กำเนิดวิชาชีพสถาปนิกไทย : คำศัพท์และการสร้างตัวตนในสังคมสมัยใหม่ (4)/พื้นที่ระหว่างบรรทัด ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด

ชาตรี ประกิตนนทการ

 

กำเนิดวิชาชีพสถาปนิกไทย

: คำศัพท์และการสร้างตัวตนในสังคมสมัยใหม่ (4)

 

เมื่องานก่อสร้างยุคสมัยใหม่ถูกครอบครองด้วยจิตสำนึกใหม่ ที่แยกเนื้องานออกเป็น 3 กลุ่มหลักๆ คือ สถาปนิก วิศวกร และช่างก่อสร้าง (ในแต่ละกลุ่มก็ยังมีการแยกย่อยอีก เช่น ช่างเขียนแบบ ช่างไฟฟ้า ช่างประปา ผู้รับเหมา ฯลฯ)

ปัญหาที่ตามมาคือ การจัดวางสถานภาพความสัมพันธ์ของคนทั้งสามกลุ่ม ว่าควรจะเป็นไปในรูปแบบใด ใครสูงกว่า ใครต่ำกว่า หรือใครเท่ากัน

แน่นอน ทุกกลุ่มต่างแข่งขันแย่งชิงเพื่อสร้างสถานะที่สูงกว่า และสถาปนิกก็เช่นกัน มีความพยายามที่จะกำหนดสถานภาพของวงการตนเองให้อยู่เหนือสุดของวงจรการก่อสร้างทั้งหมด ดังที่ นารถ โพธิประสาท พยายามอธิบายว่า

“…สถาปนิกถือกันว่า ‘สถาปัตยะกรรม’ เป็นอารฺท ชะนิดนางพญา (Mistress Art) และเลิศกว่าอารฺทอื่นๆ…”

หรือที่ ม.จ.อิทธิเทพสรรค์ กฤดากร ก็อธิบายไปในทำนองเดียวกันว่า “…เราไม่หมายจะแสดงว่าอาชีพของเรานี้ประเสริฐไปกว่าอาชีพอื่นๆ มากนัก แต่เราถือว่าอาชีพของเรานี้เป็นอาชีพที่ให้กำเนิดแก่อารยการได้ดีกว่าอาชีพอื่นๆ และไม่ใช่แต่เพียงในส่วนที่เกี่ยวด้วยการผัดหน้าการโยธาให้หมดจดเท่านั้น…”

น่าสังเกตว่า สถาปนิกไทยยุคแรก พอใจที่จะเปรียบเทียบวิชาชีพตนในระดับสูงมาก โดยมักเทียบกับแพทย์หรือเนติบัณฑิต จากเอกสารร่วมสมัย เรามักพบการอธิบายความเป็นสถาปนิก (ที่นอกเหนือไปจากคุณสมบัติในเชิงการออกแบบ) ว่าต้องเป็นผู้รอบรู้ในสรรพวิชาที่สมบูรณ์พร้อม รู้จักกาลเทศะ มีสมบัติผู้ดี และสุจริตเที่ยงธรรม

ทัศนะเช่นนี้ อาจเชื่อมโยงกลับไปไกลถึงกำเนิดวิชาชีพสถาปนิกรูปแบบใหม่ในยุคเรอแนซ็องส์ ที่มองว่า สถาปนิกจะต้องรอบรู้ในศาสตร์สาขาที่กว้างขวาง ทั้งวรรณกรรม ประวัติศาสตร์ ปรัชญา แม้กระทั่งการแพทย์ และยังจะต้องเป็นสุภาพบุรุษด้วย

ทัศนะเหล่านี้สืบทอดต่อเนื่องมายังสถาปนิกในยุโรปทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสยุคต่อมา จนถึงราวต้นศตวรรษที่ 20 ที่นักเรียนไทยเดินทางไปศึกษาต่อ ก็น่าจะได้รับผลสืบเนื่องทางความคิดนี้กลับมาไม่มากก็น้อย

ความคิดข้างต้น เมื่อผสานเข้ากับวัฒนธรรมการแบ่งช่วงชั้นทางสังคมไทยที่ฝังรากลึกมาอย่างยาวนานก็ยิ่งทำให้กลุ่มสถาปนิกยุคแรกเริ่ม (ที่ส่วนใหญ่เป็นเจ้านายและผู้ดีมีสกุลเกือบทั้งสิ้น) พยายามจัดวางสถานะวิชาชีพของตนอย่างสูงส่ง และเหยียดวิชาชีพอื่นในวงการก่อสร้างให้ต่ำกว่าตนเอง

เมื่อแรกก่อตั้ง “สมาคมสถาปนิกสยาม” หลวงบุรกรรมโกวิท เคยเสนอให้รับสมาชิก ที่ประกอบไปด้วยคน 4 กลุ่ม คือ สถาปนิก ช่างเขียนแบบ ผู้ตรวจงาน และช่างก่อสร้าง แต่ ม.จ.อิทธิเทพสรรค์ไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่า

