DEEP WATER ‘มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด’ / ภาพยนตร์ : นพมาส แววหงส์

นพมาส แววหงส์

ภาพยนตร์

นพมาส แววหงส์

 

DEEP WATER

‘มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด’

 

กำกับการแสดง

Adrian Lyne

นำแสดง

Ben Affleck

Ana de Armas

Tracy Letts

Grace Jenkins

 

กลอนข้างต้นมาจากสุนทรภู่ กวีเอกของไทยเราเองนะคะ

อยู่ดีๆ กลอนวรรคนี้ก็ผุดขึ้นในใจเมื่อตั้งต้นจะเขียนคอลัมน์นี้

กลอนบทนี้คนรุ่นผู้เขียนแทบทุกคนมักจะจำกันได้ขึ้นใจ เพราะเป็นบทอาขยานสมัยเรียนวรรณคดีไทยเรื่องพระอภัยมณี ถึงตอนที่สุดสาครถูกชีเปลือยหลอกผลักตกหน้าผาเพื่อขโมยเอาม้ามังกรกับไม้เท้ากายสิทธิ์หนีไป แล้วมีฤๅษีเหาะมาช่วย

“บัดเดี๋ยวดังหง่างเหง่งวังเวงแว่ว สะดุ้งแล้วเหลียวแลชะแง้หา

เห็นโยคีขี่รุ้งพุ่งออกมา ประคองพาขึ้นไปจนบนบรรพต

แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์ มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด

ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน….”

“มัน” ในวรรคที่ใช้เป็นชื่อเรื่อง ก็คือ จิตใจมนุษย์ที่ยากจะหยั่งถึงนั่นเอง

 

Deep Water เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ของครอบครัวที่มีอันจะกิน ซึ่งประกอบด้วยพ่อ แม่ และลูกสาววัยห้าขวบ

วิค (เบน แอฟเฟล็ก) เป็นชายหนุ่มผู้คิดประดิษฐ์คอมพิวเตอร์ชิพให้กองทัพนำไปประกอบเป็นตัวนำทางในโดรนซึ่งใช้ส่งไประเบิดทำลายตำแหน่งของศัตรูในการทำสงคราม ผลตอบแทนจากประดิษฐกรรมชิ้นนี้ทำให้วิคไม่ต้องทำงานทำการอะไรแล้ว สามารถนั่งกินนอนกินสบายจากการหาเลี้ยงชีพที่หลายคนอาจไม่เห็นว่าเป็นสัมมาอาชีพ หรือถูกต้องตามครรลองคลองธรรม เนื่องจากสิ่งประดิษฐ์ของเขาถูกนำไปใช้เพื่อการสังหารชีวิตมนุษย์

วิคมีงานอดิเรกคือการปั่นจักรยานไปไหนต่อไหนในเขตชานเมืองแห่งนี้ และการเลี้ยงหอยทาก ซึ่งเขาคอยประคบประหงมดูแลอย่างดี

ตั้งแต่เปิดเรื่อง เราก็เห็นว่าวิคแยกห้องนอนกับภรรยาสาวสวย ชื่อ เมลินดา (อานา เดอ อาร์มาส) ซึ่งออกจะเป็นคนเอาแต่ใจตัวและไม่ค่อยได้ใช้เวลาอยู่กับลูกสาวตัวน้อยนัก

ลูกสาว ทริกซี่ (เกรซ เจนกินส์) เป็นเด็กแก่แดด หน้าตาดูจะรู้ความเกินวัย แม่หนูดูจะซึมซับความสัมพันธ์ในครอบครัวด้วยความเข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร

วิคดูเหมือนจะเป็นพ่อผู้แสนดี คอยขับรถไปรับส่งลูกไปโรงเรียน ทำอาหารให้กิน และอ่านหนังสือให้ลูกฟังก่อนนอน ขณะที่เมลินดาดูจะไม่สนใจกับลูกนัก และใช้ชีวิตหรูหราอย่างอิสระตามสบาย และมีหนุ่มหน้าตาดีคอยป้วนเปี้ยนอยู่กับเธอต่อหน้าต่อตาสามีและเพื่อนฝูงตลอดเวลา

แม้จะไม่ได้พูดจาให้เรารู้โต้งๆ แต่ก็คล้ายกับว่าทั้งคู่มีข้อตกลงกันว่า เมลินดามีอิสระเต็มที่ที่จะมีผู้ชายอื่นได้ตราบใดที่ยังอยู่ในชีวิตแต่งงาน ด้วยภาพลักษณ์ของครอบครัวสมบูรณ์แบบ

หนุ่มคนแรกที่เราเห็นเธอเฟลิ้ตด้วยอย่างเปิดเผยคือ โจเอล แดช (เบรนดัน มิลเลอร์) และเธอก็รู้ดีว่าสามีจับตามองอยู่ แต่เธอก็ดูเหมือนไม่ยี่หระอะไรเลย

