2 ปีเหตุท่าเรือกรุงเบรุตระเบิด ความยุติธรรมที่ยังเลือนราง/บทความต่างประเทศ

บทความต่างประเทศ

 

2 ปีเหตุท่าเรือกรุงเบรุตระเบิด

ความยุติธรรมที่ยังเลือนราง

 

ผ่านไป 2 ปีแล้วกับเหตุการณ์สารเคมี “แอมโมเนียม ไนเตรต” จำนวนหลายร้อยตันที่ถูกเก็บไว้แบบไม่ได้มาตรฐานที่โกดังเก็บของในท่าเรือในกรุงเบรุต เมืองหลวงของประเทศเลบานอน เกิดระเบิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ปี 2020

นับจนถึงเวลานี้ก็ยังไม่มีใครต้องรับผิดชอบกับเหตุการณ์ดังกล่าวแม้แต่คนเดียว

แถมบรรดานักการเมืองที่ถูกตั้งข้อหาดำเนินคดีจากเหตุการณ์ดังกล่าวกลับได้รับเลือกตั้งกลับเข้าสู่สภาอีกครั้ง

โศกนาฏกรรมในครั้งนั้นที่ทำสถิติเป็น “เหตุระเบิด” ที่ไม่ได้เกิดจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลกครั้งหนึ่ง ส่ง “คลื่นกระแทก” พุ่งไปทุกทิศทางทำลายอาคารบ้านเรือนในกรุงเบรุตเสียหายเป็นวงกว้าง มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 200 ราย บาดเจ็บอีกกว่า 6,500 คน

ส่งผลให้เศรษฐกิจถึงขั้นล่มสลาย และกลายเป็นเหตุการณ์ที่ยังคงหลอกหลอนชาวเลบานอนมาจนถึงทุกวันนี้

 

เศษซากความเจ็บปวดของชาวเลบานอน โดยเฉพาะผู้คนที่อาศัยในกรุงเบรุต ถูกกระตุกเตือนขึ้นอีกครั้งเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา ไซโลเก็บธัญพืช ความสูง 48 เมตรที่พังเสียหายจากเหตุระเบิดครั้งนั้นเกิดไฟไหม้ ส่งเสียงระเบิดสนั่นหวั่นไหวก่อนที่ไซโลจะถล่มลงมาบางส่วน ส่งกลุ่มควันคละคลุ้งปกคลุมพื้นที่เป็นวงกว้าง

ธัญพืชในไซโลที่เน่าเหม็นและเกิดไฟไหม้ขึ้นยาวนานนับเดือน เจ้าหน้าที่ดับเพลิงและหน่วยงานของรัฐที่จนปัญญาจะดับไฟก่อนเกิดเหตุไซโลถล่ม เป็นภาพสะท้อนความฟอนเฟะของการเมืองเลบานอน ที่นักการเมือง และเจ้าหน้าที่ระดับสูงหลุดรอดพ้นจากความผิดไปได้ทุกครั้ง ไม่เว้นแม้กระทั่งโศกนาฏกรรมใหญ่ของประเทศในครั้งนั้น

บรรดาครอบเครัวของเหยื่อผู้เสียชีวิตเคยมีความหวังว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเก็บสารเคมีอันตรายที่ทำให้เกิดระเบิดครั้งใหญ่ขึ้นจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย เมื่อกระแสความไม่พอใจในหมู่ชาวเลบานอนพุ่งขึ้นสูงสุดหลังเกิดเหตุระเบิดได้ไม่นาน ส่งผลให้เกิดการประท้วงใหญ่เรียกร้องความยุติธรรมให้นำคนผิดมาลงโทษ

ยิ่งกว่านั้นผู้พิพากษาฟาดี ซาวาน ผู้รับหน้าที่ดูแลคดียังสร้างความประหลาดใจไปทั้งประเทศเมื่อตั้งข้อหานักการเมืองระดับรัฐมนตรี 3 ราย รวมไปถึงนายกรัฐมนตรีรักษาการในเวลานั้นในข้อหาประมาทเลินเล่อที่เป็นความผิดทางอาญา

การพุ่งเป้าไปที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลที่ทรงอิทธิพลของประเทศเลบานอน ทำให้ผู้พิพากษาซาวานต้องถูกปลดออกจากตำแหน่ง หลังจากรัฐมนตรีเลบานอน 2 คนยื่นเรื่องดำเนินคดีกับผู้พิพากษา

 

อย่างไรก็ตาม ความหวังของครอบครัวเหยื่อยังไม่หมดไปเมื่อผู้พิพากษา “ตาเร็ก ไบตาร์” เข้ามาดำรงตำแหน่งแทนในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เดินหน้าดำเนินคดีกับเหล่านักการเมืองกลุ่มเดิม และยังตั้งข้อหารัฐมนตรีเพิ่มอีก 1 คน รวมไปถึงตั้งข้อสงสัยกับนายทหารระดับผู้บัญชาการหน่วยงานความมั่นคงระดับชาติ รวมไปถึงผู้บัญชาการหน่วยงานความมั่นคงของกรุงเบรุตด้วย

“ผู้พิพากษาไบตาร์หยิบยื่นความหวังให้กับชาวเลบานอนที่มีต่อระบบยุติธรรมในประเทศ หลังจากที่ผู้คนจำนวนมากหมดหวังกับระบบยุติธรรมที่จะนำคนผิดมาลงโทษ” อายา มาจซูบ นักวิจัยชาวเลบานอนของฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุ และว่า “เขาเป็นคนเดียวที่เผชิญหน้ากับสถาบันการเมืองทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดในกรุงเบรุตครั้งนั้น”

อย่างไรก็ตาม ความหวังเริ่มเลือนรางลงอีกครั้งเมื่อผู้พิพากษาไบตาร์กำลังเผชิญชะตากรรมเดียวกันกับผู้พิพากษาคนก่อนหน้า เมื่อรัฐมนตรี 3 คนยื่นเรื่องร้องเรียน

เกมการเมืองที่มีอิทธิพลเหนือระบบยุติธรรมเลบานอนทำให้ถูกมองว่าผู้พิพากษาไบตาร์อาจจะต้องหลุดจากตำแหน่งไปอีกคน และความหวังที่จะดำเนินคดีนำคนผิดมาลงโทษก็จะเลือนรางลงอีกครั้ง

 

“มันเป็นเวลา 2 ปีแล้ว และมันไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย” พอล แนกเกียร์ คุณพ่อที่สูญเสียลูกสาววัย 3 ขวบจากเหตุระเบิด “ทุกอย่างมันเหมือนกับว่าลูกสาวผมเพียงแค่ถูกรถชนเท่านั้น”

แนกเกียร์, ภรรยา และลูกสาว อเล็กซานดรา อาศัยในอพาร์ตเมนต์ที่ระเบียงหันหน้าสู่ท่าเรือกรุงเบรุต ก่อนที่เหตุระเบิดจะส่งผลให้กระจกแตก กระแทกเฟอร์นิเจอร์และเศษซากต่างๆ ปลิวว่อน

แนกเกียร์และภรรยาได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย แต่อเล็กซานดราบาดเจ็บสาหัสก่อนจะกลายเป็นเหยื่อที่อายุน้อยที่สุดเป็นอันดับ 2 ในบรรดาผู้เสียชีวิตกว่า 215 ราย

กระแสสังคมที่เรียกร้องความยุติธรรมเวลานี้ก็เริ่มจางไปพร้อมๆ กับผู้คนที่ต้องดิ้นรนเอาตัวรอดจากเศรษฐกิจที่ล่มสลาย เหตุประท้วงจากกลุ่มผู้สนับสนุนเฮซบอลเลาะห์ที่ต่อต้านการสืบสวนคดีของผู้พิพากษาไบตาร์ กลายเป็นเหตุยิงกันที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 7 ราย ก็กลายเป็นเรื่องน่าหวาดผวาสำหรับผู้ประท้วงที่จะออกมาเรียกร้องความยุติธรรมกันอีก ขณะที่นักการเมืองที่ถูกสงสัยว่าจะต้องรับผิดชอบกับเหตุการณ์ดังกล่าวก็ได้รับเลือกตั้งกลับสู่สภาอีกครั้งในการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

เวลานี้จำนวนผู้ประท้วงเพื่อนำคนผิดในเหตุระเบิดมาลงโทษลดลงเหลือเพียงหยิบมือ แต่ครอบครัวของเหยื่อก็ยังคงยืนหยัดเรียกร้องความยุติธรรมให้บุคคลอันเป็นที่รักต่อไป

มูฮีดดิน ลัดคานี ที่สูญเสียคุณพ่อในเหตุการณ์ดังกล่าวระบุว่าตนยังไม่สามารถพูดถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นได้เหมือนกับเวลาหยุดเอาไว้ที่วันที่ 4 สิงหาคม ปี 2020

“มันเป็นอะไรบางอย่างที่ผมไม่อยากจะเชื่อ ผมไม่สามารถอยู่กับมันได้” ลัดคานีระบุพร้อมกับลั่นวาจาที่แฝงด้วยความคับแค้นว่า

“หมึกที่อยู่บนนิ้วของคนที่ลงคะแนนเสียงให้กับนักการเมืองพวกนั้นไม่ใช่หมึก แต่เป็นเลือดของบรรดาเหยื่อจากเหตุระเบิด”

 

เมื่อความหวังในประเทศเลือนราง บรรดาครอบครัวจำเป็นต้องพึ่งศาลในต่างประเทศ ล่าสุดบรรดาครอบครัวยืนฟ้องต่อศาลในสหรัฐอเมริกาเรียกค่าเสียหายกับบริษัท TGS บริษัทสัญชาติอเมริกัน-นอร์เวย์ ที่ต้องสัยสัยว่าอาจเกี่ยวข้องกับการนำเข้าสารอันตรายมายังท่าเรือกรุงเบรุต ข้อกล่าวหาที่ TGS ปฏิเสธ

นอกจากนี้ ครอบครัวเหยื่อยังยื่นฟ้องต่อศาลในอังกฤษ กับบริษัท Savaro Ltd บริษัทสารเคมีที่สื่อในเลบานอนขุดคุ้ยขึ้นมาว่าเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ขนส่ง “แอมโมเนียม ไนเตรต” ดังกล่าวจากประเทศจอร์เจียไปยังบริษัทผู้ผลิตวัตถุระเบิดในประเทศโมซัมบิก

คดีความในต่างประเทศเหล่านี้ยังดูจะมีความหวังมากกว่ากระบวนการยุติธรรมในประเทศที่ถูกครอบงำโดยอิทธิพลของนักการเมือง

เป็น “แสงแห่งความยุติธรรม” ที่ริบหรี่ราวกับแสงไฟที่ยังลุกไหม้ธัญพืชในไซโลที่พร้อมจะถล่มลงมาได้ทุกเมื่อ