เมื่อธุรกิจโรงหนังอันดับ 2 ของโลก ถึงคราล้มละลาย! / คนมองหนัง

คนมองหนัง
ภาพประกอบโดย Justin Tallis / AFP

คนมองหนัง

 

เมื่อธุรกิจโรงหนังอันดับ 2 ของโลก

ถึงคราล้มละลาย!

 

“ซีเนเวิลด์” บริษัทจดทะเบียนสัญชาติอังกฤษ หนึ่งในพี่เบิ้มแห่งอุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์ ที่มีขนาดกิจการใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก กำลังยื่นเรื่องเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย เพราะผลประกอบการหลังวิกฤตโควิดแพร่ระบาดไม่ได้ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วดังที่คาดการณ์เอาไว้

ปัจจุบัน “ซีเนเวิลด์” มีหนี้สินมากกว่า 4.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.7 แสนล้านบาท) อันเป็นผลมาจากการที่โรงหนังทั่วโลกต้องยุติการให้บริการระหว่างวิกฤตการณ์โควิด

โดยบริษัทซึ่งมีโรงภาพยนตร์เครือข่ายจำนวน 751 สาขา ใน 10 ประเทศ (รวมถึงกิจการโรงหนังเครือซีเนเวิลด์และพิกเจอร์เฮาส์ในสหราชอาณาจักร และโรงหนังเครือรีกัลในสหรัฐ) จะเข้าสู่กระบวนการล้มละลายทั้งในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ

หลังข่าวล้มละลายเผยแพร่ออกไป มูลค่าหุ้นของ “ซีเนเวิลด์” ก็ดิ่งลงทันทีจาก 20 เพนนี (8.6 บาท) ต่อหุ้น เป็น 2 เพนนี (0.8 บาท) ต่อหุ้น ขณะที่ก่อนหน้าช่วงโควิดระบาด บริษัทเคยมีมูลค่าหุ้นอยู่ที่ 1.97 ปอนด์ (85 บาท) ต่อหุ้น

ส่วนมูลค่าตลาดของบริษัทก็ลดต่ำลงเหลือไม่ถึง 50 ล้านปอนด์ (ประมาณ 2.1 พันล้านบาท) แตกต่างจากมูลค่า 4.4 พันล้านปอนด์ (ประมาณ 1.9 แสนล้านบาท) ก่อนวิกฤตโรคระบาดลิบลับ

อย่างไรก็ตาม ผู้บริหาร “ซีเนเวิลด์” พยายามชี้แจงว่าการยื่นเรื่องเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย เกิดขึ้นเพื่อประคับประคองเสถียรภาพทางการเงินของบริษัท และจะไม่กระทบต่อการดำเนินธุรกิจโรงภาพยนตร์ในภาพรวม

แม้สหภาพแรงงานจะเป็นห่วงว่า การตัดสินใจครั้งนี้อาจส่งผลกระทบต่อพนักงานของ “ซีเนเวิลด์” ซึ่งมีประมาณ 45,000 คนทั่วโลก (และ 5,000 รายในสหราชอาณาจักร) ก็ตาม

 

ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าธุรกิจโรงภาพยนตร์นั้นยังไม่ฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์ แม้หลายประเทศจะผ่อนคลายหรือยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์-เว้นระยะห่างทางสังคมกันเกือบหมดแล้ว

ในปี 2019 ก่อนยุคโรคระบาด ยอดจำหน่ายตั๋วชมภาพยนตร์ทั่วโลกเคยมีมูลค่าอยู่ที่ 4.25 หมื่นล้านเหรียญ หรือเกิน 1.5 ล้านล้านบาท

แม้ในปีนี้ จะเริ่มมีหนังฟอร์มใหญ่ (บล็อกบัสเตอร์) กลับมาทำเงิน แต่ยอดขายตั๋วชมภาพยนตร์ก็ยังตกลงไปราว 32 เปอร์เซ็นต์ หากเทียบกับเมื่อสามปีก่อน

ในส่วนของ “ซีเนเวิลด์” เอง เมื่อปี 2021 บริษัทมีผลประกอบการขาดทุน 708 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2.5 หมื่นล้านบาท) แม้จะมีรายได้ 1.8 พันล้านเหรียญ (ราว 6.5 หมื่นล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากรายได้ 852 ล้านเหรียญ (ราว 3.1 หมื่นล้านบาท) ในปี 2020 เพราะการเข้าโรงของหนังเรื่อง “James Bond” ภาค “No Time to Die” และ “Spider-Man : No Way Home”

ย้อนกลับไปในปี 2020 “ซีเนเวิลด์” มีผลประกอบการขาดทุน 3 พันล้านเหรียญ (ประมาณ 1 แสนล้านบาท)

