สภาปิดฉาก กม.ลูกหาร 500 สูตร 100 ลุ้นศาล รธน.ชี้ชะตา/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

สภาปิดฉาก

กม.ลูกหาร 500

สูตร 100 ลุ้นศาล รธน.ชี้ชะตา

 

จะใช้คำว่าไม่เกินคาด หรือไม่เหนือความคาดหมาย ก็แล้วแต่จะให้คำกำจัดความ ในการประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2565 เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ…. ต้องเจอกับสภาพองค์ประชุมล่ม จนร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ต้องตกไปตามเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 132 วรรคหนึ่ง

เนื่องจากที่ประชุมรัฐสภา พิจารณาร่าง พ.ร.ป.ฉบับดังกล่าว ไม่แล้วเสร็จตามกรอบเวลา 180 วัน นับตั้งแต่วันที่ประธานรัฐสภาบรรจุระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา

โดยมีเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ มาตรา 132 และข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ข้อที่ 101 กำหนด ให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบตามร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ใช้เป็นหลักในการพิจารณาวาระ 2

เนื่องจากเนื้อหาของร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ใช้เป็นร่างหลัก ตามที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมรัฐสภานั้น มีสาระสำคัญคือ สูตรการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หารด้วย 100 ซึ่งเป็นสูตรที่พรรคเพื่อไทย (พท.) สนับสนุนมาโดยตลอดตั้งแต่ต้น จึงเดินเกมการเมืองด้วยการไม่ร่วมเป็นองค์ประชุมรัฐสภา

เพื่อไม่ให้การประชุมรัฐสภาเดินหน้าผ่านการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่มีกลับลำมาสนับสนุนสาระสำคัญการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หารด้วย 500 ผ่านการพิจารณาในวาระที่ 3 ในวันที่ 15 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของกรอบเวลา 180 วันได้

ด้วยการเดินหน้างัดทุกสารพัดกลเกมการเมือง ทั้งไม่ร่วมเป็นองค์ประชุมรัฐสภา ยื่นนับองค์ประชุมด้วยการขานชื่อ

 

แต่เกมของพรรคเพื่อไทยจะสำเร็จไม่ได้ หากไม่ได้ความร่วมมือจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กลุ่มสายตรง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ร่วมมือเดินเกมล่มประชุมรัฐสภา

เพื่อให้ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ตกไปตามเงื่อนไขพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายใน 180 วัน เพื่อให้ได้กลับไปใช้สูตรหาร 100 ซึ่งเป็นสูตรที่พรรคใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ แฮบปี้กับสูตรหาร 100 เนื่องจากไม่ต้องติดล็อกเงื่อนไขของ ส.ส.พึงมี ที่จะทำให้พรรคใหญ่ที่ได้ ส.ส.เขต เต็มจำนวน ส.ส.พึงมี ทำให้ไม่ได้รับจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อ แม้แต่คนเดียว

เหตุที่แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล อย่างพรรคพลังประชารัฐ กลับลำมาสนับสนุนสูตรหารด้วย 100 นั้น เป็นผลมาจากภายหลังที่ได้ไปคิดคำนวณและวิเคราะห์ทางการเมืองอย่างรอบคอบแล้ว

การใช้สูตรหารด้วย 100 ภายใต้การเลือกตั้งด้วยบัตร 2 ใบ คือ ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน พรรคใหญ่ที่มีฐานเสียงจาก ส.ส. และคะแนนนิยมของพรรคที่ดี จะได้เปรียบกับระบบเลือกตั้งดังกล่าว

อีกทั้งที่มีการประเมินกันว่า ระบบเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ หารด้วย 100 จะเข้าทางพรรคเพื่อไทย ในการเดินหน้าไปสู่เป้าหมายชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ และไม่เป็นผลดีกับพรรคพลังประชารัฐ เนื่องจากกระแสความนิยมของพรรคนั้นอยู่ในช่วงขาลง ทั้งเรตติ้งของตัว “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่อยู่ในช่วงนับถอยหลัง ยังหาจุดขายทางการเมืองใหม่ๆ มาให้ประชาชนไม่ได้ รวมทั้งปัญหาความไม่เป็นเอกภาพภายในพรรคพลังประชารัฐ ทำชาวบ้านเกิดอาการเบื่อหน่าย อยากเปลี่ยนผู้นำคนใหม่ให้เข้ามาทำหน้าที่นายกฯ

แต่แกนนำพรรคพลังประชารัฐประเมินแล้วว่า การเลือกตั้งด้วยบัตร 2 ใบ แม้ ส.ส.เขตอาจจะสู้กระแสพรรคเพื่อไทยไม่ได้ แต่ยังมีอีกบัตรเลือกตั้งอีกหนึ่งใบ ที่จะขอคะแนนสงสารจากประชาชนให้เลือกพรรค ผ่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อได้

 

อีกทั้งยังมีกลยุทธ์ให้พรรคร่วมรัฐบาลโดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ที่มีกระแสและความเข้มแข็งของ ส.ส.เขตในหลายพื้นที่ ทั้งเขตอีสานใต้ ภาคกลาง รวมทั้งตระกูลทางการเมืองหรือ ส.ส. ย้ายขั้วมาอยู่กับพรรคภูมิใจไทยมากยิ่งขึ้น เป็นหัวหอกไปสู้รบกับพรรคเพื่อไทยในการช่วงชิง ส.ส.เขตมาให้ได้มากที่สุด เพื่อดับฝันยุทธศาสตร์แลนด์สไลด์ของพรรคเพื่อไทย

ไม่ให้เดินหน้าได้สำเร็จ โดยมีสัญญาใจร่วมกันในการมาจับมือจัดตั้งรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งต่อไปอีกครั้ง ซึ่งเป็นดีลที่พรรคภูมิใจไทยรับได้มากที่สุด

เนื่องจากหากพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งเข้ามา โอกาสที่จะเลือกพรรคภูมิใจไทยมาร่วมจัดตั้งรัฐบาลจะอยู่ในตัวเลือกท้ายๆ เนื่องจากมีเรื่องค้างคาใจระหว่างผู้มีบารมีของทั้งสองพรรค

อีกทั้งหากพรรคภูมิใจไทยชนะการเลือกตั้งเข้ามาด้วยเสียงที่ไม่ว่าพรรคไหนก็ยากที่จะปฏิเสธดึงมาร่วมจัดตั้งรัฐบาล ก็จะยิ่งเพิ่มอัตราการต่อรองให้กับพรรคภูมิใจไทยในการเลือกกระทรวงระดับเกรดเอ เข้ามาบริหารงานได้มากขึ้น

 

แต่เส้นทางของร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ฉบับสูตรหาร 100 ยังต้องเดินทางต่อ แม้รัฐธรรมนูญ มาตรา 132 จะระบุว่าหากพิจารณาไม่ทันในกรอบเวลา 180 วัน ให้ถือว่ารัฐสภาเห็นชอบตามร่างเดิมที่เป็นร่างหลักในการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ หลังจากนั้นกำหนดให้ประธานรัฐสภาส่งร่างกฎหมายไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นั่นคือ กกต.ทำความเห็นภายใน 10 วัน ว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

หาก กกต.ชี้ว่าเนื้อหาของร่าง พ.ร.ป.ฉบับดังกล่าวขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญก็ต้องส่งกลับมายังรัฐสภา เพื่อแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน แต่ถ้าไม่มีขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ก็จะส่งให้รัฐสภา เพื่อส่งให้นายกรัฐมนตรี โดยจะมีเวลารอ 5 วัน เพื่อรอดูว่าจะมีคนไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก่อนที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ บังคับใช้ต่อไป

ต้องติดตามกันต่อว่าในช่วง 5 วัน ก่อนที่นายกฯ จะนำร่าง พ.ร.ป.ขึ้นทูลเกล้าฯ พรรคเล็กที่สนับสนุนสูตรหาร 500 อย่าง นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ จะใช้โอกาสทองช่วง 5 วัน เร่งหารายชื่อสมาชิกรัฐสภามาให้ได้ 73 คนครบหรือไม่

ซึ่งอาจจะมี ส.ว.สาย พล.อ.ประยุทธ์ ที่สนับสนุนให้ใช้สูตรหาร 500 มาร่วมลงชื่อยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยเลือกตั้ง ส.ส. สูตรหาร 100 ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ก็ได้

สุดท้ายสูตรหาร 100 จะสามารถเดินไปสู่เส้นชัยหรือไม่ คงต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ชี้ขาด