เทียบไตรมาสต่อไตรมาส โค้งหลังปี 2565 ปัญหารุมเร้า & ซ้ำรอยเดิม ส่งท้าย…เศรษฐกิจนอนซม/บทความเศรษฐกิจ

บทความเศรษฐกิจ

 

เทียบไตรมาสต่อไตรมาส

โค้งหลังปี 2565

ปัญหารุมเร้า & ซ้ำรอยเดิม

ส่งท้าย…เศรษฐกิจนอนซม

 

เดือนสิงหาคมเข้าช่วงสุดท้ายของไตรมาส 3 เมื่อถามถึงความหวังการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการสร้างรายได้ของธุรกิจ

คำตอบไปในทิศทางเดียวกัน คือ ไตรมาส 3 ไม่ได้คาดหวังอะไรมากนัก และถูกมองเป็นช่วงต่ำสุดของปี สืบเนื่องจากไตรมาส 2 ที่เป็นหน้าร้อนและปิดเทอม การใช้จ่ายเงินจะสูง อีกทั้งพอไตรมาส 3 เข้าหน้าฝน ไม่นิยมเดินทางและใช้ชีวิตนอกบ้าน บางส่วนใช้เวลาช่วงนี้เก็บเงินอีกก้อน เตรียมไว้ใช้จ่ายปลายปีและรับเทศกาลปีใหม่

ดังนั้น ความหวังการใช้ชีวิตและบรรยากาศคึกคักจะกลับมาอีกครั้งใน 2-3 เดือนส่งท้ายปีจึงน้อย ยิ่งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่บรรเทาลงนัก และวิกฤตชักหน้าไม่ถึงหลัง ยังไม่จางหาย ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า เศรษฐกิจและรายได้ในไตรมาสสุดท้ายปี 2565 จะดีขึ้น ทรงตัว หรือแย่ลง!!

สำรวจ “เครื่องชี้วัดเศรษฐกิจ” นับนิ้วกี่ครั้งปัจจัยลบดูจะมากกว่าปัจจัยบวก

ตั้งแต่ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคอั้นไม่ไหวทยอยขึ้นทุกวัน แม้ไม่ได้ขึ้นราคาโดยตรงแต่ก็ลดการจัดแคมเปญลดราคาก็เท่ากับต้องจ่ายเงินซื้อเพิ่มขึ้น ค่าบริการบวกค่าเดินทางผันผวนระดับสูงตามภาวะน้ำมัน ค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคกดดันไว้นาน ก็ต้องเริ่มขยับเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายและเงินอุดหนุนที่เริ่มหมดบัญชี อย่างแก๊สหุงต้ม ค่าไฟฟ้า ราคาเบนซินหรือดีเซลก็อาจอั้นได้อีกไม่นานเมื่อเงินกองทุนอุดต้นทุนสูงยาวๆ ไม่ไหว

ข่าวร้ายยังมีเข้ามาต่อเนื่อง ทั้งไทยต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อรักษาสมดุลค่าเงินบาทกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ข้อเรียกร้องขึ้นค่าจ้างแรงงานให้มีรายได้จุนเจือสอดรับกับราคาสินค้าและเงินเฟ้อที่สูงขึ้นๆ

ทำให้ทุกภาคส่วนเชื่อว่า เราๆ ต้องอดทนต่อภาระค่าครองชีพสูง หนี้ครัวเรือนเพิ่ม และใช้จ่ายเข้าระบบเศรษฐกิจไม่ได้คล่องตัวมากนัก รวมถึงเสถียรภาพทางการเมือง ยังต้องเฝ้ามองข้ามปี

ขณะที่ปัจจัยบวกยังอยู่กับความหวังภาคส่งออกไทยจะยังดีได้ต่อเนื่อง ตราบเท่าที่ความวิตกเรื่องความมั่นคงด้านอาหารโลกยังสูง หลายประเทศลดส่งออกและนำเข้าแทน กับความหวังไทยยังเป็นประเทศปลายทางที่นักท่องเที่ยวโลกยังต้องการมา

อีกเรื่องที่เป็นความหวังคือรัฐบาลต่อมาตรการช่วยเหลือและเพิ่มเงินเข้าระบบกระเป๋าประชาชน อย่างคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน หรือลดค่าน้ำค่าไฟค่าแก๊ส

 

ย้อนมองภาพรวมเศรษฐกิจปีนี้กับปีที่ผ่านมาๆ นำมาเทียบกันแล้วถามว่าจะมีความหวังได้ไหม

พบว่า เศรษฐกิจช่วงไตรมาส 3/2564 จีดีพีติดลบ 0.3% โดย 3 ไตรมาสแรก 2564 บวกได้ 1.3% ส่วนไตรมาส 3 ปีนี้หลายฝ่ายก็ยังมองว่าจีดีพีน่าจะบวกได้ 2-3% โดยไตรมาส 3 ทั้งสองปี ได้ภาคการส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก โดยปีก่อนไทยได้ดุลการค้า แต่ปีนี้การส่งออกบวกสูง 12-15% แต่ไทยกลับขาดดุลการค้า

