ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 กันยายน 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | ครัวอยู่ที่ใจ |
เผยแพร่ |
ครัวอยู่ที่ใจ
อุรุดา โควินท์
ทางรอดอยู่ในครัว
: ข้าวบ้านเพื่อนอร่อยที่สุด
ฉันไม่ค่อยชอบกินข้าวในร้านอาหาร แต่โปรดปรานอาหารบ้านเพื่อนเป็นที่สุด เวลามีใครถามเหตุผล ฉันมักตอบว่า เพราะไม่ต้องจ่ายเงิน (หวังให้ฮา) แต่ความจริงก็คือ อาหารฝีมือเพื่อนหมายถึงความไว้วางใจ และนั่นสำคัญกว่าอะไรทั้งหมด
ตั้งแต่มีโควิด ฉันยังไม่ไปกินข้าวบ้านใครเลย เรากินข้าวกันสองคน จนเกือบจะลืมไปแล้วว่า การกินข้าวหลายคนน่ะ อร่อยมาก มาก
ตอนที่เพื่อนโทร.มาชวน ฉันขอเวลาถามต้นก่อน เพราะก่อนกลับเชียงราย เราต้องแวะเยี่ยมแม่และน้า ซึ่งมีสองคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน ถ้าเราโชคร้าย ติดโควิดจากเพื่อน แม่และน้าของต้นก็จะเสี่ยงไปด้วย
“อยากไปมั้ย” เขาถาม
“พูคิดถึงเพื่อนนะ แต่ไม่ได้เจอก็ไม่เป็นไรหรอก คุยกันทางอื่นได้”
“ไปสิ มันไม่เหมือนกัน เจอหน้ากับไม่เจอน่ะ” เขายิ้ม “ตอนไปเยี่ยมแม่กับน้าที่วัดสิงห์ เราก็ใส่หน้ากาก แล้วไม่ต้องกินข้าวกับพวกเขา”
จึงเป็นครั้งแรกในรอบสามปีที่ฉันร่วมโต๊ะอาหารกับเพื่อน
ความคิดถึงเป็นเรื่องหนึ่ง ไม่ถึงกับโหยหา แต่ฉันคิดว่า เพื่อนน่าจะอยากเจอฉัน หลังเสร็จงานศพแม่
แรกทีเดียว ฉันไม่ได้รู้สึกอะไร แต่เมื่อเห็นหน้าพวกเขา ฉันก็รู้ว่า มันดีเหลือเกินที่ได้พบกันยามนี้ วันนี้
มิตรภาพเหมือนเมล็ดพันธุ์ที่หว่านลงในใจ ตั้งแต่ตอนไหนก็ช่างมันเถอะ เมื่อเติบโตถึงจุดหนึ่ง ฉันตระหนักว่า ความหมายของมิตรภาพไม่ได้ยิ่งใหญ่ ซับซ้อน มันคือความไว้วางใจ
บางมิตรภาพกลายเป็นต้นไม้ใหญ่
บางมิตรภาพเป็นไม้ดอกสวยสด
และใช่ บางมิตรภาพก็คล้ายต้นหญ้าเล็กๆ
สำหรับฉัน ไม่มีความสัมพันธ์ใดที่สามารถเปรียบเทียบกันได้เลย ทุกความสัมพันธ์ต่างมีน้ำเสียง มีคุณค่าเฉพาะ มีเสียงหัวเราะ เสียงไชโย รวมทั้งความหม่นเศร้าอันเงียบงัน
เพื่อนแต่ละคนไม่เคยซ้ำแบบ
แต่ทุกเพื่อนจะมีสิ่งที่เชื่อมโยงกับฉันเสมอ สิ่งนั้นอาจเล็กจ้อย หรือเป็นอุดมการณ์ยิ่งใหญ่ นั่นไม่สำคัญเท่ากับ มันไม่เคยหมดสิ้น สูญหาย ร่วงหล่น-จากชีวิต
ได้ทำอาหารกับเพื่อนอย่างช้าๆ หัวเราะด้วยกัน กอดกันหลวมๆ ชนแก้วกัน จึงเป็นช่วงเวลาล้ำค่า
เพื่อนทำข้าวผัดสเปน หรือ paella เป็นจานหลัก เขาเตรียมน้ำซุป โดยใช้กระดูกปลาและกุ้งทั้งตัว ต้มกับเซเลอรี่ หอมใหญ่ แคร์รอต เคี่ยวเป็นชั่วโมงก่อนหน้าที่ฉันจะไปถึง
เนื้อสัตว์ มีกุ้ง ปลาหมึก และหอย โดยย่างบนกระทะให้สุกแล้วพักไว้
หั่นผักสามชนิดเตรียมไว้ มีหอมหัวใหญ่ พริกระฆัง และมะเขือเทศ
เขาบอกว่านี่คือขั้นตอนที่ต้องใส่ใจ ใช้กระทะที่มีขอบสูงเล็กน้อย ผัดหอมหัวใหญ่ด้วยไฟอ่อน ให้มันเชื่อง ใช้เวลาเท่าไรก็ต้องยอมเสีย แล้วค่อยใส่พริกระฆัง ผัดไฟอ่อนต่อให้สุก แล้วจึงลงมะเขือเทศ หรือจะใช้เนื้อมะเขือเทศเข้มข้นแบบกระป๋องก็ได้
โยนกระเทียมสับลงไปสองกลีบ ไทม์สดสองก้าน
ผัดต่อให้ร้อน แล้วเติมน้ำซุป โดยใส่น้ำแช่หญ้าฝรั่นลงไปด้วย
รอให้ซุปเดือด เขาจึงเติมเกลือ และพริกไทยดำ
“นี่เราลองจับเวลา เกิน 20 นาทีล่ะ” ฉันแซว
“ต้องไม่รีบ” ยิ้ม “ใช้ไฟอ่อนไปเรื่อยๆ พอลงซุปค่อยเร่งไฟขึ้นหน่อย”
กระทั่งซุปเดือด เพื่อนจึงเอาข้าวลงกระทะ “ข้าวไม่ต้องเยอะ” เขาบอก “แต่ควรเป็นข้าว bomba ใส่ลงไปแล้วอย่าคน ยางมันจะออก ปล่อยให้มันสุกเอง”
เขากำชับ -ไม่ต้องคน
ถ้าน้ำซุปแห้ง แต่ข้าวยังไม่สุก เติมน้ำซุปได้ (แต่อย่าคนข้าวเด็ดขาด)
เมื่อข้าวสุก และน้ำแห้ง เขาเอากุ้ง หอย ปลาหมึก วางเรียงข้างหน้า ปิดเตา วางช่อโรสแมรี่ แล้วเอาฟอยล์ปิดกระทะจนมิด
“อบไว้อย่างนี้ราว 10 นาที ก่อนกิน” เขาบอก
ฉันอยากชิมใจจะขาด แต่ต้องรอ ระหว่างนั้น เรากินจานอื่นเรียกน้ำย่อย และคุยกันสารพัดเรื่อง
ในครัวเต็มไปด้วยเสียงของพวกเรา
นั่นเป็นอีกเครื่องปรุงชั้นดี
ฉันไม่ค่อยเชื่อเรื่องที่ว่า เวลาพิสูจน์มิตรภาพ ฉันหมายถึง มันไม่เสมอไป บางที สองสามวัน หรือสี่ห้าเดือน ก็เท่าชั่วชีวิต
แต่พอทบทวนดู พวกเรารู้จักกันเกิน 20 ปี (น่าตกใจจริง)
ไม่ได้เจอแบบตัวเป็นๆ เกือบสองปี แต่สิ่งที่อยู่ระหว่างเรา ก็คงอยู่ตรงนั้น อย่างมั่นคง
เราย้ายเข้าไปในห้องอาหาร โดยมีพ่อครัวยกกระทะข้าวผัดนำหน้า
ไม่ต้องสงสัยเลย ข้าวผัดหมดเกลี้ยง ต้องใช้คำว่า ไม่ต้องล้างกระทะยังได้ หมดจดขนาดนั้น
ฝีมือเขาดี แม่นยำอยู่แล้ว และสองสามปีที่ผ่านมา เขาทำอาหารบ่อยขึ้น ทักษะจึงเพิ่มขึ้นอีกมาก
“เราจะกลับไปทำที่เชียงราย ถ่ายรูปข้าวไว้ล่ะ เดี๋ยวไปกดซื้อ จะทำให้เหมือนกระทะนี้เลย” ฉันบอกเขา
เขายิ้ม
ฉันกวาดตามองเพื่อนๆ ก่อนขึ้นรถ
“แล้วเจอกันนะทุกคน อีกสองสามเดือนมาอีก” ฉันว่า
ไม่มีวันเสียล่ะ- เราจะไม่เอ่ยคำลา แต่จะยิ้มกว้างๆ ให้กันและกัน •
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022