ขึ้น ‘ค่าแรง’ ของแสลง ‘ธุรกิจ’ ‘อสังหาฯ’ หมดยุคของถูก ‘สินค้า’ พาเหรดแพงทั้งแผ่นดิน/บทความเศรษฐกิจ

บทความเศรษฐกิจ

 

ขึ้น ‘ค่าแรง’ ของแสลง ‘ธุรกิจ’

‘อสังหาฯ’ หมดยุคของถูก

‘สินค้า’ พาเหรดแพงทั้งแผ่นดิน

 

ยุคข้าวยากหมากแพง การที่รัฐบาลเตรียมปรับขึ้น “ค่าแรงขั้นต่ำ” ทั่วประเทศ ซึ่งกำหนดไว้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในห้วงเวลานี้

แม้อัตราที่ขยับขึ้นจะไม่มาก โดยมีอัตราค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 337 บาท หรือคิดเป็น 5.02%

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการขึ้นค่าแรง เป็นข่าวร้ายที่ “นายจ้าง-ภาคธุรกิจ” ไม่อยากจะได้ยิน เพราะค่าแรงเมื่อขึ้นแล้วไม่มีลง จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนธุรกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาวไม่มากก็น้อย แตกต่างกันไปในแต่ละรายอุตสาหกรรม

จากเอฟเฟ็กต์ “ค่าแรงแพง” ที่มาซ้ำเติมต้นทุน ที่ปัจจุบันยังพุ่งไม่หยุด จากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่เขย่าโลก บวกกับเงินเฟ้อ ราคาพลังงาน

หนีไม่พ้นที่ผู้ประกอบการต้องปรับราคาสินค้าขึ้นตามอีกระลอกใหญ่ เพื่อให้สอดรับกับต้นทุนใหม่ที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นของกิน ของใช้ หรือที่อยู่อาศัย ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสี่ จำเป็นต่อการดำรงชีพ

 

“อุทัย อุทัยแสงสุข” ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถือว่ายังน้อยกว่าที่คาดและอยู่ในวิสัยที่ยังพอรับได้ ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการ โดยค่าแรงคิดเป็น 30% ของต้นทุนก่อสร้างบ้าน ดังนั้น การปรับขึ้นค่าแรงรอบนี้ทำให้ต้นทุนบ้านเพิ่มขึ้น 3% และมีแนวโน้มจะทำให้ราคาบ้านปรับขึ้นอีก 1-2% ในช่วงไตรมาส 4/2565 หรือไตรมาส 1/2566 เพิ่มขึ้นจากเมื่อครึ่งปีแรกที่ปรับไปแล้ว 5%

ด้าน “อาภา อรรถบูรณ์วงศ์” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ริชี่เพลซ 2002 จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อต้นทุนก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ เป็นแรงกดดันเพิ่มขึ้นอีกจากปัจจุบันที่ต้นทุนสูงขึ้นอยู่แล้ว 5-10% และหนีไม่พ้นที่ผู้ประกอบการจะต้องมีการทยอยปรับขึ้นราคาบ้าน หมดยุคของถูก ซึ่งในส่วนของบริษัทต้องปรับขึ้นเป็นแบบขั้นบันไดเพื่อไม่ให้เป็นภาระลูกค้ามากเกินไป

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาผลจากขาดแคลนแรงงาน ทำให้ผู้ประกอบการจ่ายค่าแรงแพงอยู่แล้วในปัจจุบัน หากรัฐขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีกจะเป็นภาระทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นมาอีก อีกทั้งราคาวัสดุ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ทำให้ผู้ประกอบการมีภาระเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องปรับขึ้นราคาบ้านให้รับกับต้นทุนจริง

ฝั่ง “พีระพงศ์ จรูญเอก” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) และนายกสมาคมอาคารชุดไทย มองว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแทบจะไม่ส่งผลต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพราะปรับในอัตราที่ต่ำกว่าที่หลายคนกังวลและปรับเพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการจะบริหารจัดการโดยใช้การก่อสร้างแบบสำเร็จรูปและจ่ายค่าแรงให้กับแรงงานสูงกว่าอัตราขั้นต่ำอยู่แล้วจากการที่ขาดแคลนแรงงาน เช่น ไม่มีฝีมืออยู่ที่ 380 บาท ส่วนมีฝีมืออยู่ที่ 400-500 บาท

 

อีกธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนัก นั่นคือ ตลาดรับสร้างบ้าน โดย “วรวุฒิ กาญจนกูล” นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน ยอมรับว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำส่งผลกระทบต่อธุรกิจรับสร้างบ้านเป็นเด้งที่สอง จากปัจจุบันที่ประสบปัญหาแรงงานก่อสร้างขาดแคลนอยู่แล้ว 20-30% ทั้งนี้ การปรับขึ้นค่าแรงจะกระทบต่อการก่อสร้างบ้าน 1 หลัง อยู่ที่ 25-30% หรือกระทบต่อราคาบ้านประมาณ 3% ซึ่งสมาคมรอดูภาพรวมต้นทุนอื่นๆ จะยังไม่ปรับราคาบ้านขึ้นพร้อมค่าแรงในทันที เพราะก่อนหน้านี้ได้ปรับไปจากราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวสูงขึ้น

ในส่วนของรับเหมาก่อสร้าง เป็นธุรกิจที่ใช้แรงงานมากสุด บิ๊กทรีของวงการ “ภาคภูมิ ศรีชำนิ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั้งประเทศถ้าดูตามอัตรารายจังหวัด ถือว่าเหมาะสมกับสภาพภาวะเงินเฟ้อที่ทำให้ค่าครองชีพสูง

แต่ขอให้ภาครัฐช่วยดูแลผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างที่มีต้นทุนเพิ่มขึ้นด้วยทั้งวัสดุและแรงงาน โดยปรับราคากลาง และค่า K (การปรับราคาค่างานก่อสร้าง) ให้เหมาะสมกับต้นทุนจริง และผลจากค่าแรงงานที่เพิ่มขึ้น มีผลต่อต้นทุนค่าก่อสร้างโดยตรง

และไม่ใช่แค่ค่าแรงขั้นต่ำสำหรับแรงงานที่ไม่มีทักษะ ต้องพิจารณาปรับขึ้นให้แรงงานที่มีทักษะหรือแรงงานที่เคยจ้างสูงกว่าขั้นต่ำเดิมด้วย

 

ขณะที่เสียงสะท้อนจากโรงงานผู้ผลิตก็ดังไม่แพ้ธุรกิจอื่น เริ่มจาก “นิติ กิจกำจาย” กรรมการบริหาร บริษัท บิ๊กสตาร์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายรองเท้าแบรนด์ “แกมโบล” บอกว่า โรงงานผลิตรองเท้าของบริษัทตั้งอยู่พระราม 2 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งค่าแรงขั้นต่ำจะปรับขึ้น 22 บาท จาก 331 บาท เป็น 353 บาท ถือว่าปรับขึ้นไม่มากและไม่น้อยเกินไป แต่ขอให้รัฐประกาศนโยบายออกมาให้ชัดว่าจะปรับค่าแรงขึ้นอีกเมื่อไหร่ อัตราเท่าไหร่ และควรปรับเป็นขั้นบันได เพื่อผู้ผลิตจะได้บริหารจัดการต้นทุนได้

ทั้งนี้ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ กระทบต่อต้นทุนการผลิตรองเท้าแน่นอน ขณะนี้กำลังวิเคราะห์ต้นทุนว่าจะสูงขึ้นมากแค่ไหน จากปัจจุบันได้รับผลกระทบจากวัตถุดิบและราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้นอยู่แล้ว โดยโรงงานมีแรงงานที่ต้องปรับตามค่าแรงขั้นต่ำประมาณ 1,200-1,300 คน และเป็นแรงงานต่างด้าวประมาณ 60%

สำหรับการรับมือ “นิติ” บอกว่า จะบริหารจัดการด้านเวลาและควบคุมการผลิตโดยให้พนักงานต่อหนึ่งคนผลิตในปริมาณที่เพิ่มขึ้น และจะเพิ่มการทำโอทีในบางแผนกตามความจำเป็น จากเดิมจะเปิดโอทีในทุกแผนก รวมถึงจะใช้โรบอทเข้ามาช่วยมากขึ้นในบางแผนกเพื่อลดการใช้แรงงาน รวมถึงอาจจะต้องปรับราคาขายขึ้นตามเพราะตอนนี้ไม่ใช่แค่ค่าแรง ยังมีต้นทุนวัตถุดิบอื่นที่ปรับขึ้นด้วย

แต่ต้องประเมินกำลังซื้อและคู่แข่งในตลาดด้วย

 

ด้านยักษ์ใหญ่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “พันธ์ พะเนียงเวทย์” ผู้จัดการสำนักผู้อำนวยการบริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อ “มาม่า” กล่าวว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันที่ 1 ตุลาคมนี้ไม่น่ากังวล เพราะผู้ประกอบการรับรู้และทำใจไว้แล้ว หากเป็นไปตามมติไตรภาคี ไม่ได้ขึ้นแบบเหมาเข่งหรือขึ้นอัตราเดียวกันทั่วประเทศ และอัตราที่ปรับขึ้นเฉลี่ยไม่เกิน 10% ถือว่ารับได้ เมื่อเทียบกับโครงสร้างต้นทุนบริษัทที่จะเพิ่มขึ้นก็ไม่เกิน 1% จึงไม่เป็นนัยสำคัญให้สินค้าต้องปรับราคา

โดยบริษัทมีโรงงานตั้งอยู่ในหลายจังหวัด ค่าแรงจะขยับไปตามอัตราใหม่ ในบางพื้นที่จำนวนแรงงานจำกัด อาจปรับให้ใกล้เคียงจังหวัดที่ตั้งอยู่ใกล้กันแต่อัตราจ้างต่างกัน เพื่อไม่มีปัญหาขาดแรงงาน เช่น ราชบุรี นครปฐม หากขึ้นในเดือนตุลาคมนี้ อาจต้องปรับขึ้นค่าแรงจากปกติขึ้นปลายปีรับปีใหม่ แต่หากขึ้นก่อนถึงปลายปีก็จ่ายในอัตราที่ลดลง

ส่วน “กิตติพศ ชาญภาวรกิจ” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท วันไทย อุตสาหกรรมอาหาร จำกัด ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อ “ยำยำ” กล่าวว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเดือนตุลาคมนี้กระทบต่อต้นทุนการผลิตของบริษัทแน่นอน เนื่องจากโรงงานซึ่งตั้งอยู่นิคมบางชัน มีพนักงานอยู่กว่า 1,000 คน หากรัฐขึ้นค่าแรงก็คงต้องขึ้นให้ทุกคน คงไม่เฉพาะแรงงานรายวันอย่างเดียว เพราะหากไม่ปรับให้อาจจะทำให้แรงงานย้ายไปอยู่ที่อื่นได้ ซึ่งภาคธุรกิจก็พูดไม่ออก เพราะไม่ว่าจะผลิตหรือไม่ผลิตก็ต้องจ่ายค่าแรงให้พนักงาน ส่วนโอทีก็จ่ายตามที่มีออเดอร์การผลิตเท่านั้น

โดยวันที่ยื่นขอขึ้นราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปก็ได้เรียนกรมการค้าภายในไปแล้วว่าผู้ผลิตจะมีค่าแรงเข้ามาเพิ่มในต้นทุน ซึ่งกรมได้ขอความร่วมมือให้ตรึงราคาออกไปก่อน หลังอนุมัติให้ขึ้นราคา 1 บาท/ซองแล้ว

ขณะที่ค่าย “ไวไว” บอกไว้ตั้งแต่วันเปิดโต๊ะแถลงข่าวขอขึ้นราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 2 บาท/ซอง โดย “วีระ นภาพฤกษ์ชาติ” กรรมการผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด กล่าวว่า บริษัทเผชิญกับต้นทุนการผลิต 3 เด้ง

เด้งแรก จากสงครามรัสเซียกับยูเครนทำให้ต้นทุนวัตถุดิบการผลิตสูงขึ้นมาก

เด้งที่สอง เจอราคาน้ำมันปรับขึ้น

และอาจจะเจอเด้งที่สาม จากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น โดยแป้งสาลีเพิ่มขึ้น 20-30% น้ำมันปาล์มขึ้นเท่าตัว นับเป็นวิกฤตต้นทุนหนักสุดในรอบ 50 ปี ทำให้ขาดทุนในสินค้าบางรายการ

จึงเป็นที่มาของการขอขึ้นราคาในรอบ 14 ปี แม้จะได้ขึ้นราคา 1 บาท แต่ยังไม่ครอบคลุมต้นทุนจริง หลังจากนี้บริษัทคงต้องมีการบริหารจัดการด้านต่างๆ ต่อไป เพราะบริษัทไม่ได้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอย่างเดียว ยังเป็นผู้จัดจำหน่ายด้วย จึงได้รับผลกระทบหลายเด้ง

คงต้องรอดูเอฟเฟ็กต์ หลังมีการอัพค่าแรงให้แพงขึ้นแล้ว จะทำให้เสียงบ่น “แพงทั้งแผ่นดิน” ลดน้อยลงหรือยิ่งเพิ่มระดับดีกรีมากขึ้น