ล่าสุดเดือนมิถุนายนขาดดุลมูลค่า 64,194.39 ล้านบาท ต่างกับเดือนมิถุนายน 2564 เกินดุลการค้ามูลค่า 26,904.08 ล้านบาท เพราะผลจากต้นทุนพลังงานและวัตถุดิบนำเข้าราคาสูงหลายเท่าตัว

ช่วงนี้ฝนชุกและเตือนภัยว่าจะมีพายุเข้าไทยอีก 2 ลูกในเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้ สำรวจต่างชาติเข้าไทยดูแล้วส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจและผู้บริหารระดับสูงที่ตกค้างจากต้องชะลอเดินทางจากโควิด-19 นักท่องเที่ยวจริงไม่ได้มีจำนวนสูงดังหวัง ฉะนั้น ไตรมาส 3 ปีนี้ ตัวเลขอาจไม่ได้เท่าที่ควร

ใกล้ตัวพบว่าปัญหาใหญ่อย่างภาวะหนี้ครัวเรือนรอวันระเบิด หลังเกิดปรากฏการณ์สินค้าแพงเป็นสารเร่งเงินเฟ้อพองตัว เดือนมิถุนายนเงินเฟ้อพุ่ง 7.6% สูงสุดรอบ 13 ปี ซ้ำร้ายเงินบาทอ่อนค่าเคลื่อนไหวระดับ 36-37 บาทต่อเหรียญสหรัฐ โดยอ่อนค่าตามทิศทางเงินเหรียญสหรัฐแข็งค่าจากแรงหนุนที่ล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สกัดเงินเฟ้อโดยปรับดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 2.50%

ทำให้ช่องว่างระหว่างดอกเบี้ยสหรัฐกับไทยกว้างขึ้น อาจมีผลถึงเสถียรภาพด้านการเงินประเทศ

 

จากปัญหาสะสมหนักหน่วงร้อนถึงเสาหลักไทยอย่าง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาส่งสัญญาณว่าถึงเวลาต้องผ่อนคันเร่งเพื่อหันมาสกัดเงินเฟ้อ รวมถึงรักษาส่วนต่างดอกเบี้ยไม่ให้ห่างจนกระทบต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนและค่าเงินบาทผันผวน

โดยการส่งสัญญาณสะท้อนว่าไทยกำลังเข้าสู่สภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นท่ามกลางเศรษฐกิจยังอ่อนแอ นักวิเคราะห์ฟันธงไทยน่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 3 รอบ รอบละ 0.25% ไปอยู่ที่ 1.25% ต่อปี

หันสอบถาม “วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา” รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ฉายภาพเศรษฐกิจไตรมาส 3/2565 ระบุว่า เศรษฐกิจยังมีแรงส่งจากภาคการผลิตและภาคการส่งออก รวมถึงถ้าการท่องเที่ยวเป็นไปตามคาดจะเข้ามาช่วยเศรษฐกิจดีขึ้นได้มาก ขณะเดียวกันยังกังวลกับกำลังซื้อของภาคประชาชน เนื่องจากสถานการณ์ราคาน้ำมันในประเทศ โดยรัฐประคองได้คือน้ำมันดีเซลที่ราคา 35 บาทต่อลิตร แม้ราคาน้ำมันโลกลดลง แต่ไทยยังคงขายราคา 35 บาทต่อลิตรอีกระยะหนึ่ง เพราะรัฐต้องนำเงินมาทดแทนจากที่จ่ายส่วนต่างไปให้ก่อนหน้านี้

อีกส่วนที่จะกระทบต่อประชาชนคือเรื่องค่าไฟ แม้ยังไม่มีความชัดเจนถึงแนวทางช่วยเหลือภาคผู้ประกอบการ หรือภาคประชาชน แต่หากค่าไฟขยับขึ้นจะมีผลกระทบแรงกว่าราคาน้ำมัน เพราะเชื่อมโยงกับภาคครัวเรือนโดยตรง

“โดยเฉลี่ยคาดว่าภาคบริโภคต้องสลับค่าใช้จ่ายมาในด้านของพลังงาน และค่าไฟฟ้ามากขึ้น ทำให้เงินที่ใช้ในสัดส่วนที่ใช้ในการบริโภคต้องลดลง เนื่องจากว่าเงินในกระเป๋ายังเท่าเดิม จากปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนนี้ภาคบริโภคของประชาชนจะหายออกไปเท่าตัว”

 

อีกมุมมอง “แสงชัย ธีรกุลวาณิช” ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า รู้สึกหนักใจต่อเศรษฐกิจจากนี้ เพราะยังมีความเสี่ยงต่อสถานการณ์ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับดอกเบี้ยขึ้น ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่งสัญญาณเตรียมขึ้นดอกเบี้ย ส่งผลกระทบต่อผู้มีรายได้น้อย จะเห็นได้เลยว่าประชาชนเผชิญปัญหาการเงิน ส่งผลให้อำนาจซื้อก็ลดลงจากภาวะเงินเฟ้อ รวมถึงต้นทุนพลังงาน ค่าครองชีพสูงขึ้น และวัตถุดิบต่างๆ ของผู้ประกอบการที่เป็นเอสเอ็มอีก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน รวมถึงสิ่งที่จะตามมาคือปัญหาหนี้ ซึ่งการปรับอัตราดอกเบี้ย จากที่ทราบอยู่แล้วว่าหนี้ครัวเรือนสูงประมาณ 90% ของจีดีพี และเริ่มเกิดสถานการณ์ผิดนัดชำระหนี้จะมากขึ้น อีกทั้งผลกระทบปัจจุบันเริ่มจากต้นทุนพลังงานปรับตัว ส่งผลให้ราคาสินค้าแพงก็ทำให้เงินเฟ้อขยายตัว ค่าครองชีพประชาชนขยายวงกว้าง

“กำลังโดนซ้ำด้วยค่าไฟกำลังปรับขึ้นเป็น 5 บาทต่อหน่วย เป็นปัจจัยที่สร้างปัญหาให้หนี้ครัวเรือนสูงขึ้น กำลังใจกำลังซื้อในการใช้เงินของประชาชนค่อยๆ หดตัวลงไป ดังนั้น ปัญหาหลักที่รัฐต้องคุมให้อยู่คือราคาน้ำมันให้ไม่สูงเกินไป หากควบคุมน้ำมันได้จะทำให้ทุกภาคส่วนลดต้นทุนไปได้มาก และจะกล้ากลับมาใช้เงิน สถานการณ์อาจคลี่คลายไปในทางที่ดี”

 

“ชํานาญ ศรีสวัสดิ์” ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) มองว่า เศรษฐกิจไทยตอนนี้เจอสงคราม 4 ทิศ อาทิ 1.สงครามโควิดยืดเยื้อ 2.สงครามรัสเซีย-ยูเครนทำให้เงินเฟ้อสูง 3.สงครามดิจิตอล คือไทยการขาดความรู้และความสามารถทางเทคโนโลยี และ 4.สงครามการแย่งชิงนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นสงครามครั้งยิ่งใหญ่ เพราะหลายประเทศต้องการให้เศรษฐกิจฟื้นจากท่องเที่ยว ในแง่เศรษฐกิจของประเทศ การท่องเที่ยวสร้างรายได้มากที่สุดและมีการลงทุนน้อย เพียงแต่ต้องใช้กลยุทธ์เข้ามาดึงความสนใจให้นักท่องเที่ยวเข้าประเทศ

ขณะเดียวกันสถานการณ์โดยรวมยังปกติการท่องเที่ยวที่เป็นตัวขับเคลื่อนหลักจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นกลับมาได้ หากมองย้อนไปตั้งแต่ต้นปีมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 2 ล้านคนในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนเพิ่มขึ้นเป็นหลักแสน และอาจเพิ่มถึงเดือนละ 1 ล้านคน โดยเป้าที่ภาคเอกชนตั้งไว้ที่ 7-10 ล้านคน อาจเกิดขึ้นจริงตามที่คาดการณ์

“ความกังวลเรื่องฝีดาษลิง และโควิดรอบใหม่ยังคงมีอยู่ แต่ถ้าคิดว่าเศรษฐกิจจะต้องเดินหน้าต่อ ความกังวลจะลดลง เพราะประชาชนต้องนึกถึงปากท้องเป็นหลัก”

 

จากความเห็นข้างต้น สะท้อนได้ว่าเศรษฐกิจไทยไม่ว่าจะช่วงใด ยังมีความเสี่ยงทิ่มแทงให้เศรษฐกิจบอบช้ำ

และยังไม่ชัดเจนว่าช่วงโค้งสุดท้ายปี 2565 จะมีวิกฤตใหม่เข้ามาทักทายให้เสียวสันหลัง กดดันเศรษฐกิจหงายหลัง ซ้ำรอยเหมือน 2 ปีที่ผ่านมา หรือไม่

วันนี้…ทุกภาคส่วนจึงจับตามองถึงวิธีการแก้ปัญหาปากท้องและฟื้นตัวของธุรกิจ ในมือคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารจัดการสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งเป็นประธานสั่งการเอง ที่จะดับร้อนเศรษฐกิจไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ให้ผ่านไปได้อย่างไร