คุยกับทูต : โอเล็กซานเดอร์ ลีซัค อาชญากรรมสงครามในใจกลางของยุโรป… ยูเครน ประเทศที่มีเอกราช เสรีภาพและความผาสุก

รายงานพิเศษ

ชนัดดา ชินะโยธิน

[email protected]

 

คุยกับทูต : โอเล็กซานเดอร์ ลีซัค

อาชญากรรมสงครามในใจกลางของยุโรป…

ยูเครน ประเทศที่มีเอกราช เสรีภาพและความผาสุก

 

แม้แต่สงครามก็ยังมีกฎเกณฑ์

หลายทศวรรษที่ผ่านมา ประชาคมระหว่างประเทศตัดสินใจที่จะยุติการเสียชีวิตของประชาชนจำนวนมากในระหว่างสงครามและความขัดแย้งทางอาวุธ

ดังนั้น กฎของสงครามจึงถูกสร้างขึ้น โดยห้ามมิให้มีการสังหารประชาชน การทำอันตราย การทรมานนักโทษ และการยิงอาวุธร้ายแรงไปสู่ถิ่นฐานที่ไม่มีการป้องกัน

แม้ว่ากฎของสงครามจะกำหนดไว้ในสนธิสัญญาระหว่างประเทศ เช่น อนุสัญญาเจนีวา, ธรรมนูญกรุงโรม, กฎหมายและข้อตกลงระหว่างประเทศอื่นๆ ซึ่งรัสเซียเป็นผู้ลงนามด้วยหลายฉบับ

แต่รัสเซียกลับถูกกล่าวหาว่าละเลยกฎเกณฑ์เหล่านี้

ด้วยการเหยียดหยามและละเมิดอย่างร้ายแรง ปูตินส่งทหารหลายพันนายไปยังยูเครนเพื่อที่จะวางระเบิด เพื่อที่จะทำลาย เพื่อที่จะทำการสังหารหมู่

นายโอเล็กซานเดอร์ ลีซัค (Mr. Oleksandr Lysak) อุปทูตรักษาการเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐยูเครนประจำราชอาณาจักรไทย ออกมาร่วมนำเสนอเรื่องนี้

นายโอเล็กซานเดอร์ ลีซัค (Mr. Oleksandr Lysak) อุปทูตรักษาการเอกอัครราชทูตยูเครนประจำราชอาณาจักรไทย

อาชญากรรมสงครามคือตัวแทนของความชั่วร้ายที่แท้จริง

ความรุนแรงเกิดขึ้นมากมายเหลือคณานับในระหว่างสงคราม เมื่อทหารรัสเซียจงใจโจมตีประชาชนยูเครนผู้รักสงบและทำลายโครงสร้างพื้นฐานของประชาชน สังหารผู้หญิงและเด็ก และตั้งเป้าไปที่หน่วยงานให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม นอกจากนี้ มีการใช้อาวุธและกระสุนที่ออกแบบมาเพื่อเข่นฆ่าประชาชนอย่างไม่เลือกปฏิบัติในวงกว้าง

การกระทำความผิดทางอาญาทั้งหมดนี้ ไม่ได้มีจุดประสงค์ทางทหาร

สหพันธรัฐรัสเซียและอาชญากรสงครามทั้งหมดที่ถูกส่งไปยังยูเครน จะต้องรับผิดชอบต่อความชั่วร้ายที่พวกเขาก่อขึ้นอย่างร้ายแรงที่สุด เรากำลังบันทึกทุกอาชญากรรมและความโหดร้ายอย่างรอบคอบระมัดระวัง โดยผู้รับผิดชอบทั้งหมดจะต้องถูกลงโทษ เพราะเราจะไม่มีวันลืมหรือให้อภัย และโลกก็เช่นเดียวกัน

ตัวอย่างของอาชญากรรมสงครามด้านล่างเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของความโหดร้าย และความน่าสะพรึงกลัวที่เกิดขึ้นในยูเครนขณะนี้ แต่ก็เพียงพอที่จะเข้าใจได้อย่างหนึ่งว่า ปูตินและระบอบอาชญากรรมของเขาจะต้องสิ้นสุดลง

