อย่าเรียกว่า ‘โหวตปกติ’/เมนูข้อมูล นายดาต้า

เมนูข้อมูล

นายดาต้า

 

อย่าเรียกว่า ‘โหวตปกติ’

 

ผ่านไปหมาดๆ อภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีรวม 11 คน เหมือนไม่มีอะไรผิดปกติ ทุกคนผ่านโหวตฉลุย สมาชิกสภาผู้แทนฯ ให้ความไว้วางใจมากกว่าไม่ไว้วางใจ ทั้ง 11 คน แบบที่บอกกันว่า “มันก็ต้องเป็นเช่นนั้นอยู่แล้ว”

“เป็นปกติ”

แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง ที่เห็นกันว่าปกตินี่แหละที่ “ไม่ปกติ”

“ไม่ไว้วางใจ” คือญัตติที่ฝ่ายค้านใช้เวทีสภาเปิดอภิปรายเพื่อชี้ให้เห็นว่า “ผู้ที่ถูกอภิปรายทำความเสียหายให้กับประเทศในด้านต่างๆ อย่างไร”

เพื่อที่ “ส.ส.ที่มีอยู่ในสภา” ลงมติว่าเห็นด้วยกับข้อกล่าวหาหรือไม่ ถ้าเห็นด้วยคือ “ไม่ไว้วางใจ” ไม่เห็นด้วยคือ “ไว้วางใจ”

ที่บอกว่า “ปกติ” เพราะไม่เคยมีสักครั้งเดียวที่ “ส.ส.ส่วนใหญ่” จะลงมติ “ไม่ไว้วางใจ” เพราะในสภาผู้แทนราษฎรนั้น “ส.ส.รัฐบาล” มากกว่า “ส.ส.ฝ่ายค้าน”

สาระที่อภิปรายไม่ว่าจะชี้ให้เห็นชัดเจนถึงพฤติกรรมเลวร้ายของผู้ถูกอภิปรายแค่ไหน ที่สุดแล้วการลงมติเป็นไปตาม “พวก” มากกว่า ที่จะเป็นไปตามสาระ

“ส.ส.ไร้วิจารณญาณ” การลงมติอย่างไรก็เป็นแค่ตาม “ความเป็นพวกเดียวกัน”

และคราวนี้ “ผลโหวตที่เป็นปกติ” นั้นเลวร้ายหนักกว่าครั้งใหญ่ เพราะเป็นการโหวตผ่านของ “ผลประโยชน์ตอบแทน” ที่เรียกว่า “กล้วย” หนัก และโจ่งแจ้งมากกว่าครั้งไหนๆ

มี “ท่าน ส.ส.ผู้ทรงกล้วย” แทน “ผู้ทรงเกียรติ” อย่างเปิดหน้าแบบไม่ละอาย

หากประเมินกันด้วย “สามัญสำนึก” เมื่อหน้าที่ของ “ส.ส.” คือการใช้อำนาจแทนประชาชน คนเป็น ส.ส.จะต้องเข้าใจและประเมินได้ว่า “หากเป็นการตัดสินใจของประชาชน” ผลจะออกมาอย่างไร

และตัดสินใจตามที่เห็นว่าจะสอดคล้องกับความคิดความเห็นของประชาชน

เช่นนี้ต่างหากจึงเป็น “สามัญสำนึกปกติ” ของ “ผู้แทนราษฎร”

แต่ความ “ท่านผู้ทรงเกียรติ” ตัดสินใจด้วย “กล้วยอะไร”

 

การโหวตไม่ไว้วางใจครั้งนี้ ไม่เหมือนที่ผ่านมา เพราะ “นักวิชาการกลุ่มหนึ่ง” จาก “4 มหาวิทยาลัย” ได้ร่วมมือกับภาคประชาชนและ 4 สถานีโทรทัศน์ดิจิตอล เปิดให้ประชาชนร่วมโหวตคู่ขนานไปกับการโหวตของ ส.ส.

ผลออกมาต่างกันสุดขั้ว ขณะที่ “ผู้แทนราษฎรส่วนใหญ่” โหวต “ไว้วางใจ” ผู้ถูกอภิปรายทุกคน

แต่ผลโหวตของประชาชนตรงกันข้ามอย่างขาดลอย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ไว้วางใจ 15,973 เสียง, ไม่ไว้วางใจ 508,833 เสียง, นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ไว้วางใจ 17,425 เสียง ไม่ไว้วางใจ 507,381 เสียง, นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ไว้วางใจ 17,125 เสียง ไม่ไว้วางใจ 507,681 เสียง, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ไว้วางใจ 14,393 เสียง ไม่ไว้วางใจ 510,413 เสียง, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ไว้วางใจ 20,609 เสียง ไม่ไว้วางใจ 504,197 เสียง, นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ไว้วางใจ 16,528 เสียง ไม่ไว้วางใจ 508,278 เสียง, นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลฯ ไว้วางใจ 18,207 เสียง ไม่ไว้วางใจ 506,599 เสียง, นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมฯ ไว้วางใจ 19,259 เสียง ไม่ไว้วางใจ 505,547 เสียง, นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ไว้วางใจ 17,210 เสียง l ไม่ไว้วางใจ 507,596 เสียง, นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ไว้วางใจ 18,212 เสียง ไม่ไว้วางใจ 506,594 เสียง, นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ไว้วางใจ 20,473 เสียง ไม่ไว้วางใจ 504,333 เสียง

นี่คือเสียงของประชาชนที่ส่งผ่านการจัดการของสถาบันที่น่าเชื่อถือ

 

ความเป็น “ปกติ” ของสภาผู้แทนราษฎร คือ “ใช้อำนาจแทนประชาชน” นั้นย่อมหมายถึงมีพฤติกรรมที่ไปในทางเดียวกับความต้องการของประชาชน

เมื่อ “ประชาชน” ไปทางหนึ่งชัดเจน ด้วยเสียงที่ท่วมท้น ห่างกันลิบลับระหว่าง “ไม่ไว้วางใจ” กับ “ไว้วางใจ”

แต่ “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” ส่วนใหญ่กลับไปอีกทาง

นี่ย่อมหมายถึง “ความไม่ปกติของการทำหน้าที่เพื่อสะท้อนความต้องการของประชาชน”

“ท่านผู้ทรงเกียรติ” ควรจะตระหนักถึงพฤติกรรม “ผิดปกติ” นี้ แต่กลับตีความว่าเป็น “ความปกติ”

การมี “สภาผู้แทนราษฎร” ที่สมาชิกส่วนใหญ่มี “สามัญสำนึก” เพี้ยนไปจากที่ควรจะเป็นเช่นนี้

ย่อมไม่ใช่ “ความปกติ” ของ “ประชาธิปไตย” ในความหมาย “อำนาจของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน”