พฤษภารำลึก (13) ปฏิรูปหลังสงครามอ่าวเปอร์เซีย/ยุทธบทความ สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ

สุรชาติ บำรุงสุข

 

พฤษภารำลึก (13)

ปฏิรูปหลังสงครามอ่าวเปอร์เซีย

 

“นายทหารและทหารในระดับต่างๆ ที่อยู่ในค่ายที่ห่างไกล และผู้นำทหารในเชิงสถาบันหลายนาย มีความรู้สึกว่าระบอบอำนาจนิยมมักจะละเลยความต้องการที่แท้จริงของกองทัพ”

Alfred Stepan (1988)

ผู้เชี่ยวชาญด้านทหารกับการเมืองในละตินอเมริกา

 

ดังได้กล่าวแล้วว่า โมเมนตัมของการปฏิรูปกองทัพจากกระแสการเมืองภายในของไทยหลัง “พฤษภาประชาธิปไตย” ไม่สามารถผลักดันความเปลี่ยนแปลงในกองทัพให้เกิดขึ้นจริงได้ ผมได้แต่นั่งมองภาวะระลอกคลื่นสาดซัดกระทบฝั่ง แล้วค่อยจางหายไปบนชายหาดการเมืองไทยอย่างน่าเสียดาย

แม้ส่วนหนึ่ง ผมเองจะมีความหวังว่าฤดูใบไม้ผลิครั้งที่สองในปี 2535 นั้น สังคมไทยมีบทเรียนและมีความพร้อมมากกว่าฤดูใบไม้ผลิครั้งแรกในปี 2516 จึงน่าจะผลักดันประเด็นทางทหารได้บ้าง

แต่ในความเป็นแล้ว กระแสคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ไม่สามารถจะรักษาโมเมนตัมของตัวเองไว้ได้ จนดูเหมือนขบวนประชาธิปไตยไทยในขณะนั้น ไม่สามารถผลักดันการปฏิรูปกองทัพให้เดินไปข้างหน้าได้

หากปัจจัยที่เป็นตัวขับเคลื่อนในความเป็นกลับเป็นพลังของสงคราม… สงครามอ่าวเปอร์เซียในปี 2534 ทำให้นักการทหารทั่วโลกที่ยึดมั่นในความเป็นทหารอาชีพต้องคิดทบทวนเรื่องเหล่านี้อย่างพินิจพิเคราะห์

สงครามอ่าวเป็นสถานการณ์สงครามที่ชี้ให้ทั้งนักการเมืองและนักการทหารต้องหันมามองปัญหาสงคราม และบทบาทของกองทัพด้วยความใคร่ครวญ

 

สงครามในฝัน

หากมองในทางที่ดี การบรรจบกันระหว่างโมเมนตัมของสงครามอ่าวในปี 2534 และโมเมนตัมของพฤษภาประชาธิปไตยในปี 2535 น่าจะเป็น “พลังกำลังสอง” ที่ทำให้โอกาสของการปฏิรูปกองทัพไทยเป็นไปได้มากที่สุดแล้ว ดังที่กล่าวแล้วว่าแม้แรงผลักดันจากเงื่อนไขการเมืองภายในจะไม่มีพลังในการปฏิรูปกองทัพได้อย่างที่หวัง

แต่ “กระแสลมทะเลทราย” จากสงครามอ่าวเปอร์เซียมีผลอย่างมาก

ตอนเกิดสงครามอ่าวเปอร์เซียในเดือนมกราคม 2534 นั้น เป็นช่วงที่ผมกำลังเตรียมตัวกลับบ้าน เพื่อเก็บข้อมูลสนามสำหรับงานวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก

ผมมีโอกาสได้เห็นสงครามจากมุมมองของสังคมอเมริกัน แน่นอนว่าสงครามคราวนี้ต่างจากสงครามเวียดนามครั้งก่อนอย่างมาก เป็นสงครามที่เกิดขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ และเป็นสงครามที่ “อเมริกันเป็นวีรบุรุษ” ในฐานะผู้ชนะร่วมกับสัมพันธมิตรอื่นๆ

สงครามเริ่มด้วยการประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน ตัดสินใจบุกเข้ายึดครองคูเวต ด้วยกำลังพลประมาณ 5 แสนนาย แม้สหประชาชาติจะเรียกร้องให้อิรักถอนตัวออก แต่รัฐบาลแบกแดดเชื่อว่าอิรักมีความชอบธรรมที่จะยึดครองคูเวต ทำให้ชาติพันธมิตรพยายามเริ่มรวมกำลังในช่วงปลายปี 2533 (coalition forces) โดยมีกำลังของกองทัพสหรัฐราว 5 แสนนาย และกองทัพประเทศอื่นๆ อีก 2 แสนกว่านาย

ดังนั้น เมื่อรัฐบาลอิรักปฏิเสธที่จะถอนตัวออกจากคูเวตตามเวลาเส้นตาย 15 มกราคม 2534 กองทัพผสมของพันธมิตรจึงเปิดการโจมตีทางทหารในอีกสองวันถัดมา

สงครามไม่ได้เริ่มด้วยสูตรมาตรฐานที่เป็นการโจมตีทางบก หากเริ่มเปิดฉากด้วยเฮลิคอปเตอร์โจมตีเป้าหมายที่เป็นระบบป้องกันทางอากาศตามแนวชายแดน เพื่อเปิดช่องทางให้อากาศยานรบจำนวนมากบินเข้าโจมตีเป้าหมายที่มีคุณค่าทางทหาร

สงครามทางอากาศดำเนินต่อเนื่องถึง 43 วัน และใช้ราว 1 แสนเที่ยวบินโจมตี

สงครามทางอากาศในอ่าวเปอร์เซียแทบจะเป็นเหมือน “ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์” เพราะมีระบบอาวุธใหม่หลายชนิดปรากฏให้เห็น ไม่ว่าจะเป็นอากาศยานล่องหน (Stealth) ระเบิด “ฉลาด” (smart bomb) ที่สามารถพาตัวเองเข้าสู่เป้าหมายได้อย่างแม่นยำ

ตลอดรวมถึงอาวุธปล่อยครูส (cruise missile) ซึ่งเป็นอาวุธที่เตรียมไว้รับมือกับสงครามของรัสเซีย แต่อาวุธเหล่านี้ถูกนำมาใช้กับกองทัพประเทศโลกที่สาม

ชัยชนะของสหรัฐจึงเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ ด้วยเงื่อนไข 4 ประการ คือ เหนือกว่าทางยุทโธปกรณ์ เหนือกว่าเชิงปริมาณ เหนือกว่าทางยุทธวิธี เหนือกว่าทางเทคนิค อันเกิดเป็น “ความเหนือกว่าทางยุทธศาสตร์”

สหรัฐและพันธมิตรบอมบ์จนกองทัพอิรักบอบช้ำอย่างมากจนแทบไม่สามารถทำการรบได้ และเปิดโอกาสให้กำลังรบทางบกเข้าทำการรบ น่าสนใจอย่างมากในทางยุทธศาสตร์ทหาร ที่การรบทางบกใช้เวลาเพียง 100 ชั่วโมง จึงยุติปฏิบัติการ และไม่ได้เปิดการรุกต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้นำอิรักมีพื้นที่เหลือในทางการเมือง

สงครามอ่าวจบลงรวดเร็วอย่างคาดไม่ถึง จนเป็นดัง “สงครามในฝัน” ของนักการทหารทั่วโลก…

สงครามรบชนะในระยะเวลาอันสั้น สูญเสียต่ำ และข้าศึกเสียหายหนัก

 

ภูมิทัศน์ใหม่-สงครามใหม่

ในฐานะนักเรียนในวิชาทางด้านยุทธศาสตร์ศึกษา สงครามอ่าวเป็นสิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง และเป็นสงครามที่ได้เห็นด้วยมุมมองของวิชาทหารที่ได้เรียนขณะนั้น ความตื่นเต้นอีกส่วนคือการได้เห็นเทคโนโลยีทหารสมัยใหม่ที่ใหม่จริงๆ และเป็นเทคโนโลยีที่ได้เรียนก่อนที่สงครามจะเกิดขึ้นไม่นาน

จนผมรู้สึก “อิน” กับสงครามครั้งนี้ และคงต้องถือว่าสงครามนี้เป็นภาพสะท้อนถึง “สงครามเทคโนโลยีสมัยใหม่” (modern technological warfare) อย่างแท้จริง

ในระหว่างที่รอสอบโครงร่างวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ผมแอบหาเวลากลับมาเขียนบทความด้านการทหารส่งมาลงมติชนสุดสัปดาห์อีกครั้ง ระบบสื่อสารยุคนั้นไม่ได้ก้าวหน้ามาก ผมใช้วิธีเขียนต้นฉบับด้วยลายมือ และส่งเป็นจดหมายจากนิวยอร์กมาให้พี่เถียร (บก.เสถียร จันทิมาธร) ซึ่งต้องขอบคุณกอง บก. ที่เอาลายมือผมมาพิมพ์เป็นต้นฉบับให้อย่างดี และเขียนต่ออีกส่วนเมื่อกลับมาถึงไทยแล้ว ต้องขอขอบคุณสำนักพิมพ์มติชนที่เอาบทความชุดนี้มารวบรวมในชื่อ “ค.ศ.2000 : ยุทธศาสตร์โลกหลังสงครามเย็น” (2537)

ดังที่กล่าวแล้ว ผมกลับมาถึงไทยไม่นาน ได้เห็น “พฤษภาประชาธิปไตย” ความต้องการที่จะเห็นการปฏิรูปกองทัพจึงเป็นผลทั้งจากสงคราม 2534 และจากการเมืองภายใน 2535 แต่แรงผลักจากปัจจัยภายในกลับไม่มากอย่างที่คิด แรงผลักจากสงครามดูจะมากกว่า…

ผลจากสงครามอ่าวทำให้นายทหารในกองทัพไทยสนใจเรื่องของการปฏิรูปกองทัพในมิติทางทหารอย่างมาก

ดังนั้น หลังจากสถานการณ์การเมืองเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น เวทีการศึกษาภายในกองทัพจึงมีการเปิดประเด็นสัมมนาในเรื่องของ “การปฏิรูปกองทัพในยุคหลังสงครามอ่าวเปอร์เซีย”

ผมเองมีโอกาสได้รับเชิญเข้าร่วมเปิดประเด็นเรื่องนี้ในหลายเวที ได้เห็นความกระตือรือร้นของบรรดานายทหารหลายคนที่ยอมรับว่า ถึงเวลาที่ต้องปรับเปลี่ยนภายในกองทัพไทยแล้ว

อีกทั้งเงื่อนไขของสงครามภายในได้เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เมื่อสงครามคอมมิวนิสต์ได้สิ้นสุดลง และสงครามคอมมิวนิสต์หรือสงครามเย็นในเวทีโลกก็สิ้นสุดลง อันเท่ากับภัยคุกคามของสงครามในแบบเดิมจบไปแล้ว

ถ้าเช่นนั้นแล้ว กองทัพไทยจะปรับตัวอย่างไรกับภูมิทัศน์ใหม่ของโลกหลังสงครามเย็น ที่ตามมาด้วยสงครามใหม่ในแบบของสงครามอ่าว

ผมจึงพยายามนำเสนอแนวคิดด้านความมั่นคงและการทหารใหม่ผ่านบทความในมติชนสุดสัปดาห์ และผ่านหนังสือเรื่อง ค.ศ.2000 ซึ่งต่อมาได้ทราบในภายหลังว่า นายทหารชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่งได้ซื้อหนังสือเล่มนี้ไปแจกจ่าย

ผมขออนุญาตเอ่ยนามนายทหารท่านนี้คือ พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ และได้เข้าดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดในเวลาต่อมา (ตุลาคม 2539-กันยายน 2543)

ผมได้พบนายทหารท่านนี้เป็นครั้งแรกในงานวันเกิดของกองทัพอากาศประจำปี 2540 ซึ่งในปีนั้นกองทัพอากาศได้จัดงานสัมมนาทางวิชาการที่กองบิน 1 โคราช พวกเราที่เป็นนักวิชาการและได้รับเชิญเป็นวิทยากร จึงเดินทางโดยเครื่องบินของกองทัพอากาศจากดอนเมืองไปโคราช และกองทัพอากาศได้จัด “แอร์โชว์” ด้วยการแสดงความพร้อมรบของฝูงบินเอฟ 16 เพื่อให้ ผบ.ทหารสูงสุด นายทหารจากเหล่าทัพอื่น และสื่อได้เห็น

พวกเราที่เป็นนักวิชาการได้นั่งรับประทานอาหารกลางวันกับนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ซึ่ง พล.อ.มงคลได้ถามว่า “อาจารย์เป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง ค.ศ.2000 ใช่ไหม?”…

วันนั้นเป็นครั้งแรกที่ผมได้พูดคุยเรื่องทางทหารกับนายทหารระดับสูงสุดของกองทัพไทย

หลังจากการพบกันครั้งแรกที่กองบิน 1 แล้ว ผมได้รับทราบว่า พล.อ.มงคลพยายามที่จะจัดตั้ง “ทิงก์แทงก์” (think tank) ของผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผมและเพื่อนอาจารย์ได้รับการชักชวนให้เข้ามาร่วมให้ความเห็นทางวิชาการ เพื่อที่จะเป็นประโยชน์กับการทำงานของผู้บัญชาการทหารสูงสุดในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะในขณะนั้น ปัญหาแรงงานข้ามชาติ ปัญหายาเสพติด และปัญหาความขัดแย้งตามแนวชายแดน มีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้น

แม้จะไม่ใช่เรื่องของการปฏิรูปกองทัพโดยตรง แต่ผมได้มีโอกาสเห็นความตั้งใจอย่างมากของนายทหารระดับสูงอย่าง พล.อ.มงคล ที่ต้องการปรับเปลี่ยนการทำงานของฝ่ายทหาร แม้จะเป็นเรื่องของปัญหากับประเทศเพื่อนบ้านก็ตาม

และที่สำคัญได้เห็นถึงความพยายามที่ต้องการจะแสวงหาแนวทางในการแก้ปัญหาด้วยการใช้นักวิชาการเข้ามาช่วย พวกเราเองที่เป็นคณะนักวิชาการเองก็มีความรู้สึกที่ดี เพราะเป็นการทำงานโดยไม่แอบอิงกับผลประโยชน์หรือเงินพิเศษจากผู้นำทหาร

ด้วยความสัมพันธ์เช่นนี้ทำให้ พล.อ.มงคลเป็นนายทหารอีกท่านหนึ่งที่ผมให้ความเคารพเสมอมา

 

ปฏิรูปในห้องสัมมนา

แต่ดังที่กล่าวแล้วว่าความกระตือรือร้นของคณะนายทหารไทยที่จะเรียนรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงทางยุทธศาสตร์ในยุคหลังสงครามเย็น เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัด เวทีสัมมนาภายในกองทัพในช่วงดังกล่าวเป็นหลักฐานอย่างดีในเรื่องนี้ ในกองทัพอากาศเองดูจะตื่นตัวอย่างมาก อาจจะเป็นเพราะกองทัพอากาศเป็นพระเอกสงครามอ่าว จนเสมือนกับสงครามชนะด้วยปัจจัยของ “นภานุภาพ” (air power) แต่ในความจริงแล้ว ไม่มีสงครามใดที่รบและชนะได้ด้วยเพียงกำลังเหล่าทัพเดียว

เวทีสัมมนาในกองทัพมีข้อเสนอต่างๆ มากมาย แต่ก็น่าเสียดายว่าในภาพรวมแล้ว เรากลับไม่สามารถสร้าง “ขบวนปฏิรูปกองทัพ” (military-reform movement) ให้เกิดขึ้นได้

ดังนั้น ข้อเสนอที่ดีหลายเรื่องจึงเป็นเพียง “การปฏิรูปในห้องสัมมนา” และไม่มีโมเมนตัมมากพอที่จะผลักดันให้เกิดการปฏิรูปได้จริง จนกลายเป็น “การปฏิรูปบนกระดาษ” ซึ่งสุดท้ายแล้วไม่เกิดผลในทางปฏิบัติ

ในฐานะนักวิชาการที่ได้เข้าไปเห็นและมีส่วนร่วมในเรื่องเหล่านี้ จึงได้แต่เพียงรู้สึกเสียดายกับโอกาสของการปฏิรูปกองทัพที่ผ่านเลยไป และไม่หวนกลับคืนมาอีก

เหมือนกับคำกล่าวที่ว่า โอกาสมักจะไม่เดินมาหาเราเป็นครั้งที่สอง…

แต่ผมก็ไม่เคยเลิกฝันถึงการปฏิรูปทหาร แม้ข้อเสนอเรื่องปฏิรูปกองทัพของผมชิ้นแรกปรากฏในมติชนสุดสัปดาห์มาตั้งแต่ปี 2528 ก็ตาม!