“…กล่าวต่อไปถึงนโยบายของเธอที่ว่าจะให้มีสมาชิก 4 ประเภท, โดยนับช่างเขียนแบบ ผู้ตรวจงาน แลช่างก่อสร้างเข้าสมทบด้วยนั้น, เป็นความหวังดีที่น่าชื่นชมมาก, แต่ฉันเกรงว่าผู้ที่ไม่ได้รับความอบรมแลศึกษามาจากสถาปนิกศึกษาสถานอันดีแล้ว จะทำได้ละหรือ? ฉันยังไม่เคยเห็นช่างเขียนแบบก็ดี ผู้ตรวจงานก็ดี หรือช่างก่อสร้างก็ดี ที่เขาหาเวลาหรือสามารถฝึกตนเองให้เป็นสถาปนิกขึ้นมาได้…การที่จะอนุญาตให้ช่างเขียนแบบสามัญ ผู้ตรวจการก่อสร้าง ช่างก่อสร้างเข้าร่วมสโมสรด้วยเช่นนี้ น่าจะเป็นที่รังเกียจสำหรับสถาปนิกที่เทียบตนเท่ากันกับเนติบัณฑิตย์แลแพทย์อย่างที่เธอว่าได้ เพราะในประเทศอื่นๆ เขาถือกันว่าคนงานเหล่านั้นจะต้องอยู่ในโอวาทของสถาปนิกๆ เขาจะวิสาสะสนิทด้วยไม่ได้เลย…”

แน่นอน ทัศนะที่มองว่าสถาปนิกควรอยู่เหนือหรือควบคุมช่างต่างๆ นั้นมิใช่เรื่องใหม่ เราอาจสืบย้อนกลับไปได้ไกลถึงสถาปนิกยุคเรอแนซ็องส์ที่ก็มองว่าสถาปนิกคือกลุ่มคนที่ควรจะมีสถานะเหนือสุดในกระบวนการก่อสร้างทั้งหมด

เช่น Leon Battista Alberti สถาปนิกชาวอิตาเลียนยุคเรอแนซ็องส์ ได้กล่าวเอาไว้ว่า “ช่างฝีมือทั้งหลายคือเครื่องมือของสถาปนิก” หรือ Philibert Delrome สถาปนิกชาวฝรั่งเศสก็มองในลักษณะเดียวกันว่า “ช่างก่อ ช่างตัดหิน และคนงานทั้งหลายคือบุคคลที่อยู่ภายใต้การควบคุมโดยสถาปนิก”

แต่ทัศนะดังกล่าวได้ผนวกเข้ากับรากฐานทางสังคมของไทยที่ชอบจัดแบ่งทุกอย่างออกเป็นช่วงชั้นตามระนาบแนวดิ่งตลอดเวลา จึงทำให้ทัศนะดังกล่าวถูกยกระดับขึ้นกลายเป็นการแบ่งชนชั้นในเชิงสูง-ต่ำ ดี-เลว ไปโดยปริยาย

 

หากมองกลับมาในสมัยปัจจุบัน รากความคิดนี้ก็ยังคงดำรงอยู่ในหมู่มวลสถาปนิกรุ่นใหม่ของไทย ที่มีการจัดระดับสถาปนิกไว้บนยอดพีระมิดของศาสตร์การก่อสร้างและดูถูกช่างฝีมือหรือช่างระดับอาชีวะว่ามีสถานะที่ต่ำต้อยกว่า

แต่ถ้าเราเหลียวมองดูวิชาชีพช่างและสถาปนิกในสังคมอื่น ประเด็นนี้แม้จะมีเช่นกัน แต่ดูเสมือนว่าจะไม่แหลมคมและหนักหน่วงเท่าใดนัก เช่น สังคมญี่ปุ่น สถานะและบทบาทของช่างไม่ได้ต่ำต้อยกว่าสถาปนิกแต่อย่างใดเลย แน่นอน ทั้งสองอาชีพมีความต่างกัน แต่ก็ไม่ได้ต่างกันในเชิงระดับชั้นสูงต่ำที่แบ่งแยกมากเหมือนกับสังคมไทย

ไม่เพียงแต่การแบ่งช่วงชั้นสูงต่ำระหว่างสถาปนิกกับช่างเท่านั้น ภารกิจสำคัญอีกอย่างคือ การเข้าไปต่อสู้กับ “ช่างจีน” ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ที่รับเหมาก่อสร้างอาคารต่างๆ ของสังคมไทยในช่วงดังกล่าว

นับตั้งแต่รัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา ช่างจีนคือกลุ่มหลักที่เข้ามารับหน้าที่ก่อสร้างในไทย ทั้งที่เข้ามาเป็นกุลีไร้ฝีมือ จนมาถึงแรงงานมีฝีมือ เช่น ช่างก่อ ช่างปั้น ฯลฯ ต่อมา คนจีนเหล่านี้ได้พัฒนาทักษะจนสามารถออกมารับเหมาก่อสร้างของตนเองได้ จนสุดท้าย ช่างจีนก็ได้เข้ามายึดกุมงานช่างเกือบทุกอย่างของสังคมไทย

ดังนั้น ช่างจีน จึงเป็นอุปสรรคที่สำคัญมากอีกอย่างหนึ่งของการสร้างตัวตนและอำนาจของวิชาชีพสถาปนิก และจึงไม่แปลกใจที่ในห้วงเวลาดังกล่าว การโจมตีช่างจีนโดยกลุ่มสถาปนิก (รวมถึงวิศวกรด้วย เพราะช่างชาวจีนมีสถานะเป็นเหมือนศัตรูร่วมของสองวิชาชีพนี้) จะปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนผ่านการสร้างภาพความขี้โกง เห็นแก่เงิน และมุ่งแต่กำไรโดยไม่คำนึงถึงคุณภาพของช่างจีน

 

ตัวอย่างที่สะท้อนได้ดีคือ ข้อเขียนบรรณาธิการวารสารข่าวช่าง พ.ศ.2479 ความตอนหนึ่งว่า

“…บัดนี้ ถ้าเราหันมามองดูการช่างของเราบ้าง จะเห็นว่ายังอยู่ในฐานะที่ยังต้องการความเอาใจใส่อยู่มาก สมาคมการช่างของเราเวลานี้มีอยู่ 2 สมาคม คือ สมาคมนายช่างแห่งกรุงสยาม และสมาคมวิศวกรรม แต่ทั้ง 2 สมาคมยังไม่มีอำนาจปกครองผู้ที่อาศัยอาชีพการช่างได้อย่างเป็นล่ำเป็นสันเหมือนแพทยะสมาคมหรือเนติบัณฑิตสภาเลย…และตราบใดที่เรายังไม่มีการควบคุมเช่นนี้แล้ว อาชีพการช่างของเราน่าจะยังคงต่ำต้อยอยู่ตราบนั้น…เขายังคงเข้าใจอยู่ว่าการมาหาช่างจีนที่ไม่ได้รับปริญญาการช่างมาจากสำนักใดเลย ก็อาจจะได้ผลดีกว่าการมาหาช่างปริญญาในการช่างเสียอีก…”

ในกลุ่มสถาปนิกก็มีความคิดไปในทำนองเดียวกัน เช่นมีการอธิบายว่า

“…คำถามที่ว่า ‘เมื่อจีนช่างก่อสร้างทำการก่อสร้างได้โดยไม่ต้องมีแบบแปลนไซร้ ทำไมเราจึงต้องใช้สถาปนิกด้วย?’ นั้นเป็นปัญหาที่น่าคิด…” ตามมาด้วยการนำเสนอภาพการโกงของช่างจีนต่างๆ นานา เช่น “…บรรไดบ้านของฉันซึ่งสูงตั้ง 75 เซนติเมตร์ จะให้จีนช่างก่อสร้างทำ 5 คั้น เขาก็ไม่ยอม บอกว่าทำไม่ได้, ช่างก่อสร้างทำห้องให้ฉันเล็กเกินไป บางห้องก็ต้องรื้อ…สิ่งก่อสร้างควรมีรากใหญ่, ลึกและแน่น ก็ทำรากเล็ก, ตื้นและไม่แน่นพอ…นอกจากนี้ยังมีเล่ห์ของจีนช่างก่อสร้างอีกมากมาย เขาไม่มีความรู้พอแก่งานในหน้าที่ใหญ่โตเช่นนี้ มากนอกเหนือไปกว่าความรู้ในการค้ากำไรของเขา…”

ช่างจีนกลายเป็นจำเลยหลักในการโจมตีของกลุ่มสถาปนิกและวิศวกร เพราะช่างจีนเป็นกลุ่มที่เข้ามาแย่งงานโดยตรง

ซึ่งกระบวนการสร้างช่างจีนให้เป็นคนโกง จะดำเนินสืบเนื่องต่อมาเป็นระยะเวลาหลายสิบปี ผ่านเอกสารและข้อเขียนของกลุ่มสถาปนิกมากมายที่เกินกว่าจะเอามาแจกแจงในบทความนี้ได้

ปรากฏการณ์นี้ได้รับการตอบสนองอย่างดีจากนโยบายชาตินิยมไทยที่สร้างภาพคนจีนให้เป็นผู้ร้าย ที่เริ่มมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 จนถึงสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม จนทำให้ภาพลักษณ์ด้านลบของช่างจีนกลายเป็นภาพจำหลักของสังคมไทย

และทำให้การสถาปนาช่วงชั้นทางสังคมที่สูงส่งของสถาปนิกค่อยๆ ก่อร่างสร้างตัวขึ้นอย่างมั่นคงในสังคมไทยตามไปด้วย