หาร 500 ฉบับสมบูรณ์/บทความพิเศษ สมชัย ศรีสุทธิยากร

สมชัย ศรีสุทธิยากร

บทความพิเศษ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

 

หาร 500 ฉบับสมบูรณ์

 

หลังจากวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ.2565 ที่รัฐสภามีมติ 354 : 162 ให้ระบบการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อเป็นระบบจัดสรรปันส่วนผสม มีการคำนวณจำนวน ส.ส.ที่พึงมีจากบัตรเลือกตั้งใบที่สอง แล้วจึงไปคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พึงได้รับจากการหักลบกับจำนวน ส.ส.เขตที่พรรคตนเองได้รับเลือก

หรือเรียกสั้นๆ ว่าระบบหาร 500 ยังมีความจำเป็นต้องแก้ไขมาตราที่เหลือในร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่…) พ.ศ…. ให้สอดคล้องกับหลักการใหม่ที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบ

การประชุมร่วมกันของรัฐสภาเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ.2565 จึงมีมติเห็นชอบกับข้อเสนอของคณะกรรมาธิการวิสามัญที่ขอถอนร่างพระราชบัญญัติกลับไปทบทวนดูความเรียบร้อยและมาตราที่จำเป็นต้องแก้ไข

จากนั้น คณะกรรมาธิการใช้เวลาในวันถัดไปประชุมแก้ไขส่งประธานรัฐสภา เพื่อบรรจุเป็นวาระการประชุมในวันที่ 2-3 สิงหาคม พ.ศ.2565 เพื่อให้สามารถผ่านวาระที่สามก่อนสิ้นสุดกำหนดเวลา 180 วันตามเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ.2565

มาตราที่แก้ไขเพิ่มเติมอีก 2 มาตรา คือ มาตรา 24/1 และมาตรา 26 ที่ผ่านการลงมติของกรรมาธิการ จึงเป็นการเติมเต็มเพื่อให้ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เดินหน้าสู่ความสมบูรณ์ในแนวคิดหาร 500

 

มาตรา 24/1

ตอบมาตรา 93 ของรัฐธรรมนูญ

มาตรา 93 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เป็นมาตราที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งในระบบจัดสรรปันส่วนผสม แต่ไม่มีการแก้ไขในรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2564 โดยมีเนื้อหาดังนี้

“มาตรา 93 ในการเลือกตั้งทั่วไป ถ้าต้องมีการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ในบางเขตหรือบางหน่วยเลือกตั้งก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง หรือการเลือกตั้งยังไม่แล้วเสร็จ หรือยังไม่มีการประกาศผลการเลือกตั้งครบทุกเขตเลือกตั้งไม่ว่าด้วยเหตุใด การคํานวณจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่แต่ละพรรคการเมืองพึงมี และจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองพึงได้รับให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ในกรณีที่ผลการคํานวณตามวรรคหนึ่งทําให้จํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใดลดลง ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นในลําดับท้ายตามลําดับพ้นจากตําแหน่ง”

โดยสรุปหลักการสั้นๆ ในรัฐธรรมนูญ คือ หากเลือกตั้งไม่เสร็จในบางเขตจะด้วยเหตุอะไรก็แล้วแต่ เช่น มีการให้ใบเหลือง ใบส้ม ก่อนประกาศผล หรือบางพื้นที่อาจประสบภัยพิบัติ ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ การคำนวณ ส.ส.พึงมีโดยคณะกรรมการการเลือกตั้งนั้นให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎหมายลูก

มาตรา 24/1 ของร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เพิ่มเติมขึ้นมา จึงเป็นการบอกถึงรายละเอียดของวิธีการคำนวณ เช่น ให้เอาจำนวน ส.ส.เขตที่เขตที่ประกาศผลได้มาบวกกับจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน มาเป็นตัวหารในการคำนวณคะแนนเฉลี่ยของ ส.ส.พึงมีหนึ่งคน

ตัวอย่างเช่น หากเขตเลือกตั้ง 400 เขต สามารถประกาศผลได้เพียง 390 เขต ตัวหารจะเป็น 390+100 หรือ 490 ไม่ใช่ใช้ 500 หาร โดยใช้คะแนนรวมทั้งประเทศของบัตรใบที่สองเป็นตัวตั้งและเอา 490 เป็นตัวหาร เป็นต้น และเมื่อมีการประกาศผลของ ส.ส.เพิ่มขึ้นใหม่ ก็ต้องคำนวณใหม่ทุกครั้ง เว้นแต่จะพ้นเวลาหนึ่งปีนับแต่วันเลือกตั้งทั่วไป

ผลในกรณีนี้แปลว่า หากมีการประกาศผลเพิ่ม ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคใดพรรคหนึ่งมีสิทธิเดินเข้าเดินออกได้ตลอดเวลา 1 ปีหลังจากการเลือกตั้งทั่วไป จึงยังต้องรักษาสิทธิของการลำดับหมายเลขของ ส.ส.บัญชีรายชื่อแต่ละพรรคให้ยังอยู่ในลำดับเดิมเผื่อการได้รับการจัดสรรเพิ่มใหม่ในอนาคตด้วย

 

มาตรา 26

ตอบโจทย์มาตรา 94

ของรัฐธรรมนูญ

มาตรา 94 เป็นอีกมาตราหนึ่งที่ไม่มีการแก้ไขในรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้

“มาตรา 94 ภายในหนึ่งปีหลังจากวันเลือกตั้งอันเป็นการเลือกตั้งทั่วไป ถ้าต้องมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใดขึ้นใหม่ เพราะเหตุที่การเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้นําความในมาตรา 93 มาใช้บังคับโดยอนุโลม การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทนตําแหน่งที่ว่างไม่ว่าด้วยเหตุใดภายหลังพ้นเวลาหนึ่งปีนับแต่วันเลือกตั้งทั่วไป มิให้มีผลกระทบกับการคํานวณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่แต่ละพรรคการเมืองจะพึงมีตามมาตรา 91”

เนื้อความโดยสรุปคือ ภายในหนึ่งปีนับแต่วันเลือกตั้งทั่วไป หากมีการเลือกตั้งใหม่ด้วยเหตุการณ์ทุจริตเลือกตั้ง นั่นคือ กกต.ให้ใบเหลือง หรือใบแดง แล้วศาลตัดสินให้มีการเลือกตั้งใหม่ ผลการเลือกตั้งใหม่ทำให้จำนวน ส.ส.เขตของแต่พรรคมีการเปลี่ยนแปลงไป จึงจำเป็นต้องมีคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคใหม่ด้วย

มาตรา 26 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่กรรมาธิการเสียงข้างมากปรับแก้ใหม่จึงเป็นการระบุถึงวิธีการในรายละเอียดให้นำจำนวน ส.ส.เขตที่ได้จากการเลือกตั้งใหม่มาคำนวณหักลบจาก ส.ส.พึงมีที่คำนวณไว้ในการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งจะมีผลต่อการลดหรือเพิ่ม ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองแต่ละพรรค โดยการดำเนินการดังกล่าวจะทำในกรอบเวลา 1 ปีนับแต่วันเลือกตั้งทั่วไปเท่านั้น รวมถึงการยังให้คงลำดับของ ส.ส.บัญชีรายชื่ออยู่ในลำดับเดิมเพื่อรักษาสิทธิที่อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

นอกจากนี้ ยังระบุถึงกรณีการเลือกตั้งใหม่ด้วยเหตุอื่นที่ไม่ใช่เหตุจากการทุจริตการเลือกตั้ง เช่น ตาย ลาออก ถูกขับจากพรรคและไม่สามารถหาพรรคใหม่ได้ภายใน 30 วัน ขาดคุณสมบัติการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรืออื่นๆ ในกรณีเช่นนี้ การเลือกตั้งใหม่ที่เกิดขึ้น ไม่ต้องนำมาคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พึงได้รับ

การเพิ่มมาตรา 24/1 และมาตรา 26 จึงเป็นการเติมให้เกิดความสมบูรณ์ในวิธีการคำนวณ ส.ส.พึงมี และ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พึงได้รับตามระบบจัดสรรปันส่วนผสม หรือที่เรียกกันว่าระบบหาร 500 และยังเป็นหลักการที่สอดคล้องกับมาตรา 93 และมาตรา 94 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่ไม่มีการแก้ไข และเคยเป็นส่วนเกินหากใช้ระบบการคำนวณแบบหาร 100

กรรมาธิการเสียงข้างน้อยที่เคยแพ้ในขั้นการพิจารณาของกรรมาธิการครั้งก่อน เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ.2565 บัดนี้กลายเป็นกรรมาธิการเสียงข้างมาก ในการประชุมใหม่เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ.2565 จึงมีหน้าที่ต้องเดินหน้าชี้แจงและปกป้องหลักการหาร 500 ในการประชุมร่วมของรัฐสภาเพื่อไปสู่การเห็นชอบรายมาตราที่เหลือและไปให้สุดจนถึงการลงมติวาระที่สามให้ทันก่อนครบกำหนดเวลา 180 วัน คือวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ.2565

จากนั้นเป็นการดำเนินการตามมาตรา 132(2) คือการส่งองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องซึ่งในกรณีนี้คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง โดย กกต. มีกรอบเวลา 10 วันในการพิจารณา

หากเห็นว่ามีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ก็สามารถเสนอความเห็นกลับไปยังรัฐสภาเพื่อไปพิจารณาแก้ไขตามที่เห็นสมควรได้ภายในเวลา 30 วันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องจาก กกต.

จากนั้นหาก ส.ส. หรือ ส.ว. จำนวน 1 ใน 10 ของสองสภา คือประมาณ 75 คน เห็นว่า ยังมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ก็สามารถส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยได้

มหากาพย์การแก้รัฐธรรมนูญฉบับร่างแล้วอย่างไรใครได้เปรียบจึงยังไม่จบได้โดยง่าย