ลี้ทิก๊วย ‘โป๊ยเซียน’ ผู้เป็นบรรพชนชาวจีนแคะ และช่างตีเหล็กย่านตลาดน้อย / On History : ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
ภาพประกอบ : ศาลเจ้าโจวซือกง ตลาดน้อย /Photo by: Chainwit. /th.wikipedia.org

On History

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

 

ลี้ทิก๊วย ‘โป๊ยเซียน’

ผู้เป็นบรรพชนชาวจีนแคะ

และช่างตีเหล็กย่านตลาดน้อย

โป๊ยเซียน คือกลุ่มเซียนทั้ง 8 ในศาสนาเต๋า อันประกอบไปด้วย หลี่เถียไกว่ (คำนี้ออกเสียงตามสำเนียงจีนกลางเช่นเดียวกับชื่อเซียนองค์อื่นๆ ที่ผมเอ่ยถึงต่อจากนี้ แต่ในไทยมักเรียกตามสำเนียงจีนแต้จิ๋วว่า ลี้ทิก๊วย), ฮั่นจงหลี, จางกว๋อเหล่า, ลวี่ต้งปิน, เหอเซียนกู, หลันไฉ่เหอ, หันเซี่ยงจื่อ และเฉากว๋อจิ้ว ซึ่งโดยปกตินั้น เซียนทั้งแปดนี้มักจะปรากฏกายขึ้นพร้อมกัน แต่ก็มีบางที่มีการนับถือแยกเฉพาะองค์แบบเดี่ยวๆ ซึ่งก็รวมถึงในประเทศไทยด้วย

ชุมชนชาวจีนเก่าแก่ของกรุงเทพฯ อย่างย่าน “ตลาดน้อย” นั้น มีการเคารพบูชา “ลี้ทิก๊วย” กันอย่างกว้างขวาง โดยมีทั้งที่เป็นรูปเคารพตั้งอยู่ในศาลเจ้าสำคัญของชุมชนคือ ศาลเจ้าโจวซือกง, ศาลของลี้ทิก๊วยเองที่สร้างแยกขึ้นมาต่างหากอย่างโดดๆ รวมถึงมีการตั้งหิ้งบูชากันตามบ้านเรือนเลยทีเดียว

แต่บ้านเรือนที่ว่านี้ ส่วนใหญ่จะเป็นเฉพาะของ “ช่างตีเหล็ก” นะครับ เพราะชาวจีนในตลาดน้อยนั้น นับถือเทพฤทธิ์เซียนเต๋าองค์นี้ในฐานะของ “คุรุแห่งการโลหกรรม” ทั้งๆ ที่ปรัมปราคติในศาสนาเต๋านั้น “ลี้ทิก๊วย” ไม่ได้มีเรื่องเกี่ยวข้องอะไรงานช่างเหล็กเลยสักนิด

 

ตํานานของลี้ทิก๊วย ตามที่เล่ากันอยู่ในศาสนาเต๋านั้น ระบุว่า แต่เดิมชื่อ ลี้เหียน เป็นชายหนุ่มรูปงาม กำพร้าพ่อแม่ แต่มีจิตใจฝักใฝ่ในธรรม ไม่เสพเนื้อสัตว์ ละทิ้งบ้านเรือนของตนเองออกมาใช้ชีวิตบำเพ็ญตามโรงเจ และในถ้ำ จนต่อมาได้ขึ้นเขาคุนลุ้น ฝากตัวเป็นศิษย์กับอาจารย์ใหญ่ ลี้เล่ากุน (บางท่านอธิบายว่าคือ เล่าจื๊อ ผู้ให้กำเนิดลัทธิเต๋า)

ครั้งหนึ่งลี้เหียนต้องถอดวิญญาณเพื่อไปพบกับเซียนเต๋าองค์อื่นๆ บนสรวงสวรรค์ จึงได้บอกกับลูกศิษย์ของตนเองที่ชื่อ หลี่ชิง (ตำนานที่แพร่หลายในไทยมักเรียกชื่อลูกศิษย์คนนี้ว่า เอี้ยวจื้อ) ว่าให้คอยเฝ้าร่างกายของเขาไว้ 7 วัน หากเขาไม่กลับเข้าร่างในเวลาที่กำหนด ก็ขอให้กระทำการฌาปนกิจร่างกายของเขา เพราะนั่นหมายความว่า เขาได้สำเร็จเป็นเซียนแล้วนั่นเอง

แต่เอี้ยวจื้อเฝ้าร่างกายของลี้เหียนได้เพียง 6 วันครึ่ง แม่ของเขาก็ล้มป่วยลง และต้องการจะพบกับลูกชายเป็นครั้งสุดท้ายก่อนเธอจะสิ้นใจ ด้วยความกตัญญูต่อมารดา เอี้ยวจื้อจึงจำเป็นต้องเผาร่างกายของอาจารย์ตนเองก่อนกำหนดแล้วรีบเดินทางไปพบแม่ ระหว่างทางนั้นเขาได้พบกับศพขอทานรูปร่างหน้าตาอัปลักษณ์ผู้หนึ่งนอนตายอยู่ข้างถนน แม้จะมีจิตคิดเวทนา แต่ด้วยความรีบเร่งเขาก็ไม่อาจทำศพให้ได้

พอครบกำหนด 7 วัน ลี้เหียนก็กลับมายังโลกมนุษย์ แต่ร่างกายของเขาถูกเผามอดไหม้ไปแล้ว เขาจึงต้องจำใจใช้ศพของขอทานอัปลักษณ์คนนั้น เป็นร่างกายของตนเองแทน

และนับแต่นั้น ลี้เหียนจึงมีรูปร่างหน้าตาอัปลักษณ์ หัวของเขายาวแหลม ใส่ตุ้มหูทองเหลืองขนาดใหญ่ไว้ข้างหนึ่ง เคราและผมหยาบกร้าน หัวล้านเป็นไข่ดาวอยู่ที่กลางศีรษะ แถมขายังเป็นง่อยเสียอีก

ดังนั้น เล่าจื๊อจึงได้ปรากฏกายต่อหน้าเขา แล้วมอบ “ไม้เท้าเหล็ก” ที่ไม่มีวันหัก และไม่เป็นสนิม ให้กับลี้เหียนใช้คอยพยุงร่างกายในเวลาเดินเหิน

และนั่นกลายเป็นที่มาให้ “ลี้เหียน” มีชื่อใหม่ว่า “ลี้ทิก๊วย” แปลว่า “ไม้เท้าเหล็กแซ่ลี้”

 

แต่ของวิเศษคู่กายที่โด่งดังของลี้ทิก๊วยนั้นกลับไม่ใช่ไม้เท้าเหล็กนะครับ เป็น “น้ำเต้า” ที่เขามักจะสะพายอยู่บนยอดของไม้เท้าต่างหาก

ว่ากันว่าภายในน้ำเต้านั้น มี “ยาวิเศษ” ที่เล่าจื๊อมอบให้ ใช้สำหรับรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ทุกชนิด แถมยังไม่มีวันหมดไปจากน้ำเต้า

ตอนที่โป๊ยเซียนทั้ง 8 ออกมาจากงานเลี้ยงท้อสวรรค์ของพระแม่ซีหวังหมู่ แล้วเมาแอ๋เพราะร่ำสุรากันจนได้ที่นั้น ลี้ทิก๊วยเป็นผู้ชักชวนให้ผองเพื่อนเล่นสนุกกันด้วยการใช้ของวิเศษของตนเอง “ข้ามสมุทร” โดยไม้เท้าเหล็กแซ่ลี้คนนี้ เป็นคนเริ่มโยนน้ำเต้าลงไปในมหาสมุทร แล้วใช้ขี่ข้ามสมุทรไปก่อนที่สมาชิกภาพเซียนคนอื่นๆ จะเลียนแบบด้วยการขี้ของวิเศษประจำตัวตามมา บางตำนานยังอ้างด้วยว่า ลี้ทิก๊วยยังใช้พื้นที่ภายในน้ำเต้าเป็นห้องนอนของตนเองอีกต่างหาก

และเมื่อได้รับยาวิเศษมาเรียบร้อยแล้ว ลี้ทิก๊วยก็รีบนำยาไปให้แม่ของเอี้ยวจื้อที่ตายไปแล้วกิน จนแม่ของลูกศิษย์คนนี้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่ (แต่เขากลับไม่กินยาเอง เพื่อรักษาขาที่เป็นง่อย?) จากนั้นลี้ทิก๊วยก็ขับเอี้ยวจื้อออกจากสำนักของตน พร้อมกับสั่งเสียให้ลูกศิษย์ตัวดีหมั่นปฏิบัติธรรมจนเป็นเซียน ซึ่งในที่สุดเอี้ยวจื้อก็ทำสำเร็จ

จบจากเหตุการณ์คราวนั้นแล้ว ลี้ทิก๊วยก็สำเร็จเป็นเซียน เขาท่องโดดเดี่ยวไปทั่วแผ่นดินเพื่อรักษาคนเจ็บไข้ได้ป่วย และช่วยเหลือบรรดาคนจนที่ถูกข่มเหงมานับแต่นั้น

จากเรื่องราวทั้งหมดข้างต้นจะเห็นได้ว่า ปรัมปราคติในศาสนาเต๋าต้นฉบับ ไม่มีตรงไหนที่กล่าวถึงเซียนองค์นี้ในฐานะครูของช่างตีเหล็กเลยสักนิด แม้กระทั่งไม้เท้าเหล็กอันเป็นสัญลักษณ์ประจำกาย จนทำให้ได้ชื่อว่า “ลี้ทิก๊วย” นั้น ยังเป็นของวิเศษที่เล่าจื๊อมอบให้ต่างหาก

แท่นบูชาลี้ทิก๊วยในศาลเจ้าโจวซือกง

แต่ลูกหลานเชื้อสายจีนที่ตลาดน้อยก็นับถือ “ลี้ทิก๊วย” เป็น “ครูแห่งช่างตีเหล็ก” ก็เพราะ “ไม้เท้าเหล็ก” ในมือของเซียนองค์นี้นั่นแหละนะครับ จนทำให้มีพิธีไหว้ลี้ทิก๊วยกันเป็นประจำทุกปี ในช่วงหนึ่ง หรือสองวัน หลังจากหมดเทศกาลกินเจ ด้วยเชื่อกันว่าเป็นวันคล้ายวันเกิดของเซียนองค์นี้

ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ บริเวณพื้นที่ตลาดน้อยเป็นแหล่งซ่อมเรือขนาดใหญ่ เพราะเป็นพื้นที่ชุมชนเมืองท่าของพ่อค้านักเดินเรือที่ล่องมาจากทะเลจีนใต้ ที่เชื่อมต่อกับอ่าวไทย ก่อนจะเข้าไปถึงเขตตัวเมืองชั้นในของกรุงเทพฯ

ดังนั้น จึงทำให้มีความต้องการในการใช้เหล็ก และช่างตีเหล็กเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะช่างตีเหล็กฝีมือดีจากจีน ในการผลิตเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรือ อาทิ โซ่ สมอ บานพับประตู-หน้าต่าง กลอน หรือที่จับประตู-หน้าต่าง นอกจากนี้ ยังผลิตเครืองมือเหล็กอื่น ประเภทชะแลง ตะขอแขวนหมู มีดอีโต้ ฯลฯ

และช่างตีเหล็กในชุมชนตลาดน้อยส่วนใหญ่นั้นเป็น “ฮากกา” หรือ “จีนแคะ”

ชาวจีนแคะที่ตลาดน้อยส่วนมากมีรกรากเดิมมาจากเมืองหย่งติ้ง มณฑลฮกเกี้ยน ในประเทศจีน จึงไม่น่าจะเป็นเรื่องบังเอิญที่ในขุนนางเชื้อสายจีนที่ทำงานอยู่ในกรมท่าซ้าย (กรมที่ดูแลเรื่องราวทางฝั่งอ่าวไทย และทะเลจีนใต้ โดยเฉพาะเรื่องการค้า) อย่างพระอภัยวานิช (จาด) (มีชีวิตอยู่ระหว่าง พ.ศ.2356-2392) ต้นตระกูลโปษยะจินดา ผู้ทำธุรกิจ “ท่าเรือโปเส็ง” รองรับการค้าสำเภาที่รุ่งเรืองอย่างมากในช่วงรัชกาลที่ 3 จนกระทั่งสามารถสร้างคฤหาสน์โซวเฮงไถ่ สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมแห่งหนึ่งของตลาดน้อยในปัจจุบันนี้ จะเป็นชาวจีนฮกเกี้ยน

อันที่จริงแล้ว ชาวจีนฮกเกี้ยนที่อยู่ในละแวกตลาดน้อยก็ไม่ได้มีเฉพาะพระอภัยวานิช และครอบครัวเท่านั้น แต่มีจำนวนมากพอสมควรเลยทีเดียว เพราะศาลเจ้าที่เก่าแก่ที่สุดของชุมชนตลาดน้อยคือ ศาลเจ้าโจวซือกง นั้นเป็นศาลที่ชาวฮกเกี้ยนร่วมกันสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2347

ดังนั้น ถ้าชาวฮกเกี้ยนจะเป็นผู้ชักชวนช่างเหล็กฝีมือดีชาวจีนแคะที่อยู่ในถิ่นฐานเดิมของตนเองมาที่ตลาดน้อย ก็คงจะไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรหรอกนะครับ

(ชาวจีนแคะนั้นได้ชื่อว่าเป็นนักเดินทาง มีคนเชื้อสายจีนแคะกระจายตัวอยู่ในหลายมณฑลของจีน และยังขึ้นชื่อว่ากลุ่มชาวจีนที่มีฝีมือเชิงช่าง การประดิดประดอย และประณีตศิลป์ประเภทต่างๆ อีกด้วย)

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ มีร่องรอยว่าชาวจีนแคะที่ตลาดน้อยนั้นมีความเชื่อว่า ลี้ทิก๊วยเป็นคนจีนแคะมาก่อนที่จะสำเร็จเป็นเซียน สำหรับพวกเขาแล้ว ลี้ทิก๊วยจึงเป็นทั้งผีบรรพชนของชาวฮากกา และครูช่างตีเหล็ก ผู้ปกปักรักษาพวกเขาที่อยู่ไกลโพ้นทะเลจากบ้านเกิดเมืองนอน •