รวยรินไร (2) / จ๋าจ๊ะ วรรณคดี : ญาดา อารัมภีร

ญาดา อารัมภีร

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี

ญาดา อารัมภีร

 

รวยรินไร (2)

 

ความนิยมเรื่อง ‘ไรผม’ ไม่จำกัดเพศและวัย เสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” เล่าถึงนางแก้วกิริยารำพันสงสารพลายชุมพลลูกชายที่ไม่มีใครดูแล

“ครานั้นนางแก้วกิริยา เห็นหน้าพลายน้อยนั้นโศกศัลย์

ทั้งจุกไรก็มิได้ทาน้ำมัน นางรับขวัญลูกแก้วแล้วเชยชม

ให้อาบน้ำทาขมิ้นกินข้าวของ พาเข้าไปในห้องแล้วเกล้าผม”

‘เกล้าผม’ ในที่นี้คือ ‘เกล้าจุก’ ‘จุก’ หรือ ‘ผมจุก’ คือผมเด็กที่ขมวดเอาไว้ตรงกระหม่อมหรือกลางศีรษะเด็ก ‘ไรจุก’ คือรอยที่ถอนผมแล้วเป็นวงกลมรอบจุก ดังที่ “อักขราภิธานศรับท์” ของหมอบรัดเลย์ อธิบายว่า

“ไรจุก, รอยจุก, คือ รอยวงรอบที่ตีนผมจุกเด็กๆ นั้น เขาทำผมทารกให้เป็นจอมขึ้น, มีวงรอบที่ริมตีนผมนั้น”

‘ผมจุก’ มาพร้อมกับขั้นตอนการดูแลอย่างสม่ำเสมอ ตั้งแต่เกล้าจุก กันไร และโกนผม

สมัยนี้เด็กหญิงเด็กชายไม่ไว้จุก สมัยโบราณผู้ใหญ่จะคอยเกล้าจุกให้เด็กๆ ดังกรณีของแม่แก้วกิริยาเกล้าจุกให้ลูกชาย ทำนองเดียวกับเจ้านายฝ่ายใน ครั้งยังมีพระชนม์ชีพเคยทรงพระกรุณาเกล้าจุกให้หนูตาบ ลูกชายของสุนทรภู่

ดังที่ “นิราศวัดเจ้าฟ้า” บรรยายถึงตอนเรือผ่านวัดระฆังโฆษิตาราม (ซึ่งบรรจุพระอัฐิของเจ้าครอกทองอยู่ พระอัครชายาในสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระอนุรักษ์เทเวศร์ กรมพระราชวังบวรสถานพิมุขแห่งกรุงรัตนโกสินทร์) มีข้อความตอนหนึ่งว่า

“ทั้งหนูตาบกราบไหว้ร้องไห้ว่า จะคมลาลับไปในไพรสัณฑ์

เคยเวียนเฝ้าเกล้าจุกให้ทุกวัน สารพันพึ่งพาไม่อนาทร”

 

อาจารย์ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย ให้ความกระจ่างเกี่ยวกับการเกล้าจุกไว้ในหนังสือเรื่อง “สี่แผ่นดินกับเรื่องจริงในราชสำนักสยาม” ดังนี้

“เด็กๆ ไม่ชอบการเกล้าจุก เพราะต้องอดทนและทุกข์ทรมานต่อความเจ็บปวด เมื่อทำกิจกรรมเกี่ยวกับจุก เช่น กันไรและโกนหัว ต้องนั่งนิ่งๆ กระดุกกระดิกพูดคุยไม่ได้เป็นเวลานาน หากไม่อยู่นิ่ง มีดที่กันไรหรือโกนหัวจะบาด เวลาเกล้าจุกก็ต้องนั่งนิ่งๆ มิฉะนั้นจุกจะเบี้ยวหรือหลวมหลุดลุ่ยง่าย เด็กจะต้องเจ็บปวดเพราะผู้เกล้าจะดึงผมจนตึง และขมวดผมจนเป็นจุกแน่น

วิธีเกล้าจุก พี่เลี้ยงจะหนีบศีรษะเด็กไว้ระหว่างเข่าทั้งสอง มือก็รวบผมทั้งหมด ใช้ขี้ผึ้งและน้ำมันรูดผมจนแข็งและตั้งดีแล้ว จึงปั้นหรือเกล้าให้แป้นได้รูปสวยเป็นรูปลูกจันแล้วจึงใช้ปิ่นปัก…เด็กธรรมดาที่ไว้จุกนั้น นอกจากจะทนทุกข์ทรมานตอนเกล้าจุกแล้ว ยังต้องลำบากเวลาเล่น เพราะต้องระมัดระวังจุกหลุด ซึ่งจะต้องพบกับความเจ็บปวดเวลาเกล้าจุกใหม่”

ในเสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ตอนที่สองพ่อลูก (ขุนแผนและพลายงาม) เดินชมตลาดเมืองพิจิตร ได้พบสาวๆ แต่งเนื้อแต่งตัวผมเผ้าไม่ต่างจากชาวกรุง

“พวกลูกสาวชาวร้านพานสันทัด ทำเหยาะหยัดกิริยาท่าชาวกรุง

ทาขมิ้นเหลืองจ้อยสอยไรจุก มีแทบทุกหน้าถังบ้างเย็บถุง”

ไม่เพียงแต่เด็กชายหรือเด็กสาวเท่านั้นที่มีไรจุก แม้ผู้ใหญ่สูงวัยก็ยังมี ใหญ่พิเศษเสียด้วย ดังที่บทละครนอกเรื่อง “สังข์ทอง” พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒ เล่าถึงนางจันท์เทวีพระมารดาพระสังข์ผ่านสายตาของแม่ค้า

“บ้างว่าข้าเห็นยายก็ชอบกล ชะรอยคนมั่งมีผู้ดีเก่า

ถึงทั้งแก่แลดูยังพริ้งเพรา ไรจุกโตแทบเท่าสองนิ้ว”

การดูแลรักษาตกแต่งไร ไม่ว่าจะเป็นไรจุกของเด็กหรือไรผมของหญิงสาว สิ่งที่ขาดมิได้คือ ‘น้ำมัน’ ดังที่แก้วกิริยารำพันเมื่อเห็นสภาพลูกชาย ‘ทั้งจุกไรก็มิได้ใส่น้ำมัน’ ข้อความนี้บอกให้รู้ว่าน้ำมันเป็นตัวช่วยสำคัญสำหรับแต่งไรผม วรรณคดีเรื่องเดียวกันนี้ยังเล่าถึงนางพิมพิลาไลยแต่งตัวไปงานเทศน์มหาชาติว่า

“ทาแป้งแต่งไรใส่น้ำมัน ผัดหน้าเฉิดฉันดังนวลแตง”

น้ำมันดังกล่าวมิใช่เอานิ้วจิ้มๆ แล้วทาตามรอยไร มีกรรมวิธีละเมียดละไมพิถีพิถันกว่านั้น ดังจะเห็นได้จากวันแต่งงานศรีมาลากับพระไวย

“ครานั้นนารีศรีมาลา ได้ยินแม่ผัวว่าไม่ขัดได้

สำลีพันไม้สอยเช็ดรอยไร สอดใส่สร้อยทรงกะทัดรัด

รู้จัดแจงแป้งผัดพอเรื่อเรื่อ ดังนวลเนื้อในผิวใช่นวลผัด

ใส่แหวนมรกตนพรัตน์ ห่มผ้าอัตลัดนุ่งริ้วทอง

งามทรงสมหน้าสง่างาม เดินตามแม่ผัวออกจากห้อง”

วิธีการแต่งไรของศรีมาลาสาวไทยกับสาวลาวไม่ต่างกัน ตอนที่ขุนแผนใช้อาคมสะกดทุกชีวิตในวังพระเจ้าเชียงใหม่ สาวลาวที่กำลังแต่งไรก็มีสภาพดังนี้

“ลางนางเช็ดไรใส่น้ำมัน สำลีพันไม้คาหลับตาไป”

 

น่าสังเกตว่าการเก็บไรกันไรผมน่าจะเป็นความนิยมของคนไทย ต่อให้เป็นคนต่างชาติต่างถิ่นทำมาหากินในเมืองไทย ก็จะรับแฟชั่นกันไรไปโดยอัตโนมัติ ดังที่สุนทรภู่บรรยายไว้ใน “นิราศวัดเจ้าฟ้า” ตอนหนึ่งว่า

“ถึงบางกระไนได้เห็นหน้าบรรดาพี่ พวกนารีเรืออ้อยเที่ยวลอยขาย

ดูจริตติดจะงอนเป็นมอญกลาย ล้วนแต่งกายกันไรเหมือนไทยทำ”

สาวมอญสวยแบบสาวไทยไปเรียบร้อย

แม้การเก็บไรกันไรจะอยู่ในความนิยม ความเหมาะสมพอดีพองามก็ไม่อาจมองข้าม ดังที่ “สุภาษิตสอนหญิง” สอนให้รู้จักจัดแต่งอย่างเหมาะควร

“จะเก็บไรไว้ผมให้สมพักตร์ บำรุงศักดิ์ตามศรีมิให้เขิน

เป็นสุภาพราบเรียบแลเจริญ คงมีผู้สรรเสริญอนงค์นาง”

ทางสายกลางใช้ได้ทุกเมื่อ

ผมจะสวยสมใจ มีอีกหลายตัวช่วย •