เด็กผู้บริสุทธิ์ 358 คนถูกสังหารในช่วงเดือนแรกของสงครามยูเครนของรัสเซีย

การฆาตกรรมผู้บริสุทธิ์

“บุคคลที่ไม่มีส่วนร่วมในการสู้รบจะต้องได้รับการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรมในทุกสถานการณ์” – มาตรา 3 หน้า 1 อนุสัญญาเจนีวา (Geneva Convention) ฉบับที่สี่ 12.08.1949 (ให้ความคุ้มครองพลเรือน โดยเฉพาะพลเรือนที่อยู่ในพื้นที่ของฝ่ายตรงข้าม)

ส่วนนี้อุทิศให้กับผู้บริสุทธิ์ที่รัสเซียได้สังหารอย่างไร้ความปรานีระหว่างการทำสงครามกับยูเครน

คนเหล่านี้ไม่มีเครื่องแบบทหารหรืออาวุธ และพวกเขาไม่ได้ปฏิบัติงานด้านทหารใดๆ

คนเหล่านี้เป็นคนธรรมดา เช่นเดียวกับคุณและครอบครัวของคุณ หลายคนเป็นเด็ก

และพวกเขาถูกสังหาร

ผู้คนเริ่มจุดไฟที่ทางเข้าห้องใต้ดินเพื่อทำอาหาร ฟืนแรกคือโครงระเบียงซึ่งถูกยิงพังทลาย

การโจมตีประชาชนและโครงสร้างพื้นฐาน

“สิ่งของของประชาชนจะต้องไม่ตกเป็นเป้าหมายของการโจมตีหรือการตอบโต้ การโจมตีจะต้องถูกจำกัดอย่างเคร่งครัดเพียงวัตถุประสงค์ทางทหาร” – มาตรา 52 พิธีสาร เพิ่มเติมจากอนุสัญญาเจนีวา ฉบับที่สอง 08.06.1977 (การคุ้มครองเชลยศึกในดินแดนที่ถูกยึดครองในภาวะขัดกันทางกำลังทหารระหว่างประเทศ)

ส่วนนี้เน้นที่การโจมตีของรัสเซียต่ออาคารและโครงสร้างพื้นฐานของประชาชน

เป้าหมายของรัสเซียในสงครามครั้งนี้คืออะไร – บ้านของครอบครัวผู้รักสงบ, โรงพยาบาลที่ผู้คนต่างต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอด, โรงเรียนอนุบาล, วิทยาลัย และแม้กระทั่งที่หลบภัยระเบิด

พวกเขากำลังพยายามทำลายความหวังสุดท้ายของผู้คนในการเอาชีวิตรอด แม้ในขณะที่คุณกำลังอ่านข้อความนี้

นับตั้งแต่ที่เริ่มการรุกราน รัสเซียได้ยิงขีปนาวุธประมาณ 3000 ลูกใส่เมืองต่าง ๆ ของยูเครน

การทำลายล้างชุมชน

“…การทำลายล้างเมือง ชุมชน หรือหมู่บ้านอย่างป่าเถื่อน หรือการก่อความหายนะใดๆ ที่ไม่เป็นการสมควรแก่เหตุผลแห่งความจำเป็นทางทหาร ถือเป็นอาชญากรรมสงคราม” – กฎ VI(b) ของกฎนูเรม เบิร์กปี 1950 (1950 Nuremberg Principles)

(เพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำผิดโดยละเมิดจริยธรรมเช่นที่เกิดขึ้นในกองทัพนาซี)

ก่อนวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เมืองต่างๆ ของยูเครนเต็มไปด้วยความมีชีวิตชีวา ความเจริญรุ่งเรือง การพัฒนาที่เติบโตขึ้น ทั้งเมืองมาริอูโปล, เชร์นิฮีฟ, คาร์คีฟ, บูชา, อีร์พิน, โกสโตเมล…

ถนนในเมืองเหล่านี้เปรียบเหมือนถนนสายอื่นๆ ในยุโรป ซึ่งเต็มไปด้วยผู้คนที่ใช้ชีวิตอย่างสงบสุข

แต่หลังจากการรุกรานอันโหดร้ายของรัสเซีย ความหวาดกลัว ความตาย และความสิ้นหวัง ได้แผ่ขยายออกไปตามท้องถนนเหล่านี้


การฆาตรกรรมหมู่บูชา(Bucha) -พลเมืองที่เสียชีวิตถูกมัดมือและมีร่องรอยการถูกทารุณและการปฏิบัติอย่างโหดเหี้ยม ภาพ-กองกำลังอาสาสมัครแห่งกระทรวงกิจการภายในประเทศยูเครน ลูฮันสก์-1

ตัวประกันและการทรมาน

“ทุกคนไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้มาตรการใดๆ ในลักษณะที่ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานทางร่างกาย…ของผู้ที่ต้องได้รับความคุ้มครองภายใต้เงื้อมมือของพวกเขา ข้อห้ามนี้ไม่เพียงใช้กับ…การทรมาน…แต่ยังรวมถึงมาตรการในความโหดร้ายอื่นๆ ไม่ว่าจะโดยพลเรือนหรือทหาร” – มาตรา 32 หน้า 3 อนุสัญญาเจนีวา ฉบับที่สี่ 12.08.1949 “การห้ามจับตัวประกัน” มาตรา 32, 34 หน้า 1 อนุสัญญาเจนีวา ฉบับที่สี่ 12.08.1949 (อนุสัญญาเจนีวาเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่มีสาระสำคัญในเรื่องกฎเกณฑ์ที่จำกัดวิธีการอันทารุณในการทำสงคราม)

โลกได้เรียนรู้มากขึ้นเรื่อยๆ ในทุกๆ วัน เกี่ยวกับความน่าสะพรึงกลัวที่เกิดขึ้นโดยทหารรัสเซียในยูเครน ไม่มีใครรอดพ้นจากการรุกรานอันป่าเถื่อน ไม่ว่าชาย หญิง หรือเด็กที่ไม่มีอาวุธ

ทหารรัสเซียกำลังจับเจ้าหน้าที่ของบ้านเมือง นักข่าว และญาติของคนเหล่านี้เป็นตัวประกัน เพื่อพยายามกดดันและปิดปากชาวยูเครนไม่ให้รายงานการก่ออาชญากรรมของรัสเซีย

รัสเซียเนรเทศประชาชนมากกว่า 2 ล้านคนออกจากยูเครน

การเนรเทศโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

“การบังคับเคลื่อนย้ายผู้คนหรือมวลชน รวมทั้งการเนรเทศบุคคลที่ได้รับความคุ้มครองจากดินแดนที่ถูกยึดครอง ไปยังอาณาเขตของผู้ใช้อำนาจเข้าครอบครองหรือไปยังประเทศอื่นใด ที่ถูกยึดครองหรือไม่ก็ตาม โดยไม่คำนึงถึงความต้องการของพวกเขา เป็นสิ่งต้องห้าม” – มาตรา 49 หน้า 3 อนุสัญญาเจนีวาฉบับที่สี่ 12.08.1949

รัสเซียจัดระบบการเนรเทศผู้คนออกจากดินแดนที่กองกำลังของตนเข้ายึดครองด้วยการบังคับขู่เข็ญ

โดยผู้หญิงและเด็กถูกบังคับให้ขึ้นรถบรรทุกแล้วถูกนำตัวไปยังดินแดนอันห่างไกลในรัสเซีย

กองทหารรัสเซียก่ออาชญากรรมสงครามมากกว่า 450 ครั้งต่อแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมในยูเครน

การโจมตีทางศาสนาและวัฒนธรรม

“…ความเสียหายต่อทรัพย์สินทางวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นของบุคคลใดๆ หมายถึงความเสียหายต่อมรดกทางวัฒนธรรมของมวลมนุษยชาติ เนื่องจากทุกคนมีส่วนสนับสนุนในวัฒนธรรมของโลก” – บทนำสู่อนุสัญญากรุงเฮกว่าด้วยการคุ้มครองทรัพย์สินทางวัฒนธรรมในกรณีความขัดแย้งทางอาวุธ 14.05.1954

สงครามนี้ไม่ได้เริ่มที่จะเข่นฆ่าเพียงชาวยูเครนเท่านั้น รัสเซียยังกำหนดที่จะทำลายประวัติศาสตร์ของยูเครน วัฒนธรรม และความภาคภูมิใจในบรรพบุรุษของชาวยูเครนอีกด้วย

รัสเซียกำลังทำลายพิพิธภัณฑ์ แกลเลอรี และโบสถ์ เพื่อกวาดล้างประเทศยูเครนและวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอันเป็นความภาคภูมิใจของชาวยูเครนอีกด้วย

นี่ไม่ใช่จากหนังสยองขวัญ แต่เป็นหลักฐานของอาชญากรรมสงครามที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงชาวยูเครนในขณะนี้ เหยื่อและผู้รอดชีวิตจากอาชญากรรมเหล่านี้สมควรได้รับความสนใจจากทั่วโลก

การข่มขืน

“ผู้หญิงจะได้รับความคุ้มครองเพื่อศักดิ์ศรีจากการถูกคุกคาม โดยเฉพาะจากการข่มขืน การบังคับค้าประเวณี หรือรูปแบบการทำร้ายร่างกายใดๆ ที่ไม่เหมาะสม” – มาตรา 3 หน้า 1 อนุสัญญาเจนีวาฉบับที่สี่ 12.08.1949

มีหลักฐานปรากฏให้เห็นมากขึ้นทุกวันจากผู้หญิงที่หลบหนีหรือได้รับอิสรภาพจากดินแดนที่ถูกยึดครองโดยเล่าว่า คนรัสเซียข่มขืนพวกเธออย่างไร ทหารรัสเซียข่มขืนผู้หญิงเหล่านี้ในตอนกลางคืน และข่มขืนต่อหน้าลูกหลานของตนในระหว่างวัน หลังจากที่ฆ่าสามีของผู้หญิงแล้ว ความโหดร้ายที่น่ารังเกียจของอาชญากรรมเหล่านี้จะไม่สามารถหลุดพ้นจากการถูกลงโทษได้

คุณอาจคิดว่ามันเป็นเพียงนิยาย ไม่ใช่เรื่องจริง คนจริง เจ็บจริง เป็นอาชญากรรมสงครามจริง แต่นี่คือเรื่องราวที่เล่าโดยผู้รอดชีวิต นี่คือความจริง ที่ไม่มีใครปิดเสียงได้

ส่วนจะมีความยุติธรรมจริงหรือ แน่นอน ความยุติธรรมจะต้องเกิด รัฐบาลยูเครนกำลังสืบสวนอาชญากรรมสงครามที่รัสเซียก่อขึ้นต่อยูเครน เนื่องจากอาชญากรรมสงครามของรัสเซียเกิดในยูเครน มี 42 ประเทศยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอาญาระหว่างประเทศในกรุงเฮกเพื่อเริ่มการสอบสวน หากศาลตัดสินโทษรัสเซีย ผู้ก่ออาชญากรรมเหล่านี้จะถูกกักขังในประเทศใดก็ได้ที่ยอมรับเขตอำนาจศาลของศาลนี้

นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ประชาคมระหว่างประเทศมุ่งประณามรัสเซีย เพื่อให้รับผิดชอบต่ออาชญากรรมที่ชั่วร้ายดังกล่าว

 

จะเอาชนะความชั่วร้ายได้อย่างไร

เช่นเดียวกับการลงโทษและการฟื้นฟูความยุติธรรมในศตวรรษที่ 20 ต่ออาชญากรทุกคนในระบอบนาซีที่ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติและชีวิต

ยูเครนจะไม่ยอมแพ้ จนกว่าผู้กระทำผิดทั้งหมดจะถูกนำมาลงโทษ เรากำลังรวบรวมหลักฐานและบันทึกของผู้เห็นเหตุการณ์ รวมถึงภาพถ่ายและวิดีโอสยองขวัญ เพื่อให้ศาลสามารถตัดสินลงโทษผู้กระทำความผิดในอาชญากรรมสงครามเหล่านี้ได้

รายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดตามได้ที่ https://war.ukraine.ua/russia-war-crimes/

หากคุณเป็นผู้อยู่ในเหตุการณ์ หรือเห็นเหตุการณ์ที่กระทำโดยกองกำลังรัสเซียในยูเครน โปรดบันทึกรายละเอียดและรายงานที่เว็บไซต์ warcrimes.gov.ua. •