่สาวร่วมบิดามารดา 2 คน ท่านเป็นคนที่ 3 เป็นบุตรคนสุดท้อง
หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ อุปสมบท ณ วัดสะแก ตำบลธนู อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
โดยมีหลวงปู่กลั่น เจ้าอาวาสวัดพระญาติการาม เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงปู่แด เจ้าอาวาสวัดสะแก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ หลวงปู่ฉาย วัดกลางคลองสระบัว เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2468 ตรงกับวันอาทิตย์ แรม 4 ค่ำ เดือน 6 ได้รับฉายาว่า “พรหมปัญโญ”
ด้วยความที่ท่านเป็นผู้มีความใฝ่รู้จึงมีความเพียรที่ศึกษาทั้งด้านปริยัติและปฏิบัติ จากพระคณาจารย์ผู้ทรงภูมิรู้ภูมิธรรมในยุคนั้นหลายท่าน อาทิ หลวงพ่อกลั่น หลวงพ่อเภา ท่านเจ้าคุณเนื่อง พระครูชม หลวงพ่อรอด (เสือ) และอีกหลายๆ ท่านตามจังหวัดต่างๆ
หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ มีวิธีการเมตตาในสอนศิษย์ทั้งหลาย โดยอุบายธรรมสั้นๆ ง่ายๆ แต่มีความหมายลึกซึ้งในตัว
โดยเล่าจากเหตุการณ์ที่ท่านพบเห็นมากับตัวของท่านเองหรือได้มาจากการปฏิบัติธรรมอันยาวนานตลอดชีวิตท่าน
และบางครั้งก็กล่าวถึงพุทธประวัติ ธรรมบทหรือชาดกต่างๆ ตามแต่ท่านจะเห็นควร ในเวลาหรือโอกาสต่างๆ ที่จะนำมาสอนศิษย์เพราะลูกศิษย์แต่ละคนนั้นมีภูมิธรรมไม่เท่ากัน
คนที่เข้าวัดใหม่ๆ ท่านก็จะสอนแบบเข้าใจง่ายๆ แต่ลึกซึ้งและกินใจจน เสมือนหนึ่งว่าท่านสามารถรู้ถึงก้นบึ้งของความคิดของบรรดาลูกศิษย์ลูกหา

สุขภาพของหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ เริ่มทรุดโทรมนับตั้งแต่ พ.ศ.2527 เป็นต้นมา เนื่องการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ
สาเหตุจากการที่บรรดาศิษย์ทั่วทุกสารทิศ ที่หลั่งไหลกันมานมัสการท่านมากขึ้นทุกวันหลายคราหลายครั้งจนสุขภาพทรุดหนักมาก ท่านก็อุตส่าห์ออกโปรดญาติโยมเป็นปกติ
พระที่อุปัฏฐากท่าน เล่าว่า บางครั้งถึงขนาดที่ท่านต้องพยุงตัวเองขึ้นด้วยอาการสั่น และมีน้ำตาคลอเบ้า ท่านก็ไม่เคยปริปากให้ใครต้องเป็นกังวลเลย
แม้ว่าทางคณะแพทย์ได้กราบขอร้องหลวงปู่ให้เข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล แต่หลวงปู่ก็ปฏิเสธ
ภายหลังตรวจพบว่า หลวงปู่อาพาธด้วยโรคลิ้นหัวใจรั่ว
จนกระทั่งปลายปี พ.ศ.2532 หลวงปู่เริ่มพูดบ่อยครั้งกับบรรดาลูกศิษย์ เกี่ยวกับการละสังขารของท่าน
จนเมื่อวันอังคารที่ 16 มกราคม พ.ศ.2533 ช่วงเวลาบ่ายนั้น มีนายทหารอากาศผู้หนึ่งมากราบท่านเป็นครั้งแรก หลวงปู่ท่านได้ลุกขึ้นนั่งตอนรับด้วยใบหน้าที่สดใส ราศีเปล่งปลั่งเป็นพิเศษ จนบรรดาศิษย์เห็นผิดสังเกต
หลวงปู่ยินดีที่ได้พบกับศิษย์ผู้นี้ ท่านว่า “ต่อไปนี้ ข้าจะได้หายเจ็บไข้เสียที”
คืนนั้นมีคณะศิษย์มากราบท่าน ท่านได้พูดว่า “ไม่มีส่วนใดในร่างกายที่ไม่เจ็บปวดเลย ถ้าเป็นคนอื่นคงเข้าห้อง ICU ไปนานแล้ว”
พร้อมทั้งพูดหนักแน่นว่า “ข้าจะไปแล้วนะ”
และกล่าวปัจฉิมโอวาทย้ำให้ทุกคนตั้งอยู่ในความไม่ประมาท “ถึงอย่างไรก็ขอให้อย่าได้ละทิ้งการปฏิบัติ ได้ชื่อว่าเป็นนักปฏิบัติ ก็เหมือนนักมวย ขึ้นเวทีแล้วต้องชก อย่ามัวแต่ตั้งท่า เงอะๆ งะๆ”
คืนนั้นหลวงปู่ก็กลับเข้ากุฏิ และละสังขารไปด้วยอาการสงบในกุฏิท่าน เมื่อเวลาประมาณ 5 นาฬิกา ของวันพุธที่ 17 มกราคม พ.ศ.2533
รวมสิริอายุได้ 85 ปี 8 เดือน 65 พรรษา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ รัชกาลที่ 9 พระราชทานเพลิงศพองค์หลวงปู่ดู่ เมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ.2535

เมื่อได้ทั้งเหรียญหลวงปู่มั่น เสริมด้วยแหวนหลวงปู่ดู่ มาบูชาติดตัวไว้เสมอ และยึดมั่นคำให้สัจจะในการไม่ดื่มสุราของมึนเมา ชีวิตจึงมีแต่ความสงบ มีงานมีการในตำแหน่งและเงินเดือนสูงสุด จึงไม่ต้องหกระเหินโยกย้ายไปเหมือนดังก่อน…
และขอยืนยันว่า…สิ่งศักดิ์สิทธิ์มีจริง แต่อย่าไปงมงาย เพราะโดยการกระทำแต่ความดี คิดดี จะเป็นภูมิคุ้มกันอันตรายและสิ่งร้ายๆ ที่จะมาแผ้วพาน
และเชื่อว่าด้วยพลานุภาพของความเป็นผู้มีจริยวัตรปฏิปทางดงามในการปฏิบัติธรรมจนบรรลุถึงธรรมชั้นสูงของหลวงปู่ทั้งสองนั้น จะช่วยบันดาลให้ชีวิตที่เคยผกผันและระหกระเหินของเรา เปลี่ยนกลับมาสู่ความสงบ และประสบกับเส้นทางชีวิตที่นำไปสู่ความสำเร็จที่ไม่เหมือนเดิม
…สาธุ ขอให้สมความปรารถนาตามนั้นด้วยเถิด