สุจิตต์ วงษ์เทศ : ประเพณี 12 เดือน นาฏกรรมแห่งรัฐ ในพิธีแข่งเรือเสี่ยงทาย

พระราชพิธีแข่งเรือเสี่ยงทาย เป็นนาฏกรรมแห่งรัฐ หรือเป็นละครโรงใหญ่มหึมาที่เมื่อถึงฤดูกาลต้องมีทุกปี

เพื่อเป็นเครื่องมือแสดงอำนาจเชิงสัญลักษณ์ของพระเจ้าแผ่นดินที่ในความจริงไม่มีมากล้นอย่างที่เข้าใจในหมู่ชนทั่วไป

พิธีแข่งเรือเสี่ยงทาย ข้อความในกฎมณเฑียรบาลพรรณนาไว้สั้นๆ ห้วนๆ แต่สรุปสาระสำคัญว่ามีขบวนแห่มโหฬารไปตามแม่น้ำ

สมรรถไชยเป็นเรือพระเจ้าแผ่นดิน ส่วนไกรสรมุกข์เป็นเรือพระอัครมเหสี เรือทั้งสองลำเป็นเรือแข่งเสี่ยงทาย

มีคำทำนายเป็นจารีตที่รู้กันก่อนแล้ว ว่าถ้าเรือสมรรถไชยของพระเจ้าแผ่นดินพ่ายแพ้เรือไกรสรมุกข์ของพระอัครมเหสี บ้านเมืองจะเป็นสุขเกษมเปรมประชา มี “ข้าวเหลือ เกลืออิ่ม”

แต่ตรงข้ามถ้าเรือสมรรถไชยของพระเจ้าแผ่นดินชนะ บ้านเมือง “จะมียุค” หมายความว่าเกิดยากแค้นแสนสาหัส ข้าวไม่เหลือ เกลือไม่อิ่ม อดอยากปากแห้งเป็นกลียุค

 

นาฏกรรมคืออำนาจ

นาฏกรรมเข้ามาแทนที่อำนาจที่เป็นจริง นิธิ เอียวศรีวงศ์ อธิบาย (มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1-7 มิถุนายน 2555 หน้า 30) จะสรุปย่อมาดังต่อไปนี้

พระราชาของรัฐโบราณในอุษาคเนย์ ไม่มีอำนาจมากล้นจริงจัง เพราะข้าราชบริพารที่ปฏิบัติราชการตามพระราชโองการ มักเป็นลูกท่านหลานเธอ หรือผู้มาจากตระกูลที่มีอำนาจในตัวเองที่พระราชาต้องประนีประนอมด้วย อำนาจจึงต้องตั้งอยู่บนการแสดง หรือเป็นอำนาจเชิงสัญลักษณ์

หนึ่งในการแสดงที่สำคัญคือพระราชพิธีต่างๆ ซึ่งรัฐต้องทำให้ได้ชมกันเป็นประจำเกือบทุกเดือน (ดังมีในกฎมณเฑียรบาล)

ขบวนแห่เป็นละคร หรือนาฏกรรมที่ขาดไม่ได้ และให้สารสำคัญบางอย่าง จึงต้องเคร่งครัดกับแบบธรรมเนียม สารที่ว่านั้นมีดังต่อไปนี้

1. ความมั่งคั่งหรูหราอุดมสมบูรณ์ เพราะทุกคนแต่ง “เต็มยศ” แม้แต่ไพร่เลวที่ถูกเกณฑ์เข้าขบวนก็ยังสวมเสื้อสีต่างๆ อันเป็นหน้าที่ของคลังศุภรัตน์ต้องจัดหาให้

2. สถานภาพอันสูงสุดของพระราชา หรือบุคคลที่พระราชามอบหมายให้ทำหน้าที่แทน หรือพระโกศ พระราชยานที่ประทับตั้งอยู่กึ่งกลางขบวนค่อนไปข้างหน้า แวดล้อมด้วยไพร่พลหน้าหลัง มีเครื่องยศนับตั้งแต่บังสูรย์และอื่นๆ ล้อมหน้าหลัง

3. การแสดงช่วงชั้นทางสังคม ขุนน้ำขุนนางหรือแม้แต่พระบรมวงศานุวงศ์ จะเดินในขบวนแห่ตรงไหน ใกล้ไกลจากพระราชาเท่าไร ไม่ใช่เป็นเรื่องที่คิดเอาเอง หรือแทรกลงไปในที่ว่างตามใจชอบ แต่ต้องจัดขึ้นให้ตรงกับสถานภาพที่แท้จริงของแต่ละคน

สารของ “ละคร” ตรงนี้ ช่วยตอกย้ำระเบียบทางสังคมของรัฐโบราณเหล่านี้ คือความไม่เสมอภาคเป็นระเบียบที่ขาดไม่ได้ในสังคมที่สงบสุข

อาจท้วงว่าในเมืองไทยโบราณเขาห้ามประชาชนเงยหน้าขึ้นดูพระราชา ต้องหมอบก้มหน้าอยู่กับพื้นเท่านั้น “ละคร” จึงแสดงโดยไม่มีคนดู และไม่มีผลในทางสังคมและการเมืองอย่างไร

ประชาชนผู้หมอบก้มหน้าบนหนทางเสด็จพระราชดำเนินนั้น เป็นฉาก “ละคร” ที่ขาดไม่ได้ของขบวนแห่ เมื่อพระราชยานที่ประทับผ่านไปแล้ว ก็ย่อมเงยหน้าขึ้นชมขบวนแห่ได้ และหลังรัชกาลที่ 4 ก็ไม่ได้ห้ามชมพระบารมีอีกแล้ว

สรุปก็คือนาฏกรรมเข้ามาแทนที่อำนาจที่เป็นจริง

 

พระราชพิธีแข่งเรือ ข้อความในกฎมณเฑียรบาล

เดือน 11 การอาสยุชพิทธี มีหม่งครุ่มซ้ายขวาระบำหรทึกอินทเภรีดนตรี เช้าธรงพระมหามงกุฎราชาประโภก กลางวันธรงพระสุพรรณมาลา เอย็นธรงพระมาลาสุกหร่ำสภักชมภู สมเดจ์พระอรรคมเหษีพระภรรยาธรงพระสุวรรณมาลา นุ่งแพรลายทองธรงเสื้อ พระอรรคชายาธรงพระมาลาราบนุ่งแพรดารากรธรงเสื้อ ลูกเธอหลานเธอธรงศิรเพศมวยธรงเสื้อ พระสนมใส่สนองเกล้าสภักสองบ่า สมรรถไชยเรือต้น สรมุกขเรือสมเดจ์พระอรรคมเหษี สมรรถไชยไกรสรมุกขนั้นเปนเรือเสี่ยงทาย ถ้าสมรรถไชยแพ้ไซ้ เข้าเหลีอเกลีออี่มศุกขเกษมเปรมประชา ถ้าสมรรถไชยชำนะไซ้จะมียุข

(อักขรวิธีตามต้นฉบับ)


รัฐนาฏกรรม

รัฐนาฏกรรม (หรือรัฐละคร) มีพระราชาและเจ้านายเป็นผู้สร้างและผู้แสดง โดยมีนักบวช เช่น พราหมณ์, พระสงฆ์ เป็นผู้กำกับ ส่วนราษฎรเป็นตัวประกอบและผู้ดู

พิธีกรรมเหล่านี้ต้องลงทุนสูงอันเป็นหน้าที่ของรัฐต้องจัดให้ยิ่งใหญ่ แสดงว่าอำนาจรับใช้นาฏกรรมที่โอ่อ่า ไม่ใช่นาฏกรรมโอ่อ่ารับใช้อำนาจ

 

[สรุปและดัดแปลงจากหนังสือ วัฒนธรรมคือความหมาย ทฤษฎี และวิธีการของ คลิฟฟอร์ด เกียร์ซ โดย อคิน รพีพัฒน์ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2551 หน้า 188]