ในแง่ตัวเลขลูกค้า เมื่อปี 2021 มีผู้เข้าใช้บริการโรงภาพยนตร์ที่บริหารงานโดย “ซีเนเวิลด์” จำนวน 95 ล้านคน เพิ่มขึ้น 75 เปอร์เซ็นต์ จากตัวเลขเมื่อปี 2020 ทว่า ยังต่ำกว่าจำนวน 275 ล้านคนต่อปี ก่อนหน้าการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา

อีกหนึ่งวิกฤตการณ์ทางการเงินที่ซ้ำเติมยักษ์ใหญ่แห่งอุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์ระดับโลก ก็คือ การที่ “ซีเนเวิลด์” พยายามจะเข้าเทกโอเวอร์บริษัท “ซีเนเพล็กซ์” คู่แข่งที่ดำเนินธุรกิจประเภทเดียวกันในประเทศแคนาดา

แต่ฝ่ายหลังกลับต่อสู้ด้วยกระบวนการทางกฎหมาย กระทั่ง “ซีเนเวิลด์” ต้องยกเลิกดีลควบรวม และชดใช้ค่าเสียหายรวม 1 พันล้านเหรียญ (ราว 3.6 หมื่นล้านบาท) จนนำไปสู่ตัวเลขหนี้สินที่ทบทวีขึ้น

 

แม้ในแถลงการณ์ที่ออกมาชี้แจงประเด็นการยื่นเรื่องเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย ผู้บริหาร “ซีเนเวิลด์” จะกล่าวโทษว่า การมีหนังบล็อกบัสเตอร์ฟอร์มใหญ่ออกฉายไม่มากพอหลังภาวะโรคระบาด นั้นส่งผลให้ยอดจำหน่ายตั๋วชมภาพยนตร์มีจำนวนต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้

แต่นักวิเคราะห์มองว่ายังมีปัจจัยสำคัญอื่นๆ อีก ที่นำมาสู่ผลประกอบการอันย่ำแย่ของเอกชนเจ้านี้

เริ่มตั้งแต่แผนการซื้อกิจการของคู่แข่งทางธุรกิจ ซึ่งก่อให้เกิดหนี้สินมากเกินไป และกลายเป็นความเสี่ยง ภายหลังการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย

ยิ่งกว่านั้น การแข่งขันกันอย่างดุเดือดในธุรกิจสตรีมมิ่ง ก็ส่งผลให้สื่อภาพยนตร์กลายเป็นความบันเทิงที่เดินทางเข้าไปหาบรรดาผู้ชมได้ถึงเคหสถาน และแปรเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคไปมหาศาล

ซึ่งดูเหมือนทาง “ซีเนเวิลด์” จะปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวได้ไม่รวดเร็วพอ

(อย่างไรก็ดี อีกด้านหนึ่ง ยอดสมาชิกของ “เน็ตฟลิกซ์” ธุรกิจสตรีมมิ่งเจ้าใหญ่ ก็ตกลงโดยชัดเจนในปีนี้ คาดการณ์ว่าเป็นผลมาจากการที่ผู้คนในหลายประเทศต้องตัดลดค่าใช้จ่ายส่วนตัวลง เพราะค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น)

ชะตากรรมของยักษ์ใหญ่เบอร์ 2 เช่น “ซีเนเวิลด์” ดูจะสวนทางกับ “เอเอ็มซี เอ็นเตอร์เทนเมนต์” เจ้าของธุรกิจเครือข่ายโรงภาพยนตร์อันดับ 1 ของโลก ซึ่งเพิ่งออกมาแจ้งข่าวดีว่าหนังเรื่อง “Top Gun : Maverick” และ “Doctor Strange in the Multiverse of Madness” นั้นช่วยกระตุ้นยอดจำหน่ายตั๋วชมภาพยนตร์ในสหรัฐให้เพิ่มขึ้นถึงสองเท่าตัว

ดังนั้น เมื่อเดือนกรกฎาคม 2022 ยอดผู้ใช้บริการโรงหนังในเครือ “เอเอ็มซี” ที่สหรัฐ จึงพุ่งขึ้นสูงที่สุด นับแต่หลังการประกาศให้โควิดเข้าสู่ภาวะแพร่ระบาดใหญ่ เป็นต้นมา •

 

ข้อมูลจาก

https://www.theguardian.com/business/2022/aug/19/cineworld-preparing-to-file-for-bankruptcy-following-pandemic-rout

https://www.bbc.com/news/business-62629932

ภาพประกอบโดย Justin Tallis / AFP