มิตรของเผด็จการเมียนมา/โลกทรรศน์ อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

โลกทรรศน์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

 

มิตรของเผด็จการเมียนมา

 

นับวันข่าวเกี่ยวกับเมียนมายิ่งน่าสนใจและน่าเป็นห่วง

หลังรัฐประหารกุมภาพันธ์ 2564 ทหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่เพียงประชาธิปไตย เสรีภาพในการแสดงออกจะดับวูบลงและดูไม่มีวันหวนกลับมาอีกแล้ว ท่ามกลางการปราบปรามฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารทั้งจากประชาชนและกลุ่มชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ แล้ว

เศรษฐกิจเมียนมาก็ดำดิ่ง ราคาพลังงานสูงขึ้น เกิดภาวะขาดแคลนอาหารและอุปโภคบริโภค บริษัทต่างชาติถอนตัวออก

ไม่ถึงปี เศรษฐกิจเมียนมาชงักงันและก้าวสู่วิกฤต เศรษฐกิจหดตัว 18% ความยากจนเพิ่มขึ้น 40% หรือถอยหลังไป 10 ปี รายได้รัฐเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 40% ค่าไฟฟ้า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ยังไม่ได้จ่าย

นี่หรือประเทศเจ้าของแหล่งพลังงานทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ เขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า และขายพลังงานให้ไทย

ค่าเงินจ๊าต (Kyat) ที่อ่อนค่าลง จนกระทั่งทางการเมียนมาบังคับห้ามบริษัทเอกชนทั้งคนเมียนมา บรรษัทต่างประเทศแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ มีการบังคับขายเงินตราต่างประเทศต่ำกว่าราคาตลาด

สถานการณ์ยิ่งแย่ลงเมื่อรัฐบาลทหารเมียนมาสั่งประหารนักโทษการเมือง 4 คน

ผู้นำทหารเมียนมาไม่ฟังคำทัดทานจากทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นอาเซียน ปฏิเสธหลักการ 5 ข้อของอาเซียน ที่เสนอให้มีการเจรจาสันติภาพกับฝ่ายต่อต้าน

เป็นเรื่องเข้าใจได้หากรัฐบาลทหารเมียนมาไม่รับฟังข้อเสนอจากชาติตะวันตก เพราะฐานคิดที่ว่า ชาติตะวันตกแทรกแซงและต้องการลงโทษเมียนมา

ประเด็นคือ แล้วรัฐบาลทหารเมียนมาฟังใคร ไว้วางใจใครบ้าง

ผมอยากดูชาติที่นับว่าเป็นมิตรของเมียนมาตอนนี้ได้แก่ รัสเซียและญี่ปุ่น

 

มอสโก

ถึงแม้รัสเซียจะอยู่ห่างไกลจากเมียนมา แต่รัสเซียสัมพันธ์กับเมียนมาลึกซึ้งในฐานะแหล่งอาวุธของรัฐบาลเมียนมา มาอย่างต่อเนื่อง

ยิ่งเมียนมาถูกบอยคอตจากชาติตะวันตก ยิ่งทหารทำรัฐประหาร เมียนมายิ่งหลุดออกจากเวทีการเมืองโลก และยิ่งมีแรงต่อต้านจากฝ่ายต่อต้านซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธ แม้อาวุธของกองกำลังชาติพันธุ์ไม่อาจทัดเทียมได้ เมียนมาก็ยิ่งต้องพึ่งพารัสเซียโดยเฉพาะอาวุธ รัฐมนตรีกลาโหมรัสเซีย Alexander Fomin เยือนเมียนมาเป็นครั้งคราว

ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา พลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย (Min Aung Hlaing) เดินทางไปเยือนรัสเซียเพื่อขยายความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศและพลังงาน

แต่รัสเซียไม่ประสงค์ให้สาธารณะเห็นภาพการโอบอุ้มเมียนมา ท่านนายพลจากเนปิดอว์จึงไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าพบประธานาธิบดีปูตินที่มอสโก

ทางการรัสเซียเรียกการเยือนครั้งนี้ว่า เป็นการเยือนส่วนตัว

หลังรัฐประหารในเมียนมา รัสเซียใช้ความร่วมมือทางทหารขยายอิทธิพลในเมียนมา โดยสนับสนุนการปฏิบัติการด้านทหาร รัสเซียจัดส่งโดรน เครื่องบินรบและยานเกราะให้เมียนมา

ตอนนี้รัฐบาลทั้งสองร่วมมือกันต่อต้านการแทรกแซงและแซงก์ชั่นจากชาติตะวันตก และแสวงหาการขยายเป้าหมายร่วมของทั้งสองประเทศ

การได้อาวุธต่อเนื่องจากรัสเซียคือ แผนงานหลักของเมียนมา และผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่า เมียนมาแลกเปลี่ยนวัตถุดิบให้แก่รัสเซียเป็นการตอบแทน1 การเยือนรัสเซียครั้งล่าสุด มิน อ่อง ลาย ยังหาทางสร้างพลังงานนิวเคลียร์ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เสียหายจากสงคราม

สำหรับรัสเซีย เมียนมาตั้งอยู่บนภูมิรัฐศาสตร์ ระหว่างอินเดียและจีน ชายฝั่งติดกับอ่าวเบงกอล เมียนมาสามารถเข้าถึงมหาสมุทรอินดีย และการค้าทางทะเลผ่านเข้าทะเลจีนใต้

หลังรัฐประหาร เมียนมาโดดเดี่ยวและพึ่งพามากจากจีน ช่วงรัฐบาลพลเรือนเมียนมาลดการดำเนินการโครงการข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีนลง แต่รัฐบาลทหารนำมาปัดฝุ่นหลายโครงการ

