“ผักเข้า” / ล้านนาคำเมือง

ล้านนาคำเมือง

ชมรมฮักตั๋วเมือง

สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

ผักเข้า

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “ผักเข้า”

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “ผักเข้า”

ภาคกลางเรียกฟักข้าว หรือขี้กาเครือ ชื่อภาษาอังกฤษเรียก Baby jackfruit, Cochinchin gourd และ Spiny bitter gourd มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Momordica cochinchinensis (Lour.) Spreng เป็นสมาชิกในวงศ์แตง Family CUCURBITACEAE

ฟักข้าวมีลักษณะนิสัยเป็นไม้เลื้อยที่มีมือเกาะเช่นเดียวกับสมาชิกวงศ์แตงเกือบทั้งวงศ์ ใบเป็นใบเดี่ยว รูปหัวใจ ขอบเว้า 3-5 แฉกคล้ายใบตำลึงหรือฟักทอง เรียงสลับและมีมือเกาะตามซอกใบ

ดอกแยกเพศอยู่ต่างต้นกัน ดอกขนาดใหญ่ สีเหลืองมี 5 กลีบเชื่อมกัน มีแต้มจุดสีน้ำตาลเข้มที่โคนกลีบ โดยทั่วไปดอกจะบานตอนเช้า และห่อตัวเมื่อแดดจัด

ผลรูปไข่แกมรี ขนาด 10-14 x 6-9 เซนติเมตร ผิวเป็นหนามสั้นๆ ทั้งผล เมื่อแก่จัดมีสีส้มแสดแดง เมล็ดรูปไข่แบนแบบเมล็ดแตง สีดำ ขอบหยักเป็นคลื่นเล็กน้อย จำนวนมาก เรียงตัวตามแนวนอนเป็นแถวภายในผล ส่วนเนื้อนอกที่หุ้มเมล็ดมีสีแดงแสด

พบทั่วไปตามลำห้วย ที่รกร้าง และชายป่าเบญจพรรณ ออกดอกผลช่วงเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม ผลแก่ประมาณเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์

การใช้ประโยชน์ ยอด ใบอ่อน และผลอ่อน ใช้เป็นอาหาร นำไปนึ่งหรือลวก กินเป็นผักเคียงหรือผักจิ้ม เนื้อผลแก่มีรสขม

ผักฯเขั้าเปนฯอยฯาเจั้า
ผักเข้าเป๋นยาเจ้า
แปลว่า ฟักข้าวเป็นยาค่ะ

ประโยชน์ทางยา ใช้ใบปรุงเป็นยาเขียวใหญ่ ถอนพิษ ดับพิษไข้ทุกชนิด เมล็ดบำรุงปอด รากต้มดื่ม หรือบดเป็นผง ปั้นรับประทานช่วยขับเสมหะ ดับพิษไข้ หรือใช้รากแช่น้ำแก้ผมร่วง รักษาเหา

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์พบว่า

เมล็ดมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ และมีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็ง มีโปรตีนหลายชนิด ได้แก่ cochinin A และ cochinin B มีคุณสมบัติยับยั้งการสร้างโปรตีนภายในเซลล์โดยเฉพาะเซลล์มะเร็ง (Ribosome-inactivating proteins)

เนื้อหุ้มเมล็ดสีแดงแสดมีคุณค่าทางอาหารจากสารกลุ่มแคโรทีนอยด์ ชื่อ ไลโคปีน (lycopene) แบบในมะเขือเทศ และเบต้าแคโรทีน (beta-carotene) แบบในแคร์รอต พบว่า มีปริมาณสูงมากเมื่อเทียบกับผักและผลไม้ทั่วไป

จากการวิจัยพบว่า ในเนื้อหุ้มเมล็ดฟักข้าวจากแหล่งต่างๆ มีปริมาณไลโคปีนมากกว่ามะเขือเทศสูงสุดถึง 200 เท่า และมีเบต้าแคโรทีนสูงกว่าในแคร์รอต 54 เท่า ซึ่งสารทั้งสองเป็นสารตั้งต้นของวิตามินเอ มีคุณสมบัติช่วยต้านอนุมูลอิสระ

เนื้อหุ้มเมล็ดสีแดงจึงช่วยเสริมสุขภาพได้เป็นอย่างดี นิยมนำมาทำเป็นเครื่องดื่ม “น้ำฟักข้าว” ซึ่งก็ได้จากส่วนของเนื้อหุ้มเมล็ดนี้เอง ทั้งยังมีสีแดงสวยน่ากินอีกด้วย •