ไม่ว่ามีข้อตกลงในชีวิตแต่งงานกันอย่างไร และวิคไม่เคยว่ากล่าวแสดงความหึงหวงภรรยาตรงๆ แต่ก็ดูเหมือนเขาจะห้ามตัวเองไว้ไม่อยู่เหมือนกัน

วิคพูดเป็นส่วนตัวกับโจเอลว่า เขาเป็นคนฆ่าเพื่อนชายคนก่อนหน้าของเมลินดาไปด้วยมือตัวเอง โดยใช้ค้อนทุบหัวจนเละ

ซึ่งทำให้โจเอลผงะและสยองจนปลีกตัวออกห่างไปโดยเร็ว

แต่คำพูดเชิงขู่ของวิคนี้ส่งผลกระทบต่อมาในชุมชน นั่นคือ เริ่มมีคนสงสัยในตัวเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ดอน วิลสัน (เทรซี่ เลตส์) ซึ่งเป็นนักเขียนที่เพิ่งย้ายเข้ามาอยู่ในละแวกบ้าน

และโดยเฉพาะเมื่อชาร์ลี (เจคอป เอลอร์ดี) กิ๊กหนุ่มรูปงามคนใหม่ล่าสุดของเมลินดา ถูกพบว่าเสียชีวิตในสระน้ำระหว่างงานสังสรรค์

แม้ว่าข่าวการพบศพของหนุ่มที่หายตัวไปก่อนหน้า จะแสดงว่าวิคไม่ได้เป็นผู้ฆ่า เนื่องจากศพอยู่ในสภาพถูกยิงตาย ไม่ได้ถูกค้อนทุบหัว แต่ความตายของชาร์ลีก็ทำให้เมลินดาเสียสติโวยวายว่าสามีของเธอเป็นฆาตกร

ไม่มีหลักฐานหรือข้อพิสูจน์อะไรที่จะมัดตัววิคในฐานะฆาตกรได้ เมลินดาจึงเริ่มคบหาผู้ชายคนใหม่ โทนี่ (ฟินน์ วิตตรอค) อย่างอาจหาญและท้าทายต่อวิคยิ่งขึ้นกว่าเดิม

ขอขยักไว้ไม่ให้เป็นสปอยเลอร์เพียงเท่านี้ล่ะค่ะ

 

Deep Water สร้างจากนวนิยายชื่อเดียวกันของนักเขียนชื่อดัง แพทริเชีย ไฮสมิธ ผู้เขียนเรื่อง The Talented Mr. Ripley ที่เคยนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์แสนสนุก นำแสดงโดยแม็ตต์ เดมอน กับจู๊ด ลอว์

ผู้เขียนไม่ได้อ่านนวนิยาย แต่ได้ทราบว่าหนังมีตอนจบที่แตกต่างไปจากนวนิยายมากเหมือนเป็นคนละเรื่องกันเลย เลยคิดว่าเห็นท่าจะต้องหาหนังสือมาอ่านดูสักหน่อยแล้วล่ะ

หนังเรื่องนี้ดูเหมือนจะเป็นการเล่นเกมท้าทายกันระหว่างสองสามีภรรยาผู้เบื่อแสนเบื่อกับชีวิตอันล่องลอยไร้แก่นสารของตน คนดูถูกปล่อยให้เดาเอาเองว่าตัวละครจะมาท่าไหนกันนี่ เหมือนจะเป็นสงครามประสาทที่ต่างฝ่ายต่างเล่นบทบาทเพื่อไม่ให้ต้องเพลี่ยงพล้ำแก่กันและกัน

งานอดิเรกของวิคทั้งสองอย่างก็กลายมาเป็นปมประเด็นหรือองค์ประกอบของเรื่อง ทั้งในลักษณะของสัญลักษณ์และรูปธรรม

เมลินดากล่าวหาว่าวิคหลงใหลคลั่งไคล้ในหอยทากมากกว่าที่เขาเคยหลงใหลคลั่งไคล้ในสิ่งใดในชีวิต และหอยทากก็กลายเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้ตัวละครทำสิ่งที่เขาทำลงไปในที่สุด

หนังเริ่มด้วยฉากที่แทบจะเหมือนกับฉากตอนจบแทบทุกกระเบียดนิ้วเลย เพียงแต่เครื่องแต่งกายของตัวละครทำให้เรารู้ว่าฉากทั้งสองนี้เกิดขึ้นต่างกรรมต่างวาระ

และบทบาทของตัวละครเด็กก็ชวนให้ต้องใช้ความพยายามตีความนัยที่หนังต้องการจะสื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระหว่างที่ขึ้นเครดิตท้ายเรื่อง ภาพที่เราเห็นคือเด็กหญิงนั่งอยู่บนเบาะหลังรถ ร้องเพลงไปเรื่อยๆ ชวนให้งุนงงสงสัยเป็นกำลังว่าทำไมผู้กำกับฯ จึงเลือกฉากนี้มาปิดเรื่องหนอ… •