THE TENDER BAR ‘ก้าวผ่านวัย’ / ภาพยนตร์ : นพมาส แววหงส์

นพมาส แววหงส์

ภาพยนตร์

นพมาส แววหงส์

 

THE TENDER BAR

‘ก้าวผ่านวัย’

 

กำกับการแสดง

George Clooney

นำแสดง

Ben Affleck

Tye Sheridan

Daniel Ranieri

Lily Rabe

Christopher Lloyd

Briana Middleton

 

เมื่อแรกที่ได้รู้ว่านี่เป็นหนังที่สร้างจากบันทึกความทรงจำ (memoir) ก็แปลเอาเองโดยปริยายว่าผู้เขียนบันทึกความทรงจำของตัวเองต้องเป็นบุคคลสำคัญถึงขั้นที่จะมีคนติดตามหรือสนใจซื้อหนังสือที่เล่าเรื่องราวของเขาจากปากคำของเขาเองไปอ่าน

คงไม่มีใครอยากอ่านบันทึกความทรงจำของคนไม่มีชื่อเสียงแน่ๆ

คำถามแรกที่ผุดขึ้นในหัวคือ แล้วเจ. อาร์. โมห์ริงเกอร์ นี่เป็นใครกันล่ะ

คนมีชื่อเสียงขนาดจะเขียนเรื่องราวชีวิตของตัวเองขายได้นี่ ก็ต้องสำคัญ-หรือไม่ก็สำคัญตน–ไม่ใช่เล่นเลยละ

เป็นที่มาของการสืบค้นข้อมูลจนได้ทราบว่า เจ. อาร์. โมห์ริงเกอร์ เป็นนักเขียนนวนิยายและนักหนังสือพิมพ์ เจ้าของรางวัลพูลิตเซอร์ใน ค.ศ.2000 สำหรับงานเขียนเรื่องลงหนังสือพิมพ์ (newspaper feature writing)

และหลังจากนั้นอาชีพการเขียนเมมัวร์ของเขาก็รุ่ง เพราะไปเตะตาบุคคลสำคัญอีกหลายคน จนขอให้เขาร่วมเขียนบันทึกความทรงจำด้วย หรือไม่ก็เขียนแทนเซเลบตัวจริงไปเสียเลยให้รู้แล้วรู้รอด

คนประเภทแรก ก็เช่น อังเดร อากัสซี นักเทนนิสชื่อดัง

และคนประเภทหลัง ก็เช่น เจ้าชายแฮร์รี่ ดยุคแห่งซัสเซกซ์ เป็นต้น ในลักษณะของ “นักเขียนผี” ที่สิงอยู่ในร่างของบุคคลสำคัญ…เมมัวร์เล่มนี้กำหนดจะออกวางปลายปีนี้ และคงขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเทท่า จากชื่อเสีย(ง)ของพรินซ์แฮร์รี่ผู้นอกคอก

เจ. อาร์. โมห์ริงเกอร์ เป็นนามปากกาของจอห์น โจเซฟ โมห์ริงเกอร์ ซึ่งทำให้เขาถูกถามบ่อยๆ ว่า “เจ.อาร์.” ย่อมาจากอะไร และหนังนำมาใช้เป็นมุขอยู่หลายครั้งหลายหน

เจ.อาร์. (แดเนียล รานีเอรีในวัยเด็ก–น่ารักจริงๆ ค่ะ แก้มยุ้ยตาใส มองโลกรอบตัวในแง่บวกอย่างสังเกตสังกาและซึมซับทุกสิ่งไว้–และ ไท เชอริดัน ในวัยหนุ่ม) เป็นลูกของแม่เลี้ยงเดี่ยว (ลิลี เรบ) พ่อเป็นดีเจสถานีวิทยุ นามกร “เดอะ วอยซ์”

พ่อแม่ไม่ได้แต่งงานกัน และพ่อผู้ให้กำเนิดรับว่าเป็นลูก แต่ก็ไม่รับผิดชอบในการเลี้ยงดู ทิ้งไปตั้งแต่ลูกยังไม่ได้ลืมตามาดูโลก

แม่กระเสือกกระสนใช้ชีวิตอย่างลำบากยากแค้น จนหมดหนทาง จึงตัดสินใจบากหน้ากลับบ้านไปอยู่กับ “ตา” (คริสโตเฟอร์ ลอยด์…แฟนหนังคงยังไม่ลืมหน้าตาบทบาทของศาสตราจารย์สติเฟื่องใน Back to the Future) ผู้เฒ่าขี้บ่นที่ไม่เต็มใจจะมีลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมืองยั้วเยี้ยอยู่บ้านเดียวกันแบบนั้น แต่ก็ยังใจอ่อนพอจะไม่ขับไล่ไสส่งออกไปสู้กับโลกกว้างที่โหดร้าย แถมยังเป็นคุณตาที่ทำตัวเป็นคุณตาตัวอย่างให้แก่หลานชายก็ได้เมื่อถึงคราวจำเป็น

แต่ก็ยังปากแข็งว่าทำให้หนนี้หนเดียวล่ะนะ เดี๋ยวจะเคยตัวและคนอื่นจะอิจฉาว่าทำไมไม่มีคุณตาแบบนี้มั่ง

ชาร์ลี (เบน แอฟเฟล็ก) ลูกชายคนโตของคุณตา ก็ยังอาศัยบ้านพ่ออยู่ในย่านชนชั้นกลางระดับล่างที่ลองไอส์แลนด์

ลุงชาร์ลีกลายเป็นญาติผู้ใหญ่คนโปรดของเจ.อาร์. และทำหน้าที่แทนพ่อกลายๆ ให้แก่หลาน และลุงชาร์ลีนี่เองที่ให้ความหมายแก่ชื่อหนังสือและชื่อหนัง

ลุงชาร์ลีเป็นบาร์เทนเดอร์ของบาร์ชื่อ ดิกเคนส์ ที่เขาเป็นเจ้าของในย่านยากจนแออัดของลองไอส์แลนด์

เอาคำ “บาร์เทนเดอร์” มาสลับที่กันกลายเป็น “เทนเดอร์ บาร์” หรือสถานที่ที่เป็นฉากหลังของชีวิตในวัยเติบใหญ่ของเจ.อาร์. ซึ่งใช้เวลายามว่างไปขลุกอยู่กับลุงและพรรคพวกที่เป็นลูกค้าประจำบาร์

การที่ลุงชาร์ลีผู้ใช้แรงงานที่ไม่ได้มีการศึกษาสูงๆ ตั้งชื่อบาร์ตามชื่อนักเขียนที่หลายคนลงความเห็นว่าเป็นนักเขียนนวนิยายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุควิกตอเรียของอังกฤษนั้น บอกความเป็นนักอ่านหนังสือตัวยง

และส่งอิทธิพลต่อหลานชายผู้ฉลาดเฉลียวเกินวัยให้รักการอ่าน กลายเป็นความภูมิใจของแม่ผู้ตั้งความหวังว่าเจ.อาร์.จะต้องเข้ามหาวิทยาลัยเยล และเรียนนิติศาสตร์ เพื่อจะได้เป็นทนายความ…พ้นไปจากสภาพแวดล้อมที่เขาเติบโตขึ้น

นับเป็นความหวังที่สูงเกินตัวทีเดียว เพราะนอกจากจะเข้ายากแล้ว ค่าเล่าเรียนยังสูงลิ่วอย่างที่พ่อแม่ที่เป็นคนหาเช้ากินค่ำไม่มีทางจะหาเงินมาส่งเสีย

แน่นอน เจ.อาร์. เข้าเยลได้ด้วยความสามารถของตัวเองและได้รับทุนเล่าเรียน รวมทั้งได้เจอเพื่อนฝูงที่มีสถานภาพทางสังคมสูงกว่าเขามาก

และเขาหลงรักเพื่อนสาวผู้มีฐานะร่ำรวย และมีพ่อแม่หัวสมัยใหม่ที่ยอมให้ลูกสาวใช้ชีวิตอิสระ ซิดนีย์ (บริอานา มิดเดิลตัน) หักอกเขาครั้งแล้วครั้งเล่า…ซึ่งเจ.อาร์.ก็ไม่ยอมเข็ดสักที

แต่นี่ไม่ใช่เรื่องราวโรแมนติก คอเมดี้ ที่ลงเอยด้วยชีวิตแสนสุข เนื่องจากชีวิตจริงนั้นไม่ใช่นิยาย

แน่นอนว่าเจ้าของบันทึกความทรงจำย่อมเล่าเรื่องราวที่นำไปสู่ความสำเร็จในชีวิตในที่สุด ซึ่งก็นับว่าเป็นแฮปปี้เอนดิ้ง ถึงจะไม่ได้เป็นแฮปปี้เอนดิ้งแบบในนิยาย

หนังเดินเรื่องช้าๆ เล่าถึงเด็กชายที่อยากมีพ่อ ซึ่งเป็นความรู้สึกพร่องในชีวิตของเด็ก พ่อของเจ.อาร์.เป็นเพียงเสียงตามสาย หรือ “เดอะ วอยซ์” ตามฉายาของนักจัดรายการวิทยุ และเมื่อพ่อโผล่เข้ามาในชีวิต พ่อก็เอาแต่สร้างความผิดหวังให้แก่ลูกชายครั้งแล้วครั้งเล่า…จนนำไปสู่จุดแตกหักที่เจ.อาร์.ตัดสินใจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดที่จะดับความหวังในตัวพ่อลง

ไม่ใช่เมมัวร์ที่เล่าเรื่องราวการก้าวขึ้นสู่ความสำเร็จ แต่เล่าถึงความพร่อง ความขาดแคลน และความล้มเหลวในท่ามกลางมือที่คอยโอบอุ้มช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งเติมเต็มในชีวิตและช่วยให้เขาก้าวผ่านวัย กลายเป็นผู้ใหญ่ที่นับว่าประสบความสำเร็จ

เป็นผลงานกำกับฯ ของจอร์จ คลูนีย์ นะคะ •