กับจีน ทหารเมียนมากังวลกับการตกอยู่ในอุ้งมือจีนทั้งหมด ซึ่งไม่เหมือนกับรัสเซีย ที่รัสเซียทำแค่ความผูกพันทางทหาร จีนให้อาวุธและยังสัมพันธ์กับทหารฝ่ายกบฏอีกด้วย รัฐบาลทหารเมียนมาจึงกระจายความผูกพันเข้าใกล้รัสเซีย และรัสเซียเริ่มตอบสนองบ้างแล้ว

รัสเซียจึงเป็นหนึ่งในมิตร แต่ก็ได้ประโยชน์จากเมียนมาไม่น้อย

 

โตเกียว

โดยพื้นฐาน ญี่ปุ่นมีนโยบายต่างประเทศตามแนวทางสหรัฐอเมริกาหลายด้าน ยิ่งภายหลังรัฐบาลอาเบะ (Abe) และนายกรัฐมนตรีคิชิดะ (Kishida) ด้วยแล้ว ญี่ปุ่นมีนโยบายต่างประเทศต่ออินโด-แปซิฟิก ความร่วมมือจตุภาคี QUAD เพิ่มศักยภาพทางทหารและอาวุธ ประณามการรุกรานยูเครนของรัสเซีย

แต่ญี่ปุ่นไม่เคยวิจารณ์การรัฐประหารในเมียนมา ญี่ปุ่นไม่เคยถอนการสนับสนุนรัฐบาลทหารเมียมา

สมัยนายกรัฐมนตรีโยชิเดะ สึงะ (Yoshihide Suga) นายกรัฐมนตรีก่อนคิชิดะ เขาแสดงความกังวลอย่างลึกซึ้งต่อผลของความรุนแรงในเมียนมา แต่ไม่ได้ทำอะไรกดดันทหารเมียนมา

นายกรัฐมนตรีคิชิดะยังคงนโยบายนี้ต่อเมียนมา แม้บริษัทใหญ่ เช่น Kirin Holding ถอนหุ้นส่วนใหญ่ที่ร่วมลงทุนกับทหารเมียนมาเมื่อมิถุนายนที่ผ่านมา

สหรัฐแช่แข็งเงิน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐของธนาคารกลางเมียนมา แต่ญี่ปุ่นปฏิเสธกดดันต่อและใช้การแซงก์ชั่นบรรษัทของผู้นำเมียนมาและพวกพ้อง2

ญี่ปุ่นระงับความสนับสนุนทางการทูตและด้านมนุษยธรรมแก่รัฐบาลเงา รัฐบาลเพื่อเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government-NUG) บริษัท Mitsubishi Group ยังลงทุนใน Yetagun Offshore Gas ที่เป็นจักรกลการหล่อเงินเลี้ยงชีวิตระบอบทหารเมียนมา

นโยบายของญี่ปุ่นมาจากสมมุติฐานที่ไม่สำคัญกับระบอบทหาร มิน อ่อง ลาย ยังอยู่ในอำนาจ และเป็นความจริงทางการเมือง

ทหารเมียนมากำลังแกว่งไปแกว่งมา ด้วยการต่อต้านอย่างป่าเถื่อนกับชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์และองค์กรของพวกเขา และมีแนวโน้มเริ่มก่อสงครามใหม่กับกองกำลังทหารในรัฐอรากัน (Arakan) ทางตะวันตกของรัฐยะไข่ (Rakkine) แต่ที่น่าสนใจ นี่เป็นครั้งแรกที่ทหารเมียนมาต้องกังวลกับเส้นทางลำเลียงอาวุธการป้องกันประเทศผ่านหัวใจชาวเบอร์มัน (Heartland Burmar)

4 ยุทธการเผด็จการทหารเมียนมาคือ ยึดครองประชาชน เผาผลาญหมู่บ้าน ใช้ความรุนแรงทางเพศ ใช้คนเป็นโล่และใช้ประโยชน์จากปืนใหญ่และเครื่องบิน แต่ด้วยขนาดและทรัพยากรมหาศาล พวกเขาดูแคลนแรงสนับสนุน NUG ของประชาชน ทหารเมียนมากลายเป็นสถาบันพิษ เป็นที่รังเกียจและหวาดกลัวของคนทั่วไป

แล้วญี่ปุ่นไม่กังวลจุดผลิกพันในสงครามกลางเมืองครั้งนี้บ้างหรือ ญี่ปุ่นน่าใคร่ควรให้มากๆ ต่อเศรษฐกิจที่พังพินาศ รวมทั้งระบอบทหารทำลายระบบธนาคาร ระบบเศรษฐกิจ ไม่มีการลงทุนนอกจากจีน แล้วจะกระทบทุนต่างชาติ รวมถึงญี่ปุ่นด้วย

ญี่ปุ่นมีสมมุติฐานที่ไม่สำคัญ แล้วยังแปลกที่ไม่แตะต้องเผด็จการทหารเมียนมา

นั่นหมายความว่า มิตรแท้ที่ชื่อญี่ปุ่น ก็มองผลประโยชน์ฝ่ายตนมากๆ ด้วย

มอสโกหรือโตเกียว คือมิตรของเผด็จการทหารเมียนมาหรือ

 

1Mohamed Zeeshan, “Russia in Gaining an Indo-Pacific Foothold Through Myanmar” The Diplomate, 25 July 2022.

2Zachary Abuza, “Japan is backing the wrong side in Myanmar” Nikkei Asia, 28